ธันวา เลาหศิริวงศ์ ปัญหา "ทีโอที" ต้องแก้ด้วยคนในองค์กร
http://www.prachachat.net/news_detail.p ... 1420991907
นับเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ และกลับมานั่งทำงานประจำอีกครั้ง สำหรับ "ธันวา เลาหศิริวงศ์" อดีตเอ็มดียักษ์สีฟ้า "ไอบีเอ็ม" ที่ล่าสุดนอกจากมานั่งเป็น 1 ในคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แล้ว ยังได้รับมอบหมายให้นั่งรักษาการ "ซีอีโอ" อีกตำแหน่ง ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าถือเป็นภารกิจช่วยชาติ ในฐานะที่ "ทีโอที" เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม
"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ดังนี้
- มาอยู่ทีโอทีเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องบอกว่าผมเป็นมนุษย์ต่างดาวมั้งครับ เนเจอร์ไม่เหมือนกัน ผมมาจากภาคเอกชน ทีโอทีเป็นรัฐวิสาหกิจ มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน แต่เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งที่มีเงินเท่าไรก็ซื้อไม่ได้ มาเป็นบอร์ด ส.ค. 2557 ปลาย ก.ย.เป็นรักษาการซีอีโอ ตอนนี้กระบวนการสรรหาซีอีโอเริ่มแล้ว ปิดรับสมัคร 9 ม.ค.นี้
- ซีอีโอคนในหรือคนนอกถึงเหมาะ
ถ้าเป็นคนในก็ต้องทำต่างจากเดิม ไม่อย่างนั้นผลที่ออกมาก็เหมือนเดิมเป็นคนนอกอาจเหมาะกว่า ในแง่การเปลี่ยนองค์กรใหญ่ ๆ มีพาวเวอร์ตรงที่ไม่มีกรอบความคิดแบบเดิม ๆ แต่การเป็นคนนอกในองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรยาวนานก็ไม่ง่ายตัวผมเองไม่ค่อยเหมาะแจ้งบอร์ดไปแล้ว รัฐวิสาหกิจที่อยู่ได้สบาย ต้องผูกขาดไม่มีคู่แข่ง แต่ทีโอทีมีคู่แข่งที่แข็งแรงทั้งนั้น และยังมีข้อจำกัดจะลงทุนอะไรใช้เวลานาน เป็นแชลเลนจ์อย่างหนึ่ง
- มีโอกาสพลิกฟื้นได้ไหม
ถ้าจะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนด้วยคนในทีโอที ไม่มีซูเปอร์แมนมาเปลี่ยนได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากพนักงานถ้าให้ดีต้องแยกให้ชัด งานไหนบริการประชาชนที่มีต้นทุนสูงแต่เป็นหน้าที่ก็ยอมรับไปเลยว่าขาดทุน ส่วนไหนเป็นธุรกิจก็ต้องแข่งขันให้ได้
- มีการปรับโครงสร้างองค์กร
ต้องทำให้มั่นใจว่า 1.เหมาะกับสภาพการแข่งขัน 2.ให้ Check and Balance ได้ ก่อนนี้ในสายงานมีอำนาจตัดสินใจครบหมด ทำให้บริหารการลงทุนไม่ดี การจัดซื้อที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเราซื้อราคาสูงกว่าคู่แข่ง กระบวนการก็มีขั้นตอนเยอะไม่ทันความต้องการ แต่ภาพบิดเบือนไป เพราะมีรายได้จากสัมปทานมาอุดไว้ ผลประกอบการจึงดีอยู่ ตอนเริ่มเป็นบอร์ดเมื่อ ส.ค. ตัวเลขติดลบ 7,818 ล้านบาท
- อนาคตทีโอทีคือเน็ตเวิร์กโพรไวเดอร์
ภาครัฐมองว่า ทั้งแคทและทีโอทีต้องเป็นหน่วยงานที่สนับสนุน 1.National Security และ 2.Public Service เป็นองค์กรหลักที่จะไปซัพพอร์ตดิจิทัลอีโคโนมี ทำยังไงก็ได้ให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายถูกลง
แต่ต้องให้ที่ปรึกษาที่ซูเปอร์บอร์ดส่งมาศึกษาดู เพียงแต่ชัดเจนว่าต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่เป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องเอาเงินมาใส่ และบางส่วนถ้าเอกชนทำได้ดี รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องถือหุ้น 100% แล้ว
- หาพันธมิตรก็ทำควบคู่ไปด้วย
ใช่ เรายังใช้ทรัพยากรไม่เต็มที่ ภาคเอกชนอาจมีอะไรที่มาซินเนอร์ยี่เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ ให้เอกชนส่งข้อเสนอมาตั้งแต่ ธ.ค. ตอนนี้กำลังเร่งดูรายละเอียด เพราะทีโอทีก็มีภาระค่าใช้จ่าย
- จะเคาะเมื่อไร
ต้องการให้เร็วที่สุด แต่ถ้าผลประโยชน์ที่เสนอมาไม่ดี เราก็รอได้ ถ้าทำแล้วไม่เมกเซนส์ตอบสังคมไม่ได้ เราพยายามทำอะไรที่ตรงไปตรงมา เปิดกว้างชวนทุกคน ทั้งต่างชาติ ทั้งโอเปอเรเตอร์
- ปรับโครงสร้างองค์กรมีปัญหาไหม
ประธานบอร์ดพยายามให้อิสระกับผู้บริหารมากที่สุด เพราะไม่อยากให้เกิดสภาพที่ทำงานเป็นทีมไม่ได้ และก่อนนี้มี 16 สายงาน ยุบรวมเหลือ 7 สาย ก็ต้องมีคนเหลือ แต่จะให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
- ทีโอทีแข่งกับเอกชนได้
ก็เป็นองค์กรที่มีศักยภาพนะ แต่ยังไม่ได้เต็มที่ อย่างอินฟราสตรักเจอร์ก็มีเยอะกว่าคนอื่น แต่พอไปทำมีต้นทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็น พอทำเสร็จก็มีเรื่องคุณภาพ เลยมีจิ๊กซอว์หลายตัว
- จุดแข็งของทีโอที
ทรัพย์สินที่มี เช่น โครงข่าย แม้แต่เคเบิลใต้น้ำที่ผุพังยังมีคนเสนอขอเช่า ทีมบุคลากรก็พร้อมรับงานเอาต์ซอร์ซได้
- ธุรกิจมือถือจะเอายังไง
มีที่ทำอยู่แล้ว และเอ็มวีเอ็นโอที่แอ็กทีฟคือ บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย ซึ่งเรากำลังมองหาทางเลือกหลาย ๆ ทาง
- เพราะโครงข่ายน้อย
เราถึงได้มองหาพันธมิตรธุรกิจ เพราะ 3G เรามี 5,230 สถานี ธุรกิจนี้ต้องมีอีโคโนมีออฟสเกล ถ้าสถานีไม่พอจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องโรมมิ่งค่อนข้างสูง แต่ถ้าจะไปลงทุนอีก 85,000 ล้านบาท บอร์ดชุดไหนก็คงไม่กล้า ดังนั้นที่จะไปได้ต้องไปในแบบพันธมิตรธุรกิจ ดูว่าเสาที่เรามีอยู่ ของเขามีอยู่ไปด้วยกันได้ในสภาพไหน
- อยากได้พันธมิตรที่มีโครงข่าย
ถ้ามองในแบบที่เมกเซนส์ที่สุด ก็ต้องเป็นพันธมิตรกับโอเปอเรเตอร์ที่มีเสาอยู่บ้างแล้ว
- คลื่นในมือน่าจะเป็นตัวดึงดูดที่ดี
ใช่ เรามี 900MHz อยู่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป ก็พยายามหาคำตอบให้รัฐบาลด้วยว่า ทีโอทีควรมีคลื่น 900 อยู่ต่อไปหรือไม่ ขณะเดียวกันถ้าเอามาแล้วให้ทำสัมปทานอีก รัฐบาลคงไม่แฮปปี้เท่าไหร่ เขาเอาไปทำเองก็ได้ คลื่น 2100MHz อีก 11 ปี 2300MHz ก็ยังอยู่
- รายได้ของทีโอที
รายได้หลักมาจาก 3-4 อย่าง คือรายได้จากสัมปทาน ปีก่อนหน้า 20,000 กว่าล้านต่อปี พอมีการประมูล 3G ก็มีความพยายามในการย้ายลูกค้า ยังเป็นข้อพิพาทกันอยู่ว่านี่ลูกค้าใคร พอย้ายไปส่วนแบ่งรายได้ก็น้อยลง
- รายได้สัมปทานไม่เข้าทีโอทีแล้ว
ใช่ครับ ตรงนี้เป็นประเด็นที่รายได้จะหายไปค่อนข้างเยอะ รายได้อื่นก็มีโทรศัพท์บ้าน, บรอดแบนด์ และมือถือ อย่างโทร.บ้านรายได้ลดตลอดตามเทรนด์เทคโนโลยี แต่ตอนนี้ยอดการลดลงเริ่มคงที่ 4 ปีก่อนมีลูกค้าอยู่ที่ 3.8 ล้านเลขหมาย ตอนนี้เหลือ 3.6 ล้านหมายเลข ทำให้คาดว่าคงลดลงไม่เยอะไปกว่านี้เท่าไรที่เติบโตเยอะคือบรอดแบนด์ แต่ด้วยอะไรก็แล้วแต่ จากข้อจำกัดของทีโอที และความยากในการทำธุรกิจ ทำให้มาร์เก็ตแชร์ลดลงเหลือ 40% ปลายปีนี้อาจต่ำกว่า 30%
- เป็นครั้งแรกที่โดนแซง
ใช่ แต่ก็ไม่แปลกใจ เรามีปัญหาเรื่องการลงทุนและอื่น ๆ ถึงแม้ชั่วโมงนี้อยากลงทุน บอร์ดก็ต้องพิจารณาละเอียด กรณีบรอดแบนด์ยังเติบโตได้ ถ้าไม่ทำก็จะไม่มีอาวุธ ที่ผ่านมาเราลงทุนแบบปูพรม ไม่ได้ล้อตามดีมานด์ก็ต้องเปลี่ยน
- ถึงจุดที่ต้องลงทุนต่อ
ครับ ถึงจุดที่ต้องลงทุน เพียงแต่ว่าต้องลงทุนในจุดที่ให้ทุกคนเข้าใจว่า มีผลตอบแทนที่คาดหวังเป็นอย่างไร และพออนุมัติแผนการลงทุนก็ต้องอนุมัติการจัดซื้อให้ได้ตามแผนที่ตั้งไว้ด้วย
- ถ้าต้องลงทุนจะใช้เงินจากไหน
เรามีกระแสเงินสดเข้ามาอยู่ ถ้าบริหารกระแสเงินสดให้ดี เรายังสามารถลงทุนเป็นเฟส ๆ ได้ด้วยเงินตัวเอง
- เรื่องคนยังเป็นอะไรที่ยากสุด
อย่างที่ผมบอก ปัญหาทีโอทีต้องแก้ด้วยคนทีโอที ใครมาถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากคนทีโอทีก็เหนื่อย ตอนนี้คนทีโอทีต้องตระหนักว่า ถ้าไม่มีรายได้สัมปทานเขาอยู่ลำบากนะ ต้องเปลี่ยน ยังมีความหวังอยู่นะ
- ถ้าไม่เปลี่ยนอยู่ได้กี่ปี
ผมไม่แน่ใจว่า คำว่าอยู่ได้แปลว่าอะไร เพราะยังมีไมนด์เซตของพนักงานบางกลุ่มที่บอกว่า การรถไฟฯขาดทุน เขาก็ยังอยู่ได้เลย ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นคำจำกัดความของคำว่า อยู่ได้คืออะไร ถ้าอยู่ได้ จากกำไรผมว่าไม่ แต่ถ้าจะอยู่ได้ด้วยการซับซิไดซ์จากรัฐ ก็อยู่ได้อยู่แล้ว แต่มุมมองของผม อยากให้ทีโอทีอยู่ได้ด้วยตนเอง