ตามที่เคยเขียนไปเกี่ยวกับการจัดการการเงินยามสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยแนะนำข้อปฏิบัติ 7 ข้อ คือ ประหยัด ลดต้นทุน หารายได้เพิ่ม เพิ่มสภาพคล่องด้วยการขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น นำเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้หมุนเวียนชั่วคราว ขอผ่อนผันการชำระหนี้ หรือขอกู้เงินระยะสั้น และใช้เงินชดเชยจากประกันภัยหรือประกันสังคม ไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม
มาถึงตอนนี้คนถามว่า แล้วนักลงทุนจะทำอย่างไร
จากข้อมูลของบลูมเปิร์ก ที่รวบรวมและคำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2563 สินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนปรับตัวลดลงไปมากที่สุดคือ น้ำมันค่ะ โดยลดลงไปถึง 62.99% และเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงที่สุด คือ มีค่าความผันผวนถึง 91.9% รองลงไปคือสินค้าโภคภัณฑ์ ปรับตัวลดลงไป 31.99% มีค่าความผันผวน 29.3% ตามมาด้วยหุ้นไทย โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงไป 30.88% มีค่าความผันผวน 38.6%
ถัดไปเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โลก ปรับตัวลดลง 28.88% มีค่าความผันผวน 46.71% หุ้นตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลดลง 23.4% ค่าความผันผวน 31.11% หุ้นญี่ปุ่น ปรับตัวลดง 21.1% มีค่าความผันผวน 30.42% หุ้นสหรัฐอเมริกา วัดโดยดัชนีดาวโจนส์ ปรับตัวลดลง 20.98% ค่าความผันผวนสูงมากกว่าหุ้นไทยเสียอีก คือ 50.99% หุ้นโลกลดลง 20.17% มีค่าความผันผวน 39.84% ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลง 0.76% มีค่าความผันผวน 5.95% และทองคำเป็นพระเอกอยู่สินทรัพย์เดียวคือ มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.52% และมีค่าความผันผวนน้อยเป็นอันดับสองคือ 19.68% ค่ะ
ราคาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนตกลงมามากๆขนาดนี้ นักลงทุนต้องทำใจก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นก็ตั้งสติ รวบรวมข้อมูลการลงทุน ณ ปัจจุบันทั้งหมด ซึ่งแนะนำว่าเอาราคาตลาดล่าสุดมาใส่ทีหลังนะคะ ถ้าใส่ไปทำไป อาจจะสติแตกไปก่อนได้ ดิฉันจึงแนะนำให้ทำใจก่อนรวบรวม และอย่าเพิ่งตกใจว่าเงินลงทุนหดหายไปนะคะ เพราะเป็นเพียงมูลค่าที่คำนวณ ณ จุดนี้ว่าหากขายหมด ณ วันนี้ จะได้เงินเท่าไร แต่เงินจะหดหายไปจริงๆเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับราคาที่เราได้เมื่อขายออกไปจริงๆค่ะ
เมื่อรวบรวมข้อมูลการลงทุนทั้งหมด แล้วให้จัดกลุ่มค่ะ อย่างน้อยสอง หรือสามกลุ่ม คือ กลุ่มลงทุนระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อทบทวนจำนวนเงินลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท หามูลค่าปัจจุบัน และนำมาพิจารณาจัดพอร์ตใหม่ให้เหมาะสม
ก่อนที่เราจะจัดกลุ่ม เราอาจจะรู้สึกตกใจว่าพอร์ตการลงทุนหดหายไปจำนวนมาก แต่เมื่อเราจัดกลุ่มแล้ว อาจจะพบว่า ส่วนที่หดหายไปมาก คือส่วนที่ลงทุนไว้สำหรับระยะยาว ซึ่งพอแยกออกมาแล้ว ก็จะรู้สึกดีขึ้น เนื่องจากว่าเรายังไม่ต้องรีบใช้เงินลงทุนส่วนนี้
ขั้นตอนต่อไปคือ การจัดพอร์ตใหม่ โดยดูแนวโน้มการลงทุน และราคาสินทรัพย์ทุกอย่างใหม่ หากท่านไม่ใช่ผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์สูง หรือมีเงินลงทุนไม่จำกัด ท่านอาจจะรอให้ฝุ่นหายตลบก่อน ค่อยจัดใหม่นะคะ ตอนนี้ก็เล็งๆไว้ก่อน ตลาดทุนยังมีโอกาสผันผวนอีกพักหนึ่งค่ะ
สินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ ควรจะต้องถูกนำมาทบทวนดูแต่ละสินทรัพย์ว่า มูลค่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นคือเท่าใด และราคาตลาด ณ ปัจจุบันเป็นเท่าใด หากราคาตลาดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เราก็เอาใส่ใน “รายการซื้อ” (Buy List) หรือ “รายการถือลงทุนต่อ” (Hold) เอาไว้ หากราคาตลาดสูงกว่าที่ควรจะเป็น เราก็เอาใส่ใน “รายการขาย” (Sell List) ไว้
จากนั้นก็มองดูสินทรัพย์อื่นๆที่น่าสนใจและเราอาจจะยังไม่เคยลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ กองทุนกองคำ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ หรือเคยอยากลงทุนแล้ว ไม่สามารถลงทุนได้ และเปรียบเทียบมูลค่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น กับราคาตลาด ณ ปัจจุบัน หากราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน เราก็ควรจะใส่เอาไว้ใน “รายการซื้อ” ด้วยค่ะ
“รายการซื้อ”ทั้งหมด รวมถึง “รายการถือลงทุนต่อ” เราจะเรียกว่าสินทรัพย์ที่เราจะลงทุน หรือ Investment Universe ของเรา ซึ่งเราจะนำสินทรัพย์ในนี้มาเลือกจัดพอร์ตค่ะ โดยพอร์ตสำหรับการลงทุนระยะสั้น เพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ โดยมีระยะเวลาการลงทุนไม่เกิน 2 ปี ระยะปานกลาง 2-4 ปี และ ระยะยาว 5-7 ปีขึ้นไป
พอร์ตที่ควรจะมีสำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 2 ปี) ต้องเป็นการลงทุนที่มีสภาพคล่องพอสมควร และมีความเสี่ยงต่ำ เพราะหากพลาดเป้าหมายไป เราจะเดือดร้อน พอร์ตการลงทุนระยะสั้นควรจะมีโครงสร้างดังนี้คือ เงินฝากระยะสั้น เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำอายุไม่เกินระยะเวลาการลงทุน กรณีกำหนดระยะเวลาลงทุนไว้ 1 ปี ตราสารทุกตัวในพอร์ต ควรจะมีอายุไม่เกิน 1 ปีค่ะ กรณีที่ตราสารมีอายุสั้นกว่าระยะเวลาลงทุน เราก็ลงทุนซื้อตราสารอื่นต่อเมื่อครบกำหนด แน่นอนว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ย่อมต่ำไปด้วย ณ ปัจจุบัน คาดว่าอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 0.25-0.50% ต่อปีค่ะ
พอร์ตที่ควรจะมีสำหรับการลงทุนระยะปานกลาง (2 - 4 ปี) โดยเป้าหมายการลงทุนมีความสำคัญปานกลาง ควรมีสภาพคล่องปานกลาง ความเสี่ยงปานกลาง และคาดหวังผลตอบแทนปานกลาง ตราสารหรือหลักทรัพย์ที่ควรมีในพอร์ต คือ เงินฝากประจำระยะปานกลาง แต่ไม่เกินระยะเวลาการลงทุน พันธบัตรและตราสารหนี้คุณภาพดีอายุปานกลาง หากอายุเกินระยะเวลาลงทุน ต้องดูว่ามีสภาพคล่องพอที่จะขายได้เมื่อครบระยะเวลาลงทุนของพอร์ตด้วย พอร์ตนี้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นทุนได้ 10 - 20% สามารถลงทุนได้ทั้งหุ้นในประเทศและต่างประเทศ อาจจะมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง คือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรับผลตอบแทนประเภทเงินปันผลจากค่าเช่า และอาจจะมีกองทุนรวมทองคำอยู่เล็กน้อยสัก 3-5% พอร์ตนี้คาดหวังผลตอบแทน ประมาณ 2.5-3.0% ต่อปีค่ะ
พอร์ตที่ควรจะมีสำหรับการลงทุนระยะยาว (5 - 20 ปี) โดยเป้าหมายการลงทุนมีความสำคัญ แต่ระยะเวลาการลงทุนยาว จึงรับความเสี่ยงได้เพิ่ม โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีสภาพคล่องมากนัก แต่ ณ ปัจจุบัน ควรจะมีสภาพคล่องมากกว่าปกติ หรือสักประมาณ 15-20% ของพอร์ต เพื่อจะได้สามารถเลือกลงทุนเพิ่มในหลักทรัพย์หรือตราสารที่ มีราคาตลาด ตกลงไปมากกว่าราคาพื้นฐาน หรือภาษาอังกฤษจะเรียกว่า bottom fishing ตราสารหรือหลักทรัพย์ที่ควรมีในพอร์ต คือ พันธบัตรและตราสารหนี้อายุปานกลาง พอร์ตนี้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นทุนได้ 25-50% สามารถลงทุนได้ทั้งหุ้นในประเทศและต่างประเทศ อาจจะมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ คือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรับผลตอบแทนประเภทเงินปันผลจากค่าเช่า และอาจจะมีกองทุนรวมทองคำอยู่สัก 5-7% พอร์ตนี้คาดหวังผลตอบแทน ประมาณ 5 - 7% ต่อปีค่ะ
ส่วนจะลงทุนอะไร อย่างไร ขอให้ปรึกษานักวางแผนการเงิน เพื่อช่วยแนะนำแนวทางและหลักทรัพย์สำหรับจัดพอร์ตการลงทุนค่ะ
วางแผนลงทุนช่วงวิกฤติโควิด/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1