หุ้นมดตกสวรรค์ (ชั่วคราว)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

หุ้นมดตกสวรรค์ (ชั่วคราว)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สัปดาห์ต้นเดือนพฤศจิกายน นอกจากจะมีเรื่องตื่นเต้นทางการเมืองจากการเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีข่าวช็อควงการตลาดทุนโลก คือ การที่หุ้นของ Ant Group ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทค ในเครืออะลีบาบา ถูกทางการจีนแตะเบรกยังไม่ให้เข้าเทรดในตลาดหุ้น STAR เซี่ยงไฮ้ (A Share) และตลาดหุ้น ของฮ่องกง (H Share) ซึ่งมีกำหนดเข้าทำการซื้อขายพร้อมกันในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

แอนท์กรุ๊ป เป็นหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนครั้งแรก (IPO- Initial Public Offering) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าเสนอขายต่อประชาชน 34,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท แซงหน้าผู้ทำสถิติเดิมคือ อะรามโก้ (ARAMCO) ของซาอุดิอารเบีย ที่เสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรกด้วยมูลค่าประมาณ 25,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนธันวาคม 2562 โดยก่อนหน้านั้น อะลีบาบา บริษัทแม่ของ แอนท์กรุ๊ป เป็นผู้ครองสถิติมายาวนานตั้งแต่ปี 2551 ด้วยมูลค่าเสนอขาย 25,000 ล้านเหรียญ

แอนท์กรุ๊ป มีชื่อเดิมว่า Ant Financial ที่ดิฉันเคยเขียนถึงเมื่อเขียนถึงหุ้นอะลีบาบาหลายปีมาแล้ว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 ในชื่อ Alipay China เริ่มธุรกิจจากการเป็นตัวกลางในการชำระเงินให้กับผู้ซื้อสินค้าผ่านเว็ปของอะลีบาบา โดยเรียกชื่อการจ่ายเงินนี้ว่า Alipay หลังจากนั้นจึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นการชำระเงินทางมือถือเพิ่มขึ้นมาในปี 2552 ถือเป็นแอพจ่ายเงินทางมือถือแห่งแรกของจีน

ในปี 2554 พัฒนาเป็นการจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่ออกไปเที่ยวในต่างประเทศ ไม่พกเงินสด ไม่แลกเงินสกุลท้องถิ่น ไม่จ่ายด้วยบัตรเครดิตของตะวันตก แต่ต้องการจ่ายค่าสินค้าและบริการด้วย Alipay จนผู้ให้บริการในประเทศต่างๆที่มีนักท่องเที่ยวจีนไปเยือน รวมถึงประเทศไทย ต้องหันมารับชำระเงินด้วย Alipay กันจนกลายเป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ ในปี 2554 ยังก้าวเข้าไปทำธุรกิจบริหารเงินลงทุน จากการที่ลูกค้ามีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าเงิน เรียกชื่อว่า หยูเอ๋อเป่า (Yu’ebao) เปรียบเสมือนกองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนเล็กๆน้อยๆในระหว่างที่มีเงินเหลืออยู่ในบัญชี กลายเป็นกองทุนตลาดเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

หลังจากนั้น ได้ก่อตั้งกิจการฮัวเป่ย (Huabei) ทำธุรกิจด้านให้บริการสินเชื่อหมุนเวียนกับผู้บริโภค (Consumer Finance) เพิ่มเติมในปี 2557 ซึ่งถือเป็นการเริ่มก้าวเข้าไปทำบริษัท Credit Tech และบริษัทก็เปลี่ยนชื่อเป็น Ant Financial และก่อตั้ง เจี้ยเป่ย (Jiebei) เพิ่มในปี 2558 ทำธุรกิจให้สินเชื่อสำหรับลูกค้าที่มีประวัติเครดิตที่ดีกับหัวเป่ย เพื่อให้สามารถกู้ไปซื้อสินค้าคงทนที่มีราคาสูงขึ้น เรียกว่าเป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม

สำหรับธุรกิจประกันนั้น เริ่มจาก การมี เถาเป่า (Taobao) เป็นธุรกิจประกันที่ขายประกันให้กับผู้ขายสินค้าบนเว็ปหรือแอพของอาลีบาบา แล้วอาจมีการคืนสินค้า เถาเป่าจะจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าคืนให้กับผู้ขาย ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ชอบใจและต้องการคืนสินค้า เรียกได้ว่าครบวงจรเลยทีเดียว

ภายหลังจึงเพิ่มการประกันสุขภาพเป็นอีกหนึ่งบริการที่มีให้กับลูกค้าในปี 2561 ภายใต้ชื่อ เซียงฮู่เป่า (Xianghubao) เป็นการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยราคาไม่สูงและขั้นตอนการซื้อไม่ซับซ้อน

นอกจากนี้ ในปี 2561 ยังได้เพิ่มธุรกิจรับและโอนเงินต่างประเทศ ในชื่อ AntChain Blockchain-as-a-Service (BaaS) โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ในการดำเนินการ ทั้งนี้ AntChain เป็นแพลทฟอร์มเปิด คือรับดำเนินการให้กับสถาบันการเงิน และธุรกิจอื่นๆทั่วไปด้วยค่ะ

ต้องเรียนว่า การถือหุ้นและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง จากการเป็นบริษัทของอะลีบาบากับแจ้คหม่าและเพื่อน กลายเป็นบริษัทของแจ้ค หม่า และเพื่อน และกลับเข้ามาอยู่ภายใต้ อะลีบาบา อีกครั้ง ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านจากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้น ที่มีความหนา 752 หน้าได้ค่ะ เอาเป็นว่า อะลีบาบาเข้าไปถือหุ้น 33% ในเดือนกันยายน 2562 และบริษัทเปลี่ยนชื่อจาก Ant Financial เป็น Ant Group ในปี 2563 นี้เอง เพื่อจะเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดค่ะ

พันธกิจของบริษัทคือ ให้การทำธุรกิจเป็นสิ่งที่ง่ายที่จะทำในทุกแห่งหน โดยเน้นความต้องการของลูกค้า การแก้ไขปัญหาและพาไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของธุรกิจ โดยประกาศวิสัยทัศน์ว่า “สร้างโครงสร้างพื้นฐานของบริการ ดิจิตัลในอนาคต เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อโลก ทั้งแบบสม่ำเสมอ และแบบค่อยเป็นค่อยไป”

ทั้งนี้บริษัท ตั้งความหวังว่า บริษัทจะสามารถพัฒนาสิ่งที่สามารถใช้งานได้ 102 ปี และเรียกตัวเองว่ามด (Ant) เพราะยึดหลักการว่า “ความเล็กคือความสวยงาม ความเล็กคือพลัง (Small if beautiful. Small is powerful.)” ธุรกิจสินเชื่อของ ฮัวเป่ย และ เจี้ยเป่ย ซึ่งบริษัทจัดว่าเป็นธุรกิจในสาย Credit Tech จึงเน้นผู้กู้รายย่อย ซึ่งก็คือ Micro Finance นั่นเอง โดย ฮัวเป่ย และ เจี้ยเป่ย ส่งต่อสินเชื่อรายย่อยให้กับธนาคารและสถาบันการเงินประมาณ 100 แห่ง และยังมีการทำ securitization ขายสินเชื่อเหล่านี้ออกไปให้ผู้ลงทุนด้วย

การที่ทางการออกมาแตะเบรกครั้งนี้ เนื่องจากประเทศจีนกำลังมีร่างกฎหมายกำกับสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างทำประชาพิจารณ์ จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม ซึ่งคาดว่าธุรกิจการให้สินเชื่อรายย่อยๆผ่านแพลตฟอร์ม แบบที่ฮัวเป่ยและเจี้ยเป่ยทำ จะต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับนี้ด้วย คือ ต้องกำกับดูแลให้เหมือนสถาบันการเงินในจีน

สองประเด็นใหญ่ที่จะกระทบกับ Ant และพันธมิตร คือ กฎหมายกำหนดให้แพลทฟอร์มต้องมีส่วนในการให้เงินกู้แก่ลูกค้าด้วย 30% ไม่ใช่ทำหน้าที่ส่งต่อสถาบันอื่นอย่างเดียว และ สถาบันที่ใช้บริการจากแพลทฟอร์ม ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ จาก 1,000 ล้านหยวน เป็น 5,000 ล้านหยวน รวมถึงต้องมีสัดส่วนเงินทุนต่อเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น และต้องแบ่งปันข้อมูลเครดิตให้กับธนาคารกลางด้วย เหตุผลก็คือ การประกอบธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ควรต้องมีการควบคุมความเสี่ยงค่ะ เพราะทางการจีนออกมาเปิดเผยว่า ครึ่งแรกของปี 2563 มียอดสินเชื่อผ่าน FinTech ถึง 1.43 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 6.78 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

นักวิเคราะห์คาดว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้มูลค่าของ Ant ลดลง แต่ดิฉันเชื่อว่า ห้ามธุรกิจนี้ไม่ให้เติบโตไม่ได้ การนำเทคโนโลยีลักษณะ Big Data เช่น พฤติกรรมการใช้เงิน การจ่ายเงิน มาใช้ในการปล่อยสินเชื่อ เป็นการลดความเสี่ยงในการให้กู้แก่สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และการที่ทางการต้องกำกับให้มีการดูแลบริหารความเสี่ยงและการมีข้อมูล ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้หน่วยงานกำกับ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในภาพใหญ่ได้ด้วย

คงต้องติดตามต่อไปนะคะว่าบริษัทจะเดินหน้าเข้าตลาดต่อไปได้เมื่อไร
โพสต์โพสต์