หน้า 1 จากทั้งหมด 1

Exclusive Talk หัวข้อ "ตลาดเงินและตลาดทุนไทย" EP. 2

โพสต์แล้ว: เสาร์ ส.ค. 01, 2020 10:46 am
โดย RnD-VI
Exclusive Talk
วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 เวลา 16.00-17.00 น.
หัวข้อ "ตลาดเงินและตลาดทุนไทย" EP. 2
แขกรับเชิญพิเศษ-คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
ผู้ดำเนินรายการ-คุณสุวภา เจริญยิ่ง อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย
เป็นการมาติดตามภาคต่อของตลาดเงินและตลาดทุนไทย EP.2 จากประสบการณ์ที่คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ด้วยโดยพร้อมมาบอกเล่าวิธีการบริหารองค์กรแบบปิรามิดหัวกลับ หลักและแนวคิดการบริหารงานที่ดีขององค์กร รวมถึงขั้นตอนการทำให้เป็นองค์กรที่ดึงดูคนเก่งและดีต้องทำอย่างไร พร้อมเคล็ดลับการเอาชนะวิกฤต
ความแตกต่างหลังจากเคยดูแลฝั่งโบรกเกอร์แล้วไปดูฝั่งธนาคารมีความแตกต่างอย่างไร
การได้มาดูธนาคารด้วยทำให้พบว่าเหนื่อยและยาก เพราะธนาคารไทยเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงขาลง และเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องถูกดิสรัปชั่น ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่หลุดจากกับดัก ซึ่งผมเข้าไปทำเพราะเหตุผลทางธุรกิจ แต่ก็ทำให้ผมเทคแคร์ลูกค้าได้ดีขึ้น มีโปรดักส์ให้ลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น ลูกค้าดีขึ้น พนักงานมีสาขาให้ทำมากขึ้น และที่สำคัญพนักงานได้พัฒนาความรู้ความสามารถได้กว้างขวางมากขึ้น
ตอนที่ภัทรมีการควบรวมกิจกับธนาคารเกียรตินาคินราคาหุ้นอยู่ที่ 28 บาท ตอนนี้หุ้นแม้จะมีการตกลงมามากเพราะเกิดโควิด-19 แต่ราคาหุ้นก็อยู่ที่ 50 บาท เท่ากับว่าผู้ถือหุ้นก็ยังได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น โดยระหว่างทางก็ได้รับเงินปันผลเฉลี่ยปีละ 10 % ซึ่งถือว่าเราก็สามารถช่วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ฝ่าย หรือช่วงที่เพิ่งควบรวบกิจการกันเมื่อ 7-8 ปี ที่แล้ว เกียรตินาคินภัทรมีกำไรปีละ 1,500 ล้านบาท แต่วันนี้มีกำไรปีละ 6,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้แม้เกิดโควิดฯ ไตรมาส 1/2563 บริษัทยังไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ไตรมาสที่ 2 ก็จะพยายามตั้งสำรองเงินกองทุนให้มากขึ้น
แนะนำ 5 ขั้นตอนเวลาเจอวิกฤต
“เวลาเจอวิกฤต 5 สิ่งที่ต้องทำคือ 1.ตั้งสติ 2.ศึกษารายละเอียดของวิกฤตว่าคืออะไร และจะนำไปสู่อะไร 3.เก็บข้อมูลและทรัพยากรให้มากที่สุด 4.วิเคราะห์ และ 5.หาทางเลือก ตัดสินใจ และเทคแอ็กชั่น”
1.ตั้งสติต้องอยู่ตลอด อย่าตื่นตระหนก
2.หาข้อมูลและทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ หลังจากเข้าใจวิกฤต
3.พัฒนาทางเลือก โดยที่ดูสุขภาพก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยต้องสร้างแบบจำลอง ต้องสื่อสารกับลูกค้าให้เขารู้ว่าอะไรที่ควรจะปรับได้ล่วงหน้าเพื่อที่เขาจะได้เตรียมตัว เช่น ลดหนี้ เริ่มสะสมเงินสดเพื่อจะฝ่าวิกฤต แม้กระทั่งเวลาที่ต้องบอกว่า คุณไม่รอดก็ต้องบอกเขา ถ้าไม่รอดแล้วจะต้องทำอย่างไร ดูว่าจะเสียหายแค่ไหน ทุกอย่างก็ทำในรายละเอียดลงไป ซึ่งคล้ายตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง โชคดีที่เรามีลูกค้าแค่หลัก 1,000 ราย ไม่นับที่เป็นรายย่อยที่เป็นเช่าซื้อกว่า 200,000 คน สิ่งที่ต้องทำคือ สื่อสารและพยายามช่วยเขาเท่าที่จำเป็น และก็แก้วิกฤต
“เวลาแก้วิกฤตต้องจำกฎไว้อีกข้อ 'Control your destiny or Someone else will' คือคุณต้องกุมทุกอย่างไว้ด้วยตัวเอง อย่าหวังแต่พึ่งคนอื่น”
ไม่ใช่ไปคิดว่า เดี๋ยวธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดการ หรือเดี๋ยวรัฐบาลก็จัดการ เขาก็ช่วย แต่เราต้องยื่นบนขาเราให้ได้ อย่าไปโยนอนาคตของเราให้คนอื่น อันนี้เป็นคำของ Jack Welch เป็นชื่อของหนังสือเขาเลย Control Your Destiny or Someone Else Will เพราะเราต้องดูแลตัวเราเอง ซึ่งผมก็เหมือนกัน
ถือว่า ธปท. ด้วยความหวังดีอยากช่วยเหลือชาวบ้าน เลยสั่งมาว่าให้สถาบันการเงินเลิกคิดดอกเบี้ยลูกค้า 6 เดือน แต่สำหรับผมก็บอกว่าเขาว่า ถ้าทำแบบนั้น เราเจ๊งเลยนะ ไม่ให้คิดดอกเบี้ยเลย 6 เดือน สถาบันการเงินไหนทำก็เจ๊ง อย่างลูกค้าเช่าซื้อที่นี่เป็นแสนล้าน แต่จะเหลือไปช่วยคนอื่นยาก ก็ไม่ทำ แต่ก็เลือกทำอย่างอื่น โดยแค่พักดอกเบี้ยให้ แล้วก็ให้เขาไปจ่ายข้างหลัง ซึ่งก็มีคนด่า แต่เราก็ต้องชี้แจงไป
หรืออย่างกรณีห้ามจ่ายเงินปันผลซึ่งเราก็ไม่จ่ายอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันยังเป็นภาวะที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ เราก็ต้องเผื่อ แม้ไทยจะประสบผลสำเร็จในการคุมโควิดฯ แต่ผลกระทบยังมีอีกมาก เพราะไทยเป็นประเทศที่พึ่งการท่องเที่ยวตั้ง 15 % ของจีดีพี และพึ่งส่งออก 70% ของจีดีพี ของเราจะเก่งขนาดไหนก็ต้องกระทบ
รอบนี้พูดยากว่าวิกฤตจะจบลงตอนไหน
“คาดการณ์ คือต้องคาดการณ์ แต่คาดการณ์แล้วอย่าปักใจเชื่อ อย่าทุ่มเทความเชื่อลงไปในสิ่งที่คาด เพราะคาดอย่างไรก็ผิด เพราะโลกทั้งโลก คือ “VUCA” มาจาก ‘Volatility’ คือ ความผันผวน ‘Uncertainty’ คือ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ไม่แน่ไม่นอน บางอย่างคาดกว่าจะเกิดแต่ก็ไม่เกิด ไปเกิดอีกอย่าง ‘Complexity’ คือ การอธิบายง่ายไม่ได้ เพราะมันซับซ้อน ‘Ambiguity’ คือ ความคลุมเครือไม่ชัดเจน ซึ่งตอนนี้ใครมาขอความชัดเจนจะบอกให้เขาไปข้างหน้าเลย เพราะโลกนี้ไม่มีความชัดเจนแล้ว”
VUCA มาจากการวิจัยของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐเพื่อจะบอกว่าภาวะโลกจากนี้จะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นวิธีการหรือการใช้ยุทธวิธีแบบเดิมใช้ไม่ได้แล้วในโลกยุคปัจจุบัน ถึงตามมาด้วยเลิกวางแผนแบบวิจิตรตายตัวระยะยาว
“สิ่งที่องค์กรต้องเตรียมตัวในยุคนี้คือ ‘Resilience’ คือต้องยอมรับความผันผวนที่คาดไม่ได้ และพร้อมที่จะลุกขึ้นมา ‘Agile’ ที่ต้องพร้อมคล่องตัว”
ดังนั้นองค์กรใหม่ รัฐบาล หรืออย่างกองทัพสหรัฐจะไม่มีแผนการทำงานแบบเดิมๆ แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ การทำให้องค์กรคล่องตัว จะเจออะไรต้องรับได้หมด
Leadership และ Corporate Culture ต้องแข็งมาก?
Leadership ต้องแข็ง ว่าจะต้องเด็ดเดี่ยวเด็ดขาด แต่จะคนละนิยามกับ Agile
“Agile ที่ดีความสำคัญของ leader จะลด นี่คือองค์กรที่ดี และองค์กรที่ดีต้อง Flat ลง เพราะความสำคัญของ leader ต้องถูกลดและกระจายความรับผิดชอบหรือความความสามารถออกไปทั่วองค์กร โดยที่ผู้นำจะมีความสำคัญในบางเวลาเท่านั้น”
ตลอด 30 ปีที่เป็นผู้บริหารสูงสุดมา ผมไม่เคยทำงานหนักเลย ผมทำน้อยมาก มอบให้คนอื่นทำหมด และไม่เคยได้เงินเดือนมากที่สุดด้วย ไม่ติดอันดับ 5 คนแรกด้วย ทำน้อยจะไปเรียกร้องเขาไม่ได้ แล้วก็มอบให้คนที่เขาเชี่ยวชาญทำ
ที่นี่เรียก Investment Banking เป็น ธนกิจเพื่อการลงทุน แต่พอธนาคารใหญ่ เขาตั้งฝ่ายนี้ขึ้นมา เขาตั้งเมอร์ชั่นแบงก์กิ้งแล้วก็เรียกวาณิชธนกิจ ซึ่งเมอร์ชั่นแบงก์กิ้ง นิยามคือการค้า ส่วน Investment Banking ความหมายคือ เวลาให้บริการวาณิชธนกิจคุณต้องไปยืนข้างลูกค้า ข้างผู้ถือหุ้นของลูกค้า แล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วก็แบ่งความดีนั้นมาในรูปของค่าธรรมเนียมในการบริการ แต่วาณิชธนากรเขาจะไปดีลกับลูกค้า ขายหุ้นก็อยากขายถูก ซึ่งจะคนละความหมายกัน แต่ชื่อไม่มีความหมายเท่าพฤติกรรม คนอื่นทำอย่างนั้น แต่ผมทำอีกอย่าง เพราะการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นก็เป็นแค่ซับเซ็ตหนึ่งของ Investment Banking
ปัจจุบันกลุ่มภัทรทำ M&A และการนำเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) มูลค่าอย่างละมากกว่าล้านล้านบาทแล้ว จำนวนบริษัทอาจจะไม่มหาศาล แต่มูลค่าสูง เพราะถ้าเรานำบริษัทเล็กเกินไปเข้า IPO จะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนสถาบันได้ เพราะปกติเวลานักลงทุนสถาบันจะลงทุนบริษัทไหนเขาจะต้องลงทุนในบริษัทนั้นอย่างน้อยปีละ 1 ล้านบาท เพื่อติดตาม เพราะถ้าลงบริษัทขนาดเล็กต้นทุนจะสูงเกินไป
เหมือนกับฝ่ายงานวิจัยที่บริษัทมักจะโดนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่อว่าเพราะวิเคราะห์หุ้นเพียงแค่ 70 บริษัท เนื่องจากต้นทุนการวิจัยของบริษัทปีละ 200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยบริษัทละ 3 ล้านบาท ถ้าบริษัทไหนไม่สามารถสร้างธุรกิจให้ได้ 15 ล้านบาท ก็ทำวิจัยไม่ได้ เพราะจะขาดทุน ทำให้บริษัทที่ต้องทำวิจัยอย่างน้อยควรมีมูลค่าเกือบ 1 หมื่นล้านบาทถึงจะลงทุนได้ เพราะอย่างนั้นไม่มีทางที่จะทำธุรกิจได้ เหตุผลง่ายๆ คือไม่สามารถลดคุณภาพของงานวิจัย ด้วยการจ้างเด็กจบใหม่มาทำวิจัยได้แบบถูกๆ
นอกจากนั้น อาจเป็นเพราะเราเป็นคนที่ไม่รู้จักพอ ทำอะไรก็ต้องพัฒนาคุณภาพ ไม่มีคำว่า complacency ซึ่งแปลว่าความพอเพียง แต่คนละความหมายกับคำว่าของเศรษฐกิจพอเพียง โดย complacency จะทำให้บริษัทเสื่อมถอย เพราะจะทำให้ไม่พัฒนาต่อไป อย่างเวลาที่ลูกน้องใครจะทำดีลทำเงินมาเท่าไร ก็จะถามว่าปรับปรุงตรงไหนได้อีก ที่ผ่านมาทำดีลมาเป็นร้อย ก็ยังไม่มีดีลไหนที่เพอร์เฟ็กต์แม้แต่ดีลเดียว ทุกอันปรับปรุงได้หมด หรือถ้ามองย้อนกลับไปอย่างที่บริษัทได้รับรางวัลเรื่องการวิเคราะห์หลักทรัพย์ 4 จากทั้งหมด 6 รางวัลของนักลงทุนสถาบัน ก็จะถามว่าแล้วอีก 2 รางวัลทำไมไม่ได้ ให้ไปวางแผนแล้วมาอธิบายให้ฟัง
ถ้ามีโอกาสกลับไปแนะนำประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งจะกลับไปทำอะไร เหมือนที่เคยทำให้กับ ปตท.
อยากให้ทำ Safe Heaven in Thailand ทำแคมเปญเพื่อคนรวยอย่างเดียวเลย โดยใช้สิ่งที่คนไทยมีศักยภาพในการคุมโควิด-19 โดยชวนคนที่มีฐานะดีหรือรวยจากต่างประเทศ มาอยู่ที่ประเทศไทยทั้งหมด 4 เดือน คิดคนละ 1 ล้านบาท โดยให้ 14 วันแรกไปอยู่โรงแรม 4 ดาว พอครบ 14 วันค่อยย้ายไปโรงแรมหรือที่พักผ่อนและหรูหรา ที่มีอาหารและการบริการเซอร์วิสเยี่ยมยอด แล้วก็อยู่ไปเลย 3 เดือน เพราะตอนนี้ไทยเป็นที่ที่เซฟที่สุดในโลกแล้ว ถ้าชวนมาได้ 1 แสนคน ก็ช่วยนำรายได้เข้ามา 1 แสนล้านบาท
ขณะที่โรงพยาบาลในเมืองไทยสามารถรองรับคนไข้เคสนี้ 13,000 ราย แต่มีคนไข้ 70 คนสำหรับโควิด-19 ซึ่งตอนแรกเป้าหมายของไทยคือ จะทำอย่างไรไม่ให้จำนวนคนป่วยเกินความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุข
4 ข้อแนะนำ ทำอย่างไรที่จะหาโอกาสท่ามกลางวิกฤตได้
1.เสนอวิธีการลดหนี้สาธารณะ เพราะเวลาเกิดวิกฤตมักเกิดสิ่งที่ไม่ชอบ คือ การขยายรัฐ เพราะรัฐเท่านั้นที่จะสามารถรวบรวมทรัพยากรขนาดใหญ่ขนาดนี้ และรัฐเท่านั้นที่มีอำนาจในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมาแก้วิกฤตของลูกหลาน ทุกแห่งทำหมดในโลก จึงเสนอการปรับลดหนี้สาธารณะที่ขึ้นไป 60% ของจีดีพีด้วย 2 วิธีการคือ
(1).ขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 20 % เป็น 25% เพราะสมัยคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ลดลงมามากไปจาก 30% เหลือ 20% ควรเหลือเพียง 25% เราจะได้ปีละ 2 แสนล้านบาท เชื่อว่ากระทบการแข่งขันน้อยมาก เพราะธุรกิจไทยกำไรมากกว่า 60 % มาจากสิ่งที่เรียกว่าไม่ได้แข่ง การขึ้นภาษีนี้กระทบกับคนรวย ซึ่งดีกว่าไปขึ้น VAT ที่จะกระทบคนจนมากกว่า รวมทั้งขึ้นภาษีทรัพย์สินไปเลย ซึ่งถ้าหุ้นจะตกก็ตกครั้งเดียว
(2.)ขายสมบัติที่หมายถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้สุดซอย คือ แปรรูปที่อยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลของตลาดหลักทรัพย์ โดยเอาออกจากเงื้อมมือของนักการเมืองและข้าราชการ เพราะตลาดหลักทรัพย์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแข็งแรงพอ อย่างการถือหุ้นของรัฐใน บริษัท ปตท. บริษัท การท่าอากาศยานไทย รัฐไม่จำเป็นต้องถือไว้เลย เพราะสามารถส่งผ่านนโยบายของหน่วยงานกำกับดูแลในตลาดทุนได้ เพราะไม่ต้องทำให้รัฐมนตรีมาแย่งกระทรวงกัน เพื่อที่จะส่งคนไปนั่งเป็นคณะกรรมการในบริษัทเพื่อหาโปรเจ็กต์ต่างๆ ทำ ทั้งหมดนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง
2.แบ่งงบฟื้นฟูที่มีอยู่ 4 แสนล้านบาท ส่งให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเอง 1 แสนล้านบาท เพราะเป็นปัญหาเรื่องการกระจายทั้งอำนาจและทรัพยากรที่ทำให้เกิดการรวมศูนย์และเกิดคอรัปชั่นสูง โดยให้ทดลองเอางบฟื้นฟูที่ตั้งไว้ 4 แสนล้านบาท แบ่ง 1 แสนล้านบาท เอาไปจัดสรรตามจำนวนท้องถิ่นตามจำนวนหัวเลย คือ ท้องถิ่นไหนมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (Gross Domestic Product per capita) น้อยก็ให้งบไปเยอะ อันไหนสูงก็ให้งบน้อย โดยเอาระบบที่มีอยู่อย่างกองทุนหมู่บ้านมาช่วยแบ่ง โดยให้ท้องถิ่นคิดเองบริหารจัดการเองทุกอย่าง ตั้งแต่เริ่มจะทำอะไร จากคนตำบลนี้มีคน 5,000 คนถ้าได้เงินจัดสรรมา 200 ล้านบาท ก็จะทำให้ทุกคนรู้ว่าทุกคนจะทำอะไร สร้างโปรเจ็กต์ ประมูลโปรเจ็กต์ ไม่ต้องรอกรมฯ จากส่วนกลางต่างๆ ทำให้ เพราะคนจะติดตามดูแลเองเนื่องจากรู้ว่าเป็นของแต่ละท้องถิ่น เงินจะไม่รั่วไหล แต่ถ้ามาจากส่วนกลางเลย จะไม่มีใครรู้ว่าเงินจะไปรั่วที่ไหน
3. สร้างกลไก เพราะกลไกการต่อต้านคอรัปชั่นต้องสร้างระบบนิเวศใหญ่ (Ecosystem) โดยต้องให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมอย่าใช้หน่วยงานรัฐ เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลน้อย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะช่วยสร้างภาคประชาสังคมด้านนี้ ที่ผ่านมาเคยเสนอไป 0.5% ของ 4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อมาตั้งกองทุนที่ให้ภาคประชาสังคมมาเสนอโครงการ ซึ่งรับรองว่าสามารถประหยัดไปได้ 10 % ด้านหนึ่งยังจะช่วยสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านภาคประชาสังคมได้ด้วย เพราะปัญหาของภาคประชาสังคมไทยคือ นอกจากคุณภาพที่เขายังไม่มีแล้ว เขาก็ยังไม่มีทรัพยากร ดังนั้น ถ้าได้จัดสรรครั้งนี้ ถือเป็นการทดลองนำร่องแล้วจะกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในอนาคต
4.แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพราะจะได้ทำให้เป็นประชาธิปไตยสักที แล้วต่างก็จะลงจากหลังเสือได้สง่างามที่สุด ตั้งแต่การสู้โควิด-19 ชนะ ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพได้ และเรื่องนี้
ในฐานะที่อยู่ตลาดทุนมา 42 ปี ฝากข้อคิดกับตลาดทุน
โชคดีที่อยู่ตลาดทุน 40 ปี ตอนเข้าไปตอนแรกไม่รู้ว่าหน้าที่และประโยชน์ของตลาดทุนมีอะไร วันหนึ่งได้ทำงานไปแล้วเกือบ 10 ปี กลับมาถามตัวเองว่าตกลงเราทำอะไร เพื่อมายุให้คนซื้อหุ้นแล้วก็ขายเพื่อค่าธรรมเนียม จากนั้นก็ไปศึกษาว่าสิ่งที่เรากำลังทำมีความสำคัญกับโลก สังคม หรือก่อประโยชน์อย่างไร
“ปรากฎว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น เรียกว่า “ฉันทะ” หรือ Passion ทำให้เราทุ่มเทกับตลาดทุนมาก ซึ่งข้อดีเวลาเกิด passion จะทำให้ตามมาด้วย “วิริยะ” “จิตตะ” และ “วิมังสา” โดยอิทธิบาทธรรมนี้ คือ ธรรมที่สุดยอด”
แล้วก็ชวนให้คนมาร่วมแล้วก็มี passion ขององค์กร เพราะเวลาที่มี passion กับสิ่งที่ทำอยู่ ก็ทำให้เราสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ดังนั้นสามารถที่จะมีความมั่งคั่งได้ และนี่คือสิ่งที่ผมภูมิใจ เพราะสามารถอธิบายได้ว่า บาทไหนมีที่มาอย่างไร ซึ่งคนรวยเล่าไม่ได้ว่าเงินมาอย่างไร
“เราต่อต้านคอรัปชั่นมา 10 ปี เดิมพยายามชูคุณธรรม แต่พอไปศึกษาทั่วโลกมาแล้ว พบว่าการชูคุณธรรมไม่เคยทำได้สำเร็จ เพราะต้องดึง self interest ซึ่งทำงานมา 42 กว่าปี ก็รู้จักกับคนที่ทั้งจ่ายและรับในกระบวนการคอรัปชั่น ไม่มีใครเลยนึกว่าตัวเองเป็นคนชั่ว เพราะจะมีเหตุผลให้กับตัวเองสารพัดว่า ถ้าไม่ทำคนอื่นก็ทำ ดังนั้นการชูคุณธรรมก็เลยไม่เวิร์ก”
คำตอบเวลาที่คนส่วนใหญ่ถามว่า มีความสุขดีหรือไม่
ตอบเลยว่ามีความสุขมากเลย เพราะเอาชีวิตไปแลกกับใครก็ไม่ยอม เพราะการที่จะทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข เป็นเรื่องของการใช้ทัศนคติ ปกติคนมี 4 พวก 1.ทำมากได้มาก 2.ทำมากได้น้อย 3.ทำน้อยได้มาก 4.ทำน้อยได้น้อย คุณจะเป็นพวกไหน แต่ผมเป็นคนที่สำรวจตัวเองเสมอ
“คิดเสมอว่าเป็นคนที่ทำน้อยได้มากตลอดเวลา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะพยายามทำมากขึ้นและเรียกร้องน้อยลง นั่นแหละคือการมีความสุข”
5 ข้อ ที่แนะนำให้กับองค์กรที่จะทำให้ได้เด็กรุ่นใหม่ที่เก่งและดีมาทำงาน
ความจริงอยู่ที่ว่าสิ่งที่องค์กรต้องการสร้างเป็นเรื่องอะไร (Productivity) และสิ่งนั้นมีประโยชน์อย่างไรและคุณจะทำให้ได้ดีที่สุดยิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างไร และจะได้ผลตอบแทนอะไรจากมัน ที่ผ่านมาผมทำงานบริษัทเล็กๆ และทุกคนก็ทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งสามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถมาทำ โดยการที่จะทำให้คนดีและคนเก่งที่เราอยากได้เขามาร่วมงาน เขามีความต้องการอะไรจากองค์กร
1.ได้เรียน มนุษย์ที่เก่งจะเป็นคนที่เรียนรู้ไม่มีจบ ทุกวันนี้ที่ยังทำงานอยู่ เพราะกลัวโง่ เราจะสร้างอย่างไรที่จะส่งเสริมให้เป็นองค์กรที่เรียนรู้ไม่มีวันจบ
2.ได้ทำ เพราะจะได้ Put out Activity มีผลงานจริงออกมา เพราะจะได้มีโอกาสที่จะทำโดยเอาไอเดียของเขาไปสู่การปฏิบัติ
3.ได้ตังค์ คือ ได้เงิน ไม่มีใครมาทำงานเพื่อสาธารณะกุศล คนทำงานต้องได้รับผลตอบแทน ภัทรมีรายได้ต่อคนต่อปี 12 ล้านบาท ถ้าเทียบกับโบรกเกอร์ด้วยกันภัทรจ่ายให้พนักงาน 3-4 เท่าของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ซึ่งก็ทำให้คนตั้งหลักตั้งตัวได้
4.ได้มัน เป็นการทำงานสนุก บรรยากาศดี ถึงเวลาปาร์ตี้ก็ปาร์ตี้กระจาย Work hard Play hard จริงจังแต่ไม่เคร่งเครียด ไม่มี Politic ที่ทำลาย ควบคุมให้เป็น Politic ที่สร้างสรรค์
5.ได้ภูมิใจ ในสิ่งที่ตัวเองได้ทำ
คนที่มาทำงานไม่มีใครสามารถครบองค์ประกอบ แต่จะเลือกจากทัศนคติเป็นหลัก
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมสัมภาษณ์พนักงานทุกคนตัวตนเอง ซึ่งก็ไม่ได้เลือกถูกทุกคนเหมือน Jack Welch บอกว่า เขาจะพยายามแค่ไหนก็สามารถทำให้เกิดสิ่งที่ผิดพลาดจาก 40 เหลือเพียง 30 ซึ่งพยายามเลือกผิดให้เหลือเท่านี้ โดยผมจะเริ่มสัมภาษณ์ในรอบที่ 5 สิ่งที่ดูคือเรื่อง
“ทัศนคติที่สอดคล้องกันไปด้วยกันได้”
เหมือนศีลเสมอกัน จากทำงานเป็นทีม ไม่ต้องการโดดเด่นอยู่คนเดียว แต่จะไม่เลือกทัศนคติดีหรือไม่ดี
“ส่วนวิธีการเช็คทัศคติที่ดีว่าเป็นอย่างไร คือ การบอกเขาว่าเราเป็นอย่างไร ถ้าคุณไม่ Buy ในสิ่งที่เราเป็น ก็อย่ามาเลย ถ้ามาคุณก็ไม่แฮปปี้ เพราะของพวกนี้หลอกกันไม่ได้ แล้วให้เขาตัดสิน เพราะจริงๆ คนเก่งและคนดีเขาจะเลือกเรา เราไม่ได้เลือกเขา เราต้องขายเรื่องให้เขา แล้วให้เขาเลือกถ้าเขาเลือกก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่เลือกเราก็เป็นเพื่อนกัน”
ใช้การบริหารแบบปิรามิดหัวกลับ
ปกติรูปแบบองค์กรทั่วไปใช้การบริหารแบบปิรามิดที่หัวหน้าอยู่บนยอดคอยคิด สั่ง และควบคุม ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้ถ้าทำอย่างนั้นองค์กรจะไปด้วยความสามารถเรา ซึ่งจะสามารถแค่ไหนทำได้แค่ลดการโหลดลง แต่เพราะต้องการองค์กรที่ 100 เท่าของความสามารถที่มี ก็เลยคิดวิธีบริหารแบบสามเหลี่ยมหัวกลับ เรื่องไหนใครได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ เรามีกระบวนการตรวจการรับผิดชอบแล้ว คุณเป็นหัวหน้า แต่ผมจะทำตัวเป็นทรัพยากร
ดังนั้น ผมจะผันตัวไปเป็นฐานของปิรามิดแทน อย่างเวลาทำดีลไม่ทำอะไรเลย รอวันหนึ่งที่รอคำสั่งคนที่รับผิดชอบ ว่าพี่โทรไปหาคนนี้ให้หน่อย ไปพบคนนี้ให้หน่อย เราก็จะถามเหตุผลว่าให้ไปพบทำไม ปรากฏว่าสิ่งที่ได้คือ งานได้เยอะขึ้น คุณภาพดีขึ้น คนก็เก่งขึ้น และคนก็สนุกขึ้นเพราะได้เรียนรู้มากขึ้น เพราะถ้าให้เราอยู่บนยอดปิรามิดเราจะเป็นคนนำ แต่พอเราได้เป็นคนตามบ้างก็ดี เราเป็นแค่ทรัพยากรที่รอให้เขามาใช้ ซึ่งก็ทำอย่างนี้ทั้งบริษัท
ภัทรเป็นแหล่งรวมคนที่จบ ดร. แต่คุณบรรยงจบที่เกรดเฉลี่ย 2.04 คำถามคือ คนที่มีคะแนนไม่เยอะถือว่าเป็นเพราะมีความกล้าที่จะผิดมากกว่า?
ยามวัยรุ่นผมเป็นคนหลงผิด หลงทาง แต่ผมโชคดีที่ในที่สุดผมกลับมาได้ เพราะผมไม่เรียนหนังสือเลย เนื่องจากผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งเท่และเหมือนเป็น Role Model ของผมตอนนั้นบอกเมื่อปี 2510 ว่า เตาเมืองไทยเชื่อพี่วิชาการใช้ไม่ได้ เมืองไทยใช้เพียงแต่เส้นกับกึ๋น ซึ่งมองไปก็จริงเดี๋ยวนี้ก็ยังจริงอยู่เลย ดังนั้นเลยถือเพียง 2 คติ คือ 1.ง่าย 2.สนุกเรียนเอาแค่ผ่านๆ
แต่ผมโชคดีมากที่ได้มาทำงานในองค์กรที่เอาหลักวิชามาเป็นตัวนำ ซึ่งทำให้เปลี่ยนทัศนคติมาเรียนใหม่หมดเลย และโชคดีที่มาเรียนกับ อาจารย์ศุภวุฒิ สายเชื้อ ซึ่งเป็นอาจารย์คนเดียวของผม เพราะสมัยเรียนเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เข้าเรียนเลย แล้วก็มาเจอพรรคพวกเพื่อนพ้องที่เขาเรียน แต่ผมมีคุณสมบัติที่ดีมากอย่างหนึ่งคือ “อ่านหนังสือเยอะ อ่านทุกเรื่องที่วางและขวางหน้าอยู่ในห้องสมุด อ่านหนังสือตลอดเวลาเพราะถูกปลูกฝังไว้ ฉะนั้นความรู้เลยมีเบสิกอยู่ เลยทำให้เรามีภูมิอยู่บ้าง รวมถึงเป็นคนที่ชอบพัฒนาตัวเองตลอด”
“การพัฒนาตัวเองที่ดีที่สุดคือ พยายามเข้าใจและตั้งคำถามในสิ่งที่เราเห็น และพยายามหาคำตอบ เพราะนี่คือการพัฒนาการของมนุษย์”
เวลาผมเจออะไร พยายามตั้งคำถาม ตลาดทุนมีไว้ทำไม เงินมีไว้ทำไม เวลาทำงานเกี่ยวกับการเงิน พอเข้าใจมันเราก็ต่อยอด ข้อดีของโลกที่มีอารยธรรมมาเป็นหมื่นปี และข้อดีคือการสะสมข้อมูลมากกว่าหมื่นปี ทำให้เชื่อว่าอย่าคิดเอง
“ผมไม่เคยคิดอะไรเองเลย ไปดูคนอื่นเขาทำ ว่าใครเขาทำอย่างไร แล้วทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น ผมจะพูดเสมอว่า เราไม่ต้องเป็นคนแรกหรอก ไปดูกิจกรรมที่เขาจดลิขสิทธิ์ไม่ได้ ใครทำอะไรดี พรุ่งนี้ผมทำตาม และพยายามทำให้ดีกว่า”
การทำ Book Building ผมเป็นคนทำคนแรก จากนั้นผ่านไป 3 ปีแล้วคนที่สองเริ่มทำตาม ที่ทำคนแรกเพราะเห็นฝรั่งทำไปนั่งคุยจนเข้าใจว่าเขาทำอย่างไร เมื่อก่อนเขาถึงเรียกว่าเมอร์ชั่นแบงก์เพราะไปดีลกับลูกค้า แต่ Build Book คือเอาลูกค้าไปดีลกับตลาด นี่คือคอนเซ็ปต์ที่ค้นพบตั้งแต่ปี 1987 โดยภัทรเคยมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดอันเดอร์ไรท์ติ้งถึง 70% ไม่เคยแพ้ใคร เพราะคอนเซ็ปต์ง่ายๆ ไปดีลกับเขา และจะไม่ทำแบบเก่าแบบเดิม ตอนแรกชวนคนอื่นทำเขาไม่ทำด้วยซ้ำ
งานอดิเรกที่ชอบทำ
คือการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวคือการเรียนรู้ คนเราจะพัฒนาด้วยการสังเกต ที่เริ่มจากได้เห็นก่อน จากนั้นได้ตั้งคำถาม แต่พออายุมากขึ้นความอยากรู้มันลดลง เลบชอบเลือกไปที่ซ้ำซาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยไปที่ใหม่แล้ว และที่ที่ชอบมาคงไม่ได้ไปอีกนาน คือ อิตาลี สเปน ซึ่งแต่ละที่โควิดฯ หนักทั้งนั้น เพราะชอบวัฒนธรรมเพื่อไปเรียนรู้ว่าเขาพัฒนามาอย่างไร
เวลาท่องเที่ยวแล้วจะตั้งคำถาม ซึ่งพบว่าความเหลื่อมล้ำคือตัวที่สร้างศิลปะวัฒนธรรมมากที่สุด ยิ่งประเทศไหนมีความเหลื่อมล้ำในยุคไหนสูง ประเทศนั้นจะมีศิลปะวัฒนธรรมนั้นรุ่งเรือง เพราะทรัพยากรความมั่งคั่งไปอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวที่กินเท่าไรไม่หมดเลยมาสนับสนุนศิลปะ เหมือนกับยุคที่ยุโรปรุ่งเรือง อย่างดาร์วินชี่ ตัวเขาอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ต้องมาทำศิลปะวาดรูป เพราะเป็นทางเดียวที่จะยกระดับตัวเองขึ้นมาสู่สังคมได้ และเขาก็วาดรูปไม่เสร็จเยอะมาก เพราะถ้าไม่วาดก็ต้องไปทำนา
เหมือนกับเวลาที่เกิดสงคราม?
สงคราม โรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เหมือนกับที่ตอนนี้คนเริ่มกลับมารู้จักโรคไข้หวัดสเปน 1920 ที่อีก 5 ปีถัดมาก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดตั้งแต่ที่โลกเคยเจอมาช่วงระยะ 1926-1930 และปี 1939 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น
ตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทำให้เกิดแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบ Keynesian ขึ้นมา คือ การที่จะรอให้ตลาดทำงานมันแก้ไม่ได้ ดังนั้นรัฐต้องกระโดดเข้าไป ซึ่งประเทศที่ใช้ Keynesian คนแรกคือสหรัฐ โดยมีโครงการชื่อ New Deal ที่มีคนมาใช้เป็นว่า คิดใหม่ทำใหม่ New Deal คือตัวที่เอาเงินรัฐเข้าไปลงทุนอย่างมโหฬาร ทำให้เศรษฐกิจกลับมา ซึ่งในยุโรปฮิตเลอร์ใช้ Keynesian มากที่สุด แต่ฮิตเลอร์ไปใช้ในการสร้างยุทโธปกรณ์หรืออาวุธมาก หรืออย่างทางหลวงออโต้บาห์นของเยอรมนีก็นำไปสู่การทำสงครามโลก และหลังสงครามโลกความเหลื่อมล้ำก็ลดไปเยอะ
“หลังโควิด-19 ระบาดรอบนี้ ผมหวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ตามมาด้วยการเกิด Great Depression หรือตามมาด้วยสงครามโลก และไม่ตามมาด้วยว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย เพราะมนุษยชาติจะเรียนรู้และปรับตัว เลี่ยงหายนะซ้ำซ้อนได้”
อย่างวินสตัน เชอร์ชิล ผู้นำที่พาอังกฤษชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างยิ่งใหญ่ พอชนะ คะแนนพุ่งสูงแล้วก็ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่ 3 เดือนหลังสงครามสงบเขาก็แพ้ยับ มาจากหลายเหตุผล แต่เหตุผลหนึ่งคือ เพราะคนเดือดร้อนและถูกกดนานๆ เขาก็ต้องการเปลี่ยนแปลง เพราะสงครามโลกใช้เวลาอยู่ 7 ปีคนทรมานมาก แต่เชอร์ชิลไม่ยอมเลิก จะเล่นรัสเซียต่อ ซึ่งถ้าเขายังลุยต่อ อาจจะไม่มีสงครามเย็น แต่คนบอกพอเถอะจะไม่ไหวแล้ว โดยที่อังกฤษเลยกลายเป็นพรรคแรงงานหรือสังคมนิยม เพราะเวลาคนเดือดร้อนหนักๆ เขาจะเรียกร้องสังคมนิยม พอผ่านไปพักใหญ่ แต่ 6 ปี เชอร์ชิลกลับมาได้และกลับมาเป็นเสรีนิยม ซึ่งถ้าเชอร์ชิลปล่อยนานกว่านี้ อังกฤษอาจจะแย่กว่านี้ เหมือนกับตอนนี้ที่เส้นกราฟเราดีขึ้นจนแบนแล้ว แต่คนเดือดร้อนและถูกกดนานเกินไปแล้ว คนก็ต้องการเปลี่ยนแปลง
หลักองค์กรของกลุ่มเกียรตินาคินภัทร
“ใช้ 2 หลัก อิทธิบาทต่องาน พรหมวิหารต่อกัน”
ถ้าคุณทำได้อิทธิบาทก็ทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะถ้าประสบความสำเร็จแล้วก็จะมีพรหมวิหารต่อกันในองค์กร ซึ่งพรหมวิหารคือ เมตตา มุทิตา กรุณา อุเบกขา นอกจากนั้นยังต้องประกอบด้วย ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หรือที่เรียกว่าคาถาเศรษฐี ประกอบไปด้วย 4 อย่าง เรียกสั้นๆ ว่า “อุ อา กะ สะ”
1. "อุ-อุฏฐานะสัมปทา" คือ ความพากเพียรในวิชาชีพสร้างเนื้อสร้างตัวให้มีทรัพย์ พอเพียงที่จะเลี้ยงตัวและเผื่อแผ่ได้ตามควร
2."อา-อารักขสัมปทา" คือ มีทรัพย์แล้วก็ต้องรู้จักรักษาทรัพย์ให้คงทนต่อเนื่องถาวร ที่จะดำรงชีพได้ไปตลอดชีพ
3."กะ-กัลยาณมิตตตา" คือ การรู้จักคบมิตร และพาตัวเขาไปอยู่ในสังคมที่เกื้อกูลกันให้ความสุขกัน
4."สะ-สมชีวิตา" คือ ใช้ชีวิตตามสมควรแก่สถานะ ไม่ฟุ้งเฟ้อและไม่ขัดสนจนเกินไป
ถ้าใช้ 4 คำนี้จบเลยในชีวิต ซึ่งตรงกับทฤษฎีทางจิตวิทยาลำดับขั้นความต้องการของ อับราฮัม มาสโลว์ (A Theory of Human Motivation) ซึ่งความจริงธรรมนั้นพระพุทธเจ้าคิดมาแล้ว 2,600 ปี ส่วนมาสโลว์คิดมาแล้ว 150 ปี ซึ่งพอศึกษาพระพุทธศาสนาแล้ว ถือเป็นเรื่องลึกซึ้งและวิเศษมากที่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เลย ไม่ต้องไปคิดนิพพาน
ความห่วงใยต่อผู้ประกอบการ
“การแก้ไขปัญหาที่ใช้ได้ทุกสถานการณ์ไม่ใช่เพียงแค่ตอนเกิดวิกฤตคือ Face the bull by the horn เผชิญความจริงไม่ว่ามันจะโหดร้ายแค่ไหน อย่าหลอกตัวเองเด็ดขาด ยอมรับความจริง และอย่าเพ้อฝัน”
เหมือนการบินไทย ส่วนหนึ่งที่ผ่านมาเพราะไม่ Face the bull ซึ่งไม่มีโควิดฯ ก็ล้มละลาย โดยปีที่แล้วขาดทุน 12,000 ล้านบาท ทั้งที่ทุกสายการบินทั่วโลกมีกำไรกระจาย Load Factor ที่ 80 % ยังขาดทุน 10 % แปลว่า Break Event ของคุณ คือ 88 % ซึ่งไม่มีใครทำได้ในโลกนี้ สายการบินอื่นเขาอยู่ที่ 82-83% ยูไนเต็ดแอร์ไลน์มีกำไรแสนล้าน หลายที่ 4-5 หมื่นล้าน สิงคโปร์แอร์ไลน์กำไร 2.5 หมื่นล้านบาท
บันทึกเทปรายการ Exclusive Talk
วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 เวลา 16.00-17.00 น.
หัวข้อ "ตลาดเงินและตลาดทุนไทย" EP. 2
แขกรับเชิญพิเศษ-คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
ผู้ดำเนินรายการ-คุณสุวภา เจริญยิ่ง อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

phpBB [video]