ถึงปลายเดือนพฤษภาคมแล้ว ทั่วโลกยังระส่ำระสายลังเล ผู้บริหารสถาบันการเงินและการลงทุน ยังไม่สามารถวางแผนแบบอิงหลักการเหตุผล และใช้ประสบการณ์ที่สะสมมา การเอาตัวให้รอดและประคับประคองไว้ก่อนนั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไป
หลายประเทศพยายามเปิดเศรษฐกิจแบบฝืนใจ ทั้งที่ยังไม่แน่ใจว่าปลอดภัยหรือยัง เพราะไม่สามารถจะต้านแรงกดดันของกระแสทำมาหากินแก้ความอดอยาก ลำพังเงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากภาครัฐของประเทศต่างๆไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้
มีผู้เสียชีวิตโดยไวรัสโควิด-19 นับถึงวันที่ 28 พฤษภาคม ในสหรัฐอเมริกา 101,617 คน (ประชากรมากกว่าไทยห้าเท่า) และอังกฤษ 37,919 คน (ประชากรใกล้เคียงกับไทย) อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน บราซิล และอีกหลายประเทศโดนศึกครั้งนี้ยับเยินมากเช่นกัน แต่ละประเทศมีการจัดระเบียบใหม่แบบฉุกละหุกตามความจำเป็นเฉพาะหน้า ตัวใครตัวมัน ผู้นำทางการเมืองเริ่มสะเทือน
อุตสาหกรรมใหญ่ต่างๆ หลังจากใช้นโยบายรอดูสถานการณ์ก่อนมาเป็นเวลาหลายเดือน ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่บังคับให้ตัดสินอนาคต ความคล่องตัวทางการเงินลดลงจนถึงขั้นฉุกเฉิน รายได้ไม่เข้า ลูกค้าพันธมิตรยกเลิกการสั่งซื้อ การวางแผนล่วงหน้าชะงัก ผู้บริหารบริษัทถูกปรับเปลี่ยน หลายบริษัทที่มีชื่อเสียงมีประวัติมายาวนานในอเมริกาได้ปิดตัวไปอย่างถาวร ธุรกิจบริการโดยเฉพาะร้านอาหารที่พยายามเปิดแบบจำกัด ตามคำแนะนำหรือคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุขนั้น หลังจากเปิดแล้วหลายแห่งก็ต้องปิดลงอีกครั้ง เพราะไม่สามารถจะเลี้ยงตัวเองได้ ในขณะที่กลุ่มที่ยังเปิดอยู่ต่อไปเพราะมีเงินทุนสำรอง ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายอย่าง รวมทั้งการจัดงบประมาณใหม่ แม้บริษัทที่มีเครือข่ายใหญ่และมีฐานะการเงินมั่นคง เช่น Starbucks ก็ยังขอต่อรองสัญญาการเช่า
ในจีน การเปิดโรงงาน สถานศึกษาและธุรกิจทั่วไปซึ่งเน้นความละเอียดรอบคอบป้องกันการติดเชื้อ เริ่มเห็นผล และเรียกความมั่นใจกลับมาคืนพอสมควร การตรวจหาเชื้ออีกครั้งกับประชากรอีกกว่าหกล้านคนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อให้แน่ใจว่าควบคุมการระบาดได้แน่นอนเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง แต่ยากที่ประเทศอื่นจะสามารถทำอย่างจีนได้ เนื่องจากปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆไม่อำนวย เศรษฐกิจทั่วไปของจีนก็ยังไม่เป็นที่มั่นใจนัก ผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจยังวิตก ความกดดันซ้ำเติมจากสงครามการค้ากับอเมริกามีทีท่าจะบานปลายไปอีก
สิงคโปร์กำลังต่อสู้กับการระบาดซึ่งน่าตกใจ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 23 คนและการติดเชื้อถึง 33,249 คน ทั้งที่ระยะแรกดูเหมือนสิงคโปร์จะควบคุมการระบาดได้ดี เนื่องจากเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจและการแพทย์พยาบาลที่มีมาตรฐานสูง ฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินการลงทุนที่สำคัญมากระดับต้นของโลก และเป็นคู่แข่งกับสิงคโปร์ ทำผลงานควบคุมได้ดีมาก โดยมีผู้ติดเชื้อเพียง 1,067 คนและเสียชีวิต 4 คน
การแข่งขันระหว่างฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่จะเป็นผู้นำทางการเงินและการลงทุนเด่นชัดมาก เมื่อฮ่องกงมีปัญหาการเมืองเริ่มจากการประท้วงที่กระจายวงกว้างออกไป จากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว จนถึงระดับจลาจลช่วงเดือนมิถุนายน กระแสการย้ายเงินทุนจากฮ่องกงมาสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็นระยะ แต่ปัญหาการระบาดในสิงคโปร์ที่น่าเป็นห่วงเมื่อเปรียบเทียบกับฮ่องกง ทำให้นักลงทุนเริ่มลังเล และเมื่อดูเหมือนว่าฮ่องกงจะรักษาแชมป์เอเชียไว้ได้ สัปดาห์นี้ปัญหาการเมืองของฮ่องกง ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลจีนเตรียมเปลี่ยนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ สร้างความกังวลให้ชาวฮ่องกงเรื่องลดความเป็นอิสระ เป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนต้องตัดสินใจหนักอีกครั้ง การลงทุนจากประเทศตะวันตกที่ต้องเลือกระหว่างสองเมืองนี้ ก็ต้องคิดทบทวนอีกรอบ
สถานการณ์ที่สั่นคลอนข้างต้นทำให้นักลงทุนมองหาความมั่นใจที่อื่น ประเทศไทยอาจได้รับรางวัลจากผลงานยอดเยี่ยมของการควบคุมโรคระบาดครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กล่าวขานกันในวงการแพทย์และพยาบาลทั่วโลก การติดเชื้อ 3,065 คนและเสียชีวิต 57 คนถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก เศรษฐกิจของไทยทุกระดับที่กำลังรับผลกระทบอย่างหนักในปัจจุบันคาดว่าจะมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาอีก
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับความมั่นใจเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะควบคุมสถานการณ์เรื่องนี้ได้ดีมาก การย้ายฐานการผลิตเข้าไปที่เวียดนามเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากค่าแรงงานในเวียดนามตำ่ หลายบริษัทจะเลือกเวียดนามแทนไทยเพราะเรื่องต้นทุน แม้กระทั่งบริษัทในไทยเอง ก็อาจจะมีการขยายกิจการหรือโยกย้ายไปลงทุนที่นั่น
ประเทศที่มีความพร้อมด้านสุขอนามัยจากการพิสูจน์ว่าสามารถควบคุมความปลอดภัยของประชาชนได้อย่างประเทศไทย ควรใช้โอกาสนี้ผันแปรจากปริมาณมาเน้นที่คุณภาพ ไทยไม่จำเป็นต้องแข่งขันเรื่องแรงงาน แต่ควรให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เหมาะสมกับบุคลิกของประเทศ “คุณภาพต้องเป็นสิ่งนำ” ธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งสร้างความประทับใจในการบริการและการบริโภคต้องคำนึงถึงความสมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียงคือความยั่งยืน ความสุขทางเศรษฐกิจของประชาชนต้องควบคู่กับความสมบูรณ์ของธรรมชาติเสมอ
นักธุรกิจเจ้าของกิจการและผู้ลงทุนทุกระดับควรถือโอกาสของความปกติใหม่ หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ เป็นหลักสำคัญของการตัดสินใจ ผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลได้เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว และจะก้าวกระโดดไปเร็วมาก การลงทุนที่ใช้หลักการตัดสินใจแบบเดิมเป็นสิ่งควรหลีกเลี่ยง หุ้นของหลายบริษัทอาจดูเหมือนราคาถูกมากอย่างไม่น่าเชื่ออาจทำให้ท่านถลำตัวซื้อไว้เพราะคิดว่าอย่างไรก็ไม่ขาดทุน แต่หากรูปแบบของธุรกิจขาดการปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคผลตอบแทนการลงทุนจะติดลบค่อนข้างแน่นอน
การหยุดนิ่งเพื่อดูให้รอบคอบ ไม่ได้หมายความว่าเราจะถอยหลังเสมอไป Warren Buffett แห่ง Berkshire Hathaway ซึ่งถือว่าเป็นนักลงทุนระดับปรมาจารย์ ระยะนี้ตัดสินใจไม่ซื้อหุ้นเลยถึงแม้ราคาถูกมาก และขณะเดียวกันกลับเทขายหุ้นของสายการบินทั้งหมดที่มีอยู่ สัญญาณของผู้มีวิสัยทัศน์ระยะยาวและวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งอย่างท่านนี้ ได้เป็นตัวอย่างของการลงทุนว่า ต่อไปต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ หากยังไม่แน่ใจต้องมีวินัยอดทนไว้ก่อน
ความลำบากของชาวไทยทุกท่านในปัจจุบันนี้ โดยความจำเป็นหรือสมัครใจแสดงความสามัคคีเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติได้ทำให้ไทยได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า สามารถฝ่าวิกฤตได้ การลงทุนอดทนอดกลั้นของชาวไทยทั้งประเทศครั้งนี้ จะส่งผลตอบแทนอย่างมหาศาล คลื่นการลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามาไทยแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าเราเตรียมฐานวิถีชีวิตใหม่ในการรับรางวัลนั้นพร้อมหรือยัง เน้นที่คุณภาพของชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง ระบบนิเวศยั่งยืนนะครับ
การลงทุนในยุคนิวนอร์มอล/กฤษฎา บุญเรือง
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1