หมายความว่าโดยเฉลี่ยราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 13% ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าสินทรัพย์อื่นๆ ทุกประเภทรวมถึงหุ้น ซึ่งโดยปกติแล้วจะให้ผลตอบแทนสูงสุดเพราะมีความผันผวนและความเสี่ยงสูงสุดด้วย
การซื้อทองคำ น่าจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวไม่สูงมาก เพราะทองคำไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับเจ้าของทองคำดังกล่าว แตกต่างจากการถือพันธบัตรซึ่งเจ้าของพันธบัตรจะต้องได้รับทั้งดอกเบี้ยต่อปีและได้รับเงินต้นคืนเมื่อพันธบัตรหมดอายุ สำหรับการถือหุ้นของบริษัทนั้นก็คือการเป็นเจ้าของบริษัททำให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิที่จะได้รับการแบ่งปันผลกำไรจากการประกอบธุรกิจของบริษัท
ผลตอบแทนของทองคำในระยะยาวเป็นร้อยปีที่ผ่านมานั้น ไม่สูงมากคือประมาณ 2-3 ต่อปีโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ ซึ่งจะไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนจากการถือหุ้นที่ปกติจะให้ผลตอบแทน 7-8% ต่อปีในระยะยาว กล่าวคือทองคำนั้นมักจะมองว่าเป็น inflation hedge หรือเป็นสินทรัพย์ที่จะให้ผลตอบแทนสูงเฉพาะในภาวะที่เงินเฟ้อสูง แต่ก็แน่นอนว่าทองคำนั้นมีประโยชน์ในด้านอื่นด้วย เช่น สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของการผลิตสินค้าบางชนิดหรือการนำไปใช้เป็นเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมอย่างมากเพราะถือว่าเป็นโลหะที่มีค่า
แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคือการที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วโลกไม่ได้อยู่ที่ระดับสูงและมีแนวโน้มปรับตัวลดลงด้วย ทำไมราคาทองจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา? หากมองกลับไปในอดีตเมื่ออัตราเงินเฟ้อของโลกปรับตัวขึ้นสูงสุดในปี 1980 แล้วต่อมาก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 1980-2005 (25 ปี) นั้น ราคาทองปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 760 เหรียญต่อ 1 ออนซ์เมื่อวันที่ 16 ม.ค.1980 เหลือเพียง 441 เหรียญต่อ 1 ออนซ์ในวันที่ 10 มีนาคม 2005 แปลว่าการถือทองคำในช่วงกว่า 25 ปีดังกล่าวเฉลี่ยแล้วทำให้ขาดทุนว่า 2% ทุกปี
จึงทำให้ต้องถามว่าในภาวะปัจจุบันที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น แม้ว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำติดดินนั้นแปลว่า ราคาทองคำจะสูงเกินปัจจัยพื้นฐานหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตอบยากแต่ผมมีข้อสังเกตดังนี้
- ทองคำนั้นนอกจากจะมองว่าเป็น inflation hedge แล้วก็ยังเป็น store of value หรือเป็นสินทรัพย์ที่เก็บเพื่อสะสมความมั่งคั่งกล่าวคือเราจะพูดว่าต้อง “เก็บเงินเก็บทอง” หมายความว่าแทนที่จะเก็บธนบัตรเอาไว้เป็นสมบัติก็สามารถเก็บทองคำเป็นสมบัติได้เช่นกัน
- โดยปกติแล้วเราควรเก็บ “เงิน” เป็นธนบัตรหรือตัวเลขบัญชีในธนาคารมากกว่าเพราะสะดวกและปลอดภัยกว่า แต่ในยุคปัจจุบันที่ธนาคารกลางของประเทศหลักคือสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและอังกฤษแข่งกันพิมพ์เงินใหม่ออกมาเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์อื่นๆ อย่างไม่มีขอบเขตนั้น น่าจะทำให้นักลงทุนหลายคนไม่อยากถือ “เศษกระดาษ” ที่ถูกพิมพ์ออกมาอย่างไม่มีข้อจำกัด โดยธนาคารกลางหลักที่ดูเหมือนว่าลืมคำว่า “วินัยทางการเงิน” ไปแล้วเพื่อตั้งหน้าตั้งตา กอบกู้เศรษฐกิจที่ตกต่ำจากผลกระทบของ COVID-19
- เราทราบดีว่าสิ่งใดก็ตามที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก ราคาของสิ่งนั้นจะต้องลดลง (หากผลิตข้าวได้มาก ราคาข้าวก็จะตกต่ำลง) ซึ่งการพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่มีข้อจำกัดนั้นย่อมทำให้นักลงทุนต้องแสวงสินทรัพย์อื่นเพื่อเป็น store of valueโดยควรจะเป็นสินทรัพย์ที่มีข้อจำกัดในการขยายการผลิต ทำให้ค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่าจะยัง “ขาดแคลน” (scarce) อย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งทองคำดูเสมือนว่าจะตอบโจทย์ดังกล่าว
- ระบบเงินของโลกปัจจุบันอาศัยเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินสกุลหลัก แต่ในปัจจุบันสหรัฐกำลังประสบปัญหาที่การฟื้นตัวกำลังมีความเสี่ยงที่จะสะดุดเพราะจำนวนผู้ติด COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างมากและเงินที่รัฐบาลสหรัฐจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภามาจุนเจือเศรษฐกิจก็ขาดช่วง (เพราะพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันยังมีความขัดแย้งกันอย่างมาก) ทำให้สรุปได้ว่าสหรัฐคงจะต้องพึ่งพาการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้นไปอีก
- ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่เงินสหรัฐจึงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในระยะหลังนี้และก็สามารถคาดการณ์ต่อไปว่าธนาคารกลางอื่นๆ ก็คงจะไม่อยากให้เงินสกุลของตนแข็งค่าจนเกินไป ดังนั้นธนาคารกลางอื่นๆ ก็คงจะต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายตามธนาคารกลางสหรัฐในที่สุดทำให้มองได้ว่าเงินสกุลต่างๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่นทองคำ