สถานีต่อไป “JQ ปูม้านึ่ง” นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
“JQ ปูม้านึ่ง Delivery ตั้งเป้ายอดขายในปี 2561 ที่ 1,000 ล้านบาท เป็นระดับที่สามารถนำหุ้นเข้าไปอยู่บนกระดานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เป็นเป้าหินของธุรกิจที่อยากลุกขึ้นมาทำงาน และเป็นเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่หนึ่งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่เป็นธุรกิจหนึ่งที่นำอีกหลายธุรกิจของชาวบ้านให้ประสบความสำเร็จตาม” สุรีรัตน์ ศรีพรมคำ - คุณโอ๋ เจ้าของกิจการ “เจคิวปูม้านึ่ง” บอกเล่าเรื่องราวธุรกิจ “ดิลิเวอรี่อาหารทะเลสด” ของเธอที่เติบโตอย่างร้อนแรงในเวลาเพียง 5 ปี
คุณโอ๋เริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนคนจำนวนมากในเมือง แต่ต่างกันตรงที่เธอมีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ และกล้าที่จะลองผิดลองถูกมาโดยตลอด ทำให้ที่ผ่านมาเธอผ่านคำว่า “เจ๊ง” มาถึง 3 รอบ จนคุณแม่เริ่มบ่น หลังจากนั้นเธอจึงมองหาธุรกิจที่ลงทุนน้อยที่สุด ในที่สุดจึงตัดสินใจทำธุรกิจจากสิ่งใกล้ตัวที่เป็นรากฐานของครอบครัวตัวเอง นั่นคือ “แพปูม้า” ขายส่งตามร้านอาหารและโรงแรมในเขตกรุงเทพฯ
ธุรกิจขายส่งอาหารทะเลสดของเธอลุ่มๆ ดอนๆ ถูกกดราคา จ่ายเงินช้า ถูกชักดาบไม่จ่ายเงิน กระทั่งวันหนึ่ง เธอตัดสินใจไม่ยอม และนำปูม้าและอาหารทะเลที่เหลือในแต่ละวันมาแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านและคนในออฟฟิศ ปรากฏว่าได้ผล เพื่อนๆ ต่างถูกใจ ขอสั่งซื้อเพิ่มกันถ้วนหน้า โดยเคล็ดลับของเธอในเวลานั้นคือการแจกพร้อมกับน้ำจิ้มรสเด็ด จุดนั้นเองทำให้เธอเริ่มเห็นโอกาส และตัดสินใจลองขาย Seafood Delivery ตามบ้าน
“สินค้าของเราดี ปูเราสด เราประคับประคองปูมาจากสุราษฎร์ธานี แต่เราจะนำมาขายอย่างไร เพราะขณะนั้นเรายังทำงานประจำ เราหาวิธีอยู่สักพักก็ไปอ่านเจอว่าธุรกิจ Delivery จะเติบโตในเมืองใหญ่ ก็เลยลองสั่งสินค้าแบรนด์ต่างๆ มาทดลอง ก็เห็นว่ามันไม่ได้ยาก จึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้”
ใช้กลยุทธ์หนีตายในการทำธุรกิจ
เธอเล่าต่อไปว่า บุคลิกส่วนตัวเป็นคนที่ไม่กลัวอะไรเลยจึงกล้าที่จะลงมือทำและหากใครถามเธอว่าใช้กลยุทธ์อะไรในการทำธุรกิจเธอตอบได้เลยว่าคือ “กลยุทธ์หนีตาย” เพราะถ้าไม่ทำคุณแม่จะเริ่มบ่น ส่วนปูก็จะเริ่มตาย เธอจึงเริ่มจากการทำตลาดให้คนรู้จัก ด้วยช่องทาง offlf line ผ่านการแจกใบปลิวตามรถไฟฟ้า ร้านอาหาร เธอบอกว่าธุรกิจไปได้ดี แต่ใช้พลังเยอะเกินไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอหันมาทำตลาดแบบ online ผ่าน Facebook ในปี 2012
“เราเริ่มจากการขายผ่านโปรไฟล์ตัวเอง วันแรกเพิ่มเพื่อนไป 200 คน โดนบล็อกไป 15 วัน ยังไม่เข็ดและยังคงตั้งหน้าตั้งตาเพิ่มเพื่อนต่อไป แต่เพื่อนจริงๆ ก็เริ่มหายไปทีละคนเพราะเราโพสต์ขายปูทั้งวัน กระทั่งมีเพื่อนเดินมาบอกว่ามันสามารถตั้งเป็น Facebook Fan-page ได้ จึงเริ่มมีแฟนเพจตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา”
“ต้องยอมรับว่าขาย ปูม้าเดลิเวอรี่เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างแปลก เพราะไม่มีหน้าร้านแต่ส่งของถึงบ้าน ซึ่งลูกค้าไม่กล้าซื้อเพราะไม่มั่นใจ” ระยะแรกจึงเป็นการขายควบคู่กับการแก้ปัญหาไปทีละขั้น โดยเธอได้เข้าไปศึกษาการทำตลาดจากหน้าเฟซบุ๊กของคุณตัน (ตัน ภาสกรนที) ที่มีคนติดตามมากกว่า 1 ล้านคน แต่การตลาดขณะนั้นของคุณตันคือการแจกไอโฟน เธอจึงนำมาปรับใช้บ้าง
วิธีการของคุณโอ๋คือทำ Like and Share รวมทั้งการแจกใบปลิวออนไลน์ โดย 100 Like แรก แจกปู 1 กิโลกรัม และนำตุ๊กตาเฟอร์บี้ที่กำลังได้รับความนิยมมาแจก ปรากฏยอดขายถล่มทลาย จึงได้ทำแพ็กเกจแจกทัวร์ไปเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ ด้วยพลังของโลกโซเชียลมีเดียนี่เองที่ทำให้ “JQ ปูม้านึ่ง” เป็นที่รู้จักอย่างไม่มีขอบเขตไกลถึงต่างประเทศ
เธอบอกว่า การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ต้องทำหน้าเว็บให้สวยงาม โพสต์ข้อความที่มีความหมายตรงชัดเจน เข้าถึงง่าย เช่น “ปูม้ากิโลกรัมละ 650 บาท ไซซ์ 3-4 ตัวต่อกิโลกรัม หรือ หมึกย่างชุดละ 695 บาท น้ำหนักสด 300 กรัม”
เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถมาเลือกที่หน้าร้านได้ ดังนั้นเคล็ดลับคือต้องถ่ายรูปสวยๆ ทำวิดีโอที่สื่อความหมายได้ดี เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าว่าอาหารทะเลมีความสด เช่น การทุบหอยนางรมสดๆ การสอนวิธีแกะปู การทานกุ้งโชว์ หรือการมีโปรดักส์ใหม่ๆ อย่างมาม่าเศรษฐีที่ใส่อาหารทะเลแบบอลังการ พร้อมๆ กับการแตกยอดช่องทางการขายผ่าน Instagram และ Line@ ซึ่งวันนี้เธอมี Admin ที่ดูแลทุกช่องทางอยู่ประมาณ 20 คน กับยอดขายทะลุ 500 ล้านบาท
“ทุกธุรกิจต้องใส่ความจริงใจ ซื่อสัตย์ ใส่เข้าไปในอาหารที่อร่อย เพราะความยากของธุรกิจคือความน่าเชื่อถือ จึงมักจะมีการตั้งคำถามว่าปูสดจริงหรือไม่ สั่งไปแล้วจะได้ของจริงหรือไม่ สินค้าของเราจึงไม่ต้องพรีออเดอร์ สั่งล่วงหน้าได้ก่อน 1-2 ชั่วโมง เก็บเงินหน้างาน ปูไปตังค์มา กิโลกรัมละ 650 บาท แต่หากยังกังวลว่าสินค้าจะไม่สด ก็สามารถลองสั่ง 1-2 ตัวได้”
ที่ผ่านมาเธอพยายามคิดแทนลูกค้าและพยายามพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายบ่อปู การถ่ายวิธีการขนส่งและจัดส่ง การถ่ายหลังบ้านที่เป็นสถานที่ปรุงอาหาร การเปลี่ยนจากการโทรฯสั่งผ่านเบอร์มือถือเป็นระบบ Call Center การพัฒนาด้านระบบการชำระเงิน โดยเพิ่มช่องทางการชำระผ่านบัตรเครดิตจึงทำให้มีลูกค้าคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศสั่งสินค้ามาให้ครอบครัวทาน และเธอเชื่อว่า “ชื่อเสียง” เป็นเรื่องสำคัญที่สร้างได้ยากกว่ากำไร
เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์
เธอเล่าต่อไปว่า ปัจจุบันเริ่มมีต่างชาติเข้ามาขอร่วมทำธุรกิจกับ JQ โดยการซื้อแฟรนไชส์ไปขายในลาวและสิงคโปร์ ขณะที่เธอมองการขยายตลาดไปยังคนจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น และเริ่มแตกไลน์ธุรกิจไปยังแอพพลิเคชั่น We Chat ที่คนจีนใช้งานเป็นจำนวนมาก รวมถึงขยายธุรกิจไปสู่ตลาด Drive-Thru โดยเริ่มเข้าไปคุยกับปั๊มน้ำมันบางแห่ง
“ปกติอาหารมี 3 มื้อ ตอนนี้เราเจาะตลาดมื้อเย็นได้แล้ว และมื้อกลางวันได้อีกเล็กน้อย อนาคตเราจึงจะเพิ่มยอดขายของมื้อกลางวันมากขึ้น และขยายไปยังมื้อเช้า ซึ่งเมนูแรกคือโจ๊กปูข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยส่งตรงถึงที่ทำงานหรือที่บ้าน ตอนนี้คนไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 10 ล้านคน หากสามารถเจาะตลาดได้ 1 มื้อต่อคน น่าจะทำให้ยอดขายถึงระดับ 1,000 ล้านบาท ได้ไม่ยาก” คุณโอ๋ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในระยะถัดไปคร่าวๆ
ปัจจุบัน JQ มีแฟนเพจ 6.5 แสนคนต่อเดือน มียอดขายถึงหลัก 10 ล้านบาท จากวันแรกทำได้เพียง 15,000 บาท และในแต่ละปีเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปี 2558 ยอดขายอยู่ที่ 350 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 500 ล้านบาทมีกำลังการผลิตมากกว่า 10 ตันต่อเดือน และตั้งเป้าหมายท้าทายไว้ที่ระดับ 1,000 ล้านบาทในปี 2561 พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยช่วงนี้ JQ อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสาร ปรับปรุงระบบบัญชี พัฒนาสินค้า และสร้างมาตรฐานการผลิตใหม่
ขณะที่แหล่งวัตถุดิบมาจากธรรมชาติ 100% โดยมาจากตลาดหลักๆ คือสุราษฎร์ธานี แต่เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบธรรมชาติ ปริมาณวัตถุดิบจึงขึ้นกับธรรมชาติ ที่ผ่านมาจึงประสบปัญหาบ้าง เช่น เกิดพายุหรือลมมรสุมทำให้ปริมาณวัตถุดิบน้อยลง เธอจึงได้แก้ปัญหาโดยการหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติม เช่น การติดต่อไปยังนครศรีธรรมราช ระยอง ชลบุรี เพชรบุรี จันทบุรี เพื่อให้เกิดความสมดุลและกระจายความเสี่ยง
“เราต้องบริหารจัดการไม่ว่าวัตถุดิบจะมากหรือน้อย เราก็ต้องทำโปรโมชั่นให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ เพาะความเสี่ยงของเราคือปูม้าเป็นสินค้าธรรมชาติ เราพยายามควบคุมมาตรฐานให้ครอบคลุมในทุกด้าน ดังนั้น แม้วันนี้จะเริ่มมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น แต่สุดท้ายลูกค้าก็จะยังกลับมาซื้อสินค้าที่เรา ทำให้ปัจจุบันอัตราส่วนลูกค้าเก่าจะอยู่ที่ 2 ต่อ 1 นั่นคือมีลูกค้าเก่าเข้ามา 2 ราย จะมีลูกค้าเข้ามาใหม่ 1 รายเสมอ”
http://www.moneychannel.co.th/news_detail/15363