MoneyTalk@SET3/3/62อาชีพการเงิน&VIรุ่นกลาง-ใหญ่มองหุ้นไทย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
i-salmon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 293
ผู้ติดตาม: 0

MoneyTalk@SET3/3/62อาชีพการเงิน&VIรุ่นกลาง-ใหญ่มองหุ้นไทย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Moneytalk@SET 3/3/62

ช่วงที่ 1 “วางแผนการเงินส่วนบุคคลและบริหารการเงินองค์กรแบบมืออาชีพ”

1) ดร.สมจินต์ ศรไพศาล / บลจ.ทหารไทย - TMBAM
2) คุณ วิไลวรรณ ศรีสำรวล / CFO ผู้บริหารด้านการเงินมืออาชีพ
3) คุณ ศักดา สรรพปัญญาวงศ์/ CFP นักวางแผนการเงินมืออาชีพ
4) ดร.ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์ / NIDA BUSINESS SCHOOL

ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และ อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณดำเนินรายการ

จะเป็นมืออาชีพการเงินต้องเป็นอย่างไร?
ดร.สมจินต์
ต้องเริ่มจากการเข้าใจตลาดการเงินก่อน
ตลาดการเงินเป็นตลาดที่ทำให้ ผู้ต้องการระดมทุน เจอกับ ผู้มีเงินลงทุน
ในอดีตตลาดการเงินเป็นของ ธนาคาร มีขอฝากเงินและมีคนขอกู้เงินธนาคาร
ต่อมาจะมีการลงทุนอีกรูปแบบ คือ วาณิชธนกิจ
ให้คนมาลงทุนที่ได้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน และมีความเสี่ยงบางประการ
ตลาดการเงินจะทำหน้าที่ได้ดีต้องเชื่อมโยงผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

วิชาชีพทางการเงิน
- ผู้ลงทุนมีความต้องการตัวช่วย อยากรู้ข้อมูลหรือมูลค่าที่เหมาะสมของบริษัท
ก็จะต้องการนักวิเคราะห์มาช่วย
- ผู้ลงทุนอีกส่วนหนึ่งไม่ต้องการลงทุนเองโดยตรง จึงมีธุรกิจกองทุนรวม
และมี ผู้จัดการกองทุน ที่ตัดสินใจลงทุนแทนให้
- ผู้ระดมทุน ต้องมีผู้ช่วยคิดการตัดสินใจโครงสร้างทางการเงิน
เช่น เอาเงินสัดส่วนเท่าไรไปปันผล หรือไปลงทุนต่อ
จะมีกลุ่มนักการเงินที่ตำแหน่งสูงสุดคือ CFO(Chief Financial Officer)
- กลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง ระหว่าง 2 กลุ่มนี้ก็เรียกวาณิชธนกร (Investment Banker)
เช่น กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์

แต่ละอาชีพก็จำเป็นต้องมีทักษะสำคัญต่างกันไป
- นักวิเคราะห์ ต้องมีทักษะประเมินมูลค่า จะต้องเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรม
มองอนาคตถึงความสามารถในการขาย ควบคุมค่าใช้จ่าย ทำกำไร
เพื่อชี้ให้เห็นว่าราคาหุ้นในตลาด ถูกหรือแพงไป
- ผู้จัดการกองทุน ต้องมีความคิดวิเคราะห์ ได้รับข้อมูลจากนักวิเคราะห์
และหลายครั้งก็ต้องลงไปวิเคราะห์เจาะลึกเอง
- CFO ต้องตัดสินใจด้านการเงิน รู้จักเครื่องมือทางการเงินต่างๆ
เช่น ระดมทุนด้วยการออกหุ้นเพิ่ม ซึ่งกระทบกับกำไรต่อหุ้น หรือระดมเป็นหนี้
จะทำให้มี leverage แต่มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่ม
นอกจากนี้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์เยอะกว่านักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุน
เพราะต้องคิดต่อไปให้บริษัทว่ามีอะไรที่เป็นไปได้บ้าง
- Investment Banker ต้องเป็นตัวกลางระหว่าง 2 ฝั่ง
บางบริษัทตั้งชื่อหน่วยงานว่า Corporate finance ทำหน้าที่เข้าไปดู
ความต้องการทางการเงินของบริษัทต่างๆ และดูว่าต้องพัฒนาไปทางไหน
เช่น เสนอให้ออกหุ้นกู้, หรือออกหุ้นสามัญเพราะระดับราคาตลาดกำลังดี,
เสนอแนวทาง M&A ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ,มีทักษะประเมินมูลค่าที่เฉียบคม
และมีทักษะการเจรจา เพราะ ต้องประเมินมูลค่า ออกตราสารและ
ไปขายให้กับ ผู้จัดการกองทุน
- Financial Planner ที่ครอบคลุมไปถึงการหาเงิน การก่อหนี้
การป้องกันความเสี่ยงในชีวิตการเงิน ซึ่งจะมองที่ตัวลูกค้าแต่ละคนเป็นหลัก
ความรู้จะไม่ได้ลึกไปในหุ้นแต่ละตัว แต่จะเป็นการจัดการบริหารทรัพย์สินหนี้สินโดยรวม

วุฒิที่เข้ามาชี้ว่าคนทำงานมีความรู้ความสามารถ
CFA เป็นวุฒิเกี่ยวกับการสร้างทักษะความเป็นนักวิเคราะห์ ใช้ได้กับอาชีพ
นักวิเคราะห์หุ้น,ผู้จัดการกองทุน, CFO, วาณิชธนกิจ
CFP เป็นวุฒิเกี่ยวกับการแนะนำผู้ลงทุนตอนสภาพชีวิต
ตามลักษณะความเสี่ยงและกระแสเงิน

คุณวิไลวรรณ
เรียนป.ตรี บัญชีธรรมศาสตร์ เรียนป.โท นิด้า ทำให้มีความรู้การเงินทำ CFO ได้
ซึ่งจะเรียนด้านบริหารก็สามารถทำงาน CFO ด้วย
แต่อย่างน้อยควรเรียนให้เข้าใจการจัดการธุรกิจ

งานหลักของ CFO
ด้านบัญชี - จัดเตรียมงบการเงิน ให้ผู้เกี่ยวข้องใช้
และสอดคล้องกับมาตรฐานบัญชีที่ถูกต้อง และโปร่งใส
, ช่วยสนับสนุนองค์กรเพื่อบริหาร, ช่วยวางระบบ Internal control
ให้มีการบริหารงานที่ดี โปร่งใส ลดความเสี่ยงบริษัท (Controller)
ด้านการเงิน – ดูแลให้มีสุชภาพการเงินที่ดี ช่วยสนับสนุนแผนระยะสั้น
และระยะยาวให้บริษัท ดูว่าหาเงินภายในได้เพียงพอไหม
หรือหาจากภายนอก ต้องเจอ bank, investment banker
หรือหาเครื่องมือที่ช่วยในการเพิ่มมูลค่าให้บริษัทได้ดีที่สุด
รวมถึงลดความเสี่ยงด้านการเงินอย่าให้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง บริหารเงินทุนระยะสั้นระยะยาว
ด้าน Compliance- การปฏิบัติตามกฏ มาตรฐานบัญชี, Governance ของ Bank
ด้าน Risk management – บริหารความเสี่ยงให้องค์กร
ด้าน Investor relation - ต้องสื่อสารเป็น ให้นักลงทุนระดมทุน หรือให้ธนาคารปล่อยกู้ให้
ระยะหลังงาน CFO จะถูกคาดหวังให้เป็น Business partner
หรือเป็นเพื่อนคู่คิดกับฝ่ายปฏิบัติการช่วยวางแผน
ตัดสินใจให้บริษัทอยู่ได้อย่างยั่งยืน
จึงต้องรู้เรื่อง Technology ต่างๆเข้ามาช่วยจัดการงาน Routine

สรุปงาน CFO ช่วยรักษามูลค่ากิจการ รวมถึงเพิ่มมูลค่าโดยการช่วยเป็น advisor ให้กับ CEO
เคยอ่านผล Survey 1 ใน 4 จบบัญชี ส่วนใหญ่จบการเงินหรือบริหารธุรกิจ

คุณศักดา
หลังเรียนจบที่นิด้าเคยอยากเป็นอาจารย์
แต่ด้วยอุปสรรคส่วนตัวบางอย่างจึงได้เข้าไปทำงานประจำกับอ.สมจินต์
ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยทำให้มีวันนี้ได้
ระหว่างที่ทำงานก็เก็บเงินและวางแผนการเงิน โดยได้ทำเพจให้ความรู้
รวมถึงสอนด้านการเงินฟรีใน youtube
หลังจากทำไประยะหนึ่ง พบว่าการให้ความรู้อย่างเดียว
ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คน 100 คนที่เรียนจะทำได้เอง 10 คน
ที่เหลือแค่เรียน หรือฟังเพลินๆ
จึงมาคิดต่อว่า ทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ถ้าพาทำไปได้ด้วยน่าจะยิ่งดี เพราะบางอย่างคนเรารู้ว่า ควรทำ แต่ทำไม่ได้
เหตุผลจาก วินัย หรือจิตวิทยาของคน เช่น คนรู้ว่า การลงทุนระยะยาวให้ผลตอบแทนดี
ทำน้อยได้ผลเยอะ แต่พอถือหุ้นแล้วราคาตกคนก็รีบขายทิ้ง หรือไม่เชื่อแนวคิดนี้

จึงเป็นที่มาให้ปรับสิ่งที่ทำเป็นการช่วยวางแผนการเงิน
หรือเปรียบเทียบว่าเป็น CFO ของการวางแผนการเงินรายบุคคล
เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดชีวิตการเงินของคน
- เรียบจบ ทำงานที่ไหน มีรายได้แค่ไหน กับ Life style
- ควรซื้อรถ ซื้อบ้านหรือเช่าบ้านไหม
- เมื่อซื้อแล้วกู้ที่ไหน เปรียบเทียบดอกเบี้ยอย่างไร
- การกู้ใช้ที่เดิมไปตลอดไหม หรือ refinance อย่างไร
- แต่งงาน จัดแบบไหนได้ ที่เหมาะสมกับฐานะ
- พอจะมีลูกวางแผนอย่างไร
- วางแผนเกษียณ หรือ early retire ได้ไหม
- จากโลกนี้ไปมี ทำบัญชีทรัพย์สินไหม มีลำดับในการส่งต่อ หรือพินัยกรรมต้องทำไหม
ระหว่างทางก็จะมีสินค้าการเงิน เช่น เงินฝาก สินเชื่อ บัตรเครดิต เงินกู้บ้าน หุ้น
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเน็จบำนาญราชการ ประกันสังคม ภาษี

เล่ากลับไปที CFA ตอนนั้นสอบผ่าน Level 2 เริ่มรู้สึกว่าจะสอบต่อต้องลงลึกไปเรื่อยๆ
ไม่สนุกเหมือนการได้รู้กว้างๆ อย่างที่ได้วางแผนการเงินให้กับคน
ได้เห็นชีวิตชาวบ้าน ความลำบาก ความพยายาม
คนที่ประสบความสำเร็จทั้งอายุวัยต้นๆ หรือคนวัยปลายๆ
ได้เรียนรู้วิธีคิด หรือปัญญาของแต่ละบุคคล ได้เห็นข้อมูลเขาต่างๆ
ทำให้เราได้เติบโตขึ้น ปลงมากขึ้น
คนส่วนใหญ่ได้วางแผนการเงินอาจจะไม่ได้รวยเลย แต่จะได้เห็นทาง

อาชีพ CFP ถ้าในต่างประเทศ ทำออกมาเป็นแผนการเงินเป็นฉบับออกมา
ก็จะมีการเรียกเก็บเงินเหมือนเป็นค่าคำปรึกษา ส่วนใหญ่จะคิดเป็น % ตามมูลค่าทรัพย์สิน
แต่ที่ฝั่ง Asia ไม่น่าจะเก็บได้ เพราะมองว่ามีการซื้อผลิตภัณฑ์ก็คิดรายได้อยู่แล้ว

A-Avenger มีรายได้จากผลิตภัณฑ์พออยู่ได้ แต่ยังไม่ได้กำไร
โดยปกติ นักวางาแผนการเงินจะไปเป็น partner กับ คนที่ออกผลิตภัณฑ์
แต่ถ้าในฝั่งที่ไม่ใช่ Asia จะมีคนที่ประกาศไม่เป็น partner กับใครเพื่อความเป็นกลาง
อย่าง กองทุนรวม 1 ล้านบาท ทางเราจะได้ 2-3 พันบาทถ้าอยู่ครบปี
แต่ในชีวิตจริงก็วางแผนการเงินครั้งหนึ่งอาจซื้อกองทุน 5 พันบาท
ทั้งนี้ขึ้นกับ Business model ของแต่ละบริษัทว่าจะอยู่รอดแบบไหน

อย่างรายได้ที่ทำอยู่ สมมติคนหนึ่งคนมีเงินเกษียณราว 10 ล้านบาท
นักวางแผนการเงิน 1 คนสามารถดูแล 100 คน
ถ้าพาคนไปเกษียณได้ที่ 10 ล้านบาทก็คิดเป็นมูลค่าลงทุน 1,000 ล้านบาท
ถ้าได้ส่วนแบ่งล้านละ 2 พันบาท ก็จะมีรายได้ 2 ล้านบาทต่อปี
ก็เป็นรายได้ที่ดี และค่อนข้าง passive

การทำหน้าที่วางแผนการเงินได้ต้องมีใบอนุญาต จากผู้กำกับดูแล
เช่น การลงทุน-กลต,, ประกันภัย – คปภ.
ยกเว้นเรื่องที่ไม่มีการกำกับดูแล เช่น รีไฟแนนซ์บ้าน
ก็ไปช่วยดูแลได้เหมือน consult ธุรกิจ
งานสาย CFP ก็มีงานประจำ แต่ไม่ได้เป็นการวางแผนการเงินเต็มรูปแบบ
อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงิน คือ Private wealth management
ซึ่งมีแทบทุกธนาคาร โดยเฉพาะยุคที่ AI เข้ามาทดแทนตำแหน่งงานนี้ก็ยังเติบโตอยู่
รวมถึง startup หลายแห่ง เช่น มีบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายลงทุน


อ.ณัฐวุฒิ
ที่นิด้าจะมีเฉพาะระดับปริญญาโทขึ้นไป คณะบริหารธุรกิจจะมีระดับปริญญาเอก
คนมาเรียน major finance, marketing, MIS จะรับปริมาณไม่เยอะ
โดยหวังว่าคนที่จบจะเป็นนักวิชาการหรืออาจารย์ต่อ
หลักสูตร MBA มีแยกตามกลุ่ม
1) International และหลักสูตรภาษาอังกฤษต่างๆ
2) Functional MBA เช่น Flexible MBA เรียนเสาร์,อาทิตย์ /Regular program
เรียนภาคกลางวัน/Executive MBA เน้นผู้บริหารระดับสูง
หรือคนทำงานอยู่แล้วเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ/Young executive MBA
สำหรับผู้บริหารระดับต้นที่จะก้าวต่อไป
3) หลักสูตรการเงิน Master of science financial management and risk management
เป็นเกี่ยวข้องการเงิน การลงทุน และบริหารความเสี่ยงโดยตรง
เรียนจบไปแล้วเป็นนักวิเคราะห์,ผู้จัดการกองทุน หรือบริหารความเสี่ยงในองค์กร
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาหุ้น/ราคาน้ำมันเปลี่ยนเร็วมาก
เราจึงสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ และมีพาไปศึกษาที่ Indiana university ด้วย
และอีกวัตถุประสงค์คือทำให้มีความพร้อมในการสอบและได้รับใบ certificate CFA/FRM ด้วย
ทั้งเนื้อหาวิชาจะใช้จาก CFA series เกือบทั้งหมด และอาจารย์ผู้สอนก็ผ่าน certificate ส่วนนี้
รวมถึงเราเป็น Partner กับ CFA/CFP มีทุนให้เปล่าในการสอบ CFA ถ้าสามารถสอบได้ผ่าน
นอกจากนี้จะเปิดหลักสูตรปริญญาโทเพิ่มที่กว้างขึ้นมา สำหรับคนที่ต้องการความรู้ทางการเงิน
เพื่อที่จะทำวิชาชีพ หรือเพื่อรู้ Product ทางการเงิน
รวมถึงคนที่อยากเรียนการเงินเพื่อบริหารจัดการต่างๆ
คือ สาขาการลงทุนทางการเงินองค์กรและการบริหารความเสี่ยง
ระยะเวลาเรียน 1.5 ปี จะได้เรียนความรู้พื้นฐานทางการเงิน,บัญชี,เศรษฐศาสตาร์,สถิติ,ตราสารการเงิน
สามารถเลือกต่อว่าจะไปเรียนต่อด้านที่สนใจ investment bank, corporate ,
การบริหารการเงิน,การวิเคราะห์, financial risk management, credit risk management ,
วางแผนการเงิน หรือ จิตวิทยาการเงิน
วางแผนเปิดเดือน สิงหาคม 62 เปิดรับสมัครกลางเดือน มี.ค.62 เป็นต้นไป
เรียนภาษาไทย ค่าเรียน 3 แสนบาท จบปริญญาตรีด้านไหนก็ได้ วางแผนจะมีทุนให้ 1-2 ทุน
สนใจติดต่อได้ทางเวบไซต์นิด้า

โลกการเงินทุกวันนี้เปลี่ยนไปเยอะไหม?
ดร.สมจินต์ วิธีคิดน่าจะยังใช้ได้อยู่ แต่ต้องเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ

CFA,CFP,CFO, งานด้าน Risk management รายได้ผลตอบแทนอันไหนดีกว่ากัน?
ดร.สมจินต์ โดยทั่วไปมาจากเรา add value ให้ใครได้เท่าไร
สมัยก่อนเคยได้ยินคนพูดว่า ถ้าหากเป็นหมอจะรายได้ดี เต้นกินรำกินรายได้น้อย
แต่โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดาราเก่งๆ นักกีฬาเก่งๆ รายได้ดีกว่าหมอ เพราะตอบสนองคนได้ดีกว่า
ถ้าตอบตรงๆ ทุกอาชีพตอนเริ่มต้นรายได้อาจต่างกันไม่มาก อยู่ที่จะไต่ขึ้นไปได้ถึงไหน
อย่าง CFO ถ้าองค์กรใหญ่รายได้มาก รวมถึงอาจไต่ขึ้นไปเป็น CEO ได้ด้วย
ถ้าเป็น CFA ที่เป็น analyst เก่งมากๆ จะถามอุตสาหกรรมหนึ่งต้องมาหาคนนี้
ชี้ได้ว่าโอกาสความเสี่ยงเป็นอย่างไร
ถ้าได้ข้อมูลจากคนนี้แล้วทำผลตอบแทนได้ ก็น่าจะมีผลตอบแทนที่ดีมาก
เป็นบันไดอาชีพในช่วงต้นต้องมีความรู้วิชาการ
แต่ต่อไปต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการ ทำงานร่วมกับคนอื่น
การสื่อสาร และนำองค์กรสู่ความสำเร็จได้

ในสาย CFP มองว่า revenue model จะออกไปเหมือนนักขายประกันที่ประสบความสำเร็จ
คือ สร้างอาณาจักร ขยายธุรกิจนี้ได้ใหญ่ หรือโน้มน้าวให้ลูกค้ารายใหญ่มาใช้บริการ
ที่สำคัญคือ เรารักงานนั้นไหม มีความสุขกับงานหรือเปล่า – ฉันทะ –
inspirational joy ในการทำงานนั้นหรือเปล่า เป็นคำถามในการเลือกสายอาชีพ
ซึ่งแต่ละสายอาชีพก็ต้องการทักษะและรายงานคนที่ต่างกัน
มีเรื่องเล่า คริสโตเฟอร์ เรน เป็นสถาปนิคที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ
คศ.1700 เขาเดินตรวจงานสร้างวิหาร และถามคนงานว่าทำอะไร?
คนแรกตอบว่ากำลังตัดหิน
คนสองตอบทำงานแลกเงิน
คนสามตอบทำงานให้คริสโตเฟอร์ เรน สร้างวิหารให้พระจ้า
มีเพียงคนที่สาม ที่เข้าใจว่า เขาทำงานให้นาย และนายของนาย
ซึ่งมีเพียงคนนี้ที่มีวิสัยทัศน์ที่จะเติบโต
เช่น นักวิเคราะห์ นายโดยตรงคือหัวหน้า/เจ้าของบริษัท
เราจะเข้าใจว่าวิหารที่เราต้องการคืออะไร งานแต่ละงานจะสนุก
และถ้าเรารู้นายของเราต้องการส่งมอบอะไร
ก็จะเพิ่มความสำเร็จ และป้องกันความผิดพลาด
ถ้าเป็นนักวิเคราะห์ จะออกบทความพูดถึงบริษัทหนึ่ง
และบริษัทไป underright บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งประเมินแล้วว่าหุ้นนี้ต้องขาย
จะมี conflict of interest แล้วว่าจะเขียนเชียร์หุ้นนี้ไหม
ซึ่งถ้าเราเข้าใจว่าลูกค้าของนายคือนักลงทุน เราก็ต้องเลือกทำสิ่งที่ดีที่สุด
ก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จ

มีเหตุการณ์ตอนที่อ.ไพบูลย์โทรมา บอกว่าคุณเอ อยากเข้ามาช่วยงาน
ซึ่งได้เจอที่ตลาดหลักทรัพย์ เอประกวด young financial star award
ก็ประทับใจและคิดว่าถ้าได้มาเป็นเพื่อนร่วมงานก็ดี
ในการเข้าสู่วิชาชีพ เรามีโอกาสทำอะไรหลายๆ อย่าง
ถ้าทำให้เต็มที่ เต็มความสามารถ โอกาสต่างๆ จะเปิดให้เรา

CFO เงินดีมาก แต่งานหนักมาก ถ้ามีลูกหลานจะให้ทำด้านนี้ไหม?

คุณวิไลวรรณ ต้องสนับสนุนที่อ.สมจินต์บอก ว่าใจรักไหม
ทุกงานตำแหน่งสูงหนักทั้งนั้น ถ้ามองผลตอบแทน เป็นอาชีพหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนดี
โดยเฉพาะที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้ต้องมี CFO อย่างน้อย 1 คนก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์
และมีประสบการณ์ 3-5 ปีด้านการเงิน

คนทั่วไปควรต้องเรียน CFP ? จะโดน disruption ไหม?
คุณศักดา ถ้ามีความสนใจด้านการเงินอยู่แล้ว การลงทุนกับการศึกษาก็จำเป็น
ไม่ว่าจะเรียนตามหลักสูตรหรือ self study
ถ้าเรียนมาทางปฏิบัติมากกว่าวิจัยก็น่าจะตอบโจทย์คนทำวิชาชีพ
ส่วนเรื่อง disrupt ในต่างประเทศก็มีแนวโน้ม เช่น
การวิเคราะห์ เก็บข้อมูล ประมวลผล งาน computer ช่วยทำงานเบื้องต้นก่อนคนให้ได้
งานที่ติดต่อกับคนคงโดน disrupt ท้ายๆ

การคัดเลือกนักวางแผนการเงินเข้ามา คนที่สัมภาษณ์จะบอกว่า
เขารัก เขาทำงานที่ชอบ เราจะถามกลับว่า เขารู้ได้อย่างไรว่า รัก หรือชอบงานนี้
ให้เล่าให้ฟังหน่อย? ซึ่งจะพบว่าหลายครั้งเขาไม่สามารถเล่าให้ฟังได้
จึงอยากฝากให้น้องๆ เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวกับงานที่เราอยากทำ
เข้าไปทำสักระยะ ถ้ามันใช่เดี๋ยวก็รู้เอง ใช้ความได้เปรียบของการที่อายุไม่มาก
อย่าเพิ่งปักใจว่าจะเป็นอะไร

อ.ณัฐวุฒิ
ขอบคุณทุกท่านที่มาแชร์ในภาคปฏิบัติ
ซึ่งเราก็นำความต้องการมาสร้างเป็นวิชาการที่ควรรู้และหลักสูตรต่อไป

[To be continue Part 2 ]
Go against and stay alive.
ภาพประจำตัวสมาชิก
i-salmon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 293
ผู้ติดตาม: 0

Re: MoneyTalk@SET3/3/62อาชีพการเงิน&VIรุ่นกลาง-ใหญ่มองหุ้นไท

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ช่วงที่ 2 “วีไอรุ่นกลางใหญ่มองหุ้นไทยปี 62”
1) คุณ ชาย มโนภาส / นายกสมาคมไทยวีไอ
2) คุณ เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ / อดีตวาณิชธนากร นักลงทุนวีไอ
3) นพ. ศุภศักดิ์ หล่อธนวณิชย์ / อดีตกรรมการสมาคมไทยวีไอ
4) คุณ ทิวา ชินธาดาพงศ์ / นักลงทุนวีไอ
5) ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร / ร่วมให้ความเห็นและวิเคราะห์

ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และ อ. เสน่ห์ ศรีสุวรรณ ดำเนินรายการ

เปิดด้วยกลอน อ.เสน่ห์
มองหุ้นไทย ปีหกสอง มองให้ขาด
รุ่นกลางใหญ่ วีไอศาสตร์ ฉลาดเห็น
จะผันผวน พุ่งผงาด สาดกระเซ็น
กลุ่นไหนเด่น กลุ่มไหนดับ จับตาดู

นายกไทย วีไอ ใจองอาจ
คือคุณชาย มโนภาส เก่งกาจรู้
เฉลิมเดช ผู้มีเชาว์ เขามีครู
จากไอบี ผันสู่ ชูวีไอ

เป็นหมอสูติ รู้ลงทุน หุ้นที่รัก
คือหมอเค ศุภศักดิ์ รุ่นกลางใหญ่
มี่ทิวา ชินธาดาพงษ์ คนตรงใจ
วินมอไซค์ ขายหมูยอ ขอลงทุน

ต้นกำเนิด เกิดวีไอ ชายรางน้ำ
เคยผ่านซ้ำ ทำงานเจ๊ง เล็งเล่นหุ้น
เคยคบซ้อน ก่อนขายทิ้ง วิ่งชุลมุน
เซียนนิเวศน์ เหนือรุ่น หุ้นตีแตก

เหล่าหมอยา ท่าโฉลง ฟันธงหุ้น
จะได้ลุ้น กันแค่ไหน ไม่ปอดแหก
บอกบทเรียน เปลี่ยนกลยุทธ์ จุดจำแนก
จะว่ายแหวก ฝ่าหุ้นไทย กำไรงาม

มองหุ้นไทยปีนี้อย่างไร? มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลสำคัญ?
คุณชาย
มีคำถามให้ชวนคิดก่อน
1) คิดว่าคนเราสุขภาพดีขึ้นหรือแย่ลงเทียบกับ 40-50 ปีที่ผ่านมา?
(แสดง Slide) แม้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าสุขภาพแย่ลง หรือมีมลพิษ
แต่ข้อมูล Life expectancy (อายุขัยเฉลี่ยที่คาด) เพิ่มจาก 55 เป็น 75 ปี

2) หลังต้มยำกุ้ง 1997 จบถึง 2019 มีปีไหนที่เศรษฐกิจไทยเติบโตดี?
(แสดง Slide) เราจะรู้สึกกันว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยไม่มีปีไหนดี
จากข้อมูลกราฟราคาหุ้นไทยตัว#1 เทียบกับหุ้น Amazon
ซึ่งแม้จะลงทุน R&D มากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปีในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาหุ้นขึ้น 25 เท่า
แต่หุ้นไทยตัว#1ตัวราคาเพิ่มขึ้นแพ้ amazon นิดเดียว
หรือมีบางช่วงก่อนหน้าที่ขึ้นมากกว่า amazon อีก และไม่ได้เป็นหุ้น technology ด้วย
ถ้าเป็นคนไทยลงทุนหุ้นไทยเมื่อ 15 ปีก่อนถือจนวันนี้กำไรมากกว่า
เพราะค่าเงินบาทวันนั้น 40 บาท/usd แต่วันนี้ 30 กว่าบาท/usd รวมถึงมีปันผลด้ว

(แสดง Slide) หุ้นไทยตัว#2 หลัง hamburger crisis
ถ้าถือหุ้นตัวนี้กำไร 9 เท่าถ้าถือ Microsoft กำไร 5 เท่า
ลองนึกดูว่ามีปีไหนที่เศรษฐกิจไทยดีไหม?

หุ้นไทยทั้งสองตัวนี้ไม่ใช่หุ้นเทคโนโลยีระดับโลก คนทั่วไปก็สามารถเข้าใจธุรกิจได้
ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญของนักลงทุนคือการหาโอกาส ปัญหามีตลอด
ไม่ว่ากี่ปีลองมองย้อนกลับไป โอกาสลงทุนมีเสมอ
เราไม่จำเป็นต้องลงทุนบริษัทที่สร้างจรวดไปดาวอังคารก็ได้
ซึ่งไอเดียจากการอ่านหนังสือ factfullness นี้เล่าให้เห็นว่า
คนส่วนใหญ่มองว่าโลกแย่ลง แต่หนังสือบอกว่าที่จริงโลกดีขึ้น
โดยอ้างสถิติจาก world bank/UN

ถ้าถามว่าตลาดหุ้นปีนี้เป็นอย่างไร ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นเหมือนทุกปี
แต่โอกาสมีเสมอ อยากให้เปิดใจให้กว้าง
สิ่งที่ควรทำคือการหาโอกาสในการลงทุน
ถ้า 15 ปีก่อนมัวแต่กังวล เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไร
เราจะไม่ได้ลงทุนในหุ้นแบบในตัวอย่างที่ยกให้ดูข้างต้น

ปีนี้ปัจจัยที่สนับสนุนหุ้นได้ดีมาก จะมีสิ่งหนึ่งในโลกที่หายากขึ้น
คือ yield ในการลงทุน ดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไปนานพอสมควร
ดังนั้น yield ที่สูงกว่า 3% ขึ้นไปจะเป็นที่ต้องการตลาดโลก
และมองหาค่าเงินที่มีเสถียรภาพ ซึ่งถ้าเกิดกรณีนี้จะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นได้ดี
ถึงแม้ไม่เกิดประเด็นนี้ แต่ตลาดหุ้นไทยก็สามารถสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ลงทุนจำนวนมาก

คุณเชาว์ เฉลิมเดช
ที่ผ่านมาโลกมีปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้น คือ QE
หลายคนยังไม่เข้าใจมันคืออะไร
QE เป็นการพิมพ์เงินออกมา
รัฐบาลกลางเอาเงินออกมาซื้อ asset เช่น พันธบัตร, สินเชื่อเกี่ยวกับบ้าน
คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่ามีขนาดใหญ่มาก
อเมริกาทำ QE 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือยุโรป หรือญี่ปุ่นก็ทำใกล้เคียงกัน
ถ้าเอาตัวเลขนี้ไปเทียบกับเงินทุนสำรองที่มากสุดในโลกอย่างประเทศจีน
ซึ่งมีที่สะสมอยู่ 30 ปีคือ 3 ล้านล้านดอลลาร์ จากคนเป็นหลายร้อยล้านคน
แต่อเมริกา,ยุโรป ฯลฯ ใช้เวลา 3-4 ปี พิมพ์เงินออกมามากกว่าที่จีนทำมา 30 ปี

การเกิดขึ้นของ QE จะทำให้สินทรัพย์ทุกชนิดสูงขึ้น ทุกคนจะรู้สึกว่าทุกอย่างแพงขึ้น
ถ้า QE มาหุ้นขึ้น QE ถอยไปหุ้นตก มันไม่มีในหนังสือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่

แล้วต่อไปตลาดจะเป็นอย่างไรหากพิมพ์ QE ต่อไม่ได้...
สมัยก่อนการพิมพ์เงินเยอะทำไม่ได้เพราะเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสูง
แต่ตอนนี้กลับพิมพ์เงินแล้วเงินเฟ้อไม่ขึ้น เพราะเงินไม่ได้ไหลเข้าไปสู่คนหมู่มาก
เงินไปอยู่ที่สถาบันการเงิน อยู่ที่คนฐานะดี
เกิดเป็นโลก 2 ใบ สินทรัพย์ทั่วโลกราคาขึ้น แต่สินค้าชีวิตประจำวันต่างๆ ราคาไม่ค่อยขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้น คือ
1) จีน เข้ามาในเศรษฐกิจทุนนิยม คนหลายร้อยล้านคนเข้ามาผลิต
เกิด economy of scale ต้นทุนถูก สินค้าถูกลงเรื่อยๆ คุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ
2) การเกิดขึ้นของ semi conductor หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ
ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโลกมี ประสิทธิภาพสูงขึ้น
เช่น ตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นเมื่อก่อน 4 หมื่น สมัยนี้ไม่ถึงหมื่น
เครื่องบินสมัยนี้ใช้น้ำมันน้อยลง 30% ใช้วัสดุที่เปลี่ยนไป
หรือการเกิดขึ้นของ e-commerce ตัดคนกลางยี่ปั๊วะ/ซาปั๊วะ ราคาสินค้าจึงถูกลง
ต่อไปก็จะมีการเกิดขึ้นของ AI หรือ robotics อย่างต้นทุนคน 30-40% ของสินค้า
พอไม่มีคน สินค้าถูกลงไปเรื่อยๆ อีก
ถ้า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง รัฐบาลก็ต้องใช้ QE ต่อไปเรื่อยๆ ในภาพยาว 20-30 ปี
ระยะสั้นถ้าเกิด วิกฤติ หรือหุ้นแพงไป หุ้นก็จะตกลงมา
แต่คิดว่าไม่น่านาน เพราะก็มี QE เพิ่มเข้ามาได้

อีกเรื่องหนึ่งคือ เหตุการณ์แบบนี้ ทำให้ความแตกต่างระหว่างชนชั้นห่างออกไปเรื่อยๆ
เพราะสินทรัพย์มูลค่าเพิ่มขึ้น แต่คนที่ถือครองสินทรัพย์มีแต่คนรวย

คุณทิวา
คุณเเชาว์อธิบายภาพใหญ่และระยาวแล้ว
ขอเทียบลงมาระยะสั้นกับปีก่อนให้ฟัง
สินทรัพย์ทุกประเภทขาดทุนหมด รวมทุนตราสารหนี้ ไม่เคยเกิดมาก่อน
ปีที่แล้วเริ่มต้น Trailing PE 17 เท่า ด้วยความคาดหวังสูง ว่าจะเติบโต
ซึ่งออกมาจริงไม่เป็นอย่างนั้น
มีข่าวเกี่ยวกับ QE อเมริกาถอนออกทุกเดือน และดอกเบี้ยก็เป็นขาขึ้นทั้งปี

ปีนี้เริ่มต้นด้วย Trailing PE 14 เท่า คนจะมองแง่ร้าย แตกต่างจากปีก่อน
QT จะไม่เร็วเหมือนก่อน เงินเฟ้อก็ชะลอตัว คาดหวังว่าดอกเบี้ยขาขึ้นจะสิ้นสุดแล้ว

เรื่อง trade war อ่านข่าวทรัมป์กับสีเจี้ยนผิงทุกวัน
คิดว่ามาถึงจุดที่พีคสุดไปแล้วคือขับ CFO ของหัวเหว่ย
มองว่าสถานการณ์จะเริ่มผ่อนคลายขึ้น เริ่มมีตัวเลข มีการต่อรอง
น่าจะเป็นจุดที่คลี่คลาย ล่าสุดจีนบอกว่าจะซื้อของอเมริกา 1 ล้านล้านดอลลาร์ใน 6 ปี
ซึ่งอเมริกาก็ขอต่อรองเป็น 4 ปี เป็นจุดที่มีพัฒนาการ
ส่วนตัวเชื่อว่าตลาดหุ้นดีกว่าปีก่อนพอสมควร

แต่จากประสบการณ์ลงทุน เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการวิเคราะห์พวกนี้ถูกหรือผิด
หัวใจหลักคือเราสามารถลงทุนในหุ้นที่ undervalue ได้จริงๆ หรือเปล่า
สาเหตุที่เราขาดทุนเพราะไปซื้อหุ้น overvalue
สิ่งที่สำคัญคือต้องค้นหาหุ้นที่ดี และ valuationให้ได้
เราจะ valuation ได้ เกิดจากการที่เราเข้าใจว่าจะเกิดอะไรกับหุ้นนี้
เหมือนกับหุ้นเครื่องสำอางค์มันไม่ได้พลาดเป้า แต่ไปคนละทิศทางเลย
มันต้องเกิดจากความเข้าใจ มันสำคัญมากกว่าการคาดการณ์ว่าดัชนีรวมจะขึ้นหรือลง

หมอเค นพ.ศุภศักดิ์
SET Earning Yield gap ล่าสุด 3.3% (ส่วนกลับของ PE)
โดยทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ EYG จะอยู่ที่ 5% คือพุ่งขึ้น และ SET index ลดลง

ถ้ามองแง่ดี อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอดีตจะไม่ขึ้นทีมากๆต่อเนื่อง
ยกเว้น ช่วงก่อน subprime เคยขึ้นทีเดียว 20% และเจ๊งทั้งโลก คงไม่กล้าทำแบบนี้อีก

การซื้อขาย นักลงทุนต่างชาติ มีเม็ดเงิน LTF เป็นปีสุดท้ายของมาตรการ
ปกติสิ้นปีจะมีเงินใหม่เข้าซื้อราว 2 หมื่นล้าน และเงินเก่าหมดอายุราว 7 หมื่นล้าน
ถ้าไม่มีมาตรการ เงินจะหายไป 1 แสนล้านบาทในตลาดหุ้น
พอเดือน ม.ค. มีคุยกันตอนเลือกตั้ง ว่าจะต่อมาตรการ LTF
จึงคิดว่าความกังวลนี้ก็อาจหายไป

หุ้นในตลาดก็มีคนมองเรื่องความถูกแพงมากกว่าเดิม
มีบางช่วงที่ตลาดให้ราคาเรื่องการเติบโต
แต่ตอนนี้หุ้นตัวไหนลงเยอะก็ยังเด้งกลับไปไม่เยอะ
จึงคิดว่าตลาดช่วงนี้อาจจะให้โอกาสกับนักลงทุน VI ที่ประเมินมูลค่ากิจการได้ดี

การประเมินความกลัวมี 2 แบบ คือ
- Fear of Miss Opportunity(FOMO)
กลัวตกรถ จะมาฟังว่าวิทยากรพูดตัวไหน ของต้องมี
ถ้ารู้สึกแบบนี้จะนำไปสู่โอกาสขาดทุนมากขึ้น
- กลัวการขาดทุน พอเราขาดทุนก็จะ cut loss ในช่วงที่หุ้นตกต่ำสุด
ถ้าจะบริหาร 2 อย่างนี้ก็ต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้
เพิ่งดูหนังเรื่อง The mist เกี่ยวกับการเผชิญสัญชาตญาณของคน
ในเรื่องมีหมอกเกิดขึ้น ก็มีคนหลายแบบที่พยายามหนี หรือรับมือ
สักพักพอเริ่มมีคนตายความกลัวก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
พระเอกเป็นคนเก่งมาก เป็นผู้นำวางแผนให้รอดวิกฤติจนผ่านเรื่องยากๆมาได้หลายอย่าง
จนหนีออกมาได้ก็นึกว่าจะพ้นความลำบากสุดแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่ จึงตัดสินใจฆ่าทุกคนไปหมดเลย
เปรียบเทียบเหมือนเวลาที่หุ้นตกถึงขีดสุดแล้วก็ขายทิ้งหมด

ดร.นิเวศน์
สถานการณ์ตอนนี้มองว่าลงทุนระยะยาวสมเหตุสมผล
ลงทุนในหุ้นได้เทียบกับการลงทุนอื่นก็ยังดีกว่า
หุ้นกู้ผลตอบแทนก็ยังไม่คุ้ม หากดอกเบี้ยขึ้นหุ้นกู้จะลดลงด้วย

หุ้นราคาปรับขึ้นตามพื้นฐานส่วนหนึ่ง อาจจะราว 30-40% แต่ขึ้นตามจิตวิทยา 60%
ในปีหนึ่งพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนเท่าไร แต่ราคาหุ้นแกว่งขึ้นลงตามจิตวิทยา
โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยที่รุนแรงหุ้นก็ตกฮวบ หรือขึ้นแรงได้
ถ้าเราซื้อหุ้นแล้วมีปันผล มั่นใจว่าหุ้นนี้ยังมีความสามารถแข่งขันที่ดี อยู่ได้นาน ไม่ต้องกลัว
เพราะราคาหุ้นแกว่งเกิดขึ้นไม่นาน แล้วก็จะกลับมาตามพื้นฐาน

ปันผลคิดว่าสำคัญ ถ้าได้ 4-5% และเป็นธุรกิจไม่ได้ถูก disrupt
อย่างเช่น TV ก็น่ากังวล ส่วนตัวเป็นคนชอบดู TV
ทุกวันนี้ก็เริ่มตามไม่ทัน ดู TV น้อยลงไปเยอะ
หุ้นที่จะถูก disrupt ต้องตัดทิ้ง ต้องมั่นใจว่า 3-5 ปี ไม่มีใครมาทำลายได้
เป็นผู้นำที่อยู่ได้มีการเติบโต มีกำไรอยู่ได้ มีปันผลให้ดีพอสมควร

ชอบไม่ชอบหุ้นกลุ่มไหน?
คุณชาย
มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจเมื่อไตรมาส 4 ปี 61
ปกตินักลงทุน VI ชอบแบรนด์แข็งแกร่ง มีการซื้อซ้ำ สินค้าอุปโภค บริโภค เป็นที่ชื่นชอบ
ยิ่งถ้ามีเซียนหุ้น VI เข้าไปถือจะสร้างความร้อนแรงได้ดีมาก
ซึ่งตัวอย่างคือหุ้น Kraft Heinz ซึ่งโดย take over จากบริษัท 3G capital เมื่อปี 2015
ผ่านไป 3 ปีมูลค่าหายไป 50-60% อยากให้ลองหาอ่านดู

มีบทความในนิตยสาร ฟอร์จูนเมื่อปลายปี เขียนไว้เรื่อง investor evaluation
เรื่อง life and death ของ value investor ผ่านมา 3 cycle
ตั้งแต่ เบน เกรแฮม,วอรเรน บัฟเฟตต์ จนเข้ามาถึงยุคปัจจุบัน
ซึ่งบัฟเฟตต์สร้างความมั่งคั่งจาก cycle ที่ 2 จากหุ้นที่ชอบ
เช่น P&G,Kraft-Heinz, Gillette, Duracell
กิจการเหล่านี้เกิดจากได้ market share ระดับหนึ่ง
ทุ่มเงินซื้อสื่อทีวีมหาศาลเพื่อครองใจอันดับหนึ่งของผู้บริโภค
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เดี๋ยวนี้คนดู TV น้อยลง คนรับสื่อที่เป็น digital มากขึ้น
เกิดเป็น segmentation/Sub-segmentation
เมื่อก่อนของเราซื้อตามคนส่วนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้เกิดเป็น niche market จำนวนมาก
ทำให้บริษัทใหญ่เสียความสามารถแข่งขัน ผู้ผลิตสินค้าใหม่ เกิดขึ้นได้

ตอบคำถามว่ากลุ่มไหนน่าสนใจ
เราจะเคยมีความเชื่อในอดีต แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว
และสิ่งที่พูด วอร์เรน บัฟเฟตต์ก็พูดเองว่าเสียดายที่ไม่ซื้อ google
และยกย่อง Jeff Bezos ว่าเป็นนักธุรกิจที่เก่งมาก
สามารถสร้างธุรกิจ amazon ที่เป็นค้าปลีก และ cloud computing
ให้ประสบความสำเร็จระดับโลก ซึ่งมี CEO น้อยคนที่ทำได้ในยุคนี้

ธุรกิจสมัยใหม่ ใช้เงินทุนน้อยมาก เช่น Airbnb เกิดปี 2007-2008
เจ้าของบริษัทไม่มีอะไร แต่มีความเชื่อในธุรกิจตัวเอง
ตอนนี้ Airbnb มีจำนวนห้องมากกว่าโรงแรม Marriott ใช้เวลาเพียง 10 ปี
โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างบริษัทของตัวเอง

ลองศึกษาดูว่า บางกลุ่มที่ VI มีความเชื่ออย่างมาก ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ไหม?
ถ้าไปศึกษา annual report ของ เบิร์กไชส์ ซื้อหุ้น oracle เมื่อ Q3/18 ขายทิ้งหมดใน Q4/18
ตอนนี้เบริกไชส์เพิ่งซื้อหุ้น Red Hat เป็นบริษัทซอฟต์แวร์
แม้หุ้นเหล่านี้บัฟเฟตต์อาจไม่ได้ตัดสินใจเอง แต่กำลังให้เห็นว่าการลงทุนเบริกไชส์เปลี่ยนไป
มี Slide ให้ดูว่าหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกับ Kraft-Heinz ตั้งแต่ 2015 ราคาหุ้นลงมา 51%
แต่Nestle ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ราคาขึ้นไป 32%
ดังนั้นก่อนจะบอกว่าอุตสาหกรรมไหนดี เราก็ต้องมีความเข้าใจในธุรกิจนั้นเป็นอย่างดี
เพราะก็มีตัวที่ดีและไม่ดีในกลุ่ม

หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจ มองว่าเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้คงไม่ร้อนแรงมาก
มันเติบโตจากหนี้ที่เพิ่มขึ้น เพราะใส่เงินเข้าไปในระบบ แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพการลงทุนดีขึ้น
ตอนนี้ใส่เงินเข้ามาเต็มที่แล้ว จะโตต่อไปคงยาก
- กลุ่มที่น่าสนใจ เป็นกลุ่มที่มีรายได้แน่นอน เติบโตไปได้เรื่อยๆ แต่มีต้นทุนลดลง
เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาโภคภัณฑ์จะลดลง บริษัทพวกนี้จะได้ประโยชน์ Profit margin จะเพิ่มขึ้น
- ถ้าหากวันดีคืนดี ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นอีก หรือถ้าเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้น
กลุ่มที่น่าสนใจคือสร้างการเติบโตได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก low capital intensive
- กลุ่มท่องเที่ยว : แบ่งกลุ่มประเทศในโลกเป็น 4 กลุ่ม
โดยกลุ่ม 4 คือประเทศรายได้สูง ยุโรป อเมริกา คนจะเดินทางอย่างน้อยเฉลี่ย 1 หมื่นไมล์
(บินข้ามทวีปเอเชีย-ยุโรป ประมาณหมื่นกว่าไมล์)
ต่อไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะมีหลายประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง
จะขยับมาเป็นรายได้สูง คือ จีน หรือในอนาคตอย่างอินเดียต่อไปก็จะขยับขึ้นมา
ซึ่งการท่องเที่ยวคนจะนึกถึงโรงแรม อยากให้ลองศึกษาลองนึกดูให้
ดีก็มีหลายอย่างไม่ได้มีแค่โรงแรม

คุณเชาว์
Theme 1 มอง Chinese tourism เพราะเศรษฐกิจโต
และมีคนยังไม่มากที่มี passport ช่วงแรกนิยมมาเที่ยวคือ ไทย ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น
เราก็จะได้ประโยชน์ จากตรงนี้

Theme 2 มอง AEC ยังดีอยู่ แม้ตอนนี้จะเงียบๆไป
ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มพัฒนา มีรายได้มากขึ้น คุ้นเคยกับสินค้าไทย
หลายบริษัทออกไปขายต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งความเป็นจริงไม่ได้ขายปีสองปีแล้วจะดีขึ้นมา
ต้องใช้เวลา 4-5 ปีขึ้นไป

Theme 3 ความเปลี่ยนแปลง ในโลกจากนี้ไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า
จะเกิดความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ถ้ามองไม่ดีมันก็ทำให้คาดการณ์ยาก
แต่ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง คนที่อยากรวยก็จะรวยยาก
สมัยเกรแฮม ดู PBV ถูกๆ ก็ใช้ได้ ทุกคนคิดเลขเป็นเหมือนกันก็เริ่มไม่ work
สมัยบัฟเฟตต์คนก็เริ่มมาดู Quality/DCA ดูความสามารถการแข่งขัน
ซึ่งมาดูระยะหลัง เบิร์กไชส์ก็ไม่ได้ชนะตลาดเยอะ
พอเป็นยุคที่ 3 คือการดู DCA เริ่มไม่ work ธุรกิจใหม่ๆ
เป็น platform base อย่าง Alibaba, facebook, Instagram
ทำให้การแข่งขันสูงมากในทุกอุตสาหกรรม
สมมติถ้าเดิมขายไอศครีม เป็นวอลล์ ก็ขายได้นำตลาดอยู่อย่างนั้น
สมัยนี้ถ้ามีไอเดีย จะจ้างใครทำก็ได้ แล้วมาโฆษณาในช่องทางที่ไม่แพง
ก็ขายชนะเข้ามาได้ ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็อาจเป็นคนมี platform หรือ ได้ประโยชน์จาก platform

คุณทิวา
1) Theme สังคมผู้สูงอายุ เราก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์
(Aging society >>Aged society) ธุรกิจวันนี้แค่เติบโต หรือต้นทุนต่ำคนอื่นไม่พอ
มีคนเลียนแบบตลอดเวลา ต้องมี business model ที่ทำให้เกิด switching cost ขึ้น
อย่าง โรงพยาบาล มีลักษณะแบบนั้น การจะเปลี่ยนจากหมอคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง
มีต้นทุนที่ไม่อยากเปลี่ยน ทำให้ Price จะโตขึ้นได้ รวมถึงปริมาณคนไข้ก็จะเติบโตขึ้นได้
เรามีจำนวนแพทย์ต่อประชากร หรือจำนวนเตียงเทียบกับที่อื่นในโลกต่ำกว่ากันเป็นเท่าตัว
รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเราที่ผ่านมาก็ต่ำ อาจเป็น theme หนึ่งที่ถือยาวๆ ได้
ถ้า PE ซักสิบกว่าเท่า หมอไทยก็มีความสามารถในการแข่งขันสูง

2) Theme Technology กลุ่มนี้จะมองยาก เช่น ผลจาก 5G mobile operator
อาจไม่ได้ประโยชน์เท่าไร แต่อาจมี segment ที่ได้ประโยชน์
คนขาย hardware อาจจะได้ประโยชน์ หรือคนให้บริการโครงข่ายอาจได้ประโยชน์

3) Theme คนยุค Millennials (คนอายุ 18-35 ปี) เป็นคนที่ใช้จ่ายในยุคนี้มากที่สุด
มีพฤติกรรมไม่เหมือนคนยุคก่อนที่เป็นคนรุ่นก่อน ใช้ 40 เก็บ 60, Gen X ใช้ 70 เก็บ 30 คน
Millennials หา 100 ใช้ 120 งานหลักคือกิน กับเที่ยวต่างประเทศ
และ 10 ปีนี้เป็นช่วงการโอนถ่าย wealth จากรุ่นก่อนหน้า
อย่าง อสังหาฯ คนยุคก่อนยอมซือห่างรถไฟฟ้าหน่อยถูกหน่อย
คน millennial อยากได้เดินติดรถไฟฟ้า หรือตึกสวย โดดเด่น
อย่างที่ญี่ปุ่น millennial ตีกอล์ฟน้อย สูบหรี กินเหล้าน้อย สนามกอล์ฟ บาร์ปิด
พฤติกรรมเปลี่ยนอยู่บ้านดู Netflix สั่งอาหารออนไลน์
ถ้าภายใน 10 ปีข้างหน้าได้โอนถ่าย wealth จะยิ่งมีน้ำหนักกับการใช้จ่ายในโลกธุรกิจเยอะขึ้น

หมอเค
พูดเรื่อง theme กันแล้ว ขอฝากแง่คิดแทน
1) นักลงทุนต้องรู้จักตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้ขนาดไหน
ถ้ารับได้ไม่มาก อาจต้องเลือกพอร์ตที่แข็งแกร่ง ผลตอบแทนมั่นคง
ถ้าอายุน้อยเสี่ยงได้มากขึ้น หุ้นที่ให้ผลตอบแทนดี จะมีความเสี่ยง
หรือมีตำหนิบางอย่าง เวลาพลิกกลับมาเป็นกำไรจะให้ผลตอบแทนดีกว่า
2) หุ้นที่น่าสนใจคือราคาลงมาเยอะ จากการที่ตลาดลงโทษหุ้นมากเกินไปในปีที่แล้ว
ถ้าประเมินกำไรแล้วให้ผลตอบแทนคุ้มค่าไหม
3) หุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันดี เติบโตจากการแย่งตลาด หรือขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น
อย่างในช่วง Subprime ก็มีหุ้นที่ราคาแทบไม่ลงเลย คือ ฟาร์มเฮ้าส์
อยากให้ลองคิดดูว่ามีจุดเด่นอะไร เขามีอำนาจต่อรองวัตถุดิบดีมาก คุมโลจิสติกส์ได้
ราคาแป้งขึ้น 100% แต่กำไรลดลงนิดเดียว คนกังวลเรื่องราคาวัตถุดิบขึ้น
เซเว่นเอาขนมปังมาวางแข่ง ทุกวันนี้เขาก็ยังขายได้อยู่ และยังเติบโตอยู่บ้าง
ประเด็นคือ ถ้าหาหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันได้ก็น่าจะทนทาน ผ่านการเกิดปัญหาได้
4) มีโซน simulation อยู่ตรงข้ามที่ห้องสมุดมารวย น่าสนใจให้จำลองสถานการณ์ในอดีตว่า
ถ้าถือหุ้นตัวนี้ไปแล้วเป็นอย่างไร ทำให้เราได้ลองรับรู้ประสบการณ์

ดร.นิเวศน์
คิดว่าตอนนี้ต้องเล่นหุ้นน่าเบื่อ ไม่หวือหวา
ราคาไม่ค่อยขึ้นไม่ค่อยลงเยอะ จนคนเบื่อขายทิ้ง
Volume ก็ไม่ได้สูงมาก แต่ขึ้นลงช้ามาก หรือไม่ก็เรียกหุ้นเต่า คุณสมบัติ
- มี stability สูง ผลประกอบการ 4-5 ปีไม่ขึ้น แต่ไม่ลง แกว่างขึ้นลง 10-15%
- 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปันผลสูง
- ราคาหุ้นถูก ดู PE ratio ไม่เกิน 10 เท่า หรือเกินไม่มาก
- ราคาหุ้นย้อนหลังก็ไม่ค่อยขึ้นลง
- ความสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรม อันดับ 1-2 ไม่ใช่บริษัทที่แข่งขันไม่ได้
- ธุรกิจไม่ถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี เช่น ขายอาหาร ยังไงก็ต้องกิน ,
software ที่อาจถูก e-commerce ทำลายไม่ดี
- มีโอกาสเติบโต 5-10% ในระยะยาวไม่มีบริษัทไหนเติบโตได้เยอะ
พวกที่โตได้เร็วมีแต่ hitech พวกของกินของใช้ โค้ก,ไฮนส์ หุ้นสมัยเก่าไม่มีโตเร็ว
- ปันผลได้ 4-5% ขึ้นไป
ตอนนี้ต้องเป็นโหมดน่าเบื่อบ้าง โหมดน่าตื่นเต้น พอถึงจุดเศร้าก็ลงเลย
ธุรกิจบางอย่างมันก็กินใช้กับมาเป็น 10 ปีแล้ว มันไม่ได้โตเร็ว หรือการขยายตัว สุดท้ายก็ทำได้ไม่จริง


ปิดท้าย
ขอบพระคุณ อ.ไพบูลย์ อ.นิเวศน์ อ.เสน่ห์ ทีมงาน Moneytalk ในการจัดงานขึ้น
และแขกรับเชิญทุกท่านที่สละเวลามาแบ่งปันประสบการณ์และให้ไอเดียดีๆในการลงทุน
หากมีความผิดพลาดอย่างไรในการจดขออภัยไว้ที่นี้ด้วยครับ
สามารถติดตาม VDO สัมมนาได้ทาง Facebook,Youtube และช่อง 19 Spring News

Moneytalk@SET ครั้งถัดไป
วันอาทิตย์ 21 เม.ย.62 / เปิดจองเสาร์ 13 เม.ย.62
หัวข้อ 1 สัมภาษณ์ผู้บริหาร 3 บริษัท
หัวข้อ 2 การเมืองกับหุ้นไทย (หลังเลือกตั้งแล้ว) – ดร.สมชาย ภคภาควิวัฒน์,
คุณวัชระ แก้วสว่าง,ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร,คุณวิน พรหมแพทย์, ดร.Andrew Stotz
Go against and stay alive.
amornkowa
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2576
ผู้ติดตาม: 1

Re: MoneyTalk@SET3/3/62อาชีพการเงิน&VIรุ่นกลาง-ใหญ่มองหุ้นไท

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ น้องบิ๊กรวดเร็วเหมือนเดิมเลย
ภาพประจำตัวสมาชิก
kongkiti
Verified User
โพสต์: 5830
ผู้ติดตาม: 0

Re: MoneyTalk@SET3/3/62อาชีพการเงิน&VIรุ่นกลาง-ใหญ่มองหุ้นไท

โพสต์ที่ 4

โพสต์

:cool: :cool: :cool:
“Its like a finger pointing away to the moon. Don't concentrate on the finger
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee

FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
โพสต์โพสต์