ใครพอมีความรู้เรื่องบัญชี รบกวนช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้ทีครับ
เจาะลึก ผลกระทบจากหลักการรับรู้รายได้ที่เปลี่ยนไป
เรื่อง โดย ศนิชา อัครกิตติลาภ
ผู้อำนวยการ สายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย
อย่างที่หลายคนพอจะทราบกันแล้วว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เราจะเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ เรื่อง สัญญาที่ทำกับลูกค้าที่กำหนดหลักการสำคัญในการรับรู้รายได้ใหม่ (TFRS 15) จากปัจจุบันที่ใช้แยกโมเดลการรับรู้รายได้เป็นการขายสินค้า การให้บริการ หรือสัญญาก่อสร้าง จะเปลี่ยนมาใช้โมเดลเดียวสำหรับการรับรู้รายได้ นั่นคือ ให้รับรู้รายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ เมื่อการควบคุมในสินค้าหรือบริการนั้นได้โอนไปยังลูกค้า ในจำนวนเงินที่สะท้อนถึงสิ่งที่โอนไปแล้ว
หากเจาะลึกลงในรายละเอียดการรับรู้รายได้ แยกตามประเภทของมาตรฐานปัจจุบัน (TAS 11 และ TAS 18) จะพบว่า หากเป็นการขายสินค้าต้องรับรู้รายได้เมื่อส่งมอบ (หรือเมื่อความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญในสินค้าได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว) แต่ถ้าเป็นการให้บริการหรือสัญญาก่อสร้างต้องรับรู้ตามขั้นความสำเร็จของงาน
ขณะที่หลักการใหม่ การรับรู้รายได้จะให้ความสำคัญกับการโอนการควบคุมในสินค้าหรือบริการไปยังลูกค้า โดยกิจการต้องประเมินว่า สถานการณ์เข้าเงื่อนไขตามข้อใดข้อหนึ่งของการรับรู้รายได้ตามช่วงเวลา (Overtime) ด้านล่างนี้หรือไม่เสียก่อน หากไม่เข้า ต้องรับรู้รายได้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (Point in time)
สถานการณ์ที่ 1 ลูกค้าได้รับประโยชน์เมื่อกิจการปฏิบัติงาน เช่น บริการทำความสะอาด บริการรักษาความปลอดภัย
สถานการณ์ที่ 2 ลูกค้าเป็นผู้ควบคุมงานระหว่างทำ เช่น ก่อสร้างอาคารบนที่ดินของลูกค้า
สถานการณ์ที่ 3 กิจการไม่สามารถโอนงานระหว่างทำให้กับลูกค้ารายอื่นได้ ได้ (คือกิจการไม่ได้มีทางเลือกอื่นในการนำสินทรัพย์ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นโดยข้อจำกัดของสัญญาหรือลักษณะของสินทรัพย์เอง) และลูกค้ามีภาระในการชำระค่างานระหว่างทำตามผลสำเร็จของงาน (หากมีการยกเลิกสัญญา)
สำหรับสถานการณ์ที่ 3 ถือเป็นหลักการใหม่ แต่อาจทำให้หลายกิจการได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่าง เช่น กิจการรับจ้างผลิตขวดแก้วที่ปั๊มนูนตราสินค้าบนขวด และหากลูกค้ายกเลิกสัญญา ลูกค้าจะต้องจ่ายชำระค่าสินค้าทั้งหมดที่อยู่ระหว่างการผลิตตามราคาขาย (ต้นทุนบวกกำไร) ในกรณีนี้ ถ้าใช้หลักการรับรู้รายได้ตามมาตรฐานปัจจุบัน กิจการจะรับรู้รายได้เมื่อส่งมอบขวดให้กับลูกค้า แต่หากเป็นหลักการใหม่ กิจการจะต้องรับรู้รายได้ตามช่วงเวลา คือ ต้องรับรู้รายได้สำหรับงานระหว่างทำทั้งหมดไม่ว่าจะส่งมอบให้กับลูกค้าแล้วหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากเข้าทั้งสองเงื่อนไขในสถานการณ์ที่ 3 นั่นคือ กิจการไม่สามารถขายขวดดังกล่าวให้กับลูกค้ารายอื่นได้ เนื่องจากลักษณะเฉพาะของสินค้า และลูกค้ามีภาระที่ต้องจ่ายชำระหากมีการยกเลิกสัญญาด้วยต้นทุนบวกกำไร
นอกจากนี้ ในมาตรฐานใหม่ยังมีเรื่องที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายกิจการอีกหนึ่งเรื่อง นั่นคือ ค่าตอบแทนผันแปร (Variable consideration) เช่น ส่วนลดการค้า ส่วนลดเงินสด เงินโบนัสตามผลงาน ค่าปรับ การคืนสินค้า ฯลฯ หากกิจการมีรายการดังกล่าว กิจการจะต้องรับรู้รายได้ในจำนวนเงินขั้นต่ำที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่ากิจการจะได้รับจริง เช่น กิจการให้ส่วนลด 10% หากมีลูกค้ามียอดสั่งซื้อสะสมเกิน 100,000 บาท แม้ว่าในช่วงแรก กิจการจะออกใบแจ้งหนี้และได้รับชำระเต็มจำนวนแล้ว หากคาดว่า ลูกค้าอาจสั่งซื้อสะสมเกิน 100,000 บาท กิจการจะรับรู้รายได้ ได้เพียง 90% ของจำนวนเงินตามใบแจ้งหนี้ที่ออก และรับรู้ส่วนต่างเป็นหนี้สินในงบการเงิน อีกทั้งกิจการยังต้องมีการประเมินสถานการณ์ในทุกสิ้นรอบบัญชีว่า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และทำการปรับปรุงหากมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่าจะไม่ต้องคืนเงินจำนวนนั้น
นอกจากนี้ มาตรฐานใหม่ยังกำหนดหลักการในรายละเอียดสำหรับเรื่องอื่นๆ อีกมาก ซึ่งคาดว่าจะมีผลทำให้การรับรู้รายได้และต้นทุนที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไป เช่น การรับรู้รายได้ค่าสิทธิ (License) การรับประกัน (Warranty) การพิจารณาว่าเป็นการขายสินค้าหรือบริการที่แยกต่างหากหรือไม่ (Distinct performance obligation) การรับรู้ต้นทุนในการได้มาซึ่งสัญญา ฯลฯ
นับถอยหลังอีกเพียง 2 ปีเท่านั้น สำหรับเวลาในการเตรียมตัว ซึ่งแม้จะดูเหมือนว่ามีเวลาอีกพักใหญ่ แต่ถ้ากิจการไม่เคยมีการจัดเก็บข้อมูลที่ต้องใช้ในการรับรู้รายได้ตามมาตรฐานใหม่มาก่อน เพราะในอดีตข้อมูลดังกล่าวอาจไม่เคยต้องถูกนำมาใช้พิจารณาเพื่อรับรู้รายได้ เวลา 2 ปีที่ว่านี้ก็อาจจะค่อนข้างน้อยสำหรับหลายๆ คน ดังนั้น ยิ่งผู้ประกอบการเตรียมตัวเร็วเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้มีเวลาในการต่อรอง และสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ใช้งบการเงิน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัด และสามารถควบคุมได้
Cr. http://www.efinancethai.com/MoneyStrate ... &symbol=MS