เงินซื้อความสุขได้หรือ/กฤษฎา บุญเรือง

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เงินซื้อความสุขได้หรือ/กฤษฎา บุญเรือง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Groucho Marx ศิลปินตลกชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า “แม้ว่าเงินจะซื้อความสุขไม่ได้ แต่มันสามารถทำให้คุณเลือกรูปแบบความทุกข์ของคุณได้”

หลายสังคมในโลกให้ความสำคัญกับการบริโภคอุปโภค ใช้จ่ายซื้อสิ่งของเพื่ออำนวยความสะดวก ปัจจัยที่ต้องใช้ก็คือเงิน แต่ละคนต้องมีชีวิตวนเวียนอยู่กับการหาเงินหลายสิบปี เพราะคิดว่าเงินเป็นเครื่องมือในการสร้างความเสมอภาคในสังคม กว่าจะรู้ตัวว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้และสิ่งที่เอาเงินไปแลกเปลี่ยนมากลับกลายเป็นภาระ ทำให้เกิดทุกข์ ก็อาจสายเกินไป คนร่ำรวยมหาศาลและประสบความสำเร็จระดับสูงของโลกอย่างสตีฟ จอบส์ เคยพูดก่อนตายว่า ความร่ำรวยทางวัตถุนั้น ไม่มีค่ามากอย่างที่คนหลงคิด ถ้าหากเค้าย้อนหลังกลับไปได้จะให้เวลากับครอบครัว “สิ่งที่มีค่าที่สุดซึ่งเงินซื้อไม่ได้คือ เวลากับครอบครัวและคนที่รัก”

เราทุกคนมีพื้นฐานคติชีวิตอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติหลายท่านยังทำไม่ได้ หรือมั่นใจว่าทำได้ แต่ยังไม่พร้อมที่จะทำ ไม่เฉพาะส่วนบุคคลและครอบครัว แต่ในสังคมและการบริหารสาธารณะก็เช่นกัน นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การรู้จักใช้แบบพอเหมาะพอควร “นกน้อยทำรังน้อยแต่พอตัว” ดูเหมือนจะเป็นคำขวัญและทฤษฎีซึ่งมีแค่คนกลุ่มน้อยเลือกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังหลงวนเวียนกับบริโภคนิยมอยู่

ผู้บริหารบ้านเมืองที่กังวลแต่เรื่องตัวเลขเพื่อสร้างสถิติแข่งกัน เป็นความสุขเทียม ก็จะนำประชาชนไปผิดทาง เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา ต้องมานั่งแก้ไขกัน ซึ่งยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง นโยบายในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะเป็นผลดีระยะสั้น แต่อาจนำไปสู่ความเสื่อมระยะยาว คนในวงการโฆษณาเคยกล่าวกันว่านักโฆษณาที่เก่งสามารถจะทำให้คนใช้เงินที่เขาไม่มีอยู่ ซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เพื่อเอาไปอวดคนที่เขาไม่แคร์

ผมอยู่อเมริกามา 33 ปี อเมริกาเป็นตัวอย่างของประเทศวัตถุนิยม ซึ่งใช้ทุนนิยมในการสร้างความสะดวก คิดตลอดเวลาว่า อะไรจะเป็นสิ่งที่ทำให้สบายประหยัดเวลา อาหารดีราคาถูก ภาชนะที่บรรจุมีมาตรฐาน รถยนต์คันใหญ่นั่งสบาย บ้านต้องมีอุณหภูมิสม่ำเสมอ เครื่องอำนวยความสะดวกและบันเทิงเต็มเปี่ยม ฯลฯ ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและบริหารธุรกิจ ล้วนส่งเสริมให้มีการผลิตวัตถุขึ้นมาเพื่อป้อนความอยากของผู้บริโภคซึ่งไม่มีวันสิ้นสุด

ผมสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาทุกปี ตั้งแต่เริ่มมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน วัตถุที่สะสมไว้แต่ละบ้านเริ่มล้นออกมา จากเดิมที่คนมีเสื้อผ้าที่ตัวเองชอบไม่กี่ชุด รองเท้านับคู่ได้ กลับกลายเป็นว่ามีสมบัติล้นออกมาจนแทบไม่มีที่เก็บ ธุรกิจโกดังเก็บของให้เช่าเป็นรายเดือนเกิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แต่ละเมืองจะมีโกดังเก็บของเปิดให้เช่าหลายแห่ง เพราะสิ่งของหรือสมบัติล้นบ้าน หาที่เก็บไม่ได้ บ้านส่วนใหญ่จะมีโรงจอดรถ แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่เก็บของ และต้องเอารถมาจอดข้างนอก (ธุรกิจโกดังที่ชาวบ้านใช้เก็บของส่วนตัว ปัจจุบันมีประมาณ 52,000 แห่ง มีรายได้ 38,000 ล้านเหรียญต่อปี) องค์การกุศลเปิดขึ้นหลายแห่งเพื่อรับบริจาคสิ่งของเหล่านี้ นับตั้งแต่เสื้อผ้าจนถึงเครื่องครัว อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จนกลายเป็นธุรกิจการกุศลขนาดใหญ่ ขายปลีกของที่ใช้แล้วราคาถูก

อาหารในซุปเปอร์มาร์เก็ตของอเมริกาถ้าเทียบกับทั่วโลกแล้ว นับว่าราคาถูกมาก ทั้งนี้เป็นเพราะประสิทธิภาพในการผลิต การจัดการขนส่ง การทำการตลาด และปัจจัยอื่นๆ ผู้บริโภคในอเมริกามีทางเลือกเยอะ ชาวไทยที่มาเที่ยวมักประหลาดใจว่าทำไมสินค้าที่อเมริกาถูกมาก (โดยเฉลี่ยชาวอเมริกันใช้เงินในการซื้ออาหารเพียงแค่ 9% ของรายได้) ผลที่ตามมาคือ ความสุขจากการกินทำให้เกิดทุกข์เรื่องน้ำหนักเพิ่มขึ้น และมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงมาก ชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากอยู่ได้เพราะกินยา เกิดความเคยชินในการพึ่งยาซึ่งเป็นสารเคมีวิทยาศาสตร์

วัฒนธรรมนี้ระบาดไปทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไป ความสะดวกสบายของประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นอเมริกา กลายเป็นค่านิยมสากล ชาวอเมริกันใส่กางเกงยีนส์ขาด ชาวโลกก็ใส่กางเกงยีนส์ขาดด้วย ในเมืองใหญ่ทั่วโลกจึงสังเกตเห็นถึงความคล้ายคลึงกันในเรื่องบุคลิกการแต่งกาย โรงแรมที่พักอาศัย ร้านอาหาร ร้านกาแฟ พาหนะ อาคารบ้านเรือน และถนนหนทางต่างๆ

ชาวอเมริกันแบกหนี้ส่วนตัวประเภทบัตรเครดิต โดยเฉลี่ยคนละประมาณ 9,500 เหรียญ หากนับรวมหนี้บ้าน หนี้รถและหนี้ส่วนตัว รวมประมาณ 14 ล้านล้านเหรียญ เฉลี่ยแล้วคือคนละประมาณ 43,000 เหรียญ ตัวเลขเหล่านี้ซื้อความสะดวกสบาย พร้อมกับปัญหาข้างเคียงที่ตามมา และต้องใช้เงินในการแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ เรื่องสำคัญก็คือ การเป็นหนี้คือการเป็นทุกข์

โลกเรากำลังพัฒนาในหลายด้าน โดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่และปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ซึ่งยิ่งเสริมประสิทธิภาพและเปลี่ยนศักยภาพของหลายสิ่งให้เป็นความจริง เครื่องอุปโภคบริโภคถูกนำมาเสนอท่านตลอดเวลา โดยเฉพาะยุคที่การสื่อสารฉับไวตลอด 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเราอาจลืมตั้งสติแยกแยะว่า อะไรเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น กลับกลายเป็นคล้อยตามคำชวนแสวงหาวัตถุเข้ามาโดยไม่หยุด กองเงินที่ควรจะนำสู่ความสุข กลายเป็นสิ่งที่ซื้อกองทุกข์มาเข้าเรือน

“ละ ลด เลิก” เป็นคติชีวิตส่วนตัวที่ผมใช้ได้ผลมากครับ เมื่ออยากได้อะไร บางครั้งเพียงแค่เราบอกตัวเองว่าเดี๋ยวเดินหนีไปสักพักหนึ่ง หากพรุ่งนี้ยังอยากได้อยู่จึงค่อยซื้อ ส่วนใหญ่แล้วถ้าเรามีเวลาคิด ก็จะเลือกซื้อของที่จำเป็นและมีประโยชน์จริงๆ ไม่จำเป็นต้องตัดขาดจากสิ่งที่เรายังมีความอยากอยู่ แต่แนะนำว่าถ้าอยากได้สองก็ซื้อเพียงหนึ่ง อยากทานอาหารอะไรก็ทานได้ ไม่จำเป็นต้องเลิกทันทีแต่ให้ลดปริมาณลง

ระบบการใช้เงินซื้อสินค้าปัจจุบันสะดวกมาก ซึ่งอาจทำให้เราตัดสินใจเร็วและเผลอใช้จ่ายเกินรายได้ไป ทำให้เกิดทุกข์ หักห้ามใจและรู้จักปฏิเสธอะไรบ้าง ท่านอาจจะประหลาดใจว่าการ say no สามารถจะนำความสุขแท้มาถึงเราได้เช่นกัน

ขอฝากข้อคิดนี้ให้ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ

“คนรวยคือผู้ที่เอารายได้มาลงทุนก่อนและที่เหลือเอาไปใช้จ่าย คนจนเอารายได้ไปใช้จ่ายก่อน แล้วที่เหลือค่อยเอามาลงทุน”
multisontaya
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 19
ผู้ติดตาม: 1

Re: เงินซื้อความสุขได้หรือ/กฤษฎา บุญเรือง

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ยอดเยี่ยมครับ.
durunvo
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 649
ผู้ติดตาม: 0

Re: เงินซื้อความสุขได้หรือ/กฤษฎา บุญเรือง

โพสต์ที่ 3

โพสต์

คุณภาพๆ ผมก็คิดแนวๆเดียวกันเลย หลังจากที่ใช้สติพิจารณาความสมเหตุสมผลของสังคมจริงๆ ผมพบว่าเป็นอย่างที่คุณกล่าวไว้ไม่ผิดเพี้ยน
THEERA.TTT
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 122
ผู้ติดตาม: 0

Re: เงินซื้อความสุขได้หรือ/กฤษฎา บุญเรือง

โพสต์ที่ 4

โพสต์

คนไทยก็คงตามอเมริกาในไม่ช้านี้
โพสต์โพสต์