Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
clarkfire
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 102
ผู้ติดตาม: 0

Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก

โพสต์ที่ 1

โพสต์

บิทคอยน์เกิดขึ้นมาในปี 2009 เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาแห่งความพลิกผันทางด้านการเงินที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ไม่ใช่แค่วิกฤติซับไพรม์ที่ทำให้ธนาคารใหญ่ของโลกอย่าง Lehman Brothers ถึงกับล่มสลาย แต่แท้จริงแล้วมันรุนแรงยิ่งกว่านั้นมาก การจะอธิบายให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งให้เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ก็ต้องร่ายยาวถึงประวัติศาสตร์และที่มาตั้งแต่ยุคอดีตเพื่อเราจะได้ทำความเข้าใจและรู้เท่าทัน ไม่ใช่เพียงแค่ฟังคำเตือน (เอ๊ะ! หรือว่าเป็นคำขู่) ว่าให้หลีกเลี่ยงบิทคอยน์ อย่าเข้าไปยุ่งกับมันเชียวนะ มันคือการพนัน มันคือการหลอกลวง บทความนี้เป็นภาคต่อจากเรื่อง “ทำไมบิทคอยน์จึงมีค่า” ซึ่งสามารถคลิกไปอ่านย้อนเพื่อปูพื้นความเข้าใจในเรื่องที่กำลังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

ประวัติเกี่ยวกับเหรียญ (Coin) ของโลก

600 ปีก่อนคริสต์กาลอาณาจักรลิเดีย (Lydia อยู่ในตำแหน่งประเทศตุรกีในปัจจุบัน) เป็นผู้สร้างเหรียญเงินผสมทองคำออกมาใช้เป็นแห่งแรกในโลกเพื่อเอาไว้เป็นสื่อกลางการซื้อขาย ด้วยความสามารถในการแยกเนื้อทองคำออกจากเนื้อเงินได้จึงทำให้การตีมูลค่าเป็นที่แน่ชัดหมดข้อกังวลสงสัย การใช้เหรียญสร้างความเชื่อมั่น แล้ววัฒนธรรมการใช้เหรียญก็กระจายไปยังอาณาจักรต่างๆ แต่ละอาณาจักรก็มีรูปแบบเหรียญเป็นของตนเองซึ่งการตีมูลค่าก็พิจารณาจากเนื้อน้ำหนักของโลหะมีค่าที่ผสมอยู่ในเหรียญ

จากเหรียญมาเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินและธนบัตร

พัฒนาการจากเหรียญมาเป็นเงินกระดาษเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการค้าขายข้ามแดนในยุคโบราณ ความปลอดภัยและความสะดวกในการพกเหรียญจำนวนมากติดตัวทำให้เกิดคนกลางที่ทำหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นในกระดาษด้วยการสัญญาว่าจะจ่ายเป็นเงินเหรียญคืนให้เมื่อทวงถาม คนกลางจะต้องมีเครือข่ายบริการซื้อและขายกระดาษสัญญาแลกใช้เงินตลอดเส้นทางการค้าและมีเงินเหรียญสำรองในปริมาณที่เพียงพอพร้อมต่อการแลกคืน พ่อค้าที่ถือกระดาษสัญญาจึงมั่นใจได้ว่ามีค่าเงินเหรียญจริงหนุนหลังอยู่

อาณาจักรเห็นข้อดีในการออกกระดาษแทนเงินเหรียญจึงพัฒนาจากรูปแบบตั๋วสัญญาแลกเงินของเอกชนมาเป็นเงินกระดาษของอาณาจักรเพื่อใช้ในพื้นที่เขตการปกครองของตน จนกลายเป็นธนบัตรที่ใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนที่ใช้ร่วมไปกับเงินเหรียญที่มีค่าตามน้ำหนักโลหะมีค่าในตัวของมันเอง จึงเห็นได้ว่าทั้งธนบัตรและเงินเหรียญต่างก็ผูกค่าของตัวเองไว้กับโลหะมีค่า

การล่มสลายของอาณาจักรเพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ

ตราบใดที่เงินเหรียญยังมีค่าในตัว เสถียรภาพจะยังคงอยู่กับอาณาจักร ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมีประวัติศาสตร์ให้เห็นว่าเมื่อใดที่อาณาจักรเริ่มบิดเบือนคุณค่าของเงินเหรียญความหายนะก็กำลังจะตามเข้ามา ตัวอย่างเช่นอาณาจักรโรมัน

อาณาจักรโรมันยิ่งใหญ่มาก ความแข็งแกร่งทางทหารทำให้ขอบเขตของอาณาจักรกว้างไกลและทรัพยากรทั้งหมดถูกดูดเข้าสู่โรมซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร เมื่ออาณาจักรร่ำรวยก็ใช้ความรวยนั้นในการบริโภคอย่างเต็มที่ เงินทองถูกใช้ไปกับการสร้างพระราชวังใหญ่โต วัดวิหารสวยงาม สถานบันเทิงที่มีดาษดื่นทั้งเล็กและใหญ่มหึมา รวมถึงค่าใช้จ่ายทางทหารเพื่อรักษาขอบเขตของอาณาจักร เมื่อการใช้จ่ายเกินกว่าภาษีที่เก็บได้ทางออกแรกคือการพัฒนาการทำมาหากินของราษฎร การเก็บภาษีเพิ่ม รวมถึงต้องขยายอาณาจักรออกไปอีกเพื่อริบเอาความมั่งคั่งจากอาณาจักรอื่นเข้ามา ยิ่งได้เงินมามากก็ใช้จ่ายมาก ติดนิสัยจมไม่ลง

คุณภาพชีวิตชาวโรมสูงกว่าคนทั่วไปในโลกเวลานั้น ภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปทำให้เกิดสภาพขาดดุล เงินเหรียญที่หมุนเวียนใช้อยู่เริ่มมีเหรียญหลอมใหม่ที่ลดสัดส่วนโลหะมีค่าเข้ามาแฝงให้ผสมใช้ร่วมกับเหรียญเดิม เรื่องแบบนี้หลอกกันไม่ได้นาน เมื่อคนเริ่มระแคะระคายและรู้ว่าค่าของเงินนั้นน้อยลง ราคาสินค้าจึงถีบตัวสูงขึ้นกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อ อาณาจักรรอบข้างที่เคยอยู่ภายใต้การครอบครองเริ่มตีตัวออกห่าง โรมันจึงต้องใช้กำลังทหารเข้าจัดการซึ่งแปลว่าต้องมีเงินมาสนับสนุน การปั๊มเงินจึงยิ่งทำออกมามาก ในเมื่อพระคลังมีเงินเท่าเดิม สัดส่วนโลหะเงินจึงต้องน้อยลงไปอีก ภาวะเงินเฟ้อจึงรุนแรงขึ้นและนำไปสู่การกบฏภายในอาณาจักร พออาณาจักรอ่อนแอก็ถูกอาณาจักรอื่นที่แม้จะเจริญน้อยกว่าซึ่งอยู่ทางตอนเหนือเข้าบุกยึด ถือเป็นการล่มสลายของอาณาจักรโรมันตะวันดกที่มีกรุงโรมเป็นศูนย์กลาง

ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเดิม

การยึดให้เหรียญหรือธนบัตรมีคุณค่าจริงเทียบได้กับโลหะมีค่าจึงเป็นมาตรฐานที่คนทั่วไปยอมรับ ประเทศต่างๆ ในอดีตเรื่อยมาจึงยึดเอาโลหะมีค่าเป็นสิ่งหนุนหลังการทำเหรียญหรือพิมพ์ธนบัตรออกใช้ ประเทศใดมีอาณาเขตแผ่ไกลแค่ไหนก็จะเอาสกุลเงินของตนให้ใช้ได้ทั่วถึง แม้แต่ธนบัตรสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังมีภาษามลายูและภาษจีนในธนบัตรเพื่อให้คนมลายูในรัฐภาคใต้ได้ใช้ ยิ่งอาณาจักรแผ่ขยายเท่าใด การใช้เงินสกุลนั้นก็จะแผ่ไปถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษซึ่งเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

อังกฤษแม้จะเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่โตนักแต่กลับเป็นอาณาจักรที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีอาณานิคมอยู่ทุกทวีปในโลก ความร่ำรวยของอังกฤษมาจากการดึงทรัพยากรจากประเทศอาณานิคมเข้าสู่ลอนดอน ทำให้ประเทศอังกฤษมีทองคำมากที่สุดในโลก เงินสกุลปอนด์มีความมั่นคงน่าเชื่อถือเพราะอิงตามมาตรฐานทองคำ (Gold standard) การค้าขายที่ทำกับอังกฤษมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่ชัด แม้แต่สยามที่ตั้งแต่ทำสัญญาบาวริ่ง เงินปอนด์ก็ไหลทะลักเข้ามามาก เพราะการเข้ามาซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก จนเงินปอนด์กลายมาเป็นเงินสำรองส่วนหนึ่งในพระคลังมหาสมบัติ และเช่นเดียวกับทุกประเทศที่ค้าขายกับอังกฤษก็จะมีเงินปอนด์กลายเป็นเงินสำรอง (Reserved currency) เรียกได้ว่า ณ เวลานั้นเงินปอนด์กลายเป็นเงินสำรองของโลกซึ่งมีทองคำหนุนหลัง (Gold based global currency)

สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้อังกฤษต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในสงครามอย่างมาก และการค้าขายก็ทำได้อย่างยากลำบากมีผลให้แม้จะชนะสงครามแล้วในปี ค.ศ. 1918 ก็ไม่ทำให้สถานการณ์การเงินดีขึ้นเพราะประเทศเยอรมันผู้แพ้สงครามก็ไม่ได้มีเงินมาชดใช้หรือมีอาณานิคมให้ยึดมาได้มากนัก อังกฤษจากที่เคยเป็นผู้ให้กู้เงินรายใหญ่ของโลกกลับกลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของสหรัฐและฝรั่งเศส จนเมื่อถึงเหตุการณ์วิกฤติทางการเงินในสหรัฐ (The Great depression) ในปี ค.ศ. 1929 ที่เกิดการเก็งกำไรกันอย่างมโหฬารในตลาดหุ้นนิวยอร์คและในที่สุดก็เกิดการพับฐานอย่างรุนแรงของดัชนีราคาหุ้น ทำให้ผู้ลงทุนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ขาดทุนอย่างหนักทั่วหน้า เมื่อความฟู่ฟ่าในตลาดเก็งกำไรหดตัวก็นำพาไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจจริง ทำให้สถาบันการเงินใหญ่ของอเมริกาและฝรั่งเศสเริ่มไม่มั่นใจในมูลค่าเงินปอนด์ รัฐบาลอังกฤษตรองแล้วพบว่าหนี้สินขนาดนั้นมีทองคำไม่พอจ่ายจึงตัดสินใจประกาศเลิกมาตรฐานทองคำในปี ค.ศ. 1931 แปลว่านับจากนั้นเงินปอนด์ไม่ผูกค่ากับทองคำอีกต่อไป

การยกเลิกมาตรฐานทองคำของอังกฤษส่งผลทันทีให้ค่าเงินปอนด์ตกลง (เหมือนที่เคยเป็นในอาณาจักรโรมัน) กระทบเป็นลูกโซ่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประชาชนไม่แน่ใจในมูลค่าเงิน แห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร จนประธานาธิบดีรูสเวลต้องประกาศเป็นวันหยุดธนาคาร 8 วันรวดตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1933 เพื่อหยุดความตระหนกและเร่งแก้ไขปัญหาความไม่มั่นใจในเงินดอลล่าร์ด้วยการจะกลับไปผูกค่าเงินกับมาตรฐานทองคำ จึงมีการออกกฎหมายตามมาในเดือนถัดมาเพื่อขอคืนทองคำจากประชาชนกลับมาเก็บรวมไว้เป็นสำรองของประเทศ โดยรัฐบาลจะชดเชยคืนให้ออนซ์ละ 20 เหรียญ และประกาศว่าห้ามประชาชนถือทองคำเองอีกต่อไป ทองคำที่รัฐรวบรวมได้ก็เอาไปเก็บที่ฟอร์ทน็อกซ์ (Fort Knox) ในรัฐเคนทักกี

สหรัฐเป็นประเทศเดียวในเวลานั้นที่กลับมายึดมาตรฐานทองคำ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ แข็งแรงไม่พอที่จะยึดมาตรฐานทองคำ จึงเกิดเงินเฟ้อขนาดหนักในยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมันที่เกิดปัญหา Hyperinflation รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

อังกฤษยิ่งสูญเสียความมั่งคั่งลงไปอีกจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่สหรัฐเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเป็นฐานการผลิตสินค้าและอาวุธส่งขายให้แก่ยุโรป จนเมื่อสิ้นสงครามทองคำจากอังกฤษและฝรั่งเศสก็ไหลไปที่ฟอร์ทน็อกซ์ รวมทองคำที่สหรัฐมีในขณะนั้นคือประมาณ 2 หมื่นตัน คิดเป็นประมาณ 80% ของทองคำสำรองทั้งโลกเวลานั้น

สกุลเงินปอนด์ในเวลานั้นหมดความเชื่อถือของชาวโลกแล้ว และการยอมรับสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักของโลกเกิดขึ้นในการประชุมของสมาชิกประเทศต่างๆ ที่ Bretton Wood รัฐนิวแฮมเชอร์ในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งสหรัฐเสนอให้สกุลเงินดอลล่าร์เป็นสกุลเงินหลักของโลกและกำหนดค่าแลกกับทองคำที่แน่นอนคือ 35 เหรียญต่อออนซ์ (เป็นคำประกาศที่ทำให้คนสหรัฐแค้นมากเพราะริบทองเขาไปที่ราคา 20 เหรียญ) การกำหนดค่าแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินต่างๆ ให้กำหนดเป็นอัตราที่แน่นอน และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงจากอัตรานั้นให้หารือร่วมกับกองทุน IMF ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่

ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยเดิมกับจักรวรรดิ์ใหม่

อย่างที่ได้เห็นตัวอย่างกันแล้วสำหรับการเป็นสกุลเงินที่น่าเชื่อนั้นต้องมีคุณค่าที่แท้จริงผูกไว้อยู่เบื้องหลัง ทั้งจักรวรรดิ์โรมันและจักรวรรดิ์อังกฤษต่างก็มีเส้นทางของการรุ่งเรืองเติบโต และการเสื่อมถอยของอำนาจในรูปแบบคล้ายๆ กัน โดยมีเรื่องของความเชื่อถือในค่าของเงินเป็นพื้นฐานของความมั่นคง และในปัจจุบันวัฏจักรของการเกิดขึ้น รุ่งเรืองและเสื่อมถอยก็เกิดขึ้นอีก เป็นอย่างนี้วนเวียนซ้ำ ขอพักแค่นี้ไว้ก่อน แล้วจะมาต่อในเรื่องของเงินดอลล่าร์สหรัฐล้วนๆ เพื่อจะได้เห็นภาพจนครบแล้วจะได้กลับมาทบทวนว่าบิทคอยน์มีคุณค่าทดแทนเงินได้หรือไม่อย่างไร เจอกันในตอนหน้านะครับ

http://www.cointhailand.com/bitcoin/bit ... -currency/
Lordพุง_ลุงพอร์ต
Verified User
โพสต์: 15
ผู้ติดตาม: 0

Re: Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก

โพสต์ที่ 2

โพสต์

รอตอนที่2 อยู่นะครับ
zephyr
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 962
ผู้ติดตาม: 0

Re: Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก

โพสต์ที่ 3

โพสต์

Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก ภาค 2
January 12, 2018

บทความนี้เป็นภาคต่อจากบทความก่อนหน้าที่พูดถึงสิ่งที่ทำให้คนเกิดความมั่นใจในเหรียญ หรือธนบัตรสกุลต่างๆ เพื่อจะนำมาค้นหาคุณค่าที่อยู่ในบิทคอยน์ที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้





ในตอนที่แล้วพูดถึงคุณค่าของโลหะมีค่าอย่างทองคำหรือเงินที่คนให้ความเชื่อมั่นมาตั้งแต่ยุคโรมัน ไม่ว่าประเทศจะผลิตเหรียญหรือธนบัตรออกมาให้ใช้ ถ้ามันสามารถแปลงเป็นโลหะมีค่าได้ เหรียญหรือธนบัตรนั้นก็จะเป็นที่ยอมรับ แต่หากเมื่อใดที่ไม่มีโลหะมีค่ามาหนุนหลังแล้วคนจะไม่มั่นใจและนำความมั่งคั่งที่ตัวมีไปแปลงเป็นสื่อกลางอื่นหรืออะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อว่ามีค่าแท้จริงหนุนหลัง เหมือนกับตัวอย่างเหรียญเงินโรมันและเงินปอนด์อังกฤษที่หมดความน่าเชื่อถือที่เล่าไว้ในบทก่อนหน้า และทิ้งท้ายไว้ตรงเงินดอลล่าร์ที่เป็นเงินสกุลโลกปัจจุบันที่กำลังมีความเสี่ยงที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของชาวโลก ในบทนี้จะมาเล่าต่อในเรื่องของดอลล่าร์สหรัฐล้วน ๆ เพื่อปูพื้นนำไปสู่ความเข้าใจในกระแสความคลั่งไคล้บิทคอยน์อยู่ในเวลานี้



ดอลล่าร์ สกุลเงินสำรองของโลก
จากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของอังกฤษทำให้เงินปอนด์ที่เคยเป็นสกุลเงินสำรองที่ประเทศทั่วโลกถืออยู่หมดความเชื่อมั่น และในที่สุดประเทศเศรษฐีใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาก็เสนอให้เงินสกุลดอลล่าร์เป็นสกุลเงินหลักของโลกแทน โดยประเทศต่างๆ มีมติยอมรับในการประชุม Bretton Wood Conference ในปี 1944 เงินสกุลดอลลาร์ผูกค่ากับทองคำที่ 35 เหรียญต่อออนซ์ ณ เวลานั้นปริมาณทองของสหรัฐมีมากถึงประมาณ 20,000 ตัน คิดเป็นประมาณ 80% ของปริมาณทองคำสำรองของทั้งโลกในขณะนั้น



ตั้งแต่ช่วงปี 1945 – 1965 ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดทางเศรษฐกิจของสหรัฐ การบริโภคขยายตัวขึ้นอย่างมากจากการเพิ่มประชากรที่อั้นกันไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่จนถึงช่วงสงคราม เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่ารุ่นลูกมาก (Baby Boom) สังคมเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นสังคมเมือง คนในภาคเกษตรเริ่มลดน้อยลง หันมาทำงานในเมือง ที่อยู่อาศัยในเมืองขยายตัวทำให้สินค้าทุกอย่างขายดีไปหมด แถมยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศอีกเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ระดับค่าแรงเริ่มปรับตัวสูงขึ้นและพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีแทนคนมากขึ้น การนำเข้าสินค้าพื้นฐานจากต่างประเทศถูกกว่าการผลิตใช้เอง สหรัฐพัฒนาตัวไปสู่การเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก นำไปสู่ดุลบัญชีของประเทศที่เปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง



นอกจากบทบาททางเศรษฐกิจที่สหรัฐเป็นผู้นำโลกแล้ว สิ่งที่เหมือนๆ กันกับอาณาจักรยิ่งใหญ่ทั้งหลายในอดีตคือการมีแสนยานุภาพทางทหารที่จะต้องเข้าไปดูแลผลประโยชน์ของชาติในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก โดยในเวลานั้นโลกแบ่งขั้วอำนาจชัดเจนเป็นฝ่ายโลกเสรีที่มีสหรัฐเป็นผู้นำและฝ่ายโลกสังคมนิยมที่มีรัสเซียและจีนเป็นผู้นำ เกิดเป็นความตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายที่เรียกกันว่าเป็นสงครามเย็น มีการแข่งกันสร้างอาวุธรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ต้องใช้เงิน



สงครามเย็นแม้ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปิดศึกกันระหว่างประเทศผู้นำของแต่ละฝ่าย แต่มักจะมาในรูปของสงครามตัวแทน อย่างเช่นสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม และแน่นอนว่าสหรัฐในฐานะประเทศผู้นำฝ่ายเสรีต้องเข้าไปสกัดการขยายอิทธิพลของฝ่ายสังคมนิยม สหรัฐเปิดตัวลงสู่สมรภูมิสงครามเวียดนามในปี 1965 สงครามครั้งนี้ทำให้สหรัฐต้องใช้จ่ายเงินเยอะมาก จะเยอะแค่ไหนไม่รู้แต่ที่แน่ๆ คือเริ่มมีการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปริมาณทองคำสำรองของสหรัฐเริ่มอยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคง หน่วยงานที่เป็นตัวฟ้องสัญญาณนี้คือ London Gold Pool หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นกองทองรวมการเฉพาะกิจแห่งลอนดอน



London Gold Pool ตั้งขึ้นมาในปี 1961 โดยธนาคารกลางสหรัฐและ 7 ชาติยุโรป เพื่อเอาไว้รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนทองคำให้คงที่ที่ 35 เหรียญหรือใกล้เคียง ธุรกรรมระหว่าง London Gold Pool กับช่องหน้าต่างแลกทองคำของธนาคารกลางสหรัฐจะมีความสมดุลกัน การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนทองคำนี้ใช้การได้อยู่เพียง 6 ปี และเริ่มพบว่าอัตราที่ตั้งนี้เริ่มต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ประเทศสมาชิกเริ่มไหวตัวและถอนออกจากพูล และหน่วยงานนี้ก็ไม่ได้ไปต่อในปี 1968 ถือเป็นความล้มเหลวในการรักษาค่าแลกเปลี่ยนทองคำ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวของสหรัฐและไม่สามารถรักษาวินัยในการพิมพ์เงิน ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ที่แท้จริงต่ำกว่าที่กำหนดเมื่อเทียบกับทองคำ และนำไปสู่ความเสี่ยงที่ประเทศต่างๆ ที่ถือดอลล่าร์จะมาขอขึ้นทองคำคืนที่หน้าต่างแลกทองของธนาคารกลางสหรัฐ



ข้อมูลในปี 1966 ประเทศยุโรปถือเงินดอลล่าร์รวมกัน 14,000 ล้านดอลล่าร์ แต่ที่ธนาคารกลางสหรัฐมีทองคำสำรองแค่ 13,200 ล้านดอลล่าร์ และเป็นส่วนที่สำรองเอาไว้รองรับการใช้ธนบัตรดอลล่าร์ที่หมุนเวียนใช้ในอเมริกาเอง 10,000 ล้านดอลล่าร์ แปลว่าเหลือทองคำปริมาณแค่ 3,200 ล้านเหรียญดอลล่าร์ที่จะจ่ายแลกให้แก่ผู้ถือดอลล่าร์ในต่างประเทศได้ ฟังแล้วขนพองสยองเกล้าแก่เหล่าเจ้าหนี้ไหมครับ ในกลางปี 1971 เยอรมันถอนตัวออกจากข้อตกลง Bretton wood และขอเอาดอลล่าร์ที่มีไปแลกทองคำคืน คราวนี้ราวกับท่อประปาแตก ประเทศยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศสต่างขอเอาดอลล่าร์มาแลกเป็นทองคำคืนบ้าง สุดท้ายประธานาธิบดีนิกสันประกาศเลิกมาตรฐานทองคำเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1971 เพราะไม่มีทองคำพอให้แลกคืน



จากการประกาศยกเลิกมาตรฐานทองคำทำให้ทุกประเทศต่างช็อคไปตามๆ กัน (Nixon Shock) นั่นแปลว่าเงินดอลล่าร์ที่แต่ละประเทศอุตส่าห์หน้าดำคร่ำเครียดขายของให้สหรัฐอเมริกาอย่างเหนื่อยยาก กลายเป็นว่าได้เงินที่ด้อยค่ากลับมาแทน นี่คือครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาหลอกทำนาบนหลังคนทั่วโลก



หลังการประกาศยกเลิกมาตรฐานทองคำของสหรัฐจึงไม่มีประโยชน์ที่ประเทศใดจะยึดตามข้อตกลง Bretton wood อีก อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์ที่เคยฟิกซ์ค่ากับเงินสกุลอื่นๆ จึงเปลี่ยนเป็นลอยค่าเงิน ซึ่งคำนี้คนไทยน่าจะคุ้นดี มันคือคำสุภาพของการลดค่าเงินนั่นเอง เงินดอลล่าร์ตกไปเหลือหนึ่งในสาม ราคาทองกลับพุ่งขึ้นไป เศรษฐกิจของอเมริกาหดตัวลง เงินดอลล่าร์ถูกพิมพ์ขึ้นมาโดยไม่มีทองคำหนุนหลังแล้ว เป็นเงินที่พิมพ์เลขราคาให้เชื่อตามนั้น (Fiat currency) สินค้านำเข้าก็แพงขึ้นหมด สะเทือนไปถึงประเทศอื่นๆ ที่เป็นผู้ขายอย่างญี่ปุ่น ยุโรปและทั่วโลกก็แย่ตามไปหมด เมื่อเศรษฐกิจหดตัวการถล่มลงของตลาดหุ้นจึงเกิดขึ้นอีกครั้งแถมซ้ำเติมด้วยวิกฤติราคาน้ำมันซึ่งมีสาเหตุมาจากอียิปต์ที่โซเวียตหนุนหลังและกลุ่มประเทศอาหรับสู้รบเพื่อขับไล่อิสราเอลที่เข้าไปบุกยึดแหลมไซนายและที่ราบสูงโกลัน แต่ประเทศสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นสนับสนุนอิสราเอล โอเปคเลยลดการผลิตและไม่ขายน้ำมันให้สหรัฐและพวกเป็นการตอบโต้ เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของสหรัฐและทั้งโลกเข้าไปอีก



สงครามรุนแรงขึ้น สหรัฐขออนุมัติสภาคองเกรสอนุมัติเงิน 2,200 ล้านเหรียญจ่ายให้ลิเบีย ซาอุดิอารเบียและชาติอาหรับในโอเปคที่เหลือเพื่อให้เลิกเป็นพันธมิตรกับอียิปต์ ทำให้สงครามครั้งนี้สิ้นสุดโดยฝ่ายอิสราเอลก็ยอมถอนทหารกลับ



สหรัฐเห็นแล้วถึงความสำคัญของน้ำมันและความมั่นคงของเงินดอลล่าร์ จึงได้เจรจาจะให้การช่วยเหลือด้านอาวุธและอุปกรณ์ป้องกันภัยต่างๆแก่ซาอุดิอารเบีย โดยขอแลกกับการกำหนดให้การค้าขายน้ำมันของซาอุดิอารเบียที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มโอเปกให้ขายน้ำมันด้วยเงินดอลล่าร์เท่านั้นจากที่แต่เดิมกำหนดราคาขายที่ยึดกับราคาทองคำ และซาอุดิอารเบียก็ได้เกลี้ยกล่อมโอเปกให้กำหนดราคาขายเป็นดอลล่าร์ด้วย จากนั้นการขายน้ำมันของโอเปกก็กำหนดราคาเป็นดอลล่าร์ (Petrodollar)



การขายน้ำมันของโอเปกเป็นเงินดอลล่าร์หรือที่เรียกว่า Petrodollar เป็นการปลุกชีพจรของสหรัฐให้ฟื้นกลับขึ้นมายิ่งใหญ่อีกครั้งหลังจากพังพินาศไปกับการผูกค่าเงินดอลล่าร์กับทองคำ ความที่ทุกประเทศต้องการใช้น้ำมัน ดังนั้นทุกประเทศจึงต้องการเงินดอลล่าร์เพื่อใช้ซื้อน้ำมันจากโอเปก เงินดอลล่าร์จึงกลับกลายเป็นเงินสกุลจำเป็นที่ทั่วโลกต้องมีสำรองไว้ ทุกประเทศจึงต้องหน้าดำคร่ำเครียดขายของให้สหรัฐอีกครั้งเพื่อเอาเงินดอลล่าร์มาไว้ซื้อน้ำมัน เหลือเงินเท่าไหร่ก็ต้องสำรองเก็บไว้โดยนำส่งเข้าธนาคารกลางของประเทศตัวเอง ตัวธนาคารกลางเองก็มักไม่เก็บในรูปของเงินดอลล่าร์เพราะเก็บไว้ก็ไม่ได้ดอกผล จึงใช้วิธีเก็บสำรองดอลล่าร์ด้วยการนำดอลล่าร์นั้นกลับมาซื้อพันธบัตรสหรัฐมาเก็บไว้ เพราะอย่างน้อยก็มีดอกเบี้ยและมีสภาพคล่องสูง หากจำเป็นต้องใช้ดอลล่าร์เพื่อเหตุจำเป็นเร่งด่วนเช่นเพื่อเข้าแทรกแซงค่าเงินเนื่องจากการถูกโจมตีในตลาดเงิน(ถ้าซวย) ธนาคารกลางก็จะขายพันธบัตรได้เงินทันทีเพื่อใช้ในการแทรกแซง



ด้วยเหตุนี้เงินดอลล่าร์จึงเหมือนเป็นเงินที่ทั่วโลกใช้เป็นสินทรัพย์หนุนหลัง และทุกประเทศล้วนมีเงินดอลล่าร์สำรองอยู่เป็นสัดส่วนที่มากเหมือนๆ กัน ยกตัวอย่างประเทศไทย เมื่อสิ้นปี 2560 เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2 แสนล้านดอลล่าร์ เก็บเป็นทองคำประมาณ 3% อีก 97% ที่เหลือเก็บเป็นทรัพย์สินต่างประเทศที่ประกอบไปด้วยพันธบัตรสหรัฐ พันธบัตรยูโร และพันธบัตรญี่ปุ่น พันธบัตรจีน พันธบัตรออสเตรเลียในสัดส่วนประมาณ 65 : 25 : 5 : 3 : 2 ตามลำดับ ซึ่งก็เป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมักใช้กัน ในเงินสำรอง 200,000 ล้านดอลล่าร์นี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินที่เอาไปใช้ที่ไหนไม่ได้เพราะต้องกันเป็นทุนหนุนหลังการใช้ธนบัตรในประเทศประมาณ 80,000 ล้านดอลล่าร์ เหลืออีก 120,000 ล้านดอลล่าร์ก็ต้องเตรียมสำหรับพร้อมรับการเรียกคืนหนี้ต่างประเทศหรือไว้พยุงค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ จากข้อมูลนี้เห็นกันลางๆ แล้วหรือยังว่าเงินบาทที่เราถืออยู่อย่างเช่นแบ๊งก์ร้อยทุกวันนี้มีคุณค่าเท่ากับทองคำเพียง 3 บาท และเป็นเสี้ยวแบ๊งก์อเมริกาไป 64 บาท แบ๊งก์ยูโร 24 บาท แบ๊งก์เยน 5 บาท แบ๊งก์จีนกับออสเตรเลียรวมกันอีก 4 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 100 บาทไทยที่อยู่ในมือ



ตอนนี้เริ่มรู้สึกอินกับความเป็นโลกาภิวัฒน์แล้วหรือยังครับว่าโลกมันเกี่ยวกันหมด ถึงจะไม่อยากจะเกี่ยว มันก็ตามมาเกี่ยวจนถึงในกระเป๋าสตางค์จนได้ เรื่องยังมีเหลืออีกพอสมควร หากเขียนต่อก็จะทำให้บทความนี้ยาวเกินไป จะเหนื่อยอ่านกันซะก่อน เลยจะขอไปต่อภาค 3 แล้วกันนะครับ แต่เท่าที่เราเข้าใจตรงกันตอนนี้คือหลังจากสหรัฐไม่ผูกค่าเงินดอลล่าร์กับทองคำแล้ว เงินดอลล่าร์จึงไม่มีโลหะมีค่าหนุนหลังอีกต่อไป กลายเป็น Fiat currency โดยสมบูรณ์ และเงินบาทของเราก็ใช้เงินทุนสำรองหนุนหลังซื่งมีทองคำหนุนเพียง 3% นอกนั้นหนุนหลังด้วย Fiat currency ซึ่งก็แปลว่าเงินบาทก็เป็นร่างจำแลงของ Fiat currency เหมือนๆ กับเงินประเทศต่างๆ ทั่วโลกครับ
zephyr
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 962
ผู้ติดตาม: 0

Re: Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก

โพสต์ที่ 4

โพสต์

Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก ภาคจบ
January 14, 2018

บทความนี้เป็นภาคสุดท้ายของเรื่อง Bitcoin ทองคำและสกุลเงินโลก เป็นเรื่องการเจาะลึกประวัติศาสตร์การเงินโลกเพื่อไขรหัสที่จะนำไปสู่การตีมูลค่าของบิทคอยน์ ซื่งกำลังตกเป็นเป้าความสนใจของคนในยุคนี้





ในภาคที่ 2 จบลงตรงที่เราเข้าใจตรงกันแล้วว่าเงินดอลล่าร์สหรัฐในยุคนี้ไม่มีการผูกติดค่ากับทองคำ หรือพูดอีกแบบก็คือสหรัฐสามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาโดยไม่ต้องมีทองคำหนุนหลัง เป็นเงินที่เรียกกันว่า Fiat currency แต่ประเทศต่างๆ ในโลกยังมีความจำเป็นต้องถือเงินดอลล่าร์เพื่อใช้ซื้อน้ำมันจากโอเปก เพราะโอเปคตั้งราคาขายน้ำมันเป็นเงินดอลล่าร์ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสหรัฐยื่นข้อเสนอในการสนับสนุนอาวุธและการป้องกันภัยให้แก่ซาอุดิอารเบีย แลกกับการกำหนดราคาขายน้ำมันเป็นดอลล่าร์ เงินดอลล่าร์จึงกลายเป็นเงินสำรองที่ประเทศต่างๆ ต้องมีไว้ เงินสำรองดังกล่าวอยู่ในรูปพันธบัตรสหรัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเท่ากับว่าเงินสกุลของประเทศต่างๆ มีวิญญาณของเงินดอลล่าร์สิงอยู่เกือบจะเต็มมูลค่า มีส่วนน้อยมากที่หนุนหลังด้วยทองคำที่ประเทศนั้นถืออยู่ ก็แปลว่าทุกสกุลเงินในโลกขณะนี้ล้วนเป็น Fiat currency เหมือนกัน ในบทนี้จะมาเล่าต่อว่าการเงินโลกเป็นอย่างใด



สหรัฐคืนชีพด้วย Petrodollar
หลังจากที่โอเปกตกลงที่จะขายน้ำมันโดยกำหนดราคาเป็นดอลล่าร์ตามข้อเสนอของสหรัฐหรือที่เรียกว่า Petrodollar แล้ว ประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องหาเงินดอลล่าร์มาเพื่อซื้อน้ำมันจากโอเปก ความต้องการดอลล่าร์จึงทำให้สหรัฐฟื้นตัวอีกครั้ง แต่สถานะของสหรัฐยังเป็นประเทศผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย การขาดดุลจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนี้ของประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ



แล้วหนี้ของสหรัฐนี้ใครเป็นเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ของสหรัฐก็คือประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั่นเอง กลไกการก่อหนี้ก็คือเมื่อเงินในคลังของสหรัฐไม่พอใช้ คลังก็จะเสนอให้รัฐบาลไปขอให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศให้การอนุมัติก่อหนี้เพิ่ม เมื่อสภาอนุมัติแล้วกระทรวงการคลังก็จะมีสิทธิ์ออกพันธบัตร (Treasury bonds) เพื่อขายให้แก่นักลงทุน คนที่มาซื้อพันธบัตรก็มีทั้งสถาบันการเงินใหญ่ๆ ระดับโลก รวมถึงธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่ได้รับเงินดอลล่าร์ที่รับฝากต่อมาจากธนาคารพาณิชย์ ที่ลูกค้านักธุรกิจที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ไปทำมาค้าขายได้ดอลล่าร์มา การซื้อขายก็ทำผ่านตลาดพันธบัตรของสหรัฐซื่งเป็นตลาดพันธบัตรที่มีธุรกรรมสูงที่สุดในโลก



ปกติเวลาเราจะให้ใครยืมเงินหรือยอมเป็นเจ้าหนี้ใคร สิ่งที่ต้องดูอย่างแรกคือเครดิตของคนมายืมเงิน ถ้าเป็นคนขยันขันแข็งมีเรี่ยวแรงทำงาน มีรายได้แน่นอนและมีหลักประกัน เราก็สบายใจที่จะให้ยืมเงิน แต่ถ้าเป็นคนที่สำมะเลเทเมา งานการไม่ทำหรือมีฐานะง่อนแง่น หรือมีหนี้สินรุงรัง เราก็คงจะไม่อยากเสี่ยงให้ยืมเงินเพราะอาจจะสูญหรือถูกชักดาบ แต่สำหรับกรณีสหรัฐอเมริกาไม่ใช่แบบนั้น ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จำเป็นต้องซื้อพันธบัตรไปเก็บไว้แทนเงินสดที่เป็นดอลล่าร์ เพราะไหนๆ ก็ต้องมีสำรองเงินดอลล่าร์อยู่แล้ว เก็บเงินสดก็ไม่มีผลตอบแทน ซื้อเป็นพันธบัตรยังพอจะได้ดอกเบี้ยนิดหน่อย สภาพคล่องก็ดีอยากขายก็ทำได้ทันทีในตลาดพันธบัตร ไม่ว่าหนี้ของสหรัฐจะบานขนาดไหน สถาบันจัดอันดับก็ให้เรตติ้ง AAA ตลอด ถือเป็นพันธบัตรที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุดในโลก



ถ้าบ้านลูกหนี้ของเราขยันทำมาหากินรู้จักเก็บออม เจ้าหนี้อย่างเราก็อุ่นใจ แต่กรณีของสหรัฐต้องขอเล่าให้ทราบเลยว่าวินัยทางการเงินน่าหวั่นใจ ดูจากกราฟข้างล่างจะเห็นว่าในช่วงก่อน Bretton Wood Conference สถานะการเงินดีมาก ยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 การเกิดดุลการค้าของประเทศเป็นไปอย่างมหัศจรรย์ นั่นก็เพราะสหรัฐเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญมีเงินทองจากการค้าขายเข้าประเทศมาก แต่สหรัฐเริ่มได้ดุลการค้าน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงช่วงปี 1965 – 1970 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเวียดนาม สถานะการคลังของสหรัฐแย่ลง ทองคำสำรองก็ลดลงจนไม่พอจะหนุนหลังเงินดอลล่าร์ทั้งหมดที่หมุนเวียนในโลก จนสหรัฐต้องยกเลิกการผูกค่ากับมาตรฐานทองคำ และสหรัฐเริ่มขาดดุลอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ แม้ระบบ Petrodollar จะเริ่มใช้แล้วการขาดดุลก็ไม่ได้ลดลง รายจ่ายยังมากกว่ารายรับ



เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือบ้านลูกหนี้เราหนี้บานขึ้นเรื่อยๆ พอหนี้มากขึ้นก็ไปเปิดหนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า คล้ายๆ เปิดบัตรเครดิตใบใหม่มาจ่ายหนี้บัตรเครดิตใบเก่า ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เห็นคือรัฐบาลสหรัฐขออนุมัติต่อสภาฯ เพื่อขอเพิ่มเพดานหนี้อยู่อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และก็จะขอเพิ่มเพดานหนี้เช่นนี้เรื่อยไปตามที่ปรากฎเป็นข่าวมาโดยตลอดเป็นระยะๆ



ความพยายามของสหรัฐในการกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการผลิตและการบริการ เพื่อพลิกดุลการค้าให้เป็นบวก ให้กลับมาเป็นประเทศที่มั่งคั่งอีกครั้งเป็นภารกิจหลักของประธานาธิบดีทุกยุคสมัย แต่ไม่เป็นผล การสร้างศรัทธาทางการเงินของประเทศอาจจะยากเกินไป แต่ถึงอย่างไรก็ต้องให้ทั้งโลกยังอยู่ภายใต้ระบบดอลล่าร์ สหรัฐจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพยุงสภาพนี้ต่อไป สิ่งที่สหรัฐได้ทำไปในอดีตที่บ่งบอกได้ถึงความพยายามนี้ ได้แก่

การกดดันให้ประเทศคู่ค้าเลิกใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ
การรักษาความเข้มงวดของระบบ Petrodollar
การบิดเบือนราคาทองคำผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้าไม่ให้ทองคำสะท้อนค่าของดอลล่าร์ที่แท้จริง
การกดดันให้ประเทศคู่ค้าเลิกใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ
ความตกลง Plaza Accord ในปี 1985 เป็นตัวอย่างเหตุการณ์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ Plaza Accord คือความตกลงร่วมกันของ 5 ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกคือ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น เห็นร่วมกันให้ปรับค่าเงินเยนและค่าเงินมาร์คเยอรมัน เนื่องจากสหรัฐขาดดุลการค้าแก่ญี่ปุ่นและเยอรมันอย่างมาก จากเหตุญี่ปุ่นและเยอรมันต่างพยายามกดค่าเงินของตนเองให้ต่ำกว่าความเป็นจริง มีผลให้สินค้าจากสหรัฐไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าญี่ปุ่นและเยอรมันได้ แถมสินค้าจากทั้ง 2 ประเทศนี้ก็เข้าไปตีตลาดในสหรัฐ



ในยุคนั้นสหรัฐเป็นประเทศผู้ซื้อสำคัญ ญึ่ปุ่นและเยอรมันไม่มีทางเลือกอื่น ต้องยอมตามข้อเสนอ การกดดันประเทศคู่ค้าในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมีให้เห็นอีกในยุคที่จีนเฟื่องฟู สหรัฐขาดดุลจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง และจีนก็พยายามกดอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำมาโดยตลอดเพื่อความได้เปรียบทางการค้า สหรัฐพยายามกดดันจีนให้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะสหรัฐเป็นเพียงลูกค้ารายหนึ่งของจีนเท่านั้น ไม่พึ่งสหรัฐก็ยังพออยู่ได้ ดังนั้นพลังในการต่อรองของสหรัฐจึงไม่เพียงพอที่จะกดดันให้จีนปรับอัตราแลกเปลี่ยน



การรักษาความเข้มงวดของระบบ Petrodollar
เพราะว่ามีระบบ Petrodollar เงินดอลล่าร์สหรัฐจึงเป็นสกุลเงินจำเป็นของชาวโลก ดังนั้นสหรัฐจึงไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลงระบบนี้เด็ดขาด ในประวัติศาสตร์มีหลายความพยายามในการไม่ยอมรับระบบนี้



คนแรก ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัคซึ่งเปลี่ยนไปขายน้ำมันเป็นยูโรในปี 2001 เพราะปฏิเสธจะใช้เงินดอลล่าร์ของศัตรู เป้าหมายก็เพื่อให้ดอลล่าร์อ่อนค่าลง เพราะเมื่อปริมาณดอลลาร์ที่จำเป็นสำหรับการซื้อลดลง ดอลลาร์ส่วนที่เกินก็จะไหลกลับไปที่สหรัฐ ทำให้ปริมาณเงินดอลล่าร์ในสหรัฐเพิ่มขึ้น จึงทำให้ค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลง งานนี้สหรัฐตอบโต้ด้วยการกล่าวหาซัดดัมว่าสะสมอาวุธร้ายแรง และเข้าโจมตีจนในที่สุดก็จับตัวซัดดัมได้และจับประหารออกทีวีให้ชาวโลกดู



คนที่สอง มูฮัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย เปลี่ยนการขายน้ำมันจากดอลล่าร์มาเป็นสกุลเงินของลิเบีย สหรัฐจัดการด้วยการถล่มด้วยระเบิดและสนับสนุนกลุ่มกบฎและสุดท้ายกัดดาฟีถูกกบฎยิงเสียชีวิต



กลุ่มถัดมาคือประเทศซีเรียและอิหร่าน ทั้งคู่เป็นแนวร่วมประสานมือออกจากระบบ Petrodollar โดยซีเรียเริ่มในปี 2006 อิหร่านเริ่มปี 2008 ด้วยและการสนับสนุนลับๆ จากรัสเซีย ทำให้ซีเรียกลายเป็นเป้าหมายกระบอกปืนเรือรบสหรัฐ รวมถึงการอุปโหลกกลุ่มไอซิสเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในซีเรีย ส่วนอิหร่านที่เพิ่งกลับมาขายน้ำมันก็ถูกคว่ำบาตและกำลังเกิดการประท้วงในประเทศ เห็นได้ชัดว่าประเทศที่พยายามจะตีตัวออกห่างระบบ Petrodollar มักจะมีอาการเป็นไปแบบที่ราวกับถูกขีดให้ไปสู่หายนะ



แต่ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ที่เป็นปรากฏการณ์ท้าทายระบบ Petrodolla ที่เพิ่งถือกำเนิดมา นั่นคือระบบ Petro Yuan ที่จีนได้เปิดตลาดค้าซื้อขายน้ำมันโดยกำหนดราคาน้ำมันเป็นเงินหยวนซึ่งอิงกับทองคำ ระบบนี้เป็นความร่วมมือกันของ จีน รัสเซีย อิหร่าน ที่จะตกลงซื้อขายน้ำมันโดยจ่ายเป็นเงินสกุลของตัวเอง หรือเงินหยวนก็ได้ โดยมีทองคำหนุนหลังสกุลเงินหยวน ระบบนี้เพิ่งเริ่มใช้ในปี 2018 นี้เอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปฏิกริยาใดจากสหรัฐ



การบิดเบือนราคาทองคำและโลหะเงินผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้าเพื่อไม่ให้สะท้อนค่าของดอลล่าร์ที่แท้จริง
หลังจากที่ทองคำไม่ได้เป็นโลหะมีค่าที่ใช้หนุนหลังเงินดอลล่าร์ตามระบบ Bretton Wood แล้ว ราคาทองคำจึงแสดงค่าที่แท้จริงผ่านราคาซื้อขายทองคำ โดยในช่วงแรกที่ยกเลิกมาตรฐานทองคำ ราคาทองคำก็กระโดดขึ้นอย่างรวดเร็วในทิศทางที่สวนทางกับการอ่อนค่าของดอลล่าร์ สหรัฐสามารถพิมพ์ดอลล่าร์ออกมาได้เท่าที่ต้องการผ่านกระบวนการเพิ่มเพดานหนี้ แต่ไม่สามารถปั๊มทองคำออกได้ตามใจต้องการ การพิมพ์เงินดอลล่าร์ออกมามากย่อมทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ลดลง โดยราคาทองคำเป็นตัวสะท้อนมูลค่าของดอลล่าร์ ดังนั้นการบิดเบือนราคาทองคำหรือกดให้ราคาทองคำต่ำ จึงเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐที่จะได้คงความมีค่าของดอลล่าร์ไว้ และไม่ใช่เพียงแต่ทองคำที่ถูกบิดเบือนราคา โลหะเงินก็อยู่ในเป้าหมายการกดราคาด้วย และต่อไปนี้เราจะมาทำความเช้าใจวิธีการกดราคาทองคำและโลหะเงิน



การซื้อขายทองคำหรือโลหะเงินที่จับต้องได้จริง (Physical) เป็นไปตามดีมานด์โลกซึ่งเกิดจากการซื้อเก็บสะสมแทนทรัพย์สิน หรือการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับหรืออุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ ขนาดของตลาดจึงขึ้นอยู่กับปริมาณโลหะเงินและทองคำที่ขุดขึ้นได้ใหม่ รวมกับของเดิมที่รีไซเคิลหลอมมาขายใหม่ ใครต้องการเมื่อไหร่ก็ไปตลาดและซื้อขายกันตามราคาตลาดในเวลานั้น หากมีความต้องการมากราคาก็จะขึ้น หากความต้องการลดลงราคาก็จะตกลงตามกฏดีมานด์ซัพพลาย แต่ด้วยความผันผวนของราคาจากดีมานด์และซัพพลายที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดซึ่งจะมีผลต่อราคาที่ไม่นิ่ง โลกยุคใหม่จึงพัฒนาระบบตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures) เพื่อลดความเสี่ยงของราคาที่ผันผวนของสินค้า



ตลาดล่วงหน้า (Futures) มีประโยชน์เพื่อปิดความเสี่ยงของธุรกิจ ยกตัวอย่างบริษัทผลิตมือถือรับออเดอร์ผลิตมือถือ 1 ล้านเครื่อง ตกลงราคาขายกันที่ 5,000 ล้านบาท ส่งมอบ 3 เดือนถัดไป บริษัทคิดคำนวณกำไรจากต้นทุนในวันรับออเดอร์ สมมติจะได้กำไร 1,500 ล้าน สมมติอีกว่าในขั้นตอนการผลิตก็จะต้องมีวัตถุดิบทองคำมาเข้าในไลน์ผลิตใน 1 เดือนถัดไป แต่ไม่มีใครรู้ว่า 1 เดือนถัดไปราคาทองจะขึ้นหรือลง ถ้าหากราคทองเกิดแพงขึ้นบริษัทก็อาจจะไม่เหลือกำไรจากการผลิตมือถือขายในครั้งนี้ เพื่อปิดความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจขึ้นหรือลง บริษัทจึงเปิดสัญญาซื้อทองคำล่วงหน้าเพื่อล็อกราคาทองคำไว้ที่ราคาวันนี้ ดังนั้นไม่ว่า 1 เดือนถัดไปราคาทองจะขึ้นหรือลงแค่ไหน บริษัทจะได้มีทองคำในราคา ณ วันทำสัญญาซื้อทองคำล่วงหน้ามาทำการผลิต และได้กำไรจากคำสั่งจ้างผลิตมือถือนี้แน่นอน 1,500 ล้านบาทตามที่ได้คำนวณไว้



แต่ประโยชน์ของตลาดล่วงหน้าแบบข้างบนคือเรื่องของคนโลกสวย ในชีวิตจริงยังมีกลุ่มคนอีกจำพวกที่เห็นตลาดล่วงหน้าเป็นแหล่งเก็งกำไร วิธีทำกำไรก็คือถ้าเก็งว่าราคาทองจะขึ้น ก็จะเปิดสัญญาซื้อทองในตลาดล่วงหน้า หากราคาทองขึ้นมาก็ปิดสถานะสัญญาโดยการขายสัญญานั้นทิ้งไป ณ ราคาที่ขึ้นมา ไม่ต้องรอรับทองคำ แต่ได้รับราคาส่วนต่างไปแทน ยิ่งกติกาของตลาดล่วงหน้าโดยทั่วไปจะกำหนดราคาสัญญาซื้อหรือขายไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวน จึงเกิดอัตราทดในการทำกำไรมากยิ่งขึ้น (Leverage) ลักษณะตัวอย่างของการ Leverage ที่เราเห็นในชีวิตจริงก็เช่นการเก็งกำไรคอนโด ทุกคนเชื่อว่าราคาคอนโดจะขึ้นไปเรื่อยๆ จึงรีบไปจองคอนโด บริษัทที่ขายคอนโดก็ให้จองในราคาเล็กน้อย ยังไม่ต้องจ่ายเต็มราคา คนที่จองได้ก็เหมือนกับเอาเงินจำนวนน้อยไปลงทุน และรอขายใบจองต่อโดยบวกเพิ่มราคาที่คิดว่าราคาคอนโดนั้นควรจะเป็น ทำให้ได้กำไรส่วนต่างของราคาคอนโดทั้งห้องโดยลงทุนแค่ราคาใบจอง



ในตลาดล่วงหน้าโลหะเงินหรือทองคำ ผู้จัดการตลาดจะมีการถือทองหรือโลหะเงินจำนวนหนึ่งเพื่อรองรับการไถ่ถอนตามสัญญา แต่ด้วยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของนักลงทุนเก็งกำไร จึงมีสัดส่วนการปิดสัญญาและรับเข้าหรือถอนออกทองคำหรือโลหะเงินจริงน้อยมาก ขนาดของการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าใหญ่โตกว่าการซื้อขายในตลาดค้าขายทองคำหรือโลหะเงินชนิดเป็นก้อนเป็นแท่งจริงๆ เป็นพันเท่า ในปี 2017 ขนาดของตลาดโลหะเงินแท้เป็นแค่เพียง 0.0055% ของตลาดโลหะเงินล่วงหน้า



จากสัดส่วนของตลาดล่วงหน้าเมื่อเที่ยบกับตลาดซื้อขายสินค้าจริงที่มีความแตกต่างกันมาก จึงไม่อาจจะแน่ใจต่อไปได้ว่าพลังดีมานด์และซัพพลายที่มีผลต่อราคาสินค้าจริงจะต้านทานพลังการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าได้ ถ้าเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมในชีวิตจริงก็เช่น การล้มมวย นักมวยเก่ง รูปมวยดี แต่ถ้าผลประโยชน์มันเข้าตา ผลก็อาจจะออกมาไม่เป็นที่อย่างที่คาด แล้วในกรณีของตลาดทองคำหรือโลหะเงิน เขากดราคากันยังไง นี่คือลำดับขั้นตอนการกดราคา

คนที่จะกดราคาจะเปิดสัญญาขายทองคำล่วงหน้าจำนวนมหึมาแบบปัจจุบันทันด่วน กระแทกให้ราคาทองฟิวเจอร์ในตลาดล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ (COMEX) ร่วงลง
เมื่อรายใหญ่อยากเล่นทางลง และราคาฟิวเจอร์ลงแบบกระทันหันทำให้นักลงทุนบางส่วนถูกระบบบังคับขายเพื่อตัดการขาดทุน ผสมโรงกับนักเก็งกำไรที่ขายตามเพื่อร่วมขบวนกระแสทำกำไร ไปผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการขายตลาดทองคำจริงเพื่อให้ผู้เล่นในตลาดล่วงหน้า (Futures) ซึ่งเป็นกลุ่มได้ประโยชน์กลุ่มใหญ่ได้มีกำไร
ทองคำจริงจากตลาด COMEX รวมถึงที่ตลาดทองคำลอนดอน (London Bullion Market) ส่วนที่ถูกขายออกจากแรงจูงใจที่ไม่ได้เกิดจากดีมานด์ซัพพลายจริง ไหลไปยังตลาดทองแห่งใหม่ในเอเชียนั้นคือตลาดทองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Gold Exchange) ซึ่งจีนตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการดูดทองราคาถูกเข้าประเทศ
การสมยอมกันนี้เกิดขึ้นเพราะทุกคนในเกมได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ผู้กดราคาสามารถบิดเบือนราคาทองคำหรือโลหะเงินเพื่อไม่ไห้ไปสะท้อนราคาค่าเงินจริง ผู้รับทองจริงไปก็รู้ว่านี่คือการบิดเบือน แต่อาศัยจังหวะนี้ในการเก็บของถูกและรอวันที่ความจริงทุกอย่างเปิดเผย

บทสรุป
จากทั้งหมดที่เขียนมาอย่างยาวแต่พยายามอธิบายแบบเข้าใจง่ายไม่ต้องซับซ้อน เราน่าจะได้เข้าใจตรงกันแล้วว่าสกุลเงินที่เราใช้กันทุกวันนี้ไม่ว่าจะเงินบาท เงินวอน เงินรูปี เงินยูโร เงินเยน เงินหยวน ที่แท้ก็เป็นองค์อวตารของเงินดอลล่าร์สหรัฐ และคุณค่าของเงินดอลล่าร์ก็ไม่ได้ผูกค่าไว้กับทองคำหรือโลหะมีค่าใดๆ เป็นแต่เพียงสกุลเงินที่ถูกบังคับว่าต้องมีไว้ใช้ซื้อน้ำมัน ส่วนตัวเงินดอลล่าร์เองจะมีค่ามากแค่ไหนก็ไม่สามารถไปเทียบค่ากับทองคำหรือโลหะเงินตามหลักดีมานด์ซัพพลายได้เพราะมันมีการบิดเบือนราคา (Gold Silver Manipulation) แม้ทองคำหรือโลหะเงินจะเป็นสิ่งที่มีค่าแท้จริงที่ชาวโลกคุ้นเคย ก็ไม่อาจจะแสดงค่าที่แท้จริงออกมาได้ ในสภาวะการเงินแบบนี้จึงทำให้มีคนแสวงหาที่พึ่งพาใหม่ และบิทคอยน์ก็ได้เกิดมาบนโลกที่กำลังคละคลุ้งไปด้วยการสร้างมายาภาพเพื่อหลอกลวงคุณค่าของเงิน แต่การจะกระโจนเข้าใส่บิทคอยน์ด้วยเหตุผลของความไม่ชัดเจนในระบบการเงินโลกแบบเดิมก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะบิทคอยน์ไม่ใช่สิ่งมีจำกัดอย่างแท้จริง โลกพร้อมจะมี บิทคอยน์ 1 บิทคอยน์ 2 และ 3 และ 4 หรือคอยน์อะไรๆ ออกมาได้อีกเพราะเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นได้ และในอนาคตบิทคอยน์ก็สามารถถูกจับมาบิดเบือนราคาในตลาดล่วงหน้าได้เหมือนเช่นทองคำ

บทความตลอดทั้ง 3 ตอนที่เขียนมานี้ไม่อาจสรุปได้ว่าบิทคอยน์หรือสกุลเงินหรือทองคำ อะไรที่มีค่ามากน้อยกว่ากัน แต่เพียงแค่ได้เห็นพื้นฐานที่รองรับความน่าเชื่อถือของแต่ละสิ่ง ซึ่งการจะอยู่บนโลกการเงินใบนี้ต่อไปได้นั้นนับเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ


http://www.cointhailand.com/bitcoin/bit ... %E0%B8%88/
โพสต์โพสต์