การชำระเงินแสดงภาพการบริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 อย่างไร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
noonnsn
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 435
ผู้ติดตาม: 0

การชำระเงินแสดงภาพการบริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 อย่างไร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

การชำระเงินแสดงภาพการบริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 อย่างไร
ต้องยอมรับกันนะครับว่าการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเราไปอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน

ซึ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ผู้อ่านหลายท่านคงเห็นและสัมผัสได้กันเป็นอย่างดี คือ พฤติกรรมการชำระเงินที่เปลี่ยนแปลงไป หลายท่านคงเห็นว่าภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็มีการรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่ใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย ให้เปลี่ยนไปชำระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพิ่มมากขึ้น ทั้งด้วยเหตุผลจากความสะดวกสบายและเหตุผลด้านสุขภาพอนามัย

การชำระเงินผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศไทย มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยระดับการใช้จ่ายผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เคยอยู่ที่ระดับ 250 ล้านครั้งต่อเดือน เมื่อปี 2559 มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทะลุระดับ 1,000 ล้านครั้งต่อเดือน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้อัตราการเติบโตของปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือนมิถุนายนมีการเติบโตสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเติบโตสูงถึง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

ในส่วนของข้อมูลการโอนและชำระเงินผ่านทาง PromptPay ก็ประสบความสำเร็จในการมียอดการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทย ก็ส่งผลให้ทั้งปริมาณและมูลค่าการใช้งานรวมของการโอนและชำระเงินผ่านช่องทาง PromptPay มียอดสูงที่สุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเช่นกัน โดยมีการใช้งานกว่า 435 ล้านครั้งและมียอดมูลค่าธุรกรรมกว่า 1.7 ล้านล้านบาท

ที่น่าสนใจคือ ยอดการเพิ่มขึ้นของการชำระเงินผ่านเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money ซึ่งแม้จะมียอดการใช้งานรวมอาจจะยังไม่สามารถเทียบได้กับการใช้จ่ายรูปแบบอื่น ๆ แต่การเติบโตในไตรมาสที่ 2 ก็แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ดีที่สามารถเติบโตขึ้นได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะการให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จากกลุ่มผู้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ มียอดการใช้จ่าย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยมูลค่าการใช้จ่ายในไตรมาสที่ 2 รวมคิดเป็นมูลค่ากว่า 7.3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ข้อมูลการชำระเงินผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะแสดงถึงภาพบวกของทิศทางการเติบโตของความนิยมที่ดีในไตรมาสที่ 2 แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลการชำระเงินนี้ก็แสดงให้เห็นถึงจุดที่น่ากังวล ในส่วนของพฤติกรรมการบริโภคที่มีการปรับตัวลดลงและมีภาพแนวโน้มการฟื้นตัวที่เป็นไปอย่างจำกัด

เมื่อศึกษายอดการใช้จ่ายของการชำระเงินผ่านช่องทางบัตรเดบิตและบัตรเครดิตในช่วงไตรมาสที่ 2 พบว่ายอดการใช้จ่ายในเดือนเมษายนมีการหดตัวลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี อันเป็นผลเนื่องมาจากการล็อกดาวน์ แต่แม้จะมีการกลับมาเปิดเมือง และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติ ยอดการใช้จ่ายในช่วงเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมก็ยังคงทรงตัวและยังไม่สามารถกลับมาเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับในช่วงเดือนมีนาคม โดยยอดการใช้จ่ายบัตรเดบิตรวมในเดือนกรกฎาคมมียอดรวมอยู่ที่ 6.7 แสนล้านบาท ลดลงประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตในเดือนมีนาคมที่มียอดอยู่ที่ 7.1 แสนล้านบาท

การลดลงของยอดการชำระเงินนี้ แสดงให้เห็นถึงทิศทางการบริโภคที่หดตัวลง สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ในปีที่ภาคเศรษฐกิจต่างประเทศซบเซา ซึ่งประเด็นการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นเราควรต้องติดตามประเด็นนี้กันต่อไปในอนาคต ว่าแนวโน้มการบริโภคในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถปรับตัวกลับมาเติบโตในระดับเดิมได้หรือไม่ และต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวมากน้อยเพียงใดครับ
โพสต์โพสต์