การที่ต่างชาติ “เชื่อมั่น” เศรษฐกิจไทยอย่างที่ รมว.คลังเข้าใจ หรือต่างชาติกำลัง “เก็งกำไร” ค่าเงินบาท อะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุของบาทแข็งค่า??
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 นสพ.กรุงเทพธุรกิจ พาดหัวข่าวหน้า 1 ว่า “คลังผนึก ธปท.สกัดเก็ง “บาท” อาคมชี้ต่างชาติเชื่อมั่นครึ่งเดือนเงินไหลเข้าหุ้น-บอนด์ 7.2 หมื่นล้าน” และมีรายละเอียดของข่าวบอกว่าสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าก็เพราะว่า “ต่างชาติ” เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยดันเงินบาทแข็งค่า ถกแบงก์ชาติออกมาตรการดูแลสกัดเก็งกำไร เผยครึ่งเดือนเงินทุนไหลเข้าทะลัก “หุ้น-บอนด์” 7.2 หมื่นล้าน โดยเฉพาะตราสารหนี้อายุต่ำกว่า 1 ปียอดพุ่ง 4.6 หมื่นล้าน
อ่านตรงนี้แล้วก็ต้องตั้งคำถามว่า การแข็งค่าของเงินบาทนั้นสาเหตุหลักคือการที่ต่างชาติ “เชื่อมั่น” เศรษฐกิจไทยอย่างที่รัฐมนตรีคลังเข้าใจ หรือต่างชาติกำลัง “เก็งกำไร” ค่าเงินบาทกันแน่ เพราะสองเหตุผลดังกล่าวมีความแตกต่างกันเหมือนกับซ้ายกับขวา
เพราะหากต่างชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ก็แปลว่าจะมีความต้องการนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนานเป็นหลายเดือนหลายปี แตกต่างจากการเก็งกำไรโดยการเข้ามาซื้อพันธบัตรระยะสั้นในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อหวังให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในเวลา 2-3 สัปดาห์แล้วจึงถอนทุนเมื่อทำกำไรระยะสั้นได้แล้ว
ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งเพราะสาเหตุที่หนึ่ง (เชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย) ก็ต้องถามว่าจะต้องมีมาตรการ “สกัดการเก็งกำไรเงินบาท” ไปทำไม เพราะการนำเงินเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นสิ่งที่ดีอย่างมากในการเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อช่วยเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
แต่หากมองว่าเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น เพราะเชื่อว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาได้ในเวลาอันใกล้นี้ แม้ว่าเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีมากนักและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็จะเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้าดังที่ ธปท.ก็ได้เคยสรุปสภาวการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็จะต้องถามต่อไปว่าทำไมจึงเกิดเงื่อนทำให้ต่างชาติ (และผม) เชื่อว่าเงินบาทจะสามารถแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งในความเห็นของผมนั้นเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปได้เพราะปัจจัยหลัก 3 ประการ และจะสามารถอ่อนค่าได้เพราะปัจจัยเพียงหนึ่งเดียว
ปัจจัยที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่า
1.อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยต่ำกว่าของโลกและของประเทศหลัก (เช่น สหรัฐ) อย่างต่อเนื่อง ดังที่เป็นมาในอดีตอย่างน้อย 5 ปีที่ผ่านมาและในอนาคตต่อไปอีก เงินเฟ้อคือการด้อยค่าของเงินซึ่งหากเงินบาทด้อยค่าในอัตราที่ช้ากว่าเงินสกุลหลักของโลกอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปีเป็นเวลาหลายปี ก็จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เงินบาทจะต้องแข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินสกุลอื่นๆ ของโลก
2.ประเทศไทยยังสามารถเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้อย่างต่อเนื่อง ดังที่ได้เกินดุลอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและต่อไปในอนาคต เพราะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคือการที่ประเทศไทยมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศมากกว่ารายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนเงินบาทอย่างเรื้อรัง
ธปท.ยังยืนยันไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงและไม่ทำมาตรการผ่อนปรนในเชิงปริมาณหรือ Quantitative Easing (QE) ซึ่งเป็นมาตรการที่ธนาคารกลางของเศรษฐกิจประเทศหลัก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มประเทศดังกล่าวได้ใช้มาตรการ QE ทำให้งบดุลของตัวเอง (ซึ่งแปลว่าการพิมพ์เงินใหม่เข้าสู่ระบบ) เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่าตัวจาก 3.5 ล้านล้านดดอลลาร์ในปี 2548 มาเป็น 15.9 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ค.2563
เฉพาะธนาคารกลางสหรัฐนั้นได้เพิ่มงบดุลจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2562 (ก่อนโควิด-19) มาเป็น 7 ล้านล้านดอลลาร์ในขณะนี้ การที่ปริมาณเงินสกุลหลักเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาอันสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาทย่อมทำให้เงินบาท “หายากและขาดแคลน” ในเชิงเปรียบเทียบ (relative scarcity)
กล่าวโดยสรุปคือ หากสามารถแก้ไขปัจจัยดังกล่าวข้างต้นได้ การเก็งว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อไปก็จะจบลงได้อย่างเฉียบพลันในความเห็นของผม แต่ก็ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้อย่างมีนัยสำคัญในเวลาอันสั้น
แม้ 3 ปัจจัยข้างต้นยังจะอยู่กับประเทศไทย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวคือการที่เศรษฐีของไทยจะตื่นตระหนกจากความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างมาก จนทำให้ร่วมกันตัดสินใจขนเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากในระยะเวลาใกล้เคียงกัน (capital flight) ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่เราก็เห็น ธปท.ออกมาตรการส่งเสริมให้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อช่วยลดแรงกดดันที่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) นั้นข้อมูลที่ธนาคารโลกรวบรวมเกี่ยวกับเงินเฟ้อทั่วโลก พบว่าเงินเฟ้อของโลกเฉลี่ยเท่ากับ 2% ส่วนเงินเฟ้อของสหรัฐนั้นเฉลี่ยเท่ากับ 1.5% ต่อปี แต่สำหรับประเทศไทยนั้นเฉลี่ยเพียง 0.4% ต่อปี (เปรียบเทียบกับเป้าเงินเฟ้อที่ 2.5% ต่อปี) ในขณะที่ในปีนี้นั้นคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐจะประมาณ 1.3% และสำหรับประเทศไทยนั้นจะเท่ากับ -0.8%
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น แม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะเกือบไม่มีเหลือแล้วแต่ประเทศไทยก็จะยังเกินดุลประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์ (ตามการคาดการณ์ของ ธปท.) ในปีนี้และในปีหน้า แปลว่าจะมีเงินไหลเข้าประเทศไทยสุทธิจากส่วนนี้เกือบ 1,200 ล้านดอลลาร์ (36,000 ล้านบาท) ทุกๆ เดือน
ซึ่ง 2 ปัจจัยดังกล่าวคือเงินเฟ้อต่ำและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะช่วยพยุงให้เงินบาทแข็งค่าได้ต่อไป หากธนาคารกลางของประเทศหลักของโลกจะยังดำเนินมาตรการ QE โดยการพิมพ์เงินใหม่เข้าระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดทอนผลกระทบจากโควิด-19 ต่อไปครับ
เงินบาทแข็งค่า/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1