แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยและอีกหลายประเทศจะย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ราคาหุ้นก็ยังลดลงไม่มากและราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แปลว่าการลงทุนในทุกๆ สินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยนั้น ทำกำไรได้ดีค่อนข้างมากใน 7 เดือนแรกของปีนี้และแม้จะปรับลดลงทั้งในเดือนส.ค. แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจในช่วงปีนี้เท่าที่ผ่านมา
คำอธิบายคือ
1.ธนาคารสหรัฐตอบสนองตลาดที่ต้องการเห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายและแม้นาย Jerome Powell จะไม่ได้ส่งสัญญาณจะลดดอกเบี้ยลงอีก 2-3 ครั้งตามที่ตลาดคาดหวัง แต่ก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะต้อง “เอาใจ” และ “ตามใจ” ตลาดในที่สุดเพราะกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐคนอื่นแสดงท่าทีชัดเจนว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องรีบลดดอกเบี้ยลงโดยไม่รอช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ดอกนโยบายต่ำอยู่แล้ว ทั้งนี้โดยอ้างงานวิจัยในอดีตตามสุภาษิตของฝรั่งว่า “a penny of prevention is worth a pound of cure” (กันเอาไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน) ไม่ใช่ความคิดว่ามีกระสุนน้อยก็ต้อง “หวง” แล้ว “กอด” กระสุนเอาไว้จนวาระสุดท้าย
2.ธนาคารกลางสหรัฐแสดงท่าทีชัดเจนว่าเป้าเงินเฟ้อที่ 2% นั้นมีความสำคัญมาก และเมื่อเงินเฟ้อปัจจุบันต่ำกว่าเป้า (ประมาณ 1.6%) ก็ควรลดดอกเบี้ยลงไม่เพียงเพื่อให้เงินเฟ้อเข้าเป้า (2%) โดยเร็ว แต่จะต้องกดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องให้เงินเฟ้อสูงกว่าเป้าไปอีกระยะหนึ่งในอนาคต เพื่อให้เกิดความสมดุล (symmetry) กันระหว่างช่วงในอดีตที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าและในอนาคตที่ธนาคารกลางสหรัฐจะยอมให้เงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าเป้า หมายความว่าธนาคารกลางสหรัฐจะไม่รีบเร่งปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแม้ว่าเงินเฟ้อที่สหรัฐจะปรับตัวสูงเกินเป้าที่ 2% ต่อปี นักลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายเมื่อปรับลงไปแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐจะไม่รีบปรับขึ้น แม้ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงเป้าและเกินเป้า
3.การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐนั้นไม่ได้ทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐเป็นหลักเพราะเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ดีอยู่แล้วการบริโภคก็ขยายตัวได้สูงเกิน 4% ในไตรมาส 2 (และการบริโภคมีสัดส่วน 2/3 ของจีดีพี) และจีดีพีที่ขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 2 ก็สูงกว่าศักยภาพระยะยาวที่ธนาคารกลางสหรัฐประเมินว่าอยู่ที่ 1.8% ต่อปี นอกจากนั้นอัตราการว่างงานก็ต่ำมากที่ 3.8% (เป้า “ในใจ” ของธนาคารกลางสหรัฐประมาณ 4-5%) และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรก็ยังสูงอยู่ หมายความว่าการลดดอกเบี้ยนั้นเป็นการลดผลกระทบจากการทำสงครามทางการค้าและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจของประเทศหลักอื่นๆคือสหภาพยุโรป จีนและญี่ปุ่น กล่าวคือเป็นการ “ทำประกันภัย” ไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก
4.ดังนั้นตลาดหุ้นจึงน่าจะมีสมมติฐานว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเป็น“ยาวิเศษ”ที่จะสามารถปัดเป่าภัยอันตรายทั้งหมดจากการทำสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การกระทำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษที่อาจทำให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (hard Brexit) การทะเลาะกันของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตลอดจนความไม่สงบทางการเมืองที่ฮ่องกง (ซึ่งเสี่ยงกับการที่กองทัพจีนจะเข้าแทรกแซงและปฏิกิริยาจากไต้หวันที่สหรัฐกำลังจะขายอาวุธให้ 2,200 ล้านเหรียญ) ประเด็นคือความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นนั้นจะทำให้การลงทุนของโลกจะเข้าสู่สภาวะชะงักงัน แต่ตลาดทุนก็ยังคงจะเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐจะ “เอาอยู่” ได้ทั้งหมด
5.แนวคิดข้างเดียวข้อ 4 ข้างต้นคือเมื่อมีปริมาณเงินมากมายมหาศาลวนเวียนอยู่ในตลาดโลกและสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยไม่ให้ผลตอบแทนเลยก็แปลว่าเงินจำนวนมากจะต้องพยายามไปแสวงหาผลตอบแทนในที่อื่นโดยไม่มีทางเลือกมากนักยกตัวอย่าง พันธบัตร 10 ปีรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ให้ผลตอบแทนติดลบ 0.76% พันธบัตร 30 ปีให้ผลตอบแทนติดลบ 0.16% ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีรัฐบาลเยอรมันติดลบ 0.45% และพันธบัตร 30 ปีให้ผลตอบแทนเป็นบวก 0.10% หากเลือกถือพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่น ก็จะไม่ได้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยเท่ากับ 0% โดยรวมนั้นปัจจุบันมีพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 14 ล้านล้านเหรียญให้ผลตอบแทนติดลบ (พันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกที่มีมูลค่าทั้งหมดประมาณ 50 ล้านล้านเหรียญจากการประเมินของสถาบันประเมินความเสี่ยง S&P) ดังนั้นเงินจึงยังไหลเข้าไปซื้อหุ้นหรือตราสารหนี้เอกชน แม้ว่าผลประกอบการจะไม่ค่อยน่าประทับใจมากนัก กล่าวคือนักลงทุนยอมซื้อสินทรัพย์เสี่ยงและดันราคาให้สูงขึ้น แม้ว่ากำไรต่อหุ้นจะไม่เพิ่มขึ้นก็ตาม
ดังนั้น การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปีนี้และปีหน้านั้น หากมองโลกในแง่ดีจะมั่นใจว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ตามด้วยการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นๆ จะสามารถปัดเป่าภัยอันตรายจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากการทำสงครามทางการค้าและความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในโลกได้เกือบทั้งหมด ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเพียงชั่วคราวใน 1-2 ไตรมาสข้างหน้าและสามารถฟื้นตัวและขยายตัวต่อไปได้อีก อย่างช้าตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีหน้าเป็นต้นไป หากไม่เชื่อแนวคิดและสมมติฐานดังกล่าวข้างต้น ก็จะต้องเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวลงแล้วไม่ฟื้นตัวขึ้นในปี 2020 ครับ
แนวโน้มเศรษฐกิจโลก/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1