The Postman Always Ring Twice/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

The Postman Always Ring Twice/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ปรากฏการณ์ที่หุ้น “นางฟ้า” ขนาดเล็ก-กลาง ที่เคยร้อนแรงราคาพุ่งขึ้นเป็นหลาย ๆ เท่าตัวในเวลาไม่นานแต่แล้วก็ตกลงมาอย่างหนักเกินกว่า 50% หรือบางตัวกลับมาที่ราคาเดิมและกลายเป็น “นางฟ้าตกสวรรค์” จนคนหลายคน “เลิกเล่น” หรือ “สาปส่ง” ไปเลยทำให้หุ้นเหงาไปพักใหญ่ แต่แล้วในช่วงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์มานี้ หุ้นหลายตัวในกลุ่มก็เริ่มกลับมาคึกคักใหม่ ราคาปรับตัวขึ้นอย่างแรงพร้อมกับปริมาณซื้อขายที่คึกคัก ดูเหมือนว่าคนที่เคยเล่นทั้ง “ขาเล็ก” และ “ขาใหญ่” กำลังกลับมา สตอรี่และการเติบโตของบริษัทที่เคยขายได้ในช่วงก่อนหน้านั้นที่ถูกทำลายโดยผลประกอบการที่น่าผิดหวังกำลังถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ประกอบกับผลประกอบการที่น่าจะ “ดีขึ้น” ในไตรมาศล่าสุด น่าจะเป็นแรงกระตุ้นที่อาจจะทำให้หุ้นกลับมาเป็น “นางฟ้า” ใหม่ ทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้ Background ของตลาดหุ้นที่ดีขึ้น ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้น และนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้าตลาดหุ้นไทยหลังการเลือกตั้งที่รอคอยกันมานาน

นั่นทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เคยดูตอนไปเรียนที่อเมริกาใหม่ ๆ เมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้วชื่อ The Postman Always Ring Twice ซึ่งฉายผ่านช่อง HBO หรือ Cinemax ผมก็จำไม่ได้ หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีฉากเซ็ก(แบบซาดิสม์)และความรุนแรงที่ในยุคนั้นดูเหมือนว่าจะต้องดูได้เฉพาะผู้ใหญ่และดูกันตอนดึกผ่านช่องทีวีที่ต้องจ่ายเงินรายเดือน เนื้อเรื่องก็จะเป็นเรื่องชู้สาวระหว่างลูกจ้างหนุ่มที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้ากับภรรยาสาวสวยของเจ้าของร้านอาหารที่เป็นชายแก่ ซึ่งในที่สุดก็ร่วมกันวางแผนฆ่าสามีเพื่อหวังอยู่กินกันและเป็นเจ้าของร้านอาหารเอง รอบแรกของการพยายามฆ่าโดยการทุบด้วยลูกเหล็กห่อผ้านั้นเกิดความผิดพลาดแต่ในครั้งที่สองก็ทำสำเร็จโดยแสร้งว่าเป็นอุบัติเหตุรถยนต์ และแม้ว่าตำรวจจะสงสัยแต่ก็ไม่มีหลักฐานพอ เมื่อทั้งสองอยู่กินกันแล้ว วันหนึ่งก็เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ทำให้ฝ่ายหญิงถึงแก่ความตาย คราวนี้ตำรวจสามารถ “พิสูจน์” ให้ศาลยอมรับว่าฝ่ายชายเป็นคนฆ่าทั้ง ๆ ที่ไม่จริง และเขาถูกตัดสินประหารชีวิต ถ้าคิดแบบคนไทย นี่ก็เหมือนกับว่าเป็นการ “ใช้กรรม” ที่ไปฆ่าสามีของเขา เพราะถึงจะรอดจากคราวก่อน ในที่สุดก็ต้องชดใช้กรรมที่ไม่ได้ก่อในคราวนี้

ในหนังไม่มีบทของบุรุษไปรษณีย์ตามชื่อเรื่อง แต่เป็นเรื่องที่ว่าสิ่งต่าง ๆ นั้น ถ้ามันจะเกิดบางทีก็ “หนีไม่พ้น” สามีที่เป็นเจ้าของร้านนั้นโดนวางแผนฆ่าครั้งแรกก็ไม่ตาย แต่สุดท้ายก็ไม่รอดเพราะมันต้องมี “ครั้งที่สอง” ตัวเอกที่ฆ่าคนแล้วรอด สุดท้ายก็ต้องถูกประหารในครั้งที่สองแม้ว่าจะไม่ผิดในคดีนี้ นี่เป็นที่มาของชื่อหนังที่มีความหมายว่าบุรุษไปรษณีย์เวลามาส่งเมล์ลงทะเบียนนั้น เขาจะต้องกดออดหรือสั่นกระดิ่งอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่สองเพื่อให้แน่ใจว่ายังไงเจ้าของบ้านก็จะต้องได้ยินและออกมารับเมล์เสมอ นี่ก็คล้ายกับการเปรียบเปรยว่า บุรุษไปรษณีย์ก็เหมือนพระเจ้าหรือโชคชะตาที่จะมาตัดสินกรรมของคนเสมอ

ผมเองคงประทับใจกับเนื้อเรื่องและโดยเฉพาะชื่อหนังเรื่องนี้พอสมควร ประสบการณ์ในชีวิตก็มักจะพบกับสิ่งที่จะต้องเกิดซ้ำสองหรืออาจจะมากกว่านั้นโดยเฉพาะในเรื่องของหุ้นและการลงทุน เหตุผลน่าจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาของคนที่มักจะจำในสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเร็ว ๆ นี้ สิ่งที่ทำแล้วสำเร็จก็จะถูกโปรแกรมเข้าไปในสมองและก็ทำให้อยากทำอีก สิ่งที่ทำแล้วล้มเหลวแต่ก่อนหน้านั้นสำเร็จ เขาก็อยากจะแก้ตัวใหม่เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดพลาดเนื่องจากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อม ดังนั้น เหตุการณ์หลาย ๆ อย่างจึงมักจะเกิดซ้ำทั้ง ๆ ที่คนไม่ควรทำ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือการเล่นหวยหรือล็อตเตอรี่ซึ่งถ้ามองแบบวิทยาศาสตร์สถิติแล้วเราไม่ควรจะเล่นเลยในระยะยาวเพราะมีแต่จะขาดทุน แต่คนก็ยังเล่นกันแทบจะทุกงวดและผลการเล่นในระยะยาวแล้วก็แทบไม่มีคนได้กำไรเลย

ในเรื่องของหุ้นนั้น หุ้นที่เคยคึกคักราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปมากนั้น เมื่อคนเลิกเล่นและกลายเป็นหุ้นเหงาแล้ว วันหนึ่งก็จะกลับมาคึกคักใหม่ราวกับว่าคนที่เคยเล่นจำได้ว่าหุ้นตัวนั้นเคยทำกำไรให้มากและมีปริมาณซื้อขายมากพอที่จะเล่นได้โดยเฉพาะถ้าหุ้นเริ่มมีผลประกอบการดีและเริ่มมีสตอรี่ใหม่ ส่วนหุ้นที่ไม่เคยคึกคักเลยหรือเคยมานานมากจนนักลงทุนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก หุ้นแบบนี้ถึงจะดีขึ้นคนก็จะไม่สนใจ ราคาหุ้นก็จะขึ้นไปไม่แรงหรือเร็วและปริมาณการซื้อขายก็จะไม่สูง

คนยังจำเรื่องของราคาหุ้นได้โดยเฉพาะราคาที่เกิดขึ้นไม่นานนัก ดังนั้น เวลาหุ้นที่เคยคึกคักตกลงมาหนักมาก เกิน 30% หรือ 50% ของราคาสูงสุด พวกเขาก็จะคิดว่าหุ้น “ถูกมาก” และถ้าผลประกอบการเริ่มจะฟื้นตัวดีขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้ขึ้นสูงพอที่จะรองรับมูลค่าของกิจการ คนที่เคยเล่นหุ้นตัวนั้นหรือหุ้นทำนองนั้นก็จะเข้ามา “เล่นใหม่” โดยที่ไม่ได้สนใจว่าพื้นฐานของกิจการเป็นอย่างไร มันควรจะมีค่าสมกับราคาที่อาจจะยังสูงลิ่วนั้นไหม นี่ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์หรือปรากกฎการณ์ซ้ำ คนที่เข้าไปเล่นก็อาจจะเผชิญชะตากรรมซ้ำอีกครั้งนั่นคือ คนที่เข้าไปเล่น “นำ” ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่ผู้เล่น “ตาม” ขาดทุนหนักอย่างที่เคยเกิดขึ้นในครั้งแรก เพราะ “The Postman Always Ring Twice” ถ้าเราทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยังไงเราก็ต้องรับ “กรรม” นั้น นี่ไม่ใช่เรื่องทางศีลธรรม แต่มันเป็นวิธีการลงทุนที่ไม่ถูกต้องตามทฤษฎีและไม่ตามพื้นฐานของกิจการที่ควรเป็น

เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยของตลาดหรือดัชนีหุ้นเองก็มีอาการแบบเดียวกัน เมื่อราคาขึ้นไปแรงและตกลงมาแรง นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นก็คิดแบบเดียวกัน เขาจำตัวเลขดัชนีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ ถ้าตอนนี้ดัชนีต่ำกว่าหรือต่ำกว่ามาก เขาก็จะเข้ามาเล่นและนั่นก็ทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นโดยไม่ต้องคำนึงถึงพื้นฐานของหุ้นโดยรวมหรือโดยเฉลี่ยของตลาด แต่การขึ้นของหุ้นเองนั้นก็อาจจะซ้ำรอยเดิมคือคนที่เข้าไปเล่นหรือคนนำซื้อก่อนอาจจะได้กำไรดี แต่คนที่เข้าไปหลังจากหุ้นขึ้นไปสูงแล้วก็อาจจะขาดทุนได้

คนที่ “จับจังหวะ” ว่าจะเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นหรือดัชนีลดลงมานั้น บ่อยครั้งก็มักพลาด คือเข้าไปซื้อหุ้น “เร็วเกินไป” ซื้อแล้วราคาหรือดัชนีหุ้นลดลงต่อทำให้เกิดการขาดทุน ประเด็นก็คือ พวกเขากลัวว่าราคาหุ้นจะไม่ลดลงต่อแล้วทั้ง ๆ ที่ถ้าดูจากพื้นฐานและคำนึงถึงมูลค่าของหุ้นวัดจากค่า PE ผลตอบแทนจากเงินปันผลและค่าอื่น ๆ หุ้นก็ยังแพงมากเกินกว่าจะรับได้แต่เขาก็ไม่สนใจ เขายังจำได้ว่าหุ้นตัวนั้นเคยเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ดังนั้น ค่า PE ในอัตราเกิน 50 เท่าหรือบางทีเป็น 100 เท่าก็น่าจะคุ้มค่าแก่การลงทุน ว่าที่จริงเมื่อเขาเริ่มซื้อ หุ้นก็ขยับตัวขึ้นมาแรงเป็นสัญญาณคอนเฟิร์มว่าหุ้นยังเป็นซุปเปอร์สต็อกอยู่ ราวกับว่า ตอนที่หุ้นตกลงมาแรงหลายสิบเปอร์เซ็นต์นั้น คนเข้าใจผิดเนื่องจากผลประกอบการที่ออกมาน่าผิดหวัง “ชั่วคราว”

ในความคิดของผม หุ้นจะตกลงมาแรงแค่ไหนแต่ถ้าดูแล้วราคาก็ยังแพงเกินไปผมก็จะไม่สนใจเข้าไปซื้อ จริงอยู่ ในระยะสั้น ๆ หุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นแรงได้ง่าย ๆ แค่ว่ามีคนสนใจและจ้องดูราคาหุ้นและซื้อตามเมื่อหุ้นเริ่มขยับและนั่นก็ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราซื้อนำด้วยปริมาณที่มากพอ โอกาสก็เป็นไปได้ว่าเราจะสามารถทำกำไรจากหุ้นตัวนั้นได้ง่าย ๆ แต่นี่ก็ไม่ใช่วิถีของ “VI” เลย ที่มักจะไม่ซื้อถ้าไม่แน่ใจว่าในระยะยาวเรา “ชนะแน่” วิธีที่ผมจะทำก็คือ ผมจะรอราคาหุ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าหุ้นไม่ลงไปถึงจุดที่ถูกจริง ๆ ผมก็อยู่เฉย ๆ ผมรอได้ บางคนอาจจะบอกว่าถ้าอย่างนั้นคุณก็อาจจะไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนั้นเลย ผมก็คิดว่าเป็นไปได้ แต่โอกาสอาจจะมากกว่าเมื่อให้เวลายาวนานพอ เพราะในเรื่องของหุ้นนั้น มันไม่เกิดโอกาสซื้อเพียงครั้งเดียวหรอก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นดีแค่ไหน ก็มักจะมีเวลาที่มันตกลงมาอย่างไม่น่าเชื่อจนคุ้มค่าที่จะซื้อมากเพราะ “The Postman Always Ring Twice” และเมื่อสถานการณ์นั้นเกิดขึ้น เราก็จะต้องเข้าไปซื้อ อาจจะนานหน่อยแต่ก็คุ้มค่า
ภาพประจำตัวสมาชิก
IndyVI
Verified User
โพสต์: 14944
ผู้ติดตาม: 2

Re: The Postman Always Ring Twice/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

.
รายการ รู้ใช้ เข้าใจเงิน
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-11.00 น.

นาที 5.20
-ช่วงแรก พูดคุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร : เรื่อง The Postman Always Ring Twice

https://www.facebook.com/Thinkingradio/ ... =e&sfns=mo
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
โพสต์โพสต์