บิทคอยน์ร่วง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

บิทคอยน์ร่วง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในเดือนธันวาคมปี 2560 ดิฉันเขียนถึงเรื่องคริปโตเคอเรนซี และเตือนท่านผู้อ่านเรื่องการเก็งกำไรในบิทคอยน์ หลังจากบทความลงตีพิมพ์ได้ 3 วัน ราคาของบิทคอยน์ก็เริ่มร่วง และดิ่งลงอย่างหนักตลอดปี 2561 มาฟื้นตัวในปี 2562 แต่ก็ปรับตัวขึ้นไปได้ประมาณครึ่งหนึ่งของที่ตกลงมา

บิทคอยน์เริ่มต้นปี 2563 นี้ได้ค่อนข้างดี แต่ก็มาตกลงไปแรงในช่วงล็อกดาวน์โควิดเดือนมีนาคมเช่นเดียวกับสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ และมาฟื้นตัวจนเท่าก่อนตกในช่วงกลางๆปี หลังจากนั้นก็เดินหน้าปรับตัวขึ้นมาโดยตลอด ผ่านราคา 19,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 19,374 ดอลลาร์ และทำท่าว่าจะขึ้นไปเท่าและแซงราคาสูงสุดเดิมตอนปี 2560 ที่ราคา 19,783 ดอลลาร์ โดยมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ของบิทคอยน์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ได้เพิ่มไปถึง 352,000 ล้านดอลลาร์ แซงมูลค่าตลาดของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐคือ JP Morgan Chase & Co. ที่มีมูลค่าตลาดในวันที่ 24 พฤศจิกายน เท่ากับ 349,000 ล้านดอลลาร์

แต่ในวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) พฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ราคาของบิทคอยน์ก็ร่วงลงมาตลอด ร่วงไปต่ำสุดที่ 16,242.70 ดอลลาร์ หรือลดลงไปกว่า 3,000 เหรียญจากจุดสูงสุด เป็นการร่วงมากกว่า 15% ในวันเดียว

แม้ในขณะที่ดิฉันเขียนบทความนี้ ราคาจะปรับตัวขึ้นมาบ้างเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าลงหนัก

ถามว่าการขึ้นของบิทคอยน์ในครั้งนี้เกิดจากอะไร ตอบว่า หลักๆเกิดจาก “เงินไม่มีที่ไป (ลงทุน)”ค่ะ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน สภาพคล่องที่รัฐบาลต่างๆอัดฉีดเข้าระบบเพื่อพยุงเศรษฐกิจมาหลายปี และยังต้องพยุงมากขึ้นเพราะโรคระบาดไวรัสโควิด- 19 และราคาหุ้นเทคโนโลยีซึ่งโดดเด่นอยู่กลุ่มเดียว ก็ปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว เงินดิจิตัลอื่นๆที่ทำท่าว่าจะมาแทนคริปโตเคอเรนซี่ที่มีอยู่ ก็ยังไม่เกิด ลิบราของเฟซบุ้คก็มีอุปสรรคกีดขวาง จึงทำให้ผู้ลงทุนเห็นว่า บิทคอยน์น่าจะยังครองตำแหน่งตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่เป็นสากล ไร้อุปสรรคเรื่องกฎเกณฑ์ของธนาคารกลางหรือรัฐบาลใดๆไปได้อีกพักใหญ่

ตัวเร่งการปรับตัวขึ้นมาของบิทคอยน์ในช่วงปีนี้ ได้แรงส่งจากการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ที่มองว่าบิทคอยน์สามารถเป็น“สินทรัพย์ปลอดภัย” (Safe Haven) ในลักษณะเดียวกับทองคำได้ และเมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาสูง ไฉนบิทคอยน์จะไม่สามารถปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง

เมื่อราคาทองคำพักตัวหลังมีข่าวดีเรื่องการผลิตวัคซีนโควิด ที่มีผลคืบหน้าน่าพอใจ บิทคอยน์ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป เนื่องจากอุปทาน (Supply) มีจำกัด ในขณะที่อุปสงค์ (Demand) เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากสาเหตุที่ดิฉันเขียนไปด้านบน ราคาจึงพุ่งขึ้นไปสูง แต่ก็สูงมากจนต้องตกลงมา

โดยส่วนตัว ดิฉันชอบการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานรองรับ เมื่อพื้นฐานมีการเติบโต สินทรัพย์ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปด้วย แต่การที่ราคาของสินทรัพย์ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานเพียงปัจจัยเดียว เช่นในกรณีของคริปโตเคอเรนซี หรือสินทรัพย์อื่นๆที่มีผู้คิดขึ้นมาและให้มีจำนวนจำกัด ดิฉันมองว่าเป็นกลยุทธ์การตลาด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอาหาร สิ่งของ ข้าวของ และของสะสม ซึ่งไม่ใช่สินทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น นาฬิกา รถยนต์ ไวน์ พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง (เช่น จตุคามรามเทพ) หรือ เครื่องปรุงอาหารรสชาดดี เช่น เห็ดทรัฟเฟิล หรือแม้แต่อาหารตามร้านที่ปรุงจำนวนจำกัด โดยเชฟชื่อดัง ฯลฯ

ธรรมชาติของมนุษย์ ยิ่งรู้ว่ามีน้อย ก็ยิ่งอยากได้ ของที่เล่นกับดีมานด์และซับพลาย จึงเป็นของที่ถูกปั่นราคาได้ง่าย ไม่เหมาะสำหรับการลงทุนค่ะ

เพราะต้องอย่าลืมว่า เราลงทุนเพื่ออย่างน้อยก็รักษาอำนาจซื้อของมูลค่าเงินของเรา และมุ่งหวังเพิ่มมูลค่าให้เงินลงทุนของเราด้วย แต่การมุ่งหวังเพิ่มมูลค่านั้น เราต้องเตรียมเผื่อไว้ว่า อาจมีความผันผวน หรือเรียกภาษาวิชาการว่า “มีความเสี่ยง” เราจึงต้องกระจายลงทุนในสินทรัพย์หลายๆประเภท เผื่อประเภทใดประเภทหนึ่งเกิดพลิกผันไม่เติบโตดังคาด เรายังมีเงินลงทุนในประเภทอื่นที่อาจให้ผลตอบแทนดีมาชดเชย
พื้นฐานรองรับของการลงทุนในตราสารหนี้ กลุ่มพันธบัตรภาครัฐ ก็คือ อัตราเงินเฟ้อ กับ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง โดยมีความผันผวนของผลตอบแทนเป็นความเสี่ยง ซึ่งความผันผวนของราคาและผลตอบแทน จะเกิดขึ้น หากมีการเปลี่ยนแปลงของภาพเศรษฐกิจรวม เช่น นโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางของการเงินการคลังของรัฐ ฯลฯ

สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งผู้ลงทุนรู้จักกันในนาม “หุ้นกู้” นอกจากพื้นฐานรองรับ จะเป็นอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง แล้ว ยังมีความเสี่ยงทางเครดิตเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปความเสี่ยงทางเครดิตของภาคเอกชน จะสูงกว่าภาครัฐ (ยกเว้นบางกรณีในบางประเทศที่ภาครัฐอ่อนแอ) เนื่องจากโดยทั่วไป รัฐสามารถเก็บภาษีมาชำระหนี้ได้อยู่แล้ว

สำหรับ “หุ้นทุน” นั้น พื้นฐานรองรับคือความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ความสามารถในการบริหารจัดการให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤติ ให้บริษัทเติบโต มีรายได้ที่มั่นคง ปรับสินค้าและบริการไม่ให้ตกยุคสมัย ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ ความสามารถในการจัดการรายจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆที่อาจมากระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท เช่น การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมให้ดี เพื่อจะได้ไม่ถูกปรับ หรือถูกสั่งปิดโรงงาน การดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม เช่น การผลิตและขายสินค้าที่มีคุณภาพ การจ้างงานอย่างยุติธรรม มีการต่อเนื่องในการบริหารงานและผู้สืบทอดการบริหาร การดูแลและให้ข้อมูลผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การให้ความใส่ใจในชุมชนที่เป็นแหล่งที่ตั้งสำนักงานและโรงงาน ฯลฯ

ทั้งสามสินทรัพย์ที่กล่าวไป เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) ซึ่งคือสิทธิในการรับผลตอบแทน หรือกระแสเงินสดในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนจับต้องไม่ได้ ดังนั้น จึงควรต้องศึกษาว่า การลงทุนนั้น ให้สิทธิอะไรกับเรา เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ ให้สิทธิในการรับดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ และให้สิทธิในการรับเงินต้นคืนเมื่อครบอายุ ส่วนการลงทุนในหุ้นทุน ก็ให้สิทธิในการรับเงินปันผลในอนาคต และสิทธิในการรับเงินลงทุนคืนหากเลิกกิจการ หรืออาจขายคืนให้ผู้อื่น หากไม่ต้องการลงทุนต่อ

หากท่านสนใจลงทุนในคริปโตเคอเรนซี ดิฉันแนะนำให้รอ ดิจิตัลเคอเรนซีที่จะออกโดยธนาคารของประเทศต่างๆดีกว่าค่ะ ที่มาแรงและเร็วคือ “เงินหยวนดิจิตัล” ซึ่งดิฉันเคยเขียนถึงไปแล้ว ว่ากำลังจะทดลองใช้ปลายปีนี้ และประเทศไทยเราก็กำลังศึกษาที่จะออก “เงินบาทดิจิตัล” ด้วยเช่นกัน
โพสต์โพสต์