อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
AleAle
Verified User
โพสต์: 2141
ผู้ติดตาม: 0

อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
วันที่ 13 เมษายน 2558


ปกติแล้วเราจะพูดกันว่าดอกเบี้ยต่ำเป็นเรื่องดี เพราะแปลว่าต้นทุนทางการเงินต่ำสำหรับธุรกิจ ทำให้สามารถขยายการลงทุนได้โดยสะดวก

ในขณะเดียวกันก็จะกระตุ้นการบริโภคเพราะจะลดแรงจูงใจในการออม หากจะมองถึงผลเสีย ก็มักจะพูดถึงการจูงใจที่จะสร้างหนี้สินมากเกินไปและการสร้างฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และในตลาดหุ้น


แต่ในสภาวะปัจจุบันนั้นดูเหมือนว่าธนาคารกลางของประเทศหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นกดดอกเบี้ยนโยบายหรือดอกเบี้ยระยะสั้นลงใกล้ศูนย์มานาน 6 ปีแล้ว นอกจากนั้นยังแถมด้วยมาตรการคิวอีคือพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตรเพื่อทำให้ดอกเบี้ยระยะกลางและระยะยาวลดลง แล้วเศรษฐกิจโลกก็ยังฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่นไม่น่าไว้วางใจว่าจะไปได้ดี ตัวอย่างเช่น หากเมื่อ 10 ปีแล้ว มีคนมาบอกให้ผมประเมินว่าเศรษฐกิจจะไปได้ดีหรือไม่ หากให้ข้อมูลว่าดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ศูนย์ ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีเท่ากับ 2% และราคาน้ำมันปรับลดลงมาครึ่งหนึ่ง ก็คงจะประเมินอย่างมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอย่างเต็มพิกัด แต่มาวันนี้จะเห็นว่าแม้ราคาน้ำมันจะลดลงไปแล้วครึ่งหนึ่งและยังมีคิวอีแถมให้จากยุโรปและญี่ปุ่น ก็ยังมีหลายคนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและไม่เห็นมีใครปรับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้นแต่อย่างใด


ตรงกันข้ามเรากำลังเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อนคือดอกเบี้ยติดลบในหลายประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดนและเดนมาร์ก ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ทยอยกันลดดอกเบี้ยหลังการประกาศคิวอีของอีซีบี รวมทั้งสิ้น 24 แห่งแล้ว แต่กรณีของไทยนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่าลดดอกเบี้ยเพราะปัจจัยภายในมิได้คำนึงว่าธนาคารกลางอื่นๆ จะมีพฤติกรรมอย่างไร โดยให้เหตุผลว่าสภาวการณ์ของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป แต่ผมมีความเข้าใจว่าเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเงินและสภาวการณ์ปัจจุบันนั้นดูแล้วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง


ในกรณีของอีซีบีนั้นได้ยืนยันในหลักการว่าไม่ต้องการออกมาตรการคิวอี เพราะระบบเศรษฐกิจของยุโรปนั้นบริษัทต่างๆ พึ่งพาการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แตกต่างจากระบบของสหรัฐที่บริษัทต่างๆ พึ่งพาการออกพันธบัตรเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในกรณีของสหรัฐ การออกมาตรการคิวอีซึ่งทำให้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนของพันธบัตรลดต่ำลง จึงเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนกับบริษัทต่างๆ แต่ในกรณีของยุโรปนั้นอีซีบีได้พยายามปล่อยกู้ตรงให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว (targeted long-term refinancing operation หรือ TLTRO) โดยกำชับว่าธนาคารพาณิชย์ต้องไปปล่อยกู้ต่อให้กับภาคเอกชน แต่ผลไม่ดีเท่าที่ควร ในขณะที่เศรษฐกิจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อถดถอยลงต่ำกว่าเป้ามากจนในที่สุดเงินเฟ้อในยุโรปติดลบต่อต่อกันจึงต้องยอมทำคิวอี ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือทำให้เงินยูโรด้อยค่าจึงจะทำให้เงินเฟ้อพลิกจากลบมาเป็นบวก ซึ่งอีกด้านหนึ่งของเหรียญคือการลดค่าเงินยูโรซึ่งเคยอยู่ที่ 1.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ยูโรเมื่อกลางปีที่แล้วลงมาเหลือ 1.05 ดอลลาร์ในขณะนี้ โดยมีการคาดการณ์กันอย่างแพร่หลายว่าจะได้เห็น 1 ยูโรต่อ 1 ดอลลาร์ ภายในเวลาอันใกล้นี้


ประเด็นคือความพยายามที่จะลดดอกเบี้ยทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวอย่างกว้างขวางโดยธนาคารกลางของเงินสกุลหลัก (เงินดอลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินเยนและเงินปอนด์ของอังกฤษ) ทั้งหมดนั้นเป็นความพยายามแบบจวนตัวที่จะต้องฟื้นเศรษฐกิจให้จงได้และเป็นการระดมทุกเครื่องมือที่พอจะมีอยู่ในมือมาใช้จนหมดกระเป๋าแล้ว แต่คำถามคือจะประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังหรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงว่าคิวอีนั้นหากไม่สำเร็จในระยะสั้นก็อาจส่งผลกระทบข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลกก็เป็นได้


ในกรณีของสหรัฐนั้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในระดับหนึ่งก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว เพราะกดดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์มานาน 6 ปี แล้ว โดยปกตินั้นเศรษฐกิจเมื่อฟื้นตัวภายในเวลา 1-2 ปี ก็จะเริ่มเข้าสู่สภาวะอิ่มตัวและในที่สุดก็จะต้องตกต่ำลงตามวัฏจักร ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีและเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาตกต่ำอีกธนาคารกลางก็จะต้องลดดอกเบี้ยลงเพื่อพยุงเศรษฐกิจ แต่ในรอบนี้เศรษฐกิจยังไม่ค่อยฟื้นตัวเลยและดอกเบี้ยก็ยังอยู่ใกล้ศูนย์และธนาคารกลางก็ยังมีพันธบัตรที่ซื้อเก็บเอาไว้จากการทำคิวอี 3 รอบคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและยังไม่ได้ขายกลับคืนสู่ตลาดเลย ซึ่งเป็นการบิดเบือนระบบอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับบริษัทประกันภัยและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ ที่ต้องซื้อพันธบัตรและลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลตอบแทนต่ำ


เกี่ยวกับเรื่องนี้นาย Bill Gross อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทพิมโก้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งปัจจุบันย้ายมาอยู่ Janus Capital แสดงความเป็นห่วงว่าการบิดเบือนโดยการกดดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวลงต่ำใกล้ศูนย์ดังกล่าวกำลังทำลายระบบธุรกิจการเงิน (destroy financial business models) ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม กล่าวคือมีความเสี่ยงว่าบริษัทประกันและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ อาจมีปัญหาไม่สามารถทำรายได้จากดอกเบี้ยที่ต่ำติดดินมาจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ที่ถือประกันหรือหน่วยลงทุนได้ โดยนาย Gross สรุปว่าระบบการเงินกำลังอยู่ในสภาวะเปราะบาง (vulnerable) ยิ่งขึ้น หลังจากที่สถาบันดังกล่าวเผชิญวิกฤติอย่างรุนแรงในปี 2009


ดอกเบี้ยต่ำผิดปกตินี้แทนที่จะกระตุ้นอุปสงค์ก็อาจส่งผลตรงกันข้ามคือทำให้กำลังซื้อลดลงในประเทศเศรษฐกิจหลักก็ได้ ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคนเยอรมันเคยคิดว่าหากออมเงินเอาไว้ทั้งสิ้น 20 ล้านบาท (ไม่รวมทรัพย์สินอื่นๆ เช่น บ้านและรถยนต์) ก็อาจนึกว่าเพียงพอแล้วเพราะหากเงินออมดังกล่าวให้ผลตอบแทนปีละ 5% ก็จะมีรายได้ปีละ 1 ล้านบาทหรือกว่า 80,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องแตะต้องเงินต้น ซึ่งต้องเก็บเอาไว้ใช้ในตอนปลายชีวิต แต่ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลเยอรมัน 5 ปี ให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ติดลบและพันธบัตร 10 ปีให้ผลตอบแทน 0.2-0.3% ต่อปี ดังนั้นหากออมเงินเอาไว้ 20 ล้านบาท แต่ได้รับดอกเบี้ย (สมมุติว่าปีละ 0.5-1.0% ต่อปี) คิดเป็นเงินเพียง 100,000-200,000 บาท ต่อปี ซึ่งจะต้องสรุปว่าเงินออมไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประชากรแก่ตัวลงแต่อายุยืนมากขึ้น


ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าจะต้องเร่งออมเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้อุปสงค์ในปัจจุบันไม่สามารถฟื้นตัวได้แม้ว่ายุโรปและญี่ปุ่นจะทำคิวอีต่อเนื่องไปอีกเป็นปีครับ
http://bit.ly/1CQivtP
ภาพประจำตัวสมาชิก
Wongratt
Verified User
โพสต์: 498
ผู้ติดตาม: 0

Re: อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

จากบทความผมจับใจความได้ว่า อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เงินฝากงอกเงยช้าลง คนออมเงินน้อยลง

ผมฟังดูทำไมรู้สึกว่าไม่ค่อยรุนแรงเลยครับ ตอนอ่านหัวข้อคิกว่าจะมีผลกระทบรุนแรงหว่านี้

เพราะผมคิดว่าเงินออมงอกเงยช้าลง มันถูก offset โดยหนี้โตช้าลง
คนทั่วไปอาจจะมีเงินออมหลักหมื่นหลักแสน แต่มักจะมีหนี้บ้าน, รถ, เงินกู้ธุรกิจ, เงินกู้นอกระบบ หลักล้าน

เงินออมโตช้าลง 2% แลกกับหนี้โตช้าลง 2% ยังไงก็คุ้มครับ
คนไทยมีหนี้ครัวเรือน 80% ของ GDP ผมคิดว่าถ้ามีตัวเลขเงินออมต่อ GDP ผมเดาว่าคงน้อยกว่า 80%

ท่านอื่นๆ คิดว่ายังไงครับโปรดชี้แนะ ผมอาจจับประเด็นไม่ครบ
duravit
Verified User
โพสต์: 249
ผู้ติดตาม: 0

Re: อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ผมจับใจความได้ว่าคนวัยที่กำลังจะเข้าสุ่เกษียรของยุโรปจะต้องเก็บเงินมากขึ้นอีกครับเพื่อให้แน่ใจว่าอนาคตจะมีเงินพอใช้จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก

ทำให้การใช้จ่ายน้อยลงไปอีกครับ การใช้จ่ายน้อยลงเศรษฐกิจก้อไม่ขับเคลื่อน

ไม่แน่ใจว่าเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งเศรษฐกิจไม่โตมานานมากได้หรือป่าวครับ

ไม่แน่ใจว่าผิดถูกยังไงบ้างรอความเห็นอื่นด้วยครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
vim
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2770
ผู้ติดตาม: 0

Re: อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ไม่รู้ประเทศอื่นในยุโรปเป็นอย่างไร แต่กรณีของคนในเยอรมันผมคิดว่าไม่กระทบเงินออมเพื่อการเกษียณมากเท่ากับประเทศอื่นๆครับ

เนื่องจากระบบเงินสำหรับผู้เกษียณอายุในปัจจุบันของเยอรมันนั้น ไม่ได้อยู่ในรูปของเงินออม แต่อยู่ในรูปของเงินบำนาญ ความแตกต่างคือระบบนี้จะนำเงินเดือนของคนวัยทำงาน ไปจ่ายให้กับคนในวัยเกษียณปีต่อปี ทำให้ไม่ต้องมีการสำรองเงินอยู่ในรูปพันธบัตรระยะยาวเท่ากับระบบเงินออมเพื่อการเกษียณอายุ ที่ทำอย่างนี้ได้เพราะระบบบำนาญของเยอรมันนั้นค่อนข้างแข็งและทำมาต่อเนื่องยาวนาน และมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ทันสมัยอยู่เรื่อยๆ

นอกจากเงินบำนาญแล้ว สินทรัพท์ที่มากเป็นอันดับสองคือเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และอันดับสามค่อยเป็นการลงทุนในกองทุน สัดส่วนตรงนี้จะแตกต่างกับประเทศอื่นๆอย่างอเมริกาค่อนข้างมาก โครงสร้างแบบนี้ทำให้ผู้เกษียณอายุชาวเยอรมันได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คิด หากดอกเบี้ยตกต่ำยาวนานครับ
Vi IMrovised
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Sumotin
Verified User
โพสต์: 1141
ผู้ติดตาม: 0

Re: อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

Wongratt เขียน:จากบทความผมจับใจความได้ว่า อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เงินฝากงอกเงยช้าลง คนออมเงินน้อยลง

ผมฟังดูทำไมรู้สึกว่าไม่ค่อยรุนแรงเลยครับ ตอนอ่านหัวข้อคิกว่าจะมีผลกระทบรุนแรงหว่านี้

เพราะผมคิดว่าเงินออมงอกเงยช้าลง มันถูก offset โดยหนี้โตช้าลง
คนทั่วไปอาจจะมีเงินออมหลักหมื่นหลักแสน แต่มักจะมีหนี้บ้าน, รถ, เงินกู้ธุรกิจ, เงินกู้นอกระบบ หลักล้าน

เงินออมโตช้าลง 2% แลกกับหนี้โตช้าลง 2% ยังไงก็คุ้มครับ
คนไทยมีหนี้ครัวเรือน 80% ของ GDP ผมคิดว่าถ้ามีตัวเลขเงินออมต่อ GDP ผมเดาว่าคงน้อยกว่า 80%

ท่านอื่นๆ คิดว่ายังไงครับโปรดชี้แนะ ผมอาจจับประเด็นไม่ครบ
ผมว่านะครับเอาไปเทียบกับหนี้ไม่ได้ครับ สมมุติคนวัย retired ของ EU ไม่มีรายรับอย่างอื่นเปรียบการรับดอกเบี้ยเป็น income เดียว แต่ต้องจ่าย expenses ต่างๆไม่ว่าจะเป็นค่ากินอยู่ ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ก็อาจทำให้ไม่สามารถอยู่ได้ก็เป็นได้ครับ ส่วนหนี้ถ้ามีโตช้าหรือไม่อาจต้องดูว่าดอกเบี้ยกู้ของเขาสมมติบ้านนั้นเป็น fixed rate หรือ floating rate ครับ อาจจะวิเคราะห์เพิ่มได้

แต่หลักๆผมมองว่าจะไม่ cover expenses ที่ใช้ในการดำเนินชีวิตครับ
Timing is everything, no matter what you do.

CAGR of 34% in the past 15 years of investment
Tow_kan11
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 188
ผู้ติดตาม: 0

Re: อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่า บทความนี้ต้องการสื่อว่า ภาวะดอกเบี้ยต่ำ มีอันตรายแอบแฝงอยู่ครับ ซึ่งคล้ายกับระเบิดเวลาที่กำลังรอเวลาระเบิดอยู่ครับ (ซึ่งอาจยังนึกภาพไม่ออกว่า ผลจะรุนแรงระดับไหน) จากการบิดเบือนระบบการเงินเป็นเวลานาน ส่วนที่ยกเรื่องที่ต้องออมเงินมากขึ้น กับเรื่องบริษัทประกันจะประสบปัญหาในการทำผลตอบแทนจากพันธบัตร เป็นตัวอย่างที่ช่วยให้คนอ่านพอเห็นภาพบ้างครับ

:roll:
CARPENTER
Verified User
โพสต์: 428
ผู้ติดตาม: 0

Re: อันตรายจากดอกเบี้ยต่ำ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ดอกเบี้ย เป็นรายได้ของคนกลุ่มหนึ่ง และเป็นรายจ่ายของคนอีกลุ่มหนึ่ง
โดยมีธนาคารเป็นตัวกลาง มากินส่วนต่าง ทำให้ รายได้ของคนกลุ่มหนึ่งลดลง
และรายจ่ายของคนอีกกลุ่มหนึ่งเพิ่มขึ้น ถ้า ธนาคารแห่งประเทสไทย
ทำให้เกิดความยุติธรรมทั้งคนที่มีรายได้จากดอกเบี้ย และรายจ่ายจากดอกเบี้ย
คนที่มีรายได้จากดอกเบี้ยก็มีรายได้มากขึ้น คนกู้ก็จ่ายน้อยลง
ต้นทุนดอกเบี้ยฝาก 2%-3% ไปปล่อยกู้ 7%-8% ผมไม่เคยเห็นอุตสาหกรรมไหน
ราคาขายห่างจากต้นทุนมากขนาดนี้ นอกจากนี้ ธนาคารยังเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆอีกสารพัด
บังคับ ทั้งการทำบัตรเอทีเอม บัตรเดบิต สารพัดบัตร หลอกให้ทำประกันภัย ประกันชีวิต
ถ้ากูก็ถูกบังคับให้ทำประกันภัย คิดค่าประเมินทรัพย์สิน ค่าบริหารหนี้สิน จ่ายเร็วก็ถูกดอกเบี้ยปรับ
ผมไม่เคยเห็นธนาคารชาติมาช่วยเหลือไม่ให้ชาวบ้านถูกธนาคารเอาเปรียบเลย
โพสต์โพสต์