หน้า 1 จากทั้งหมด 3

"...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 25, 2014 2:36 pm
โดย Tibular
เป็นมุมมองที่น่าสนใจมากครับ ขอนำมาแชร์ต่อ...

เสียงบ่นดังๆ ของแกะดำทุนนิยม ‘บรรยง พงษ์พานิช’
เรื่อง : อาทิตย์ เคนมี / อภิรดา มีเดช / บัญชา แซ่เงี้ยว

ในโลกทุนนิยม เขาคือกูรูด้านการเงินและการลงทุน อยู่ในแวดวงตลาดทุนไทยมานานถึง 36 ปี และมักไม่ปรากฏตัวต่อสื่อบ่อยครั้งนัก แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินสายบรรยายเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เขามักฝากคำเตือนด้วยความห่วงใยไปยังนักลงทุนรายเล็กรายน้อยทั้งหลายว่า อย่าได้เข้ามาเล่นในเกมนี้เด็ดขาด…หากคุณไม่แน่จริง

เขาย้อนอดีตให้เราฟังว่า ในสมัยเป็นกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ เขาเองก็เป็นคนเดือนตุลา แต่เป็นตุลาที่ถูกลากจูงให้เข้าร่วมขบวนการฝ่ายขวา เคยคลุกคลีตีโมงอยู่กับกลุ่มกระทิงแดง ซีไอเอ เพราะเข้าใจว่าเท่ – เขาบอกกับเราอย่างนั้น จนวันหนึ่งพบสัจธรรมว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อที่ถูกหลอก เช่นเดียวกับขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่พากันอกหักจากอุดมการณ์สังคมนิยม ด้วยอาการบาดเจ็บไม่ต่างกัน

กระทั่งเมื่อเติบโตในสายอาชีพนี้และก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในโลกของตลาดทุน ตลาดเงิน เขาเหลียวหน้าแลหลังกลับไปยังซากปรักหักพังที่แยกราชประสงค์ ในวันที่เมืองกรุงร้อนระอุเป็นไฟ ทำให้กระจ่างแก่ใจขึ้นมาว่า ถึงเวลาแล้วที่นักธุรกิจเช่นเขาจะต้องลงมือทำอะไรบ้างเพื่อบ้านเพื่อเมือง

จากจุดพลิกผันนั้น ทำให้ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หันมาทบทวนศึกษาถึงแก่นแท้ของทฤษฎีทุนนิยมที่เขายึดถือศรัทธามาทั้งชีวิต ว่ามีรอยด่างประการใดจึงทำให้ผู้คนจงเกลียดจงชังกันนัก จนมาค้นพบว่าแท้ที่จริงแล้วคือตัว ‘กิเลส’ ของมนุษย์เองต่างหากที่ทำให้อุดมการณ์ทุนนิยมบิดเบี้ยวไปจากฐานคิดดั้งเดิม และนำมาซึ่งปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างที่เป็นอยู่

หากขืนปล่อยให้ด้านมืดครอบงำต่อไปเช่นนี้แล้ว รังแต่จะนำไปสู่ความวิบัติหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ แต่หากเฉือนเนื้อร้ายชิ้นนี้ออกไปได้บ้าง ประเทศไทยอาจจะหายป่วย

ข้อคิดความเห็นของบรรยงต่อจากบรรทัดนี้ มีอยู่ 3 ทางเลือกเท่านั้นที่เขาเล็งเห็นว่าเป็นทางออก หนึ่ง-พัฒนา สอง-ปฏิรูป หรือสาม-ปฏิวัติ ขอเชิญคนไทยผู้รักชาติลองเลือกเอา

Q ในฐานะที่อยู่ในโลกของทุนนิยมมาทั้งชีวิต เห็นข้อดี-ข้อด้อยของระบบนี้อย่างไร

จุดยืนของผมเป็นทุนนิยม แต่เป็นทุนนิยมที่พยายามจะผลักดันให้ทุนนิยมไทยเข้าสู่ทุนนิยมอุดมการณ์ ทุนนิยมของบ้านเราถ้าในภาษาวิชาการก็คือ ‘Cronyism’ เป็นทุนนิยมพรรคพวก ทุนนิยมสามานย์
ตัวทุนนิยมเองมันไม่ได้สามานย์ แต่ทุนนิยมที่สามานย์มันมี และเราค่อนข้างจะเป็นเช่นนั้น นี่คือสิ่งที่ผมเห็น ผมไม่ได้คิดว่าทุนนิยมมันเพอร์เฟ็คท์ แต่อุดมการณ์ของมันค่อนข้างชัดว่ามันคืออะไร กลไกมันคืออะไร และวิธีการของมันคืออะไร ซึ่งเราค่อนข้างห่างไกล เราเอามาใช้และบิดเบือนไปเยอะ

อย่างอเมริกา สำหรับผมไม่ใช่ต้นแบบทุนนิยมที่ดี แต่ถามว่าอุดมการณ์ทุนนิยมอเมริกาดีไหม…ดี และเขาก็พยายามจะผลักดันให้เข้าสู่ทุนนิยมอุดมการณ์ แต่แน่นอน ประเทศมันใหญ่ ความเลวร้ายทางการเมืองมันก็มี แต่ตัวหลักการของมัน ผมเชื่อว่าดี

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจมันด้วยว่า ระบบที่เราเกลียดชังมันเป็นยังไง อุดมการณ์จริงๆ ของมันเป็นยังไง แล้วมันถูกบิดเบือนอย่างไร ทำไมเราถึงเกลียดชังมัน ซึ่งส่วนใหญ่เวลาต่อสู้กับมันแล้ว เราไม่รู้เลยว่าเราจะไปทางไหนต่อ

มองในทางประวัติศาสตร์ของโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ อารยธรรมของโลกที่มีอายุนับหมื่นปีพันปี คุณก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันเสมอ จากยุคอำนาจนิยม มาสู่ระบบตลาด มาสู่ประชาธิปไตย แต่ระบบที่เราเห็นๆ กันอยู่มันอายุแค่ 100-200 ปีเท่านั้น อดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์และทุนนิยม ก็ยังไม่ถึง 250 ปี เพราะฉะนั้นมันยังไม่เพอร์เฟ็คท์ มันยังอยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการ ยังไม่ใช่ลัทธิ ยังไม่ใช่ศาสนาที่เป็นสัจจะสูงสุด

เมื่อโลกเปลี่ยนจากยุคอำนาจนิยม เปลี่ยนจาก Feudalism (ระบบศักดินา) ที่เขาเรียกว่าระบบอำมาตย์ และพัฒนาไปสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดระบบทุนนิยมขึ้นมา พอเดินไปสักพักหนึ่งก็เกิดระบบกลไกเศรษฐกิจแบบตลาด เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยน และโลกก็เริ่มเข้าสู่ระบบ Industrialization (ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม)

จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 19 เกิดทฤษฎีของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่มีทัศนะเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจว่า สิ่งที่ทำให้เกิดผลผลิตประกอบด้วย ทุน ที่ดิน เทคโนโลยี และแรงงาน ทั้ง 4 องค์ประกอบนี้ แรงงานเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด แต่กลับได้ส่วนแบ่งน้อยที่สุด เมื่อเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดการแบ่งชนชั้นและเกิดการปฏิวัติ โลกก็เลยแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ทุนนิยม กับ คอมมิวนิสต์ กลายเป็นยุคสงครามเย็น 40 กว่าปี แต่ทั้งสองค่ายนี้มีเป้าประสงค์เดียวกัน คือ ทำอย่างไรจึงจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถสร้างผลผลิตให้ได้ มากที่สุด และแบ่งสรรกันอย่างเป็นธรรมในสังคม นี่คือหลักของเศรษฐศาสตร์

Q ในเมื่อทั้งสองค่ายต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน แต่ทำไมจึงขัดแย้งอย่างสุดขั้ว

มันขึ้นอยู่กับว่าจะเน้นอะไร ทุนนิยมเน้นประสิทธิภาพให้มากที่สุด คอมมิวนิสต์เน้นความเป็นธรรม ให้เท่าเทียมที่สุด ทุนนิยมบอกว่าพื้นฐานของมนุษย์ต้อง ‘อยาก’ ถึงจะทำ แรงจูงใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด มันเป็นสัจธรรมของมนุษย์ อย่างเช่นปัจจุบัน ริชาร์ด พอสเนอร์ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นปราชญ์ที่ได้รับการนับถือมากในอเมริกา เขายังพูดเลยว่า ชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่มันพิสูจน์แล้วจากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ ซึ่งสะท้อนได้ว่าพลังความเห็นแก่ตัวของมนุษย์มีพลานุภาพมากกว่าพลังของการ เห็นแก่ส่วนรวมมากนัก เพราะฉะนั้นเลิกเรียกร้องให้คนเห็นแก่ส่วนรวม

แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะควบคุมพลังความเห็นแก่ตัวไม่ให้ไปเบียดเบียนใคร และเหนือกว่านั้นทำอย่างไรถึงจะรวบรวมพลังความเห็นแก่ตัวให้เกิดพลังทวีใน การสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมและเกิดการแบ่งสรร แต่คำว่าแบ่งสรรกันอย่างเป็นธรรมก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมาอีกว่าเท่าไหร่ จึงจะเป็นธรรม ฉะนั้น ทุนนิยมจึงต้องมีการสร้างกลไกการต่อรองและมีข้อยุติที่รับกันได้ ความเหลื่อมล้ำลบไม่ได้หรอก แต่ต้องทำให้ความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับที่รับกันได้ คำว่า ‘เป็นธรรม’ จึงเป็นคำที่สวยหรูเกินไป

ผมเองลุกขึ้นมาศึกษาเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังก็เพราะเห็นปัญหาเรื่องความ เหลื่อมล้ำ เมื่อก่อนก็ทำแต่ธุรกิจ สารภาพเลยว่าเริ่มจากเหตุการณ์ราชประสงค์ เราจิตตก เศร้า ก็เลยศึกษาว่ามันเกิดจากอะไร แล้วก็จับประเด็นได้ว่ามันมาจากความเหลื่อมล้ำ ปัจจัยพื้นฐานจริงๆ ที่มันทะเลาะกันก็เพราะเรื่องนี้แหละ

จากนั้นผมก็ศึกษาต่อไป แล้วก็พบว่าสาเหตุสำคัญที่สุดของปัญหาของประเทศนี้คือ คอรัปชั่น ตอนหลังก็เลยพยายามหาแนวทางต่อต้านคอรัปชั่น ช่วยเขาทำงานอยู่เบื้องหลัง เพราะผมไม่ใช่พระเอกที่ไหน เรารู้ตัวดี ผมไม่ต้องการเป็นฮีโร่ ไม่ต้องการเป็นอะไรทั้งนั้น แต่ต้องการเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้เราตอบตัวเองได้ว่าในเมื่อเกิดมา แล้วมีโอกาสที่ดี มาถึงจุดนี้แล้วเราได้ทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ทำแต่สิ่งที่ตัวเองพอใจ ซึ่งมันเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวทั้งนั้น แต่เรื่องสังคมส่วนรวมเป็นข้ออ้างสวยหรู

Q จะเปลี่ยนวิธีคิดของกลุ่มทุนนิยมแบบพวกพ้องได้อย่างไร

ปกติเวลาผมไปเลคเชอร์ให้กับผู้ที่เข้าอบรมหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า กับหลักสูตร วตท. (สถาบันวิทยาการตลาดทุน) ซึ่งเป็นพวกเครือข่ายไฮโซทั้งหลาย ผมจะอธิบายทั้งเรื่องทุนนิยมที่ดี ทุนนิยมสามานย์ เรื่องของความเหลื่อมล้ำ และเรื่องคอรัปชั่น คุณเชื่อไหม ผมสนุกมากเลย เพราะคนที่เคยฟังเลคเชอร์ผมก็เป็นนักการเมืองระดับแถวหน้าอยู่หลายคน พวกนี้เคยฟังเลคเชอร์ผมทั้งนั้น แต่บางคนฟังแล้วก็ลุกหนีไปเลย

อย่างที่บอก ทุนนิยมกับสังคมนิยม เป้าหมายมันเหมือนกัน แต่อันหนึ่งเน้นประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อีกอันหนึ่งเน้นความเป็นธรรม ทุนนิยมใช้กลไกตลาด โดยอาศัยแรงจูงใจของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่สังคมนิยมเชื่อว่าถ้าปล่อยไปตามกลไกตลาดมันเอารัดเอาเปรียบกันตาย เพราะฉะนั้นทรัพยากรทุกอย่างไม่ควรมีใครเป็นเจ้าของ ทุกอย่างต้องเป็นของรัฐ และรัฐจะเป็นคนแบ่งสรรให้เป็นธรรมเอง

ทั้งสองอุดมการณ์นี้เถียงกันให้ตายว่าอะไรดีกว่า…ไม่มีทาง เถียงยังไงก็ไม่จบ มันก็เลยแบ่งเป็น 2 ค่าย 40 ปีผ่านไปเกิดอะไรขึ้นรู้ไหมครับ ประเทศที่เป็นทุนนิยมมันมี Average Productivity หรือผลผลิตเฉลี่ยต่อหัว 5-8 เท่าของอีกฝ่าย เราจึงเห็นได้ว่า 40 ปีของสงครามเย็นมันปิดหูปิดตาประชาชนอย่างไร มันซ่อน Propaganda แบบไหน แต่หลังจากนั้นข้อมูลข่าวสารมันมากขึ้นและโลกก็เชื่อมโยงถึงกันหมด ในที่สุดก็ต้องยอม แล้วสังคมนิยมก็ล่มสลายในที่สุด เลิกเองเลย

ปี 1979 เติ้ง เสี่ยวผิง ลุกขึ้นมาประกาศเองเลยว่า กูไม่เอาแล้วลัทธิแบบรวมศูนย์ ขณะที่ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบันเพิ่งประกาศเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่าจะลดบทบาทรัฐ เพิ่มบทบาทตลาด นี่คือธีมของ Economic แต่ของไทยกลับสวนทาง คือ รัฐเพิ่มอำนาจให้ตัวเองตลอด

Q แม้ประเทศฝ่ายซ้ายจะยอมกลายร่างเป็นทุนนิยมกันหมด แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังเพรียกหาความโรแมนติกที่เป็นธรรมอยู่

ตอนนี้ไม่มีใครพูดแล้ว ไอ้ลัทธินี้ เหลืออาจารย์อยู่ไม่กี่คนที่ยังเรียกร้องอุดมการณ์มาร์กซิสม์ เพราะโลกพิสูจน์แล้วว่ามันไม่เวิร์ค อย่างเกาหลีเป็นประเทศเดียวกันแท้ๆ แต่พอเกิดสงครามช่วงปี 2480-2490 มีการขีดเส้นขนานแบ่งประเทศ คุณเชื่อไหม ประเทศข้างล่างตอนนี้ GDP 22,000 เหรียญต่อคนต่อปี ข้างบนเท่าไหร่ 800 เหรียญต่อคนต่อปี ก็เพราะมันไม่เข็ดไง

อีกประเทศหนึ่งที่ผมชอบยกตัวอย่างคือ พม่า ปี 2503 ซึ่งเป็นปีแรกที่ธนาคารโลกวัด พม่ามี GDP 180 แต่ของไทย 101 เหรียญต่อคนต่อปี ต่ำสุดในภูมิภาคนี้ ขณะที่เวียดนาม 220 ฟิลิปปินส์ 250 มาเลเซีย 390 และสิงคโปร์ 400 ต่อมาในปี 2505 นายพลเน วิน ยึดอำนาจรัฐบาลชุดนายอู นุ แล้วก็สถาปนาระบบสังคมชาตินิยมแบบพม่า มองว่าตะวันตกเลว ตะวันตกชั่ว กูปิดประเทศเลย กูจะพัฒนาพม่าโดยภูมิปัญญาพม่าเพียงอย่างเดียว ผมชอบพูดเรื่องนี้เวลาที่ใครพูดถึงภูมิปัญญาไทย ต้องเข้าใจมันให้ลึกซึ้งว่ามันคืออะไร แล้วยังจะโง่อาศัยภูมิปัญญาตัวเองแต่อย่างเดียวไปทำไม ทั่วโลกตอนนี้ 6,000 กว่าล้านคน เขาแชร์กันหมดแล้ว มึงยังจะเอาแต่แบบของมึง แต่พอพม่าเปิดประเทศ มาวันนี้ GDP พุ่งขึ้นเป็น 900 ต่อคนต่อปี

ทำไมไทยถึงเริ่มต้นต่ำสุด เพราะเราไม่เคยเป็นอาณานิคม พูดแบบนี้อาจจะขัดต่อความรู้สึกของคน แต่มันเป็นข้อเท็จจริง การเป็นอาณานิคม ต่อให้ฝรั่งตะวันตกมาปล้นมาชิงอะไรก็ตาม แต่แค่ซากที่ทิ้งไว้ให้ก็มากพอแล้ว มันมีทั้งกลไกสถาบัน องค์ความรู้ และภูมิปัญญา

หมายความว่าความเป็นไทยๆ ที่เราภูมิใจยิ่งทำให้ล้าหลัง?

ผมไม่ได้เชิดชูนักล่าอาณานิคม เข้าใจให้ถูกนะครับ แต่ข้อเท็จจริงคือ ภูมิปัญญาทั้งหมดเป็นภูมิปัญญาของโลก ภูมิปัญญาท้องถิ่นมันก็เป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่น แต่ถ้าคุณต้องการพัฒนาไปเรื่อยๆ มันต้องแชร์ ทำไมจีนซึ่งเคยมี Productivity (ความสามารถในการผลิต) ต่อหัว 2 เท่าของอังกฤษก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เดี๋ยวนี้อังกฤษ GDP 30,000 กว่าเหรียญต่อคนต่อปี มากกว่าจีน 5-6 เท่า ทำไมรู้ไหม เพราะอังกฤษไปลอกเทคโนโลยีจีน แต่จีนไม่ยอมลอกเทคโนโลยีมัน อังกฤษมีทัพเรือที่เกรียงไกรก็เพราะเห็นว่าคนจีนฉลาดดี มันแบ่งท้องเรือเป็นหลายช่อง พอโดนยิงตรงนี้มันก็ยังไม่ล่ม

Q คำว่าภูมิปัญญาไทยนี่หมายรวมถึงเรื่อง ‘ชาตินิยม’ ด้วยไหม

โอเค สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเจริญช้าก็คือ ชาตินิยม มีเพียงคนกลุ่มเล็กเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากความรู้สึกรักชาติของประชาชน ผมยกตัวอย่างให้ฟัง ถ้าคุณพูดว่าธุรกิจสำคัญควรจะเป็นของคนไทย ฟังดูดีไหม แต่ถามว่าคุณสามารถเป็นเจ้าของบริษัทเทเลคอมได้ไหม เป็นเจ้าของแบงก์ได้ไหม ซึ่งในความเป็นจริงมันมีอยู่ไม่กี่หมื่นคนที่เป็นได้ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แล้วต้นทุนคือใคร ต้นทุนก็คือผู้บริโภคกับศักยภาพของการแข่งขัน คุณลองนึกดูว่าถ้าเรายอมให้แบงก์ฝรั่งเข้ามาแข่งในสังคมนี้ตั้งแต่แรก เราก็จะเหมือนกับประเทศอย่างนิวซีแลนด์ นั่นคือประเทศที่ระบบการเงินมีประสิทธิภาพสูงมาก ต้นทุนส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้แคบนิดเดียว 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ แต่ของเรา 5 เปอร์เซ็นต์ ผมถึงชอบไง เพราะเราไม่ต้องแข่งกับคนที่เก่งที่สุดในโลก รัฐเขาช่วยกันให้

กรณีเทเลคอม ถ้ามันไม่มีเงื่อนไขว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นคนไทย ตอนประมูล 3G คงมากันเป็นสิบราย แต่พอบอกว่าต้องเป็นธุรกิจของคนไทย มันก็เหลือแค่ 3 ตระกูลนั่นแหละ การประมูลเลยกลายเป็นประเคน

พูดแบบนี้อาจจะถูกย้อนกลับว่า คุณเป็นคนไทยรึเปล่า?

อันนี้เขาเรียกว่า ‘มายาคติ’ ที่เราไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอผมพูดไปทุกคนก็…เฮ้ย! มันฝืนความรู้สึก อย่างที่ผมยกตัวอย่างให้ฟังว่า ธุรกิจที่สำคัญควรจะเป็นของคนไทย คุณอาจรู้สึกว่ามันถูก แต่โดยระบบมันไม่ใช่ วันก่อนผมไปพูดเวทีหนึ่ง พี่รสนา (โตสิตระกูล) แกก็อึ้ง แต่จะให้แกเปลี่ยนคำพูดก็ไม่ได้แล้ว เพราะพูดมาตั้ง 20 ปีแล้วว่า จะไม่ยอมให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โอ้โห…แปรรูปรัฐวิสาหกิจแปลว่าเอากิจการให้ตลาด ให้กลไกตลาดมันจัดการ ให้เป็นของประชาชน ให้เป็นของรัฐ เป็นของไทย ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเอ็นจีโอไทยถึงต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อที่จะสงวนกิจการที่มีทั้งเอกสิทธิ์ มีทั้งกำไรส่วนเกิน ให้อยู่ในอุ้งตีนท่านรัฐมนตรี สงวนไว้ทำอะไรครับ พอผมพูดแบบนี้พวกเอ็นจีโอก็คงเตรียมกระทืบผมทุกคน โอเค เขารักชาติทุกคนนะ แต่คุณเข้าใจไหม มันเป็นมายาคติที่ถูกหลอก สะสมมานานโดยที่ไม่รู้ตัว อะไรอย่างนี้เป็นต้น

มายาคติแบบนี้ยิ่งส่งเสริมให้เกิด Cronyism หรือทุนนิยมแบบพวกพ้อง เกิดการผูกขาด การแข่งน้อยราย และสงวนกิจการไว้เป็นของรัฐ ซึ่งมาร์กาเรต แธตเชอร์ (อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ) เคยพูดไว้ว่า “When State Owns, Nobody Owns. When Nobody Owns, Nobody Cares.” ผมชี้ให้เห็นเลยว่า กิจการอะไรก็ตามที่รัฐทำ การันตีได้ 3 อย่าง คุณภาพห่วย ของไม่พอ ต้นทุนสูง แต่ราคาอาจจะถูก แต่ลองคิดให้ดีว่า เวลาคุณผลิตไฟฟ้าแล้วขายประชาชนราคาถูก ทั้งๆ ที่ต้นทุนสูง แสดงว่าต้นทุนมันต้องถูกผลักไปไว้ที่ไหนสักแห่ง คีย์ของมันก็คือ ไม่ว่าที่ไหนในโลก รัฐก็ต้องลดบทบาท

อีกคำหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงคือ ‘ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ’ (Economic Rent) จริงๆ ก็คือคอรัปชั่นน่ะแหละ หมายถึงคนที่เอาประโยชน์จากเศรษฐกิจไปโดยไม่เคยสร้างผลผลิต ทุนนิยมที่เป็น Crony ก็จะคอรัปชั่นเยอะ พอคอรัปชั่นเยอะมันก็จะบิดเบือนทุกอย่าง คุณไม่ต้องแข่งกับใคร เพราะคุณซื้อขายความได้เปรียบ ผมยัดเงิน ล็อคสเป็ก ขจัดคู่แข่งขัน สเป็กกูคนเดียว ไม่ต้องแข่งกับใคร แล้วกูก็ยินดีจ่าย แล้วกูก็ได้ผลประโยชน์ส่วนเกินจากการล็อคสเปก เอามาแบ่งกันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ อันนี้คือ ‘All About Corruption’ โอเค…พรรคพวกนิยม พวกใครพวกมัน ซึ่งมันก็ฝังรากมาเยอะ

การที่รัฐแทรกแซงทุกเรื่อง แทนที่จะให้ตลาดทำงาน อย่างเช่นข้าว ตลาดทำงานกันอยู่ดีๆ รัฐก็ยึดมาทำซะเอง แล้วก็ชัดเจนมาก ขาดทุนปีละแสนกว่าล้าน ถึงมือชาวนาแค่ 5 หมื่นล้าน เพราะคุณไปทำลายกลไกจนไร้ประสิทธิภาพ นี่คือเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสามานย์

Q อุดมคติแบบไหนที่เราควรจะไปให้ถึง

สิ่งที่น่าสนใจคือ เรามีทางเลือกอะไรเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ ถ้าพัฒนาแบบนี้ต่อไป ผมจะไม่ว่าอะไรหรอกถ้ามันจะไม่นำไปสู่ความฉิบหายในอนาคต เหลือทางเลือกที่สองก็คือ ต้องขจัดคอรัปชั่นให้ได้ ผมว่าต้องเริ่มตรงนั้น และทุกอย่างก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง จะเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม วางกฎกติกาใหม่ เปิดประเทศ เลิกชาตินิยม

Q เรื่องนี้โยงไปถึงกรณีห้ามคนต่างชาติซื้อที่ดินด้วยไหม

ก็เพราะอย่างนี้เลยทำให้ไม่มีคู่แข่ง เจ้าสัวเมืองไทยไม่กี่คนเลยสบาย แต่ถ้าคุณจะห้าม ต้องห้ามให้หมด ทั้งไทยทั้งเทศ แต่นี่ห้ามเฉพาะฝรั่ง นายทุนใหญ่ของไทยก็สบาย แล้วผมก็นึกไม่ออกว่าใครชั่วกว่าใคร

เอาง่ายๆ เวลาคุณห้ามฝรั่งเข้ามา ฝรั่งดีๆ เขาก็ไม่มาหรอก เพราะเขาเคารพกฎหมาย ยกเว้นไอ้แบบที่มีนอมินี มันก็หาช่องทางเข้ามาจนได้ โลกเดี๋ยวนี้มันกีดกันไม่ได้แล้ว มันต้องเปิดหมด ถ้ายิ่งปิดประเทศยิ่งฉิบหาย

Q ถ้ามีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งหมดได้จริงหรือ

ความเหลื่อมล้ำอย่าวัดกันที่ตัวเลขรายได้เพียงอย่างเดียว เพราะความเหลื่อมล้ำที่ลึกที่สุดมันอยู่ที่ความรู้สึกด้วย ถ้าพิจารณาจากสังคมแบบเก่า คนจนอยู่ชนบท เวลาแร้นแค้นก็ไม่ถึงกับแร้นแค้นสุดๆ อย่างน้อยก็ยังมีบ้านให้อยู่ มีอาหารให้กิน แต่ความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นเมื่อเขาต้องเจอกับคนชั่ว เจอนายทุนเงินกู้ เจอพ่อค้าคนกลาง ยิ่งในสังคมเมืองยิ่งไปกันใหญ่ เจอทั้งตำรวจ เทศกิจรีดไถ พวกเศรษฐีขับเบนซ์ ตำรวจไม่เคยเรียกเลย แต่พอกูขับกระบะมึงเรียกทุกที

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ มีงานวิจัยสมัยที่เกิดจลาจลคนดำในนิวยอร์ก พิตต์สเบิร์ก ดีทรอยต์ ชิคาโก สมัยประธานาธิบดีนิกสัน ปี 1960 มันเกิดจลาจลไปทั่วเลย ซึ่งน่าแปลกใจมาก เพราะเปรียบเทียบรายได้ของคนดำในเมืองสูงกว่าคนดำในเท็กซัส ในจอร์เจีย ในไร่ ในภาคการเกษตรเยอะมากเลย แต่พื้นที่เหล่านั้นกลับไม่มีปัญหาเลย ซึ่งงานวิจัยก็บ่งชี้ว่าปัญหามันเกิดจากภาวะความตึงเครียด ไม่ใช่แค่ตัวเลขทางการเงินอย่างเดียว ไม่ใช่แค่รวยหรือจน แต่เขารู้สึกว่าบางคนกลับได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ บางคนกลับมีในสิ่งที่ไม่ควรมี กูเหนื่อยยากแทบตายกว่าจะได้สักบาท มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่รับไม่ได้

Q ถ้าอย่างนั้นจะต้องอาศัยกลไกหรือใช้เครื่องมือชนิดไหนที่จะแก้ปัญหานี้ได้

มีการพูดถึงการพัฒนาหาระบบที่เหมาะกับบริบทความเป็นไทย ก็ฟังดูเพราะนะ แต่ผมถามว่าระบบไหนล่ะ เพราะทุกวันนี้เราเชื่อมกับโลกไปแล้ว เราจะแยกตัวออกจากโลกไม่ได้ และมันเสี่ยงเกินไป สำหรับผมมีทางเลือกเดียวเท่านั้น คือ ต้องขจัดคอรัปชั่นให้หมดไป เพียงแต่ถ้าจะเลือกทางนี้ก็ต้องสร้างกระบวนการให้ชัด ซึ่งผมเชื่อว่ากระบวนการ Reform หรือการปฏิรูป เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

มันมีอยู่ 3 คำ Development, Reform และ Revolution ถ้าเราจะเลือกแค่ Development มันก็จะยังอยู่ในแนวทางเดิม อะไรที่ขาดก็เพิ่มเข้าไป อะไรที่ดีแล้วก็ทำให้ดีขึ้น แต่การปฏิรูปหมายถึง อะไรที่มันอยู่ผิดที่ผิดทางก็จัดวางมันใหม่ซะ หรืออาจต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้าง เพราะฉะนั้นกระบวนการปฏิรูปนี่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ขณะที่การปฏิวัติหรือ Revolution มันเป็นการทำลายทั้งหมด การปฏิวัตินี่เลวเสมอสำหรับผม ไม่ใช่หมายถึงปฏิวัติโดยทหารเท่านั้น แต่หมายถึงการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจและสังคมด้วย จากประวัติศาสตร์ของโลก ที่ใดเกิดการปฏิวัติ ที่นั่นมีแต่ความฉิบหาย อย่างน้อยกินเวลาเป็น 10 ปี ไม่ว่าปฏิวัติฝรั่งเศส ปฏิวัติบอลเชวิค รัสเซียโดนไป 40 ปี อย่างอาหรับสปริง อันนี้เละ เพราะฐานสถาบันต่างๆ ถูกทำลายหมด จนบางคนยังกลับไปคิดถึงกัดดาฟี

ถ้าเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศที่เขา Reform เขาไปได้ดีหมด ทั้งอังกฤษ ยุโรป หรือประเทศที่ยังเหลือสถาบันกษัตริย์อยู่ เพราะไม่มีการปฏิวัติ การ Reform นี่มันเกิดขึ้นได้หลายทาง และเกิดขึ้นโดยบังเอิญก็ไม่น้อย อย่างอังกฤษก็เกิดด้วยความฟลุค เพราะยุคหนึ่งกษัตริย์ขี้เกียจ มัวอยู่แต่เยอรมนี แล้วให้พวกขุนนางบริหารแทน ก็เลยครีเอทคณะอภิรัฐมนตรีขึ้นมา ซึ่งก็ทำให้เกิดการ Reform แต่ของเราคืออะไร มีคณะกรรมการ Reform เยอะแยะไปหมด ผมมองดูแล้วก็เห็นว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่จริงแล้วได้เสนอทางออกไว้ดีนะ แต่ผมอยากจะคอมเมนท์ว่า ข้อเสนอเหล่านั้นมันไม่ Reform แต่จะออกไปทาง Revolution เสียมากกว่า ไม่ว่าจะเรื่องการยึดที่ดินอะไรต่างๆ รวมถึงการกระจายทรัพยากรอย่างพรวดพราด ซึ่งอาจจะโดนแรงต้านได้ ทั้งที่เป็นข้อเสนอที่ดี แต่วิธีการที่จะไปถึงนั้นเป็น Revolution มันจึงเกิดไม่ได้

ผมอาจจะเป็นพวก Pragmatic (เน้นผลการปฏิบัติ) ไม่ใช่ Idealistic (อุดมการณ์นิยม) คือถ้าคิดจะทำอะไรต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้และผลสัมฤทธิ์ด้วย เพราะถ้าใช้วิธี Extreme (สุดโต่ง) มันไม่เกิด ได้แต่พูดเท่ๆ เพราะฉะนั้นกระบวนการแบบไหนล่ะที่จะทำให้เกิด ผมว่าตรงนี้น่าสนใจมากกว่า

ส่วนสภาปฏิรูปประเทศ ที่ตั้งกันขึ้นมาหลังสุด ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า ความโง่มากที่สุดก็คือ การเอาคนที่ทำความผิดมาแก้ปัญหา เพราะบ้านเมืองที่มันเละอยู่ทุกวันนี้ก็พวกคุณทั้งนั้น แต่ละคนนี่มือวางอันดับหนึ่งทั้งนั้น มากันครบเลย (หัวเราะ) อย่างนั้นน่าจะเรียกว่าคณะกรรมการแบ่งเค้กประเทศไทยมากกว่า

ทั้งหมดนี้คือคำถามว่า เราควรจะเลือกธีมไหม ซึ่งผมพยายามจะสรุปให้ฟังว่า เราไม่มีทางเลือกหรอก ทางเลือกมันเหลืออยู่แค่นี้ ชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ ทุกวันนี้เราคือส่วนหนึ่งของโลกทุนนิยม เราถอยออกมาไม่ได้แล้ว ถ้าถอยก็พัง

Q บางทฤษฎีบอกไว้ว่าวิวัฒนาการของระบบทุนนิยม หากสามานย์ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดการล่มสลาย แล้ววันหนึ่งก็จะวนกลับไปสู่สังคมนิยมอีกครั้ง เป็นไปได้หรือไม่

มันคงไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้แน่ ในช่วงอายุขัยเราไม่มีทางได้เห็น แต่ผมเชื่อว่าถึงอย่างไรทั้งโลกก็ต้องไปตามกระแสทุนนิยม แล้วมันจะเกิดกระบวนการวิวัฒนาการเอง

ผมจะบอกให้ฟังว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหน เราอย่าไปตกใจกับมัน อย่างมาก 3 ปีก็กลับมาที่เดิม อย่างไทยเจอวิกฤติปี 2540 ไม่กี่ปีก็ฟื้นได้ใหม่ แต่ถ้าเรามัวหลงทางหรือเจอวิกฤติความแตกแยก สงครามกลางเมือง ดูอย่างอียิปต์ พม่า เวียดนาม เศรษฐกิจหยุดชะงักไปหลายสิบปี

อย่างฟิลิปปินส์ตอนนี้ GDP เหลือแค่ครึ่งเดียวของเรา จากเดิม 2 เท่าครึ่งของเรา เฟอร์ดินาน มาร์กอส เป็นประธานาธิบดี 21 ปี ถามว่ามาร์กอสชั่วขนาดที่ทำให้ประเทศถอยหลังไป 40 ปีหรือไม่ ไม่หรอก แม้ว่าเขาจะโกงกินเยอะ แต่กลไกระบบพรรคพวกที่ถูกสร้างขึ้นมามันรุนแรงมากกว่า มีอยู่ 10 กว่าตระกูลเท่านั้นเอง แต่เป็นเจ้าของทั้งประเทศเลย แม้กระทั่งมาร์กอสตายไปแล้วจนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังคุมอยู่เลย คือไปสร้างกลไกพรรคพวกนิยมแบบลึก ทำลายคนอื่นหมด และทำให้คนโง่ เพราะทางเดียวที่จะปกครองแบบนั้นได้คือ ประชาชนต้องไม่ฉลาด ฉะนั้นระบบการศึกษาจึงไม่มีคุณภาพ จากเดิมฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่คนไทยไปเรียน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครไปแล้ว คุณไปดูสิ เลือกตั้งเสร็จดาวตลกก็เป็นประธานาธิบดีได้ อีกหน่อยนักมวยก็ได้เป็น เพราะประชาชนไม่ได้รับการศึกษา

ผมอยากจะบอกคุณว่า ผมไม่ได้เกลียดใครหรอก แต่ผมกลัวว่าวิธีเดินของตระกูลชินวัตรจะคล้ายกับมาร์กอส เขาคงไม่เจตนาที่จะให้เหมือนฟิลิปปินส์ แต่วิธีการที่จะรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมันเป็นแบบนั้น นักธุรกิจคนไหนที่ไม่สยบ ใครอยู่ฝั่งตรงข้าม จะต้องทำตามพวกกูเท่านั้น ซึ่งมันมีเซนส์ลักษณะนี้อยู่ ผมไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อ ผมไม่ได้ชอบพรรคประชาธิปัตย์นักหรอก แต่กำลังชี้ให้เห็น

Q แต่ต้องยอมรับว่าในสมัยรัฐบาลทักษิณ เขาสามารถกระจายโอกาสไปสู่รากหญ้าได้มากขึ้น

แต่วิธีการไม่ใช่อย่างที่พูด ผมเป็นนักธุรกิจ ผมรู้ นักธุรกิจนี่กลัวมากเลย เพราะเขาแกล้งขู่ตลอด ผมก็โดน แต่ผมไม่กลัว

ผมขอพูดถึงการกระจายทรัพยากรความมั่งคั่งและลดความเหลื่อมล้ำ มันเกิดได้ 3-4 กรณี หนึ่ง-ต้องมีแผนที่ดี ค่อยๆ กระจายโอกาส สอง-เกิดการปฏิวัติมวลชนระดับรุนแรง สาม-เกิดวิกฤติ ทำให้เกิดการกระจายเองโดยอัตโนมัติ

วิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจติดลบไป 2 ปี 16 เปอร์เซ็นต์ และอีก 3 ปีกว่าจึงกลับมาที่เดิม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ Redistribution of Wealth (การจัดสรรปันส่วนใหม่) ตอนนั้นคนรวยหายไปเยอะ แล้วเวลาเศรษฐกิจมันกลับมาที่เดิมก็ต้องมีคนได้ แต่คนรวยไม่ได้กลับมาที่เดิม ฉะนั้นจึงเกิดคนชั้นกลางจากวิกฤติครั้งนั้น เราฟื้นขึ้นมาจากการส่งออก ทุกคนได้รับการกระจายโอกาส ทั้งการจ้างงานอะไรต่างๆ หลังจากชุลมุนกับการแก้วิกฤติสองสามปี พอกลับมายืนที่เดิมได้ก็เกิดกระบวนการจัดสรรใหม่โดยอัตโนมัติ ถึงแม้จะไม่มีงานวิจัยชี้วัด แต่ทุกที่เป็นแบบนี้หมด คือ Redistribution of Wealth เกิดการกระจายทรัพยากรไปโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะฝีมือใคร แต่เป็นอานิสงส์ที่คุณทักษิณชนะการเลือกตั้งสมัยนั้นพอดี ซึ่งเป็นความโชคดีของคุณทักษิณ

คุณทักษิณเก่งอยู่หลายเรื่อง เรื่องที่ผมขอยกเครดิตให้คือ Execution (การจัดการ) เพราะระบบราชการไทยมันห่วย มันไม่เดิน แต่เขาเป็นนักบริหารแบบซีอีโอ เขา Force เต็มที่ ทั้งขู่ทั้งปลอบ ทำให้ราชการกระเตื้องขึ้นมาบ้าง จากห่วยสุดๆ เป็นห่วยน้อยหน่อย นี่คือความสำเร็จ

อีกอันหนึ่งคือ ไม่ว่าจะโดยเจตนา โดยกลยุทธ์ที่ดี หรือรัฐธรรมนูญบังคับให้กระจายอำนาจ ทำให้เกิดการกระจายทรัพยากร ทางทีมเศรษฐศาสตร์ของผมลองแยกหมวดของการใช้งบประมาณของรัฐ พบว่า ก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะขึ้นมา แค่ 18 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณเท่านั้นที่ไปถึงรากหญ้า หลังจากนั้น 5 ปีภายใต้รัฐบาลทักษิณ เพิ่มขึ้นเป็น 24 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยแล้ว 6 เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นเงินประมาณแสนล้านต่อปี เพราะฉะนั้นการทำงานของรัฐบาลทักษิณมีประสิทธิผลมาก ซึ่งภาพออกมาเป็นแบบนั้น

ผมขอชี้ให้เห็นอีกเรื่องคือ คุณทักษิณยังสามารถพัฒนากลไกการทำงานของรัฐ จากเดิมกระจุกอยู่ที่ศูนย์กลาง ซึ่งคุณทักษิณเขาเปลี่ยนตรงนี้ได้ สามารถกระจายออกไปได้ เมื่อก่อนคนที่มาช่วยกระจายให้รากหญ้าได้บ้าง ก็ทำได้เฉพาะที่ที่มีวัง ผมพูดจริงๆ งบประมาณ กปร. (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ) 2,000 ล้านบาทต่อปี แต่คุณทักษิณกระจายไปถึงรากหญ้าได้แสนล้านบาทต่อปี อะไรมากกว่าล่ะ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับความนิยม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมจะพูดต่อก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่มันมากขึ้นๆ คนรวย 20 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ กับคนจน 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย มีรายได้เฉลี่ยต่อปีห่างกันถึง 13 เท่า ลองนึกดูสิว่า มนุษย์น่ะมันจะต่างกัน 13 เท่าได้ยังไง มันไม่ควร ผมจะเก่งกว่าคุณ 13 เท่าได้ยังไง ผมจะมี Productivity มากกว่าคุณ 13 เท่าได้ยังไง ยกเว้นคุณไม่ทำอะไรเลยวันๆ ซึ่งมันไม่ใช่ โดยเซนส์เรารู้สึกรับไม่ได้

อันนั้นพูดถึงรายได้ ถ้าพูดถึงความมั่งคั่งยิ่งไปใหญ่ เพราะความมั่งคั่งหมายถึงรายได้ส่วนเกินสะสม ซึ่งคนข้างล่างมันไม่มีเคยได้สะสมเลย นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เรากลัวว่า ถ้าไปเรื่อยๆ แบบนี้มันจะนำไปสู่ความแตกแยก

มีตัวเลขที่น่าสนใจว่า 16 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเกษตรกร 14.5 ล้านคน แปลว่าไม่เพิ่มจำนวนขึ้นเลย และจากตัวเลขของ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) อายุเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 44 ปี เป็น 52 ปี ในช่วงเวลา 15 ปี นั่นหมายความว่า มันเกิดบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คนรุ่นใหม่เข้าเมือง คนชนบทเขาทุ่มทรัพยากรทุกอย่างให้กับการศึกษาของลูก ใบปริญญาเป็นสิ่งที่ชาวชนบทถือเป็นความภาคภูมิใจใหญ่หลวง เพราะฉะนั้นก็เข้าเมือง แล้วก็ไม่กลับชนบท แต่ตัวเลขที่แย่คือ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ทักษะหมดเลย เป็นพนักงานเสิร์ฟ พนักงานขายของ คนงานก่อสร้าง

ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่มีมานาน เพราะมนุษย์เกิดมามันก็ไม่เท่ากันแล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำคืออะไร ไม่มีใครบอกได้ ความเหลื่อมล้ำแค่ไหน มันก็ต้องใช้คำว่าความเหลื่อมล้ำที่สังคมรับกันได้ อยู่กันได้อย่างสงบสุขและยังพัฒนาต่อไป ในทางเศรษฐศาสตร์วิธีลดความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุดและสงบสุขที่สุดก็คือ การทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น และกระจายความมั่งคั่งไปถึงคนข้างล่างด้วย แต่ที่ผ่านมาไอ้ส่วนที่โตมันไปตกอยู่ข้างบนหมด

Q ถ้ามองในเชิงรูปธรรม จะสามารถไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร

ในเชิงรูปธรรมก็คือกลไกภาษี กลไกงบประมาณ มันก็มีหลายแนวทางที่ทำได้ แต่ต้องตั้งเป้าหมายก่อน ซึ่งข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปมันเกิดยาก เพราะข้างบนไม่ยอม คนชั้นกลางก็ไม่ยอม เพราะคนชั้นกลางกำลังเริ่มลืมตาอ้าปาก กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เรื่องพวกนี้มันเลยเชื่อมโยงสัมพันธ์กันไปหมด

Q ถ้าพูดถึงโลกของตลาดทุน-ตลาดหุ้นซึ่งเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยที่มั่งคั่ง อันที่จริงก็ยังมีกติกาที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่

ที่จริงผมเบื่อเรื่องพวกนี้ เวลาคนพูดถึงตลาดทุนตลาดหุ้นมักฟังดูน่ารังเกียจ มันน่ารังเกียจเพราะคนที่จะเข้าไปเกี่ยวพันในนี้ได้ ถ้าไม่เป็นบริษัทที่มั่งคั่งก็ต้องเป็นคนที่มั่งคั่ง และมันน่ารังเกียจว่ามันมีพฤติกรรมหลายๆ อย่างในตลาดทุนที่มันไม่ถูกไม่ต้องอยู่ไม่น้อย แม้กระทั่งตลาดทุนระดับโลกก็ยังมี ตลาดทุนไทยไม่ต้องพูดถึง เพราะฉะนั้นคำว่าตลาดทุนมันก็เป็นคำที่ค่อนข้างน่ารังเกียจในหมู่ประชาชน ทั่วไป

Q ตลาดหุ้นโดยตัวมันเองเกิดประโยชน์กับผู้คนทั่วไปอย่างไร

ถ้าถามว่าตลาดทุนมีไว้ทำไม จำเป็นต้องมีไหม ก็ต้องกลับมาดูหลักเศรษฐกิจว่าทำอย่างไรถึงจะเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่าง จำกัดไปใช้งานให้มีประสิทธิภาพ ให้มีอรรถประโยชน์สูงสุด ยั่งยืน และแบ่งสรรอย่างเป็นธรรม เป้าหมายเศรษฐกิจมีแค่นี้ แต่ทีนี้ทำไมตลาดทุนซึ่งดูเหมือนไม่ Produce หรือผลิตอะไรเลย และทำไมโลกต้องให้ความสำคัญกับตลาดทุนทุกแห่งมาก ประเทศที่เป็น Transition Economy หรือประเทศที่เปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์ยิ่งต้องพัฒนาตลาดทุนจนเป็นหัวใจหลัก ถ้าคุณสังเกต รัสเซีย เวียดนาม ลาว พม่า เขมร ต้องทำหมด เพราะว่าตลาดทุนมันทำหน้าที่รวบรวมทรัพยากรให้ถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ทรัพยากรทุกอย่างมีเงินเป็นสื่อกลางหมด เพราะฉะนั้นตลาดทุนมันทำหน้าที่โดยเงิน

ทีนี้ถามว่าตลาดทุนที่ดีควรจะเป็นตลาดแบบไหน อันดับแรกคือ ต้องรวบรวมทรัพยากรได้มากเพียงพอ และต้องมาจากแหล่งที่ถูกต้อง อันนี้สำคัญมาก วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 มันเกิดเพราะว่าเรารวบรวมทรัพยากรได้เยอะมาก แสนล้านเหรียญ แต่เป็นเงินกู้ระยะสั้น แล้วดันเอามาลงทุนระยะยาวจนทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ประการต่อมา ต้นทุนทางการเงินนั้นจะต้องแข่งขันได้

มนุษย์มีปัจจัยการผลิตอยู่แค่ 4 อย่าง ทุน ที่ดิน แรงงาน และเทคโนโลยี แต่ทุนเป็นตัวหลักสำคัญที่จะได้ซื้อเทคโนโลยีได้ พัฒนาเทคโนโลยีได้ เพราะฉะนั้นประเทศกำลังพัฒนาที่จะก้าวไปเป็นประเทศพัฒนา มันต้องไปสู่ Capital Intensive (ใช้ระบบทุนเป็นหลัก) โดยกลไกหนึ่งที่สำคัญคือต้องจัดสรรดีและทั่วถึง คือเอาไปให้คนที่ควรได้ คนที่มีศักยภาพ และตลาดทุนในที่สุดจะถูกทำให้มีศักยภาพ คือถ้าคนไม่มีศักยภาพ ไม่ได้ทุน มันก็ต้องพับ

หุ้นในตลาดหุ้นเมืองไทยมีอยู่ 12 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น Free Float หรือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ได้อยู่ในมือของผู้ถือหุ้นใหญ่ ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีอยู่ 63-65 เปอร์เซ็นต์อยู่ในมือฝรั่ง อยู่ในมือต่างประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าใครบอกว่าต่างประเทศครอบงำตลาดทุนไทยมันคือเรื่องจริง และเกิดขึ้นมานานแล้วด้วย ตลาดทุนไทยถึงค่อนข้างดี

หุ้นในตลาดเมืองไทยมีอยู่ 600 หุ้น มีนักลงทุน 3 พวก 62-63 เปอร์เซ็นถือโดยชาวต่างชาติ 19 เปอร์เซ็นถือโดยนักลงทุนสถาบันไทย เช่น พวกกองทุนรวม ประกันสังคม ประกันชีวิต ส่วนบุคคลธรรมดาถืออยู่ 18 เปอร์เซ็น ฉะนั้นตลาดทุนที่ดีจะต้องรวบรวมทรัพยากรได้พอเพียงจากแหล่งที่ถูกต้อง ต้นทุนแข่งขันได้ จัดสรรดี ทั่วถึง แต่ตลาดทุนยังไงก็ไม่ทั่วถึง แม้แต่ในตลาดหลักทรัพย์เองมันก็มีส่วนที่มีคุณภาพกับส่วนที่ไร้คุณภาพปนกัน อยู่ ซึ่งตลาดทุนเมื่อจัดสรรทรัพยากรไปแล้วก็ต้องติดตามดูแล ให้ทุนนั้นได้ใช้งานตามวัตถุประสงค์และมีคุณภาพ นั่นคือระบบที่เรียกว่า Corporate Governance หรือบรรษัทภิบาล คือกลไกกำกับองค์กร ซึ่งไม่ได้แปลว่าจริยธรรมเพียงอย่างเดียว หมายถึงว่าเมื่อได้รับทรัพยากรไปแล้วก็ต้องใช้อย่างมีคุณภาพ ต้องทำให้เจ้าของทรัพยากรสามารถรู้ได้ว่าสิ่งที่เขามอบให้มีแนวทางไปในทาง ไหน ดีหรือไม่ดี

ผมอยากจะบอกว่า เรื่องวิกฤติการเงินหรือเศรษฐกิจมันเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับการพัฒนา ถ้าเราพัฒนาช้ามันก็ไม่มีวิกฤติหรอก อย่างประเทศพม่า คิวบา เกาหลีเหนือ ประเทศพวกนี้ไม่มีทางเกิดวิกฤติทางการเงิน แต่ก็ต้องกินแกลบ สาเหตุที่ทำให้เราเกิดวิกฤติปี 2540 ก็เพราะว่าตั้งแต่ปี 2534-2539 เราเติบโตอยู่ที่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ตลอด ซึ่งมันก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง แต่การเชื่อมโยงของโลกมันช่วยได้มาก ประเทศไทยไม่มีวันนี้หรอกถ้าไม่มีต่างชาติถือหุ้นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันหมายถึงเขาเอาเงินมาให้เราเป็นล้านล้าน ทำให้มีการลงทุน เกิดการจ้างงาน ทำให้ประเทศมีเทคโนโลยีที่แข่งขันได้

Q คนยุคปัจจุบันจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจเรื่องหุ้น เพราะเห็นว่าเป็นช่องทางทำเงินโดยไม่ต้องออกแรงทำงาน มีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง


ตลาดหุ้นที่คนเล็กคนน้อยเห็น มันเป็นการเห็นเพียงผิวเผิน ตลาดหุ้นที่แท้จริงมันถูกคุมโดยนักลงทุนสถาบัน ซึ่ง 60 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นกองทุนใหญ่ๆ อยู่ต่างประเทศ มีกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่แค่ 200 กองทุนเท่านั้น อย่างลูกค้าของภัทร (บริษัท ทุนภัทร จำกัด มหาชน) จะมีแต่พวกรายใหญ่ บัญชีเล็กสุดของเราอยู่ที่ 30 ล้านบาท แต่ถ้าอย่างกองทุนของต่างชาติ เช่น Genesis Capital, Fidelity, Aberdeen กองทุนใหญ่พวกนี้จะถือกันไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท พวกนี้จะวิเคราะห์วิจัยหนักมาก เพราะต้องรู้ข้อมูลเชิงลึก ฉะนั้น โดยหลักแล้ว ในโลกนี้คนธรรมดาไม่ควรจะซื้อหุ้น แต่ควรจะซื้อผ่านกองทุนให้เขาเล่นให้ เขาก็จะหักเปอร์เซ็นต์นิดหน่อยจากเราไป อาจจะเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศของเอเชียที่มีบุคคลธรรมดาซื้อขายหุ้นมากกว่านักลงทุนสถาบัน เพราะทั้งโลกกลายเป็นตลาดกลไกไปหมดแล้ว ที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุผลหนึ่งเราไปจำกัดการลงทุน คือคนไทยจะลงทุนได้แต่หุ้นไทย ซึ่งที่ถูกต้องพอถึงจุดหนึ่งก็ต้องเปิด เพราะในความเป็นจริงโลกมีหุ้นให้ลงทุนอยู่ตั้ง 50,000 หุ้น แต่คนไทยถูกบังคับให้ลงอยู่เพียง 600 หุ้นเท่านั้น ซึ่งแบบนั้นมันผิด ทีนี้พอถึงจุดเปิดเต็มที่ 50,000 หุ้นของต่างประเทศ คนไทยรู้จักมากสุดก็แค่ 4-5 ชื่อ Apple, Facebook, City Bank, Chevron แล้วหุ้นพวกนี้ก็เคยตกลงมาครึ่งหนึ่งอย่างรวดเร็วทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าชื่อเสียงดีแล้วหุ้นจะขึ้นตลอด แบบนั้นก็ไม่ใช่ มันเป็นองค์ความรู้ที่ไม่ใช่แค่ซับซ้อนลึกซึ้ง แต่ต้องอัพเดทมันตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับมนุษย์ธรรมดา ไม่มีใครที่จะอัจฉริยะได้ขนาดนั้น ขนาด วอร์เรน บัฟเฟตต์ (นักธุรกิจอเมริกัน) ยังต้องจ้างลูกน้องตั้ง 500 คน คอยช่วยวิเคราะห์วิจัยในเรื่องพวกนี้

ถ้าจะให้พูดถึงนักลงทุนทั้งหลาย อย่างแรกที่ต้องรู้คือ หนึ่ง-ตลาดหุ้นซับซ้อนกว่าที่คุณคิด สอง-การที่คนธรรมดาจะติดตามข่าวสาร ตัดสินใจซื้อขายหุ้นเองมันผิดหลักอยู่แล้ว อย่างที่สาม-หนังสือเรื่องหุ้นที่วางอยู่บนแผงเต็มไปหมดมันอันตราย เพราะมันไม่ใช่ของจริง แต่คนรุ่นใหม่เขาชอบ เพราะมันง่ายดี เร็วดี ผมถามว่าถ้ามันรวยได้ในพริบตาจริง แล้วคุณจะมาพิมพ์หนังสือขายทำไม (หัวเราะ)

ผมอยากฝากว่า คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ โดยเฉพาะหุ้นที่หวือหวา หุ้นที่ซื้อตามๆ เขา เพราะตลอดการทำงานของผม 36 ปี ยังไม่เคยเห็นการปั่นหุ้นการกุศลเลย เพราะว่ามันปั่นไปเชือดทั้งนั้นแหละ แล้วถ้าคิดว่าการรู้ข้อมูลอินไซด์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความจริงคือมันไม่ใช่ มันเป็นความเข้าใจที่ผิด มันเป็นเพียงแค่ข่าวเท่านั้น อย่าไปคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ เพราะในตลาดหุ้นสากลมันเป็นเรื่องที่เขาไม่ยอมรับกัน เพราะถ้ายอมรับก็จะติดคุกกันระนาวเลย

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หุ้นมันขึ้นต่อเนื่อง เขาเรียกว่ายุค ‘ปาลูกดอก’ ปาเข้าไปเถอะไม่ว่าหุ้นอะไรคุณก็ได้กำไร เพราะมันขึ้นยกตลาด การขึ้นยกตลาดนี่มันขึ้นต่อเนื่อง คนก็เลยเฮกันเข้าไปเล่น แต่พอเจอปีนี้เข้าไปเดี๋ยวก็หด เจ๊ง เพราะปีนี้หุ้นผันผวน การที่คนธรรมดาคิดจะเล่นหุ้นเป็นอาชีพนั้นมันเป็นเรื่องไร้สาระ ควรจะเลิกเสียให้หมด เพราะมันผิด แต่ตลาดหลักทรัพย์เองก็ดันไปโปรโมต ซึ่งผมเองก็ค้านมาตลอด

Q มีเหตุผลอะไรบ้างที่คนธรรมดาไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวเรื่องหุ้น

เหตุผลแรก เราใช้คำว่า Economy of Scale คือ การที่จะวิเคราะห์ตลาดหุ้นได้อย่างลึกซึ้ง ต้องใช้เวลาประมาณ 2,000 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งคนธรรมดาไม่มีทางทำได้ เพราะมันต้องมีทีม มีการแบ่งหน้าที่ ฉะนั้นคนธรรมดามันไปไม่ถึงอยู่แล้ว เหมือนการที่คุณเป็นคนธรรมดาแล้วคุณบอกว่าจะสร้างโรงปูนซีเมนต์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้

สอง-สมมุติคุณมี 100 ล้านหุ้น ถ้าอยากจะมี 10,000 ล้านหุ้น ก็ต้องใช้คน 100 คน แล้วคุณต้องใช้เวลาวันละ 10 ชั่วโมง เพื่อที่จะติดตามหุ้น มันก็ปาเข้าไป 1,000 ชั่วโมงต่อวัน เพราะมันใหญ่มาก

สาม-เป็นเรื่องของ Expertise (ทักษะความชำนาญ) ซึ่งคนที่จะถูกใช้งาน มีทั้งจบมาจากฮาวาร์ด สแตนฟอร์ด ที่ล้วนผ่านกระบวนการทดสอบมาแล้วว่ามีความเก่ง ความเชี่ยวชาญ และไม่ใช่มีแค่ ความชำนาญด้านเดียว เพราะในทีมงานที่จะลงทุนก็ต้องมีทั้งทีมวิเคราะห์ ตัดสินใจ แยกแยะ มีทีมที่รู้จังหวะของตลาด ซึ่งคนคนเดียวไม่มีทางจะไปสู้ได้แน่นอน

สี่-เรื่องข้อมูลข่าวสาร นั่นก็ต่างกันราวฟ้ากับดิน ทุกตลาดจะบอกว่าทุกคนต้องเปิดเผยข้อมูลเท่าเทียมกัน แต่ว่าการรับข้อมูลมันไม่เท่าเทียมกัน ดูจากนักวิเคราะห์เป็นอับดับแรกเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณเป็นนักลงทุนสถาบันระดับแสนล้าน คุณสามารถที่จะโทรศัพท์มาที่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์หุ้นให้ ได้ทันที นักวิเคราะห์เขาก็ต้องโทรหาคุณทันที เพราะ Account เป็นแสนล้าน แล้วก็ต้องช่วยวิเคราะห์หรือตอบคำถามของคุณให้ได้ ต้องทำการบ้านส่งให้ได้ เราก็ต้องทำให้คุณเพราะคุณมีหุ้นอยู่ในมือเยอะมาก

Q ในเมื่อแวดวงตลาดหุ้นเป็นเรื่องของนักลงทุนระดับชาติ ทำไมตลาดหลักทรัพย์บ้านเราจึงพยายามโปรโมตชักชวนให้คนธรรมดาเข้าไปเล่นหุ้น

มันเป็นการหลงผิด ผมถึงบอกว่าทั่วโลกเขาไม่มีแบบเรา ดูง่ายๆ ต่างประเทศเขาไม่มีหนังสือประเภทรวยทางลัดด้วยหุ้นแบบบ้านเราหรอก แต่ต่างประเทศเขาจะเป็นเรื่องของ Conceptual ทั้งหมด มันเป็นหนังสือที่จะบอกว่าถ้าอยากจะซื้อหุ้น อยากจะเก่งเรื่องหุ้น ก็อย่าไปลงทุนแบบเขา แต่ให้ซื้อหุ้นของบริษัทเขาแทน คือเอาเงินไปให้เขาซะ แล้วเขาจะลงทุนให้ ฉะนั้นคนธรรมดาก็ควรจะซื้อแค่หน่วยลงทุน ไม่ใช่ไปซื้อหุ้น ซึ่งเมืองไทยก็เริ่มมีการลงทุนซื้อหุ้นผ่านสถาบันมากขึ้น

Q พูดได้ว่าถ้าคิดจะรวยทางลัดแบบนี้ไม่มีทางเป็นไปได้?

ก็อาจจะมีคนโชคดีบ้าง คืออย่างแรกต้องเก่งจริง แต่โอกาสมันก็น้อยมาก เหมือนคนเล่นกอล์ฟแล้วอยากเป็น ไทเกอร์ วูด สองก็คือ เฮง แต่เฮงมันอยู่ได้ไม่นาน สามคือ รวย ก็คือเป็นพวกที่ต้มตุ๋นเขา อาจจะอยู่ในทีมนักปั่นหุ้นอะไรพวกนั้น สรุปถ้าอยากจะเล่นหุ้นก็ต้องเป็นคนต้ม ไม่ใช่คนถูกต้ม อย่างบริษัทของผมมีอุดมการณ์ร่วมกันคือ เราต้องรวยให้ได้ แต่ต้องไม่โกง คือต้องอ้วนให้ได้ แต่ไม่xxx

บริษัทเราทำงานในรูปแบบคำว่า Principle Centered Organization ซึ่งเอารูปแบบมาจากหนังสือ Principle Centered Leadership ของ Stephen Covey ที่เป็นหนึ่งในปรมาจารย์ด้านการจัดการ หลักการเขาบอกไว้ว่า คนเรานั้นบางวันก็ฉลาด บางวันก็โง่ บางวันก็หลง บางวันก็เผลอ เพราะฉะนั้นคนเป็น Leader มันไม่จีรัง จึงต้องใช้ Principle เป็นแกนขององค์กร เพราะฉะนั้นหลักปฏิบัติก็จะเป็นเรื่องที่ทำง่ายๆ ชัดๆ เช่น เราเชื่อใน Globalization เชื่อใน Specialization เชื่อใน Team Approach เราเป็น Learning Organization

เราจะยึดหลักที่ว่า พูดจริง พูดหมด ไม่ต้องจำ เพราะถ้าโกหกแล้วมันต้องจำให้ได้ ผมทำธุรกิจที่ตอบสนองการพัฒนาของประเทศ ซึ่งผมก็ภูมิใจและคิดว่ามันคือการ CSR ที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุด ไม่ยุ่งกับหุ้นป่วย และพยายามทำให้ตลาดหุ้นไทยมันตอบโจทย์ ทำให้เกิดการจ้างงานมหาศาล อย่างหุ้น ปตท. หรือชินวัตร เราก็เป็นคนจัดการเอาเข้าตลาดหุ้นทั้งนั้น

ปตท. นี่มีคนด่าเยอะเรื่องเข้าตลาดหุ้น แต่ถ้าถามว่าเข้ากับไม่เข้าอันไหนดีกว่ากัน ก็ต้องบอกว่าเข้าดีกว่า เพราะถ้าอยู่นอกตลาดก็เหมือน รฟท. แล้วถ้าถามว่าเข้าตลาดแล้วมันเพอร์เฟ็คท์หรือยัง ตอบเลยว่ายัง แต่มันก็เริ่มเข้ากระบวนการของมันที่ถึงวันหนึ่งมันก็ต้องสานต่อ แล้ว ปตท. ถ้าจะทำให้ดีกว่านี้ก็ต้องไปให้สุดเลย ขายหุ้นให้หมด เพราะถ้าอยู่อย่างนี้มันก็ต้องยังอยู่ในมือรัฐมนตรีอยู่ดี


Q ดูจากสภาพบ้านเมืองขณะนี้ ไทยจะเจอกับวิกฤติทางเศรษฐกิจอีกไหม

วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากตัวเศรษฐกิจในระยะสั้นช่วง 4-5 ปีนี้ ผมคิดว่าไม่มี เพราะว่าแบงก์ชาติค่อนข้างจะทำงานได้ดีมากในแง่ของการรักษาเสถียรภาพ แต่มีเรื่องที่ผมเป็นห่วงคือสไตล์การทำงานของรัฐบาลพรรคนี้ค่อนข้างจะก้าว ล่วงเข้าไปเยอะ คือจะพยายามจัดการให้ได้ทุกอย่าง จะต้องคุมเองให้ได้ทุกจุด ต้องจัดการเองทุกอย่าง ซึ่งตรงนี้ผมไม่เห็นด้วย ผมได้เป็นพวกใคร เรื่องไหนถ้าใครทำดีผมก็ชม อย่างเช่นประชานิยมที่ดีที่สุดเลย คือ 30 บาท แต่ประชานิยมที่เลวที่สุดก็คือ จำนำข้าว ซึ่งเป็นการทำลายกลไกตลาด แล้วยังทำให้เกิดการรั่วไหล รวมทั้งประชานิยมแบบกินแล้วขี้ คือไม่ได้สร้างให้เกิด Productivity

****************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Interview นิตยสาร Way ฉบับ 69 )
http://waymagazine.org/interview/banyongpongpanich

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 25, 2014 3:11 pm
โดย Sugarray
ขอบคุณครับ เนื้อหาสาระ เข้มข้นมากครับ ถึงจะไม่เห็นด้วยไปทั้งหมด :D

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 25, 2014 4:11 pm
โดย ดำ
ภัทรเห็นมองตลาดหุ้นไทยลงมาตลอดเลยมั้ง

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 25, 2014 8:21 pm
โดย vim
ถ้ามีโอกาสควรอ่าน One Up on Wall Street ประกอบด้วยก็ดีครับ ในเล่มนั้นคนเขียนเขาให้เหตุผลว่าทำไมนักลงทุนรายย่อยถึงได้เปรียบกองทุนใหญ่ๆในหลายๆประเด็น เป็นมุมมองอีกด้านหนึ่ง

จริงๆในหลายๆธุรกิจ ผมยังสงสัยเลยว่านักลงทุนสถาบัน ผู้จัดการกองทุน ที่เรียนจบการเงินมา จะเข้าใจในตัวธุรกิจได้ดีกว่าคนที่จบโดยตรงตามสาขาหรือทำงานในสาขานั้นได้อย่างไร ทุกวันนี้ต่อให้เป็นหุ้นในอเมริกา ผมยังเห็นบทวิเคราะห์ที่คุณภาพไม่ดีออกมาเรื่อยๆ เพราะกองทุนนั้นมีความรู้ที่จำกัดขณะที่บางธุรกิจนั้นต้องใช้ความรู้เฉพาะค่อนข้างสูง

นอกเหนือจากนั้น ความสามารถในการวิเคราะห์ ความสามารถในการรับข้อมูลของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ไม่ว่าคนคนนั้นจะจบอะไรมาหรือทำงานอะไรก็ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ทั้งหมด

ผมขอยกตัวอย่างจากที่ผมสัมผัสมา มีอาจารย์ด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงในมหาลัยชั้นนำทางธุรกิจแห่งหนึ่งในเยอรมัน ให้ความเห็นเมื่อ 2-3 ปีก่อนว่าธุรกิจการบินทางไกล (long-haul) นั้นน่าสนใจมาก โดยให้เหตุผลว่าคู่แข่งรายใหม่เข้าได้ยาก และการบินทางไกลยังมีการแข่งขันที่ต่ำ โดยสายการบินราคาถูก (low-cost) นั้นยังจับตลาดได้แค่การบินระยะใกล้ (short-haul)

อาจารย์ท่านนี้เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทการบินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

ผ่านไปสองสามปี คู่แข่ง low-cost เริ่มหันมาทำตลาดการบินระยะไกลกันหมด ขณะที่สายการบินดั้งเดิมก็เริ่มทำการลดต้นทุน บริษัทเกิดอาการผิดแผน เพราะไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะแข่งขันจึงไม่สามารถแข่งขันทางต้นทุนกับสายการบินอื่นๆได้ ทุกวันนี้บริษัทการบินที่ว่านี้แทบจะล้มละลาย ถ้าย้อนเวลาไปได้ ผมคิดว่าคงไม่มีใครจ้างที่ปรึกษาคนนี้ตั้งแต่แรก

การฝากเงินไว้กับผู้จัดการกองทุน ก็เหมือนกับการทำธุรกิจตามความเห็นของ"ผู้เชี่ยวชาญ"ที่จ้างมา เราคาดว่าเขามีความรู้เพราะเขาเรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญ แต่จริงๆแล้วเราแทบไม่รู้เลยว่าคนคนนั้นจะมีความสามารถตามที่คาดหรือเปล่า

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 25, 2014 10:55 pm
โดย chatchai
โชคดีที่ผมไม่ทำตาม ยังคงคัดเลือกหุ้นเอง ลงทุนเอง ไม่ได้นำเงินไปให้กองทุนลงทุนให้ 555

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 25, 2014 11:55 pm
โดย dino
:mrgreen: หึหึ ไม่น่าเชื่อ ไม่น่าเชื่อจริงๆ หึหึ :juju:

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 12:52 am
โดย นายมานะ
ตัวคุณบรรยงได้รับการยอมรับนับถือมากในฐานะนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และในปัจจุบันยังเป็นนักเขียนด้วย ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับสูงมาแล้วหลากหลายสาขาอาชีพ แต่คุณบรรยงซึ่งเป็นปราชญ์ในด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินกลับไม่ได้เป็นนักลงทุนเชิงรุกที่เลือกหุ้นด้วยตัวเอง ซึ่งหากคุณบรรยงยอมรับว่านักลงทุนเชิงรุกประสบความสำเร็จ คงมีคำถามตามมามากมายว่า เพราะเหตุใดคุณบรรยงจึงไม่ใช่หนึ่งในนั้น

ที่พิมพ์มาผมอาจมี bias จากการที่ผมเป็นนักลงทุนเชิงรุก 100% อันที่จริงผมให้ความเคารพในงานเขียนของคุณบรรยงมาก และติดตามอ่านอยู่เสมอ เพียงแต่ผมก็มองว่าการเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุน 100% เองก็อาจมี bias ในอีกแบบหนึ่งได้เช่นกัน

ผมได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายของพี่เวป พรชัย (เป็นการบรรยายที่เยี่ยมมากครับ :wink: ) ซึ่งสอนให้ผมรู้ว่า bias นั้นเป็นหนึ่งในจุดตายที่สำคัญของนักลงทุนระดับโลก และแม้แต่เซียนเองก็ยังพลาดจนถึงตายได้ เป็นอุทาหรณ์ชั้นดีที่ทำให้เราไม่ประมาทในการลงทุนหรือการดำรงชีวิตครับ

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 6:23 am
โดย khunsa
ได้แต่ยิ้มในใจ โอกาสของเรายังคงมีแหะ 5555

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 7:31 am
โดย นพพร
ถ้ามองดูเหรียญอีกด้านบ้างก็น่าจะดีเหมือนกันนะ

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 8:09 am
โดย Nevercry.boy
ขอบคุณ คุณ Tibular มากครับ ที่นำบทความของ อ.บรรยง มาให้เราอ่านกัน

อ.บรรยง ท่านเคยเป็น ศาสตราภิชาน ของจุฬาฯ และท่านได้บรรยายหลายสิ่งอย่างที่ทรงคุณค่าไว้มากครับ

ในพอร์ตการลงทุนของผมเองส่วนตัวมีกองทุนอยู่ประมาณ 25% ของพอร์ตและก็ต้องยอมรับเลยว่าบางปีผมก็ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนที่ผมถืออยู่

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 8:40 am
โดย oatty
ผมรู้จักคุณบรรยงค์ก็เพราะบทความที่ระยะหลัง ๆ เขียนได้ถูกใจคนอ่าน ยิ่งบทความเรื่องสายการบินนี่ หลาย ๆ อย่างที่พูดก็ถูกต้อง แต่ก็มีแทรกด้วยความไม่ถูกหลายเรื่องเหมือนกัน

เห็นด้วยกับคุณ VIM ครับว่า คนเราไม่ได้เก่งไปทุกเรื่องหรอก ปากบอกว่าเชี่ยวชาญ เอาเข้าจริงก็เชี่ยวชาญในการถามข้อมูลมากกว่า

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 9:18 am
โดย chatchai
สิ่งที่คุณบรรยงแสดงความเห็น ผมไม่เห็นด้วยที่ว่า เราจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนเราต้องศึกษาหุ้นทั่วทั้งโลกแบบนั้นเลย และปัจจัยที่จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จ นอกจากความรู้ ความสามารถแล้ว ทัศนคติในการลงทุน และจิตวิทยาในการลงทุนก็เป็นเรื่องสำคัญที่อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ความรู้ ความสามารถ ก็ไม่จำเป็นต้องเก่งขนาดเรียนมหาวิทยาลัยดังๆของโลก

สุดท้าย นักลงทุนรายย่อยที่เป็นตัวอย่างประสบความสำเร็จในปัจจุบันก็มีมากมาย ถ้าจะบอกว่าที่ได้เพราะเป็นช่วงหุ้นขาขึ้น ผมก็ไม่เห็นจะมีกองทุนหุ้นไหนที่รอดจากวิกฤตปี 40 เลยซักกอง

สำหรับประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้สนใจหรือจริงจังกับการลงทุน ผมก็เห็นด้วยกับการฝากเงินให้กองทุนลงทุนให้ แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มุ่งมั่น ผมยังเห็นว่าลงทุนเองเหมาะสมกว่ามากมาย

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 9:36 am
โดย คนหลังเขา
"มายาคติ" คำๆนี้กำลังย้อนเข้าสู่ตัวคุณบรรยงหรือเปล่า

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 9:38 am
โดย Paul VI
chatchai เขียน:สิ่งที่คุณบรรยงแสดงความเห็น ผมไม่เห็นด้วยที่ว่า เราจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนเราต้องศึกษาหุ้นทั่วทั้งโลกแบบนั้นเลย และปัจจัยที่จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จ นอกจากความรู้ ความสามารถแล้ว ทัศนคติในการลงทุน และจิตวิทยาในการลงทุนก็เป็นเรื่องสำคัญที่อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ความรู้ ความสามารถ ก็ไม่จำเป็นต้องเก่งขนาดเรียนมหาวิทยาลัยดังๆของโลก

สุดท้าย นักลงทุนรายย่อยที่เป็นตัวอย่างประสบความสำเร็จในปัจจุบันก็มีมากมาย ถ้าจะบอกว่าที่ได้เพราะเป็นช่วงหุ้นขาขึ้น ผมก็ไม่เห็นจะมีกองทุนหุ้นไหนที่รอดจากวิกฤตปี 40 เลยซักกอง

สำหรับประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้สนใจหรือจริงจังกับการลงทุน ผมก็เห็นด้วยกับการฝากเงินให้กองทุนลงทุนให้ แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มุ่งมั่น ผมยังเห็นว่าลงทุนเองเหมาะสมกว่ามากมาย
ผมเห็นด้วยกับ คุณฉัตรชัยครับ

ถ้าเราจะลงทุนแล้วเก่งรอบด้านปานนั้น ผมเองก็คงเป็นหนึ่งที่ไม่มีความสามารถขนาดนั้น

ไม่มีอะไรในโลกใบนี้ที่ 100 % ครับ

ผมยังมองการลงทุนแนวเน้นพื้นฐานแบบ VI ยังคงเป็นโอกาสในการลงทุนของพวกเรา คนธรรมดาที่ไม่ได้เก่งอะไรมากมายนักครับ ^^

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 9:47 am
โดย tanapol
ผมเห็นด้วยกับคุณบรรยงครับ

สมัยที่เล่นหุ้นใหม่ๆ ผมเชียร์ให้คนรอบตัว เพื่อนฝูงมาเล่นหุ้นเป็นจำนวนมาก

ผมหวังว่าคนเหล่านั้นจะเดินในแนวทางของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ (vi, vs, technical)

คือทุ่มเทให้กับมัน อ่านอย่างบ้าคลั่ง หายใจเข้าออกก็เป็นหุ้น

แต่ผลลัพธ์คือตรงกันข้าม

ร้อยละ 99 อยากได้เงินเร็ว เล่นตามโบรก ตามข่าวลือ และสุดท้ายก็เจ๊งครับ

ถึงแม้ร้อยละ 1 เล่นแล้วรวย มีอิสรภาพทางการเงิน

แต่ผมทำใจที่จะให้คนรอบข้าง เพื่อนเป็นร้อยละ 99 ไม่ได้

ดังนั้น เดี๋ยวนี้มีคนมาถามผมถึงเรื่องการเล่นหุ้น

ผมจึงบอกเค้าว่า "ตั้งใจทำงาน ทำธุรกิจ แล้วเอาเงินไปซื้อกองทุนครับ"

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 9:53 am
โดย good to great
ผม ว่าน่าจะมี ความจริง หลายเรื่อง ที่เขาพูดถึง ส่วนเรื่องลงทุนเอง ก็ พอ รับฟัง ในอีกมุมนึง ถึงแม้ไม่เห็นด้วยทั้งหมด

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 9:56 am
โดย ลูกหิน
ขอบคุณ คุณ Tibular มากนะครับที่เอามาแชร์ ข้อมูลเจ็บแต่จริงครับ แต่เรื่องของการลงทุนนี่ ผมว่าเด็กจบป.4บางคน อาจเก่งกว่าคนจบดร.ก็ได้นะครับ เพียงแต่จะมีน้อยมากๆเท่านั้นนะครับ เหมือนกับว่า ขอทานหน้าห้างพารากอน อาจจะรู้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเค้าขาด หรือต้องการอะไรอยู่ก็ได้ ซึ่งเจ้าของห้างอาจจะยังไม่รู้ก็ได้ เพราะเค้าเห็นมันอยู่ทั้งวัน :mrgreen:

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 10:03 am
โดย Linzhi
อาจารย์ผมสอนว่า รายย่อยอย่างผมสู้ไม่ได้ทุกอย่าง มีแค่เบ็ดเล็ก ๆ คันเดียว
ไม่เหมือนกองทุนที่มีแห อวน มีเรือใหญ่ มีเรดาห์ ทำงานเป็นทีม ข้อมูลแน่นปึ๊ก เราไม่มีอะไรสู้ได้เลย

ผมจึงเน้นไปตามหนองน้ำในเวลาที่ยังไม่ค่อยมีคน ไปล่วงหน้าคนอื่นนานหน่อย
หย่อนเบ็ด และตกปลาให้ดีที่สุด ขอแค่ปลาไม่กี่ตัวที่เต็มไปด้วยไข่ใบน้อย ๆ หลายร้อยใบ

พอผมได้ปลา ผมไม่เคยกินในทันที ค่อย ๆ เอามาเลี้ยง ขยายพันธุ์ปลา
เพื่อจะเก็บไว้กินตลอดชีวิต

และผมก็เห็นคนตกปลาแบบนี้ทำได้เยอะแยะ บางคนมีเรือใหญ่ มีเรดาห์ทันสมัยแล้วซะด้วย

ส่วนตัวผมก็ยังชอบตกปลาด้วยเบ็ดเหมือนเดิม
เพราะยังชอบสเน่ห์ของเวลาหย่อนเบ็ด.. และ รอปลา..
เป็นเวลาที่ผมสามารถทำอย่างอื่นที่ผมชอบได้มากมายครับ

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 10:03 am
โดย ลูกหิน
แต่สิ่งที่น่าคิดคือ ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่เงินเดือนไม่มาก แต่ทำไม รถที่ขับ เงินที่ใช้กันทำไมมันเยอะมากๆกว่ารายได้ที่เค้าหาได้ก็ไม่รู้ ผมรู็จักอยู่คนนึง เป็นผู้จัดการกองทุนของแบงค์ใหญ่และเก่าแก่มาก ซึ่งที่บ้านเค้ายังติดมิเตอร์โกงค่าไฟฟ้าเลยครับ ผมละกลัวใจเลยครับ ลงเองเจ็บเองเก่งขึ้นเองดีที่สุดครับ (ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน) :mrgreen:

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 10:38 am
โดย AleAle
คนธรรมดา คงหมายถึงคนเข้ามาเล่นหุ้นส่วนใหญ่ ทั่วๆไป คาดหวังการทำกำไรซื้อๆขายๆ โดยขาดหลักการล่ะมังครับ
พี่ๆ VI ที่นี่หลายๆคน ไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 10:40 am
โดย good to great
AleAle เขียน:คนธรรมดา คงหมายถึงคนเข้ามาเล่นหุ้นส่วนใหญ่ ทั่วๆไป คาดหวังการทำกำไรซื้อๆขายๆ โดยขาดหลักการล่ะมังครับ
พี่ๆ VI ที่นี่หลายๆคน ไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว
เห็นด้วยอย่างแรง ครับ

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 10:47 am
โดย T00n.c
good to great เขียน:
AleAle เขียน:คนธรรมดา คงหมายถึงคนเข้ามาเล่นหุ้นส่วนใหญ่ ทั่วๆไป คาดหวังการทำกำไรซื้อๆขายๆ โดยขาดหลักการล่ะมังครับ
พี่ๆ VI ที่นี่หลายๆคน ไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว
เห็นด้วยอย่างแรง ครับ
เห็นด้วยครับ และเห็นด้วยกับ คุณบรรยง ครับ
แล้วคนแถวนี้ก็ไม่ใช่คนธรรมดา
ลองบอกว่าหุ้นตัวนี้กะว่าจะถือไปเรื่อยๆถ้าไม่จำเป็นต้องขาย
หรือมีอะไรผิดคาดก็กะว่าจะไม่ขาย คนส่วนมากก็จะหาว่าเพี้ยนแล้วไอ้นี่

เวลาใครมาถามเรื่องหุ้น ผมก็บอกว่าอย่าเล่นเลย ไปซื้อกองทุนดัชนีดีกว่า

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 11:08 am
โดย ดำ
ผมว่าการไปห้าม ตัดโอกาสผู้อื่น ไม่ใช่เรื่องดีนะครับ

ค่อยๆแนะนำ+เตือน ไม่ดีกว่าหรือครับ

ก่อนที่เพื่อนๆจะลงทุนประสบความสำเร็จหรือเริ่มเห็นแนวทางที่จะประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่ก็เคยเป็นแมงเม่า เจ๊ง หวังรวยเร็ว กันมาก่อนไม่ใช่เหรอครับ

ถ้าไม่มีเว็บนี้ เพราะกลัวมือใหม่เจ๊ง กลายเป็นเว็บกองทุนแทน เชื่อว่าหลายคนคงไม่มีวันนี้ครับ

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 11:08 am
โดย raiden
ผมไม่ใช่คนธรรมดา ผมเป็น ซุปเปอร์ไซย่า

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 11:27 am
โดย kraikria
เป็นมุมมองของบุคคลที่ไม่เคยลงทุนเอง เลือกจะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเรา

สำหรับผมแล้วไม่ว่าอย่างไรการลงทุนก็ต้องใช้ความคิดของคนเสมอ และในหลายๆครั้งความคิดของคนๆเดียวอาจจะดีกว่าความคิดของคนหลายคน

อย่างไรก็ตาม คุณบรรยงค์เป็นนักคิดที่น่าสนใจมากครับ ตามอ่านอยู่ตลอด

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 2:44 pm
โดย leky
เรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจคงต้องมองหลายมุมครับ จริงอยู่การแข่งขันทำให้มีการพัฒนา แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าเมื่อไหร่มีการแปรรูปก็ต้องนึกถึงกำไร นึกถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ผมเองก็คงไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบอาร์เจนตินาครับ ที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจจนเกือบหมด สุดท้ายเค้าจะขึ้นค่าสาธารณูปโภค เก็บเงินค่าใช้ถนน ก็ไม่มีใครไปทำอะไรเค้าได้ ประชาชนก็เดือดร้อน ใครอยากศึกษาเรื่องความหายนะของอาร์เจนตินาต้องลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูครับ แต่สุดท้ายมันก็หนีไม่พ้นเรื่องการทุจริตครับ
อย่าร้องไห้ตามอาเยนตินา
กมล กมลตระกูล
จากหนังสือ “อย่าร้องไห้ตามอเยนตินา”
สำนักพิมพ์มติชน 2552


“ประเทศอาร์เจนตินา คือห่านที่ออกไข่ทองคำให้แก่ธนาคารนานาชาติ แต่ในวันนี้ อาร์เจนตินาประสบวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักและจ่ายหนี้ต่างประเทศไม่ไหว ห่านตัวนี้ได้ถูกเชือดไปแล้ว”
มาริโอ คาเฟียโร, ผู้พิพากษาศาลกลาง

จูลส์ อีแวนส์ แห่ง นิตยสาร ยูโรมันนี่ ฉบับวันที่ 22 มกราคม 2002 ได้เขียนรายงานว่า ผู้บริหารธนาคารระดับสูง ที่มีทั้งชาวอาร์เจนตินาและนายธนาคารต่างชาติเจอข้อหาฉ้อโกงและยักยอกเงินของชาติเข้ากระเป๋าตนเอง
ในบรรดาผู้ที่ถูกกล่าวหาล้วนเป็นบุคคลสำคัญที่คุมงานด้านเศรษฐกิจและการเงินในรัฐบาลเมเนม ซึ่งรวมทั้งนาย โดมิงโก คาวาโย อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ผู้มีดีกรีจากมหาวิทยาลัย ฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา และนาย แดเนียล มาร์กซ รัฐมนตรีช่วย ของนายโดมิงโก
นายคาร์ลอส รอห์ม ประธานธนาคารกลาง บังโก เจนเนอรัล เดอ เนโกซิโอซ์ (Banco General de Negocios) และนาย โฮเซ่ พูชิ รอห์ม (Jose Puchi Rohm) น้องชายของเขา ซึ่งมีความกว้างขวางในวงการการเงินระหว่างประเทศ และสนิทสนมกับครอบครัวประธานาธิบดีบุชกับ นายเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ของสหรัฐอเมริกา และยังเป็นที่ปรึกษาของสภาเพื่อนเดวิด ร๊อกกี้เฟลเลอร์ (David Rockefeller’s America Society)
นายวิลเลียม แฮริสัน จูเนียร์ ซีอีโอของธนาคารเจพี มอร์แกน เชส และนายเดวิด มูลฟอร์ด ประธานของธนาคารเครดิตสวิสเฟิร์สแบงค์ อินเตอร์แนเชิ่นแนล (CSFB)
ทั้งหมดนี้ได้รับเชิญเข้ามาเป็นกรรมการของธนาคารกลาง บังโก เจนเนอรัล เดอ เนโกซิโอซ์(Banco General de Negocios) ด้วย
ข้อหาที่บุคคลเหล่านี้ถูกฟ้องคือ การแลกเปลี่ยน (Swap) พันธบัตร(หนี้) ของรัฐบาลอาร์เจนตินาจำนวน 29.5 พันล้านเหรียญ ที่ถูกเรียกว่า เมกะ สวอป ( Mega-swap) กับกลุ่มธนาคาร เจพี มอร์แกน เชส บีเอสซีเอช(BSCH) บังโก เดอ กาลิเซีย (Bango De Galicia) บังโก ฟรานส์ (Bango Frances) เอสเอสเอสบี (SSSB) และ เอชเอสบีซี (HSBC)โดยพันธบัตรใหม่นั้นมีเวลายาวนานขึ้น และดอกเบี้ยสูงกว่าเดิม
( Swaps เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่ายที่ตกลงที่จะนำเงินสกุลต่างกัน หรืออัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน หรือ พันธบัตร มาแลกเปลี่ยนกันภายใต้ระยะเวลา และเงื่อนไขที่ตกลงกันในอนาคต ส่วนใหญ่จะใช้ในการเก็งกำไรค่าเงิน ส่วนบริษัทจะใช้เพื่อป้องกันการขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเมื่อขายหรือซื้อสินค้าโดยยอมจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำสัญญานี้)
บุคคลข้างต้นที่ร่วมมือกันได้รับค่าคอมมิชชั่นร้อยละ .055 หรือ 125 ล้านเหรียญ ตามกฎหมายของอาร์เจนตินา เรื่องใหญ่ขนาดนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน แต่บุคคลเหล่านี้กลับทำไปโดยพลการ คล้ายๆกับอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินสำรองของชาติไปสู้ค่าเงินจนกระทั่งเงินคงคลังหมดไปในช่วงปี 2539-40
นอกจากค่าคอมมิชชั่นแล้ว บุคคลทั้งหมดข้างต้นยังได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและราคาของพันธบัตรซึ่งทำให้กลุ่มธนาคารและบุคคลเหล่านี้ได้กำไรไปอีก 150 ล้านเหรียญทันที ซึ่งเป็นภาระให้กับรัฐบาลอาร์เจนตินาที่ต้องจ่ายหนี้เพิ่มทั้งขึ้นและล่อง
ในเดือนธันวาคม 2001 นายคาร์ลอส รอห์ม ประธานธนาคารกลางถูกจับบนเครื่องบินขณะกำลังจะบินหนีไปสวิตเซอร์แลนด์ ในอีกข้อหาหนึ่งว่าได้ช่วยน้องชายลอบส่งเงินจำนวน 30 ล้านเหรียญออกนอกประเทศ
กรณีนี้ได้เปิดเผยถึงโยงใยและสายสัมพันธ์ที่พุ่งตรงไปที่วอชิงตัน เพราะว่า นายเดวิด มูลฟอร์ด คือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯในสมัยรัฐบาลบุช(พ่อ) และเขาเป็นผู้ดูแลเรื่องโครงการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาที่เรียกว่า แบร๊ดดี้ แพลน (Brady Plan)
ประธานาธิบดีบุชมีความสนิทสนมกับประธานาธิบดีเมเนมอย่างมาก โดยได้เชิญเมเนมมาพักและตีกอล์ฟที่บ้านพักส่วนตัวเป็นประจำ และบุช(พ่อ)เองก็เดินทางมาเยือนอาร์เจนตินาถึง 8 ครั้งในระหว่างที่เป็นประธานาธิบดี ประธานาธิบดีเมเนมยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักด์จากมหาวิทยาลัยฮิวส์ตัน
เมเนมยังเป็นผู้นำลาตินอเมริกาเพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญเป็นแขกเข้าร่วมงานฉลองตำแหน่งประธานาธิบดีของบุชอีกด้วย นายนีล บุช น้องชายของประธานาธิบดีบุช ซึ่งเจอข้อหาฉ้อโกงธนาคารเซฟวิ่งแอนด์โลน ซึ่งทำให้รัฐบาลอเมริกันต้องควักกระเป๋าหลายพันล้านเหรียญจ่ายให้กับผู้ฝาก ก็เป็นแขกประจำบ้านของประธานาธิบดีเมเนม
สหรัฐฯ ได้กดดันอาร์เจนตินาทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะการใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวกับประธานาธิบดีเมเนม และการให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อให้เปิดเสรีอย่างเต็มที่ในด้านภาคบริการโดยเฉพาะด้านการเงินและการธนาคาร โดยการเปิดตลาดทุนและตลาดเงินให้มีการโยกย้ายเงินเข้าออกได้อย่างเสรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารเพื่อการลงทุนในวอลล์สตรีทต้องการที่สุด
เพราะว่า สหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2546 มีผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ประมาณ 11 ล้านล้านเหรียญ หรือ ประมาณ 80 เท่า ของจีดีพีของไทย
เศรษฐกิจภาคบริการเป็นภาคที่ทำรายได้ให้สหรัฐฯสูงที่สุด โดยมีมูลค่าประมาณ ร้อยละ 73 ของจีดีพี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสวนทางกับภาคการผลิตสินค้าซึ่งมีสัดส่วนเหลือเพียงประมาณ ร้อยละ 26 เท่านั้น
ธุรกิจภาคบริการประกอบด้วยด้านการเงินและการธนาคาร การประกันภัย การโทรคมนาคม การขนส่งกระจายสินค้า การให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้บริการทางการแพทย์ ทางการศึกษา ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจด้านไอที และการให้บริการด้านวิชาชีพ เช่น ทนายความ แพทย์ นักบัญชี วิศวกร และอาจารย์
อเมริกามีรายได้และผลกำไรจากอุตสาหกรรมภาคบริการจากต่างประเทศมากถึงร้อยละ 35 หรือ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดจากต่างประเทศในช่วง5 ปี ที่ผ่านมา
สหภาพยุโรปก็เช่นเดียวกัน มีรายได้จากอุตสาหกรรมการบริการคิดเป็นร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดจากต่างประเทศ
การเปิดเสรีทางการเงินจึงนำผลประโยชน์ไปสู่กลุ่มทุนวอลล์สตรีท
นายเปโดร พู (Pedro Pou) อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของอาร์เจนตินาในยุคเมเนมก็ถูกข้อหาลอบส่งเงินออกนอกประเทศก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อาร์เจนตินาในกรณีที่เมเนมและแก๊งค์ของเขาลอบค้าอาวุธให้เอควาดอร์ และโครเอเชีย
ประธานาธิบดีเมเนมยังมีสายสัมพันธ์กับนาย ทอม ฮิกส์ ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนซิตี้ คอร์ปเอควิตี้ อินเวสท์เมนท์(CEI) ซึ่งเป็นผู้ลงทุนและปล่อยกู้รายสำคัญในการแปรรูปกิจการโทรคมนาคม และหุ้นส่วนคนสำคัญในกองทุนนี้ในอาร์เจนตินา คือ นาย ราอูล โมเนทต้า เพื่อนสนิทของเมเนมซึ่งถูกข้อหาลักลอบส่งเงินออกนอกประเทศเช่นเดียวกัน
ประธานาธิบดีเมเนมเป็นเพื่อนสนิทกับนาย เกท ฟาร์โรน (Gaith Pharaon) มหาเศรษฐีชาวซาอุดิอาเรเบีย ซึ่งมีหุ้นอยู่ในธนาคาร บีซีซีไอ- Bank of Credit and Commerce International-BCCI ที่ฉาวโฉ่ โดยเงินหาเสียงและซื้อเสียงร้อยละ 80 ของเมเนมมาจากเงินของนายฟาร์โรน และนายฟาร์โรนก็มีความสนิทสนมกับครอบครัวบุช โดยเป็นหุ้นส่วนในบริษัทน้ำมันเท๊กซัสเอนเนอร์ยี่ ที่บุช จูเนียร์ เป็นประธาน
บทเรียนจากอาร์เจนตินาชี้ว่านโยบายการเปิดเสรีทางการเงินและการค้าอย่างล่อนจ้อนได้พิสูจน์ว่า แนวคิดเสรีนิยมใหม่ ฉันทามติวอชิงตันที่องค์การเงินระหว่างประเทศไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และวอชิงตันผลักดันอยู่เบื้องหลังนั้นมิใช่เป็นเรื่องของอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์และความฉ้อฉลของตลาดเงินโลกที่มีผู้เล่นหลายฝ่ายอยู่เบื้องหลัง เช่น บรรดาธนาคารใหญ่ๆ และกลุ่มการเงินของวอลล์สตรีท ซึ่งอยู่เบื้องหลังไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ซึ่งมักจะได้ประโยชน์จากการปล่อยกู้ เป็นที่ปรึกษา และรับค่าคอมมิชชั่นจากการลักลอบส่งเงินออกนอกประเทศในรูปแบบที่ซับซ้อนและดูเหมือนถูกกฎหมาย
คนที่ควรต้องจับตามองให้ดี คือ คนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยดังๆ อย่างเช่น นายโดมิงโก คาวาโย(จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด) ซึ่งมักจะอ้างว่ามีสายสัมพันธ์กับนักการเงินและธนาคารระดับโลก และรู้จักกลไกและเครื่องมือทางการเงินระหว่างประเทศอย่างดี และสามารถที่จะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมากู้วิกฤติเศรษฐกิจได้ คนแบบนี้แหละที่เก่ง มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูง หลงตัวเอง และตะกละตะกลามจึงเป็นบุคคลอันตรายต่อประเทศชาติมากกว่า
ตลาดพันธบัตรเป็นตลาดเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงด้านค่านายหน้า ค่าที่ปรึกษา ค่าการตระเตรียมเอกสารออกเสนอขายลูกค้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนเก็งกำไร กองทุนเกษียณอายุของพนักงานของบริษัทข้ามชาติและข้ารัฐการของประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นถนนการเงินทุกสายจึงมุ่งสู่ประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจ เพราะว่าปัญหาหรือ ความทุกข์ยากคือโอกาสทองของการทำเงิน
ในระบบทุนนิยมที่ใหญ่ที่สุดของโลก อเมริกามีเงินหรือกองทุนที่มีเงินล้นเหลือ เช่นกองทุนรวมของผู้เกษียณอายุของบริษัท หรือ หน่วยงานของรัฐ เงินที่ล้นบัญชีของบรรดาบริษัทประกัน กองทุนรวมอีกนับหมื่นๆกองทุน ที่บรรดานักบริหารกองทุนเหล่านี้มองหาแหล่งลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าตลอดเวลาเพื่อสร้างผลงานของตน แลกกับค่าบริหาร หรือในบางกรณีก็ได้ส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซนต์ของรายได้ โบนัส หรือ หุ้น ด้วย
ดังนั้น บรรดาธนาคารเพื่อการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทนายหน้าทั้งหลายที่หากินอยู่ในวอลล์สตรีท จึงสามารถซื้อตราสารหนี้จากแหล่งหนึ่ง แล้วนำมาประมูล หรือ เร่ขายให้อีกแหล่งหนึ่ง แล้วตนก็กินหัวคิว หรือ ค่าบริการทั้งขึ้นทั้งล่อง
กลุ่มทุนที่มีบทบาทมากที่สุดในโลก คือ กลุ่มทุนวอลล์สตรีท ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ กลุ่มทุนวอลล์สตรีทล้วนดำเนินธุรกิจอย่างไม่โปร่งใส (Transparency) และไม่ยึดหลักบริหารธรรม (Good governance)
โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักวิชาการชื่อดังจากสถาบันเอ็มไอที (MIT)ได้ชี้ว่า ก่อนที่อเมริกาจะละทิ้งการเป็นนายธนาคารโลก โดยการค้ำประกันเงินดอลลาร์ การลงทุนในโลกร้อยละ 90 เป็นเรื่องการค้าและการลงทุนทางตรงในกิจการหรือ โรงงาน และ ร้อยละ 10 เป็นเงินลงทุนระยะสั้นในด้านการเก็งกำไร แต่ในทศวรรษ 1990 ตัวเลขเป็นตรงกันข้าม คือ ร้อยละ 95 ของเงินที่ถ่ายเทโยกย้ายในทุกตลาดเงิน และตลาดทุน เป็นเงินเก็งกำไรระยะสั้นที่ไหลเข้าออกจากแต่ละประเทศภายในเวลา 1 อาทิตย์ ทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศปั่นป่วนไม่มั่นคงและวางแผนเศรษฐกิจระยะยาวไม่ได้
กลุ่มทุนของวอลล์สตรีทมีบทบาทมากที่สุดในการโยกย้ายเงินลงทุนระยะสั้น (Portfolio Investment-PI)
อาร์เจนตินามีทุกอย่างที่เงินสามารถซื้อได้ เนื้อสเต๊กนุ่มชั้นยอด รีสอร์ทเล่นสกีบนเทือกเขา แอนดิสที่เบี้องล่างเป็นทะเลสาป และสโมสรสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะในกรุงบัวโนสไอเรส ดังนั้นนายธนาคาร ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การเงิน และนายหน้าจากวอลล์สตรีทจึงเดินกระทบไหล่กันเต็มไปหมดในทศวรรษ 1990
เจ้าหน้าที่ของกลุ่มทุนวอลล์สตรีทที่มาหากินกับการเสนอซื้อและเสนอขายพันธบัตรของอาร์เจนตินามีรายได้ปีละ 350,000-900,000 เหรียญอย่างสบายๆ ส่วนนักวิเคราะห์การเงิน (Financial Analyst) อาจจะมีรายได้มากถึง ปีละ 1 ล้านเหรียญ
ส่วนธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นนายหน้าขายพันธบัตรยิ่งมีรายได้มหาศาล บริษัทหลักทรัพย์ยักษ์ในวอลล์สตรีทมีรายได้จากการเป็นนายหน้าขายพันธบัตรของอาร์เจนตินาไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญ ในระหว่างปี 1991-2001 บทบาทของกลุ่มทุนธนาคารเหล่านี้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ต่างจากที่มีบทบาทในความหายนะของบริษัทเอนรอน(Enron) ซึ่งในครั้งนี้ผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือ เงินกองทุนเกษียณอายุของพนักงาน แต่กลับเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของลาตินอเมริกา
การหากินของกลุ่มทุนวอลล์สตรีทโดยการร่วมมือกับบริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ของโลกในการจัด เรตติ้งของประเทศ ของปบริษัท ของราคาหุ้น และความน่าเชื่อถือของพันธบัตรของประเทศต่างๆในโลกที่สาม โดยหลักการแล้วผู้ตรวจสอบบัญชีต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของบริษัท มิใช่ฝ่ายบริหาร แต่ ไพร๊ซวอเตอร์เฮ๊าสคูเปอร์ส (Price Water House Coopers) และ อาเธอร์ แอนเอดเสน เอร์นส์ ยังก์ ฯลฯ กลับตรวจสอบบัญชีเพื่อเอาใจผู้บริหารโดยละเลยความเป็นนักวิชาชีพของตน
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สได้สัมภาษณ์นักบัญชีหนุ่มผู้ทำงานให้กับบริษัทตรวจสอบบัญชีเอินสยังก์(Ernst Young) เขากล่าวว่า “ลูกค้ารายใหญ่คือ พระเจ้า เราต้องทำบัญชีตามที่เขาสั่งให้ทำ เราอาจจะทำตัวเถรตรงอย่างมืออาชีพเพื่อรักษาชื่อเสียงขององค์กร แต่ก็เป็นวิธีที่ใช้กับลูกค้ารายย่อยเพื่อสร้างชื่อเสียงเท่านั้น แต่ถ้าใช้กับลูกค้ารายใหญ่ แล้วเขายกเลิกสัญญา นั่นหมายความว่า อาชีพของเราก็จบเห่ ลงเท่านั้น”
กลุ่มทุนวอลล์สตรีทเป็นผู้ผลักดันให้อาร์เจนตินาลงเหวเร็วยิ่งขึ้นด้วยระบบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ และของพันธบัตรของอาร์เจนตินาให้ดูน่าลงทุน โดยเฉพาะ Emerging Markets Bond Index-Plus ซึ่งจัดลำดับโดย เจ พี มอร์แกน (J P Morgan) ได้ให้น้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรของอาร์เจนตินาสูงถึงร้อยละ 28.8 ซึ่งหมายความว่าในผังการลงทุนทั้งหมดของผู้จัดการกองทุนควรจะลงทุนในพันธบัตรของอาร์เจนตินาสักร้อยละ 28.8 เป็นอย่างน้อย โดยวิเคราะห์ว่าจะให้ผลตอบแทนสูง เพราะมีรัฐบาลค้ำประกัน ในบางกรณีส่วนลด (Discount) ของราคาหน้าตั๋วสูงถึงร้อยละ 25-50 ซึ่งทำให้เม็ดเงินไหลเข้าประเทศอาร์เจนตินาในช่วง 2-3 ปีแรกที่ประธานาธิบดีเมเนมก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างมากมาย ทำให้ดูเหมือนนโยบายของเมเนมประสบความสำเร็จและสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เม็ดเงินร้อนเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลเชื่อมั่น และออกพันธบัตร หรือ กู้เงินมากขึ้นเรื่อยๆโดยไม่ตระหนักถึงหายนะหรือหุบเหวที่ถูกขุดรออยู่ข้างหน้า
ในรายงานของบริษัทโกลด์แมน แซกส์ (Goldman Sachs)ที่ได้ส่งให้ลูกค้าทั่วโลกในปี 1996 มีข้อความดังนี้
“ ประธานาธิบดีเมเนมได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศอาร์เจนตินาในปี 1990 โดยการเลิกเข้ามาควบคุมการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจ กำหนดค่าเงินคงที่ 1 ดอลลาร์ ต่อ 1 เปโซ โดยให้แลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี และเลือกฝากเงินเป็นเงินสกุลไหนก็ได้ นโยบายเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่คั่งค้างมาหลายชั่วคนในอดีต คือปัญหาเงินเฟ้อสุดขีด เศรษฐกิจชะงักงัน และการลดค่าเงินเป็นประจำ จึงสร้างความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนและผู้บริโภคให้กลับคืนมาได้ เศรษฐกิจได้เติบโตมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1990 และจะขยายตัวโตขึ้นร้อยละ 5.8 จากปี 1996-1998 “
นายฮัน เจ รูดอล์ฟ ประธานผู้บริหารของกองทุนบาร์เคลย์ (Barclay) ให้สัมภาษณ์ว่า “บาปที่ร้ายแรงที่สุดที่กลุ่มทุนวอลล์สตรีทก่อ คือ การนำเอาพันธบัตรที่มีความเสี่ยงสูงของอาร์เจนตินาออกขายให้นักลงทุนรายย่อยในยุโรป”
เฟลลิเซีย มิกริโอรินิ แม่ม่ายชาวอิตาเลียน หลงเชื่อธนาคารที่เป็นนายหน้าขายพันธบัตรอาร์เจนตินา เธอได้ลงทุนเป็นจำนวน 135,000 เหรียญ เช่นเดียวกับชาวอิตาเลียนอีกไม่น้อยกว่า 4 แสนคนที่หมดตัว มิกริโอรินิ ต้องขายคอนโดมิเนียมที่เธอซื้ออยู่เพราะไม่มีเงินพอจะมาจ่ายค่าดูแลส่วนกลางได้
มีคนแบบมิกริโอรินิในยุโรปที่ซื้อพันธบัตรอาร์เจนตินาไว้รวมกันเป็นเงินมากถึง 24 พันล้านเหรียญ ตลาดผู้ซื้อรายย่อยในยุโรปน่าสนใจสำหรับกลุ่มทุนวอลล์สตรีทที่มีเครือข่ายอยู่กับธนาคารต่างๆในยุโรป เพราะว่าในยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองผู้ซื้อรายย่อยน้อยมากเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

นายฮัน เจ รูดอล์ฟ กล่าวต่อว่า “ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทเอนรอน และอาร์เจนตินาเหมือนกันอย่างไม่มีผิดคือ กลุ่มทุนวอลล์สตรีทเป็นผู้ผลักดันและให้ความร่วมมือเพื่อรับค่านายหน้าทั้งๆที่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือหายนะ แต่ไม่มีใครยอมพูดความจริง เพราะจะกระทบผลประโยชน์ (ค่าคอมมิชชั่น และค่าบริหารจัดการ) ของตน”
ตลาดพันธบัตรของอาร์เจนตินาพังในปี 1994 เมื่อดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริหารกองทุนทั้งหลายเทขายพันธบัตรในประเทศเกิดใหม่ ทำให้ราคาพันธบัตรร่วงอย่างไม่เป็นท่า เพื่อนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันแทน ซึ่งไม่มีความเสี่ยงเลย
เมื่อความเชื่อถือในตลาดเงินโลกหมดไป เงินร้อนที่ไหลเข้ามาในตลาดทุนในประเทศ รวมทั้งเงินฝากก็วิ่งหนีออกนอกประเทศกันจ้าละหวั่นเพราะเกรงว่ารัฐบาลจะลดค่าเงิน ภายใน 1 อาทิตย์เท่านั้น เงินก็ไหลออกจากธนาคารมากถึงร้อยละ 18 และมีผลกระทบระบบธนาคารทั้งหมด
เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน คนตกงานเพิ่มทันทีจากร้อยละ 12 มาเป็นร้อยละ 18 ในเวลาเพียง 6 เดือน จีดีพีลดลงร้อยละ 7.6 (สถานการณ์เดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงก่อนเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจปี 2540)
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มทุนเหล่านี้คือบรรดาซีอีโอซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งเป็นหุ้น stock options ได้รับโบนัส และเงินเกษียณอายุ เป็นก้อนโตๆ และเงินเดือนของบุคคลเหล่านี้ก็ผูกติดกับผลกำไร(บนความหายนะของประเทศ หรือ ผู้ถือหุ้น) พวกเขาจึงไม่สนใจว่าการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินของพวกเขาซึ่งเป็นเกมส์อย่างหนึ่งเหมือนเกมส์คอมพิวเตอร์จะทำให้มีคนอดตายไปสักกี่คนก็ตาม
คำวิจารณ์กลุ่มทุนวอลล์สตรีทข้างต้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะกลุ่มทุนที่ดังและมีชื่อเสียงระดับโลกเหล่านี้ล้วนโดนข้อหาและถูกปรับมาแล้วจากการบริหารงานอย่างไม่โปร่งใสและไร้จริยธรรม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ และอัยการของสหรัฐฯ ยังมี “น้ำยา” อยู่บ้าง ตรงที่สามารถบีบให้บริษัทเหล่านี้ยอมรับว่าได้ฝ่าฝืนระเบียบ และต้องจ่ายค่าปรับให้กับรัฐบาล หรือ ในบางกรณีให้กับผู้เสียหาย โดยนำเอากระบวนการพิจารณาคดีความผิดคดีอาญาที่ไม่ร้ายแรงมาใช้กับการกระทำความผิดของบริษัทให้ยอมรับว่าได้ทำความผิดแล้วยอมจ่ายค่าปรับเพื่อจะไม่ต้องถูกดำเนินคดีต่อไป
ในปี 2003 - 2004 มีบริษัทใหญ่ๆ 10 บริษัทที่ถูกสอบสวนและถูกปรับเป็นเงินมหาศาล ทั้ง 10 บริษัทมีรายชื่อดังต่อไปนี้ เมอร์ริลล์ เอไอจี พีเอ็นซี คอมพิวเตอร์แอสโซซิเอทส์ อินวิสเชิ่น (ผู้ขายเครื่องซีทีเอ๊กซ์ ให้กับสนามบินสุวรรณาภูมิ) แอมเซาธ์ แบงคอร์ป เฮลธ์ เซาธ์ แบงค์โค พ๊อพพูลาร์ เดอ ปัวโตริโก แคเนเดียน อิมพีเรียล แบ๊งค์ ออฟ คอมเมิร์ส เอ็มซีไอ และ แบ๊งค์ ออฟ นิวยอร์ก
ปัจจุบัน ฝ่ายอัยการของสหรัฐฯได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเป็นการฟ้องร้องเพื่อจับผู้บริหารเข้าคุกแทนฟ้องบริษัท เพราะว่าการฟ้องบริษัทอาจจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยและสาธารณชน
สถาบันการเงินของวอลล์สตรีทมีบทบาทและอิทธิพลต่อระบบการเงินของโลกอย่างยิ่งยวด แขนขาของบริษัทเหล่านี้ยื่นออกไปเกี่ยวรัดสถาบันการเงินทั่วโลกในรูปแบบต่างๆทั้งในด้านการเก็งกำไร การร่วมทุน การให้คำปรึกษา การรับบริหารหนี้ บริหารจัดการทรัพย์สิน การลงทุน ฯลฯ
รายรับต่อปีของสถาบันการเงินเหล่านี้มากกว่าจีดีพีของกว่าร้อยละ 80 ของประเทศอื่นๆในโลก กองทุนเก็งกำไรของโซรอสเมื่อเทียบกับกองทุนของสถาบันการเงินเหล่านี้แล้ว ก็เสมือนเอาไม้จิ้มฟันไปเทียบกับเรือรบ ดังนั้น การเปิดเสรีทางด้านภาคบริการ ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมทั้งภาคการเงิน และภาคประกันภัย จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งจากการที่บริษัทประเภททุนชาติจะถูกยึดครองได้อย่างง่ายดายด้วยทุนที่เหนือกว่า และประสบการณ์ที่มากกว่า
เมื่อเดือนเมษายน 2003 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของอเมริกาได้ตกลงยุติการสอบสวนคดีอาญาของบริษัทหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดใน 10 อันดับแรกในข้อหาฉ้อฉล ฉ้อโกง เพื่อแลกกับค่าปรับ เป็นเงิน 487.5 ล้านเหรียญ และอีก 387.5 ล้านเหรียญ ในข้อหาให้ข้อมูลที่ผิดๆต่อสาธารณะ รวมเป็นเงิน 875 ล้านเหรียญ โดยแบ่งค่าปรับไปให้กองทุนวิจัยของคณะกรรมการฯ 432.5 ล้านเหรียญ และอีก 80 ล้านเหรียญเข้ากองทุนสำหรับสนับสนุนการศึกษาของนักลงทุน
รายชื่อของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 10 คือ
1.บริษัทแบร์ เสตอร์นส์ - Bear, Stearns & Co. Inc. (Bear Stearns)
2.บริษัทเครดิตสวิส เฟิร์สบอสตัน- Credit Suisse First Boston LLC (CSFB)
3.บริษัทโกลด์แมน แซคส์ - Goldman, Sachs & Co. (Goldman)
4.บริษัทเจ พี มอร์แกน J.P. Morgan Securities Inc. (J.P. Morgan)
5.บริษัทเลห์แมน บราเดอร์ส - Lehman Brothers Inc. (Lehman)
6.บริษัท เมอร์ริลล์ ลินช์- Merrill Lynch, Pierce, Fenner & Smith, Incorporated (Merrill Lynch)
7.บริษัท มอร์แกน แสตนลีย์ - Morgan Stanley & Co. Incorporated (Morgan Stanley)
8.บริษัท ไปเปอร์ แจฟเฟรย์ - Piper Jaffray Inc. (Piper Jaffray)
9.บริษัท ซาโลมอน สมิท บาร์นี่ย์ ในเครือซิตี้โกล้บบอลมาร์เกต f/k/a Salomon Smith Barney Inc. (SSB)
บริษัท ยูบีเอส- UBS Warburg LLC (UBS)
10.บริษัท ยู เอส แบงคอร์ป ไพเพอร์ แจฟเฟรย์- U.S. Bancorp
11.บริษัท ซิตี้กรุ๊ป โกล้บบอล มาร์เก็ตส์-Citigroup Global Markets Inc.
ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ต่อบริษัททั้ง 10 คือ การใช้ข้อมูลวิจัยของตนในการแสวงหาผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น
CSFB, Merrill Lynch and SSB ซึ่งได้บิดเบือนข้อมูลจากผลงานของตนเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจผิด และนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนที่ต้องสูญเงินลงทุน ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 15(c) ของ the Securities Exchange Act of 1934
บริษัทBear Stearns, CSFB, Goldman, Lehman, Merrill Lynch, Piper Jaffray, SSB and UBS Warburg นำเสนอรายงานการวิจัย หรือ แสดงความเห็นในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทในตลาดหุ้นโดยขยายความให้เกินจริง หรือต่ำกว่าความเป็นจริงโดยไม่มีข้อมูลมารองรับ กฎหมายด้านจริยธรรมของตลาดหลักทรัพย์
UBS Warburg and Piper Jaffray, Bear Stearns, J.P. Morgan and Morgan Stanley, ปกปิดการรับเงินค่าวิเคราะห์และวิจัยจากบริษัทลูกค้า ซึ่งละเมิดกฎหมายมาตรา 17(b) ของ the Securities Act of 1933 รวมทั้ง NYSE Rules 476(a)(6), 401 และ 472 และ NASD Rules 2210 และ 2110.
เครดิตสวิส เฟิร์สบอสตัน CSFB and SSB ได้เสนอขายหุ้นที่เข้าตลาดครั้งแรก หรือ ไอพีโอ โดยการสร้างสถานการณ์ให้เป็นหุ้นร้อน ซึ่งละเมิดข้อห้ามของตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทหลักทรัพย์ต้องรักษามาตรฐานขั้นสูงของวิชาชีพ ตามมาตรา Section 17(a) ของ the Securities Exchange Act of 1934 และ SRO rules (NYSE Rule 440 และ NASD Rule 3110).
นอกจากการจ่ายค่าปรับตามจำนวนข้างต้นแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังต้องดำเนินการดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
1.การแนะนำเสนอขายหุ้นต้องไม่โยงกับค่าปรึกษา ค่าบริการ และค่าคอมมิชชั่น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทจะต้องไม่รับเงินค่าตอบแทนจากการลงทุน หรือเข้าร่วมกับฝ่ายการตลาด
2.บริษัทหลักทรัพย์จะต้องแยกแผนกวิจัยออกจากแผนกการลงทุนอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้ข้อมูลจากทั้งสองแผนกล่วงรู้สู่กันและกัน
3.ผู้บริหารระดับสูงจะเป็นผู้กำหนดงบประมาณของแผนกวิจัย ห้ามแผนกหาลูกค้าเป็นผู้กำหนดงบประมาณการวิจัยวิเคราะห์ และงบประมาณการวิจัยวิเคราะห์จะต้องไม่ขึ้นต่อรายได้ของแผนกการตลาด
4.ห้ามแผนกการตลาดและลงทุนเป็นผู้ประเมินผลงานของแผนกวิเคราะห์วิจัย
5.หัวหน้าแผนกวิจัยจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อของการวิจัยและวิเคราะห์ มิใช่แผนกการตลาดและลงทุนเป็นผู้กำหนด
6.บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่เปิดเผยและนำเสนอข้อมูลการลงทุนจากแหล่งต่างๆมิใช่จากแผนกวิเคราะห์วิจัยของตนเองเท่านั้น
7.บริษัทหลักทรัพย์จะต้องนำเสนอการจัดอันดับ หรือ การให้เรตติ้งของข้อมูลต่างๆจากหลายๆแหล่ง เพื่อว่าลูกค้าของตนจะได้สามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้องโดยไร้อิทธิพลของข้อมูลที่ลำเอียง
8.ผู้บริหารทั้งสิบบริษัทข้างต้น ตกลงที่จะไม่ลงทุนในหุ้นที่นำเข้าเสนอขายในตลาดเป็นครั้งแรก ที่เรียกว่า spinning หรือ การซื้อแบบเวียนเทียน เพื่อป้องกันนักลงทุนทั่วไปเข้าใจผิดเมื่อดู ปริมาณการซื้อขายหุ้นที่มาก และอาจจะลงทุนตามโดยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหุ้นที่ดี

บริษัทหลักทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของวอลล์สตรีททั้ง 10 ที่ถูกอัยการของเมืองนิวยอร์กฟ้อง ได้ยอมจ่ายเงินเพื่อให้เรื่องยุติโดยไม่ต้องรับสารภาพผิดทางอาญา อันจะส่งผลต่อความเชื่อถือ และทำให้ราคาหุ้นตก และอาจจะต้องขายกิจการเหมือนกรณีของบริษัทตรวจสอบบัญชีแอนเดอร์เสน ที่ถูกตัดสินว่าได้กระทำความผิดทางอาญา ลูกค้าจึงไม่กล้าส่งงานให้ตรวจสอบต่อไป เพราะว่าจะไม่ได้รับความเชื่อถือ แอนเดอร์เสนจึงต้องปิดตัวเองไป
ค่าปรับมีดังนี้
บริษัทแบร์ เสตอร์นส์ ยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 80 ล้านเหรียญ
บริษัทเครดิตสวิส เฟิร์สบอสตัน จ่าย 200 ล้านเหรียญ
บริษัทโกลด์แมน แซคส์ จ่าย 110 ล้านเหรียญ
บริษัทเจ พี มอร์แกน จ่าย 80 ล้านเหรียญ
บริษัทเลห์แมน บราเดอร์ส จ่าย 80 ล้านเหรียญ
บริษัท เมอร์ริลล์ ลินช์ จ่าย 200 ล้านเหรียญ
บริษัท มอร์แกน แสตนลิย์ จ่าย 125 ล้านเหรียญ
บริษัท ไปเปอร์ แจฟเฟรย์ จ่าย 32.5 ล้านเหรียญ
บริษัท ซาโลมอน สมิท บาร์นี่ย์ ในเครือซิตี้กรุ๊ป จ่าย 400 ล้านเหรียญ
บริษัท ยูบีเอส จ่าย 80 ล้านเหรียญ
รวมเป็นเงินค่าปรับเพื่อยุติเรื่องทั้งสิ้น 1387.5 ล้านเหรียญ
นักวิเคราะห์ข่าวของซีเอนเอน ให้ความเห็นว่า เงินค่าปรับที่บริษัทเหล่านี้จ่ายเป็นเงินจิ๊บจ้อยมาก เช่น บริษัทเมอร์ริลล์ ลินช์ จ่าย 200 ล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับรายรับในหนึ่งวันเท่านั้น
กลุ่มทุนวอล์ลสตรีท เช่น โกลด์แมน มอร์แกนสแตนลีย์ และเครดิตสวิสบอสตันได้เปิดสำนัก งานใน อาร์เจนตินา โดยส่งทีมคนหนุ่มสาวมาประจำเพื่อเข้าหารัฐบาลได้ง่ายขึ้นในการขอเป็นนายหน้าขายพันธบัตรในต่างประเทศ เพราะว่ารายงานของโกลแมนด์ แซกส์ ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากในอเมริกา โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริหารกองทุนเกษียณอายุ ผู้บริหารกองทุนรวม และบริษัทประกันภัย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผู้บริหารเม็ดเงินจำนวนหลายพันล้านเหรียญ และมีมหาเศรษฐีทั่วโลกที่ต้องการซื้อพันธบัตรของอาร์เจนตินาเพื่อเป็นการลงทุน
นายมิเกล กิเกล อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังของอาร์เจนตินาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “ทุกครั้งที่เราได้ประชุมกับผู้บริหารกลุ่มทุนวอลล์สตรีท เราจะได้รับ”คำสั่ง” ให้ออกพันธบัตรใหม่ซึ่งมีมูลค่าอย่างน้อย 2 พันล้านเหรียญ มีอายุ 20 ปี เพื่อมอบให้กลุ่มทุนเหล่านี้นำออกไปเสนอขายในตลาดอเมริกาและตลาดโลกเพื่อกินค่านายหน้า”
กลุ่มทุนเจ พี มอร์แกน เป็นนายหน้าขายพันธบัตรของอาร์เจนตินารายใหญ่ที่สุดในโลกรายได้ของผู้จัดการกองทุน และนักวิเคราะห์การเงินมาจากค่านายหน้า ค่ารับเสนอขายพันธบัตรแทนรัฐบาลอาร์เจนตินา ดังนั้นบทบาทของเขาจึงต้องพยายามหาลูกค้าให้มากที่สุดเพื่อเสนอขายสินค้า(พันธบัตร)ของเขา เมื่อมีลูกค้ามาก แต่สินค้า(พันธบัตร)ขาดแคลน พวกเขาก็ต้องกดดันให้รัฐบาลอาร์เจนตินาออกพันธบัตรมากขึ้น
นี่คือเบื้องหลัง ที่ถูกมองข้ามว่าทำไมอาร์เจนตินาถึงได้เดินลงหุบเหวแห่งความหายนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่โศกนาฏกรรมของประชาชน มิใช่ระบอบประชานิยม ซึ่งเกิดขึ้นในยุคเปรองก่อนหน้านี้กว่า 40 ปี อย่างที่มีผู้เชื่อและเข้าใจกันอย่างผิดๆและมักนำมาอ้างกัน
นักวิชาการรุ่นหลังมักสับสนจับแพะชนแกะเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างกัน เกือบ 40 ปีมาปะปนเป็นเรื่องเดียวกัน คือ กรณี การล้มละลายทางการคลังของประเทศอาเยนตินาในช่วง 1980-2002 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้นโยบาย “เสรีนิยมใหม่” ตามการบงการของ องกรค์การเงินโลก (IMF) ตามนโยบาย “ฉันทามติวอชิงตัน หรือ Washington consensus “ โดยการขายรัฐวิสาหกิจที่เป็นแหล่งรายได้ของรัฐและการให้บริการกับประชาชนในราคาถูก ปกป้องทุนผูกขาดไม่ให้พัฒนาเป็นทุนครอบงำที่ประธานาธิบดีเปรองได้สร้างและวางรากฐานไว้ แต่เมื่อถูกรัฐประหารเนรเทศออกไป รัฐวิสาหกิจเหล่านี้กลายเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ของคณะทหารและนักการเมืองเข้าไปกอบโกยและคอรัปชั่นจนย่ำแย่ รัฐขาดดุลงบประมาณ เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ค่าเงินตกต่ำ ต้องยอมรับเงื่อนไขในการกู้เงินจากต่างประเทศมาแก้ปัญหา และกลายเป็นข้ออ้างในการขายกิจการให้ต่างชาติเกือบทั้งหมดในยุคของประธานาธิบดีเมเนมในปี 1989-2002
หายนะทางเศรษฐกิจของประเทศอาเยนตินาเกิดขึ้นในทศวรรษ 1900-2000 ในยุค
ของประธานาธิบดี อัล ฟองซิน และประธานาธิบดี เมเนม มิใช่เกิดขึ้นในทศวรรษ1950-1960 ในยุคของประธานาธิบดีเปรอง อย่างที่นักวิชาการและสื่อในประเทศไทยเข้าใจกันอย่างผิดๆ
ประเทศไทยกำลังเดินทางไปสู่ติดดักเหมือนประเทศอาเยนตินา เช่นกรณีที่ฝ่ายการเมืองพยายามแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลดดอกเบี้ย และหาทางดึงเงินสำรองไปลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงินต่างประเทศหรือ กรณีนำเงินก.บ.ข.ไปลงทุนในตลาดทุนตลาดเงินและตลาดทุนต่างประเทศซึ่งมีมาเฟียการเงินวอลล์สตรีทชักใยบงการควบคุมอยู่เบื้องหลัง จึงไร้หลักประกัน ไร้เสถียรภาพ ไร้ความแน่นอน ซึ่งจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมของประชาชนไทยในระยะเวลาไม่นานเกินรอ เพราะแม้แต่ประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วก็ยังกลายเป็นเหยื่อของบรรดากองทุนปีศาจ หรือกองทุนเก็งกำไรในวอลลสตรีทด้วยซ้ำ

อ้างอิง

http://www.cels.org, The Popular Protest in Argentina.
http://www.euromoney.com, Bankers Accused of Dirty Tricks in Argentina
http://www.latinbusinesschronicle.com, Fighting Corruption.
http://www.mises.org, Argentina’s Paper-Money Mire.
http://www.newleftreview.net, Racking Argentina.
http://www.heritage.org, Argentina’s Economic Crisis: An Absence of Capitalism.
http://www.news.scotman.com, Ex-Argentine Leader’s aide sent to prison.
http://www.stanford.edu, The IPP Experience in Argentina. Working, Paper #44.

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 3:50 pm
โดย chatchai
AleAle เขียน:คนธรรมดา คงหมายถึงคนเข้ามาเล่นหุ้นส่วนใหญ่ ทั่วๆไป คาดหวังการทำกำไรซื้อๆขายๆ โดยขาดหลักการล่ะมังครับ
พี่ๆ VI ที่นี่หลายๆคน ไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว
ผมก็แค่คนธรรมดาๆคนหนึ่ง ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังจากต่างประเทศ จบ MBA ที่มหาวิทยาลัยในประเทศ ประวัติการทำงานก็พนักงานระดับธรรมดาๆคนหนึ่ง ไม่เคยเป็นหัวหน้างานมาก่อน ไม่เคยมีลูกน้อง เงินเดือนก็แสนธรรมดาเอง ไม่เคยได้รับมรดก ลงทุนจากเงินเดือนของตัวเองทั้งสิ้น

จนถึง ปัจจุบันผมก็ยังเป็นคนธรรมดาๆ

ผลตอบแทนอาจไม่สวยหรูมากนัก ก็แค่เพียงพอสำหรับครอบครัว ก็เท่านั้น

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 4:06 pm
โดย ลูกหิน
พี่ฉัตรชัยสุดยอดเลยครับ :mrgreen:

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 26, 2014 5:08 pm
โดย คืนนี้ดาวสวย
แต่ผมกลับเห็นด้วยส่วนหนึ่งกับคุณบรรยงนะครับ เจตนารมณ์ที่เขาพูดนั้นหมายถึง เคสทั่วๆไปสำหรับคนทั้งหลายรึเปล่า โอเคว่าในแบบของ VI นั้นเป็นนักลงทุนที่แยกออกมา (ตอนอ่านครั้งแรกผมก็คิดเหมือนกันครับว่าคุณบรรยงไม่เข้าใจซะแล้ว ว่านักลงทุนทั่วไปสามารถชนะผู้จัดการกองทุนด้วยการศึกษาและลงทุนในหุ้นที่ตัวเองเข้าใจดี แม้กระทั่งปีเตอร์ ลินช์ยังสนับสนุนเลย) แต่คิดให้ลึกๆ หน่อย แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ถึงขนาดจะมาทุ่มให้หุ้นขนาดนั้น แต่ถ้าเขาจะลงทุนเองส่วนหนึ่งจะหนีไม่พ้นแรงจูงใจที่ถูกลากเข้าไปเป็นนักเก็งกำไรซะส่วนใหญ่ แล้วทุกคนก็คงจะพอเข้าใจว่า การซื้อหุ้นโดยไม่เข้าใจตัวธุรกิจ ไม่คิดจะศึกษาเลย เสี่ยงต่อการขาดทุนขนาดไหน คนส่วนใหญ่อาจจะเหมาะกว่าที่ทำงานแท้ๆอาชีพที่ตนถนัดให้เต็มที่ แล้วแบ่งภาระงานที่ต้องเอามาใช้เวลากับการลงทุนให้กองทุนไปจัดการแทน มองที่คุณบรรยงพูดก็ถูกนะครับ ว่ามันก็คือการจัดสรรทรัพยากรในที่นี้คือ เวลา ออกไปให้คนที่ถนัดทำดีกว่า
แม้กระทั่งนักลงทุนระดับโลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะ บัฟเฟตต์ ลินช์ ก็ยังแนะนำว่า กองทุนรวมก็เป็นตัวเลือกในการลงทุนที่ดีสำหรับนักลงทุนทั่วๆไป อย่างบัฟเฟตต์นั้นก็พูดถึง Index Fund ออกบ่อยว่าเป็นการลงทุนที่ดีสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่อยากให้เงินเติบโตจากหุ้น ถ้ามองภาพกว้างของคนทั้งหมดจริงๆ การลงทุนในกองทุนหุ้นก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยล่ะครับ แต่ละคนมีสิ่งที่ทุ่มเทให้ไม่เหมือนกัน อย่างในไทย 10 ปีที่ผ่านมา กองทุน Active อันดับต้นๆ พวก บัวหลวงทศพล อเบอร์ดีนโกรท ก็ทำผลตอบแทนได้ระดับประทับใจ 13-15% ต่อปี Index Fund อย่าง SET50 ก็ทำผลตอบแทนได้เกิน 10% ทบต้น ซึ่งก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวสำหรับนักลงทุนทั่วๆไป
แต่แน่นอนว่าถ้านักลงทุนตั้งใจออกมาศึกษาเรื่องหุ้นเอง เน้นหลักลงทุนแบบ VI แบบบัฟเฟตต์ย่อมมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดอย่างมาก แต่ก็นั่นล่ะครับ แต่ละคนมีทางเลือกต่างกัน มีเวลาต่างกัน เขาลงทุนในกองทุนรวมก็ยังดีกว่าไม่ลงทุนอะไรเลย :mrgreen:

Re: "...คนธรรมดาให้เลิกเล่นหุ้นเถอะ..."

โพสต์แล้ว: พุธ ส.ค. 27, 2014 2:24 am
โดย imerlot
ได้ทั้ง 2 แบบ
1. กองทุนเก่งๆ
เช่น dalio
"The All Weather fund is up 17.01% in the last 12 months."
source:
http://www.forbes.com/sites/nathanvardi ... und-up-11/

2. นักลงทุน..คนธรรมดา
บทความเขียนโดย peter lynch
http://bit.ly/1p7jqvH
(หรือ search google ด้วยคำว่า fourth+year+peter+lynch
https://www.google.co.th/?gws_rd=ssl#q= ... eter+lynch
)
จะได้
บทความชื่อ
Worth Magazine, May 1994
Investors Edge, by Peter Lynch
Charlie Silk’s 150-Bagger


...
My candidate for the world’s greatest amateur investor is Charles Silk.

...
I’ve often said that couple five-baggers every decade is enough to make do-it-yourself investing a worthwhile pastime.
With a 150-bagger like Cook Data, one every half century or so is all anybody needs.

***