วันที่ 11 มิถุนายน 2563 ดัชนีดาวโจนส์ตก 6.9% รัฐบาลอเมริกันประมาณว่าจำนวนผู้ว่างงานปลายปี 2020 จะอยู่ที่ 9% แต่ในสัปดาห์ล่าสุด มีผู้แจ้งตกงาน 1.5 ล้านคน ทำให้ยอดรวมคนว่างงานในอเมริกาปัจจุบัน 30 ล้านคน หรือ 20% ของจำนวนคนทำงาน เศรษฐกิจปัจจุบันจึงน่าเป็นห่วงมาก
นี่คือผลกระทบโดยตรงจากโรคระบาดโควิด ซึ่งยอดการติดเชื้อพุ่งขึ้นอีก(รอบสองที่อาจมาเร็วกว่าเดือนกันยายนที่คาด) รวมปัจจุบันผู้ติดเชื้อประมาณ 2 ล้านคน ติดเชื้อเพิ่มกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน และผู้เสียชีวิตเกินแสนคน
การลงทุนทั่วโลกรับผลกระทบโดยตรงจากสหรัฐอเมริกาเพราะขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและเงินสกุลดอลล่าร์ได้รับความเชื่อถือที่สุด สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐระยะนี้ตึงเครียดมาก และการที่รัฐบาลผลักดันให้เปิดเศรษฐกิจโดยด่วน สวนกระแสกับโรคระบาด ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าตัดสินใจ ธุรกิจที่พยายามเปิดขึ้นมาก็พบปัญหาสารพัด ยอดขาย ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย ผู้บริโภคในอเมริกาที่ออกมาจับจ่ายสินค้าช่วงนี้ก็เป็นผู้ที่เบื่อการอยู่บ้านหรือไปที่ทำงานเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ แต่ยังลังเลในการบริโภคอยู่
ปัญหาโควิดในทั่วโลกยังอยู่ในขั้นอันตราย เช่น บราซิล อินเดีย และอัฟริกา มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก และรัฐบาลยังขาดทรัพยากรและมาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ เรื่องนี้สร้างความกดดันถึงกับมีข่าวลือเรื่องรัฐประหารในบราซิล
การเดินทางระหว่างประเทศน่าจะเริ่มฟื้นตัวบ้าง แต่คงช้ามาก เพราะผู้บริโภคเดินทางเฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น บริษัทที่เกี่ยวข้อง เช่นสายการบินต่างๆ บริษัทผลิตเครื่องบินอย่างโบอิ้ง หรือผลิตเครื่องยนต์ เช่น จีอี ต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากภาครัฐประคับประคองตัวไปก่อน สายการบินเดลต้า หาเงินโดยขายพันธบัตร 3 พันล้านเหรียญ ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 7% ต่อปี ส่วนธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่างๆก็ไม่รู้ว่าผู้บริโภคจะคิดอย่างไร
ข่าวของหุ้นในอเมริกาที่ตกอย่างรุนแรงวันนี้สร้างความวิตกให้กับผู้ลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยพอสมควร แต่หากมองภาพรวมแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นอเมริกาปัจจุบัน ต่ำกว่าจุดสูงสุดก่อนโรคระบาดเดือนกุมภาพันธ์เพียง 10% (เดือนมีนาคมตกแรงถึง 30%)
สหรัฐยังเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่สำคัญมาก ทั้งที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบันสั่นคลอน เหตุผลอาจเป็นเพราะยังไม่มีทางเลือกอื่นที่จะมาแทนอเมริกาได้ แต่เป็นเพียงการรักษาความเป็นผู้นำชั่วคราว เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็ว
การคาดคะเนอนาคตของโลกขึ้นอยู่กับปัจจัยสี่อย่างคือ ลักษณะของประชากร ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิอากาศ และเทคโนโลยี
อเมริกามีความพร้อมเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิอากาศและเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญสิ่งท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือปัญหาประชากร โดยเฉพาะเรื่องมีความเหลื่อมล้ำสูง ขาดความเสมอภาค และมีการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะคนผิวดำ
ชนวนที่ทำให้เกิดการประท้วงที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันกว่า 700 เมืองและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย เริ่มจากเหตุการณ์ของการใช้ความรุนแรงเกินเหตุในการฆ่านาย George Floyd และมีการชุมนุมใหญ่ถึงขั้นมีการจลาจล ปล้นและเผาอาคารบ้านเรือนทำให้เกิดภาพอเมริกาลุกเป็นไฟ และยังขยายวงกว้างไปหลายเมืองทั่วโลก
การประท้วงครั้งนี้แตกต่างกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเพราะประชาชนอเมริกันกว่า 74%สนับสนุน และกว่า 76%เห็นด้วยว่าประเทศมีปัญหาเรื่องการเหยียดผิวและอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง การประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบตามสิทธิคุ้มครองในระบอบประชาธิปไตย (ผู้ที่สวมรอยหรือสร้างความรุนแรงได้รับการประณามและมีโทษทางกฏหมาย ทั้งฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่)
ชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟริกัน(ผิวดำ)มีประมาณ 13% ของประชากรทั้งประเทศแต่เป็นเจ้าของธุรกิจเพียง 4% ทรัพย์สินของชาวอเมริกันผิวดำ 11 ครอบครัวเท่ากับของคนผิวขาวหนึ่งครอบครัว โรคระบาดครั้งนี้ผู้เสียชีวิตที่เป็นคนผิวดำมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ทั้งที่มีประชากรสัดส่วนน้อยกว่ามาก และคนผิวดำมีอัตราส่วนตกงานมากกว่าถึงสามเท่า
การประท้วงในอเมริกาเป็นแรงบันดาลใจให้หลายประเทศถกปัญหาของความเหลื่อมล้ำและการเอาเปรียบในสังคมที่หมักหมมมานาน การใช้อำนาจรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกับชนกลุ่มน้อยหรือผู้ด้อยโอกาส ในออสเตรเลียมีการหยิบยกเรื่องชาวพื้นเมืองกว่า 400 คนที่ตายเพราะน้ำมือของตำรวจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีค.ศ.1991แต่ไม่มีใครถูกลงโทษเลย ประชากรผิวดำในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีถูกตำรวจรังแก และการเอารัดเอาเปรียบในสังคมซึ่งกีดกั้นโอกาสของชนกลุ่มน้อยแทบทุกรูปแบบ มีการรื้อฟื้นเรื่องของการทำงานระบบทาสในบราซิลซึ่งยังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ น่าจับตาว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปในรูปใด ประเด็นใดจะถูกปฏิรูปก่อนที่จะลามปามกลายเป็นการปฏิวัติ
หลายบริษัทใหญ่ในอเมริกาที่มีเครือข่ายนานาชาติ ได้ออกมาแสดงบทบาทอย่างชัดเจนในการรับฟังปัญหาและความทุกข์ร้อนของพนักงานและผู้บริโภค และเริ่มมีบรรยากาศสอดคล้องกันทั่วประเทศเรื่องการรับฟังความเห็นและหาทางช่วยกันปรับปรุงแนวทางใหม่ พลังของผู้บริโภคเริ่มมีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะความสะดวกในการแบ่งปันความเห็นและข้อมูลทางสื่อโซเชียล เริ่มจากประเด็นเหยียดผิว ความไม่เสมอภาค ความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่างๆเหล่านี้ ประกอบกับการหยุดชะงักของเศรษฐกิจและความกังวลเรื่องสุขภาพ ทำให้เราต้องคิดว่าควรจะทำอะไรต่อไป เพื่อให้อนาคตมีความสมบูรณ์สมดุลและยั่งยืน
โลกกำลังก้าวสู่ยุคใหม่อย่างแน่นอนและนี่ไม่ใช่เปลี่ยนเพียงแค่การหยุดพักชั่วคราวแล้วกลับมาเหมือนเดิม แต่ชีวิตวิถีใหม่กำลังจัดสรรระบบต่างๆรวมถึงทัศนคติของเราทุกคนด้วย
การลงทุนที่หวังเงินเป็นผลตอบแทนเริ่มไร้ความหมายและลดความนิยมลง การลงทุนในแนวใหม่ที่คำนึงถึงความยุติธรรมระหว่างมนุษยชน การรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อม และการใช้เทคโนโลยีอย่างรอบคอบ กำลังได้รับพลังและแรงใจสนับสนุน ผู้นำภาครัฐและเอกชนที่เข้าใจสัญญาณการออกมาเรียกร้องของประชาชนครั้งนี้ถูกต้อง จะได้รับการสดุดีและผลตอบแทนที่คุ้มค่า
อนาคตของเราทุกคนฝากไว้กับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แบ่งปันโดยยุติธรรม คิดรอบคอบทั้งกระบวนการผลิตและการบริโภค เสียงของเราทุกคนมีน้ำหนักและมีความหมาย หากเห็นอะไรที่ต้องปรับปรุงและแก้ไข เราต้องเป็นผู้เริ่มโดยไม่ต้องรอผู้อื่น เราต้องมีความกล้าหาญในการแสดงออก โลกใหม่ วิถีชีวิตใหม่ เดินหน้าด้วยความมั่นใจและมีน้ำใจ หนทางสดใสครับ
โลกใหม่ แล้วอเมริกาจะเดินไปทางใด/กฤษฎา บุญเรือง
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1