ในโลกอนาคตที่ความไม่แน่นอนมีสูง มีภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ และมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าเราจะเก่งขนาดไหน มีประสบการณ์มามากมายเพียงใดก็ตาม เราจะพบว่าตัวเราเองมีความสามารถในการควบคุมสิ่งต่างๆได้น้อยลง การควบคุมนี้รวมไปถึงการโน้มน้าวจิตใจของผู้คนให้เห็นคล้อยตามเราด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือบุคคลอื่นๆที่เราต้องเกี่ยวข้องหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย
การนำระบบอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติเข้ามาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักร หรือคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน การดูคลิปหรือภาพยนตร์ผ่านโลกออนไลน์ ทำให้เราเคยชินกับโลกที่เราสามารถหยุด หรือควบคุมสิ่งต่างๆได้ แล้วเมื่อเราว่างหรือสะดวก สามารถกลับมาทำต่อโดยไม่เสียหาย เช่น เราทำงานค้าง เราก็เก็บไฟล์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ออกไปพักรับประทานอาหารกลางวัน แล้วกลับมาทำต่อได้ หรือนำมาแก้ไขใหม่ได้ โดยไม่มีอะไรเสียหาย ไม่มีรอยต่อ
แต่หากเราต้องอยู่กับธรรมชาติ มันจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้เราจะพยายามควบคุมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดเหตุการณ์ทางธรรมชาติ แต่เราก็มีความสามารถในการควบคุมธรรมชาติที่จำกัด หากเราเก็บเกี่ยวพืชผลไม่เสร็จ เกิดมีฝนตก เมื่อฝนหยุด เราไปเก็บเกี่ยวต่อ พืชผลที่เราจะไปเก็บเกี่ยวต่อจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ในการปรุงอาหาร คุณภาพของวัตถุดิบ ที่มาจากธรรมชาติ บางครั้งก็ไม่เหมือนกัน ไม่สม่ำเสมอเหมือนที่เราต้องการให้เป็น ผู้ที่อยู่กับธรรมชาติจึงเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของความไม่แน่นอน และในการไม่สามารถควบคุมทุกอย่างให้เป็นดังใจของเรา จึง “ทำใจ” และ “ปรับตัว” ได้มากกว่า ผู้ที่อยู่ในโลกของการทำงานกับเครื่องจักร หรือทำงานในออฟฟิศ
การ “ทำใจ” จึงเป็นเรื่องที่เราต้องฝึก และต้องนำไปใช้ ในโลกอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง และมีปัจจัยมากมายที่เราควบคุมไม่ได้ (Uncontrollable Factors) แต่เราไม่ควรจะทำใจยอมรับหากยังไม่ได้ทำในสิ่งต่อไปนี้ค่ะ
ข้อที่หนึ่ง เราได้ทำให้ดีที่สุดแล้วหรือยัง ถ้าเราได้หาข้อมูล คิดวางแผน ดำเนินการ และติดตามผลอย่างดีที่สุดแล้ว ทบทวนแล้ว แก้ไขข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เราก็ต้องยอมรับค่ะ
ทุกคนมีข้อจำกัด ทุกคนไม่ได้สมบูรณ์เพียบพร้อม ต่างคนก็ต่างมีจุดอ่อน เราไม่สามารถเป็นซุปเปอร์แมนทำทุกอย่างได้ดีหมด
ข้อที่สอง เราได้บริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีแล้วหรือยัง ความเสี่ยงคือการเบี่ยงเบนไปจากความคาดหมาย เมื่อมีความไม่แน่นอน ก็มีความเสี่ยง เราไม่ควรจะรับความเสี่ยงทั้งหมดเต็มๆ แต่ต้องบริหารจัดการโดย อาจลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงนั้น หรือวางแผนบรรเทาความเสียหาย หรือถ่ายโอนความเสี่ยงไปให้ผู้อื่นรับ เช่น การทำประกันภัย หรือถ้าเป็นความเสี่ยงเล็กๆน้อยๆ เราอาจจะรับไว้เอง ก็ต้องมีงบประมาณที่จะใช้ในการรับมือกับความเสี่ยงด้วย
บางครั้งความเสี่ยงอาจเกิดจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ที่ร่วมงานกับเรา ผู้ส่งวัตถุดิบ หรือสินค้าให้เรา ต้องดูแลบริหารจัดการให้เขา หรือ ให้เขามีการบริหารจัดการในส่วนนี้ด้วยนะคะ
ข้อที่สาม เราได้ขอความร่วมมือ แบ่งปันข้อมูล หรือได้ร่วมแรงร่วมใจกับคนอื่น เพื่อดูแล ปกป้อง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กำจัดสาเหตุ หรือลดโอกาสเกิดของปัญหาใหม่ๆที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วหรือยัง ตามที่ดิฉันได้เคยเขียนไป เราไม่สามารถทำทุกอย่างเองได้ และวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับอนาคต คือการรวมพลังกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ใช้ความเชี่ยวชาญส่วนตัวของแต่ละคนให้เป็นประโยชน์กับองค์กรและส่วนรวม สามัคคีกันไว้ ปัญหาก็จะเกิดน้อยลง หรือหากเกิดก็ไม่รุนแรง หรือยังมีสิ่งบรรเทาความเสียหายได้
ไม่ว่าท่านจะเป็นเยาวชน เป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นผู้สูงวัย ไม่ว่าจะจบการศึกษาจากที่ไหน มีฐานะเช่นใด ไม่ว่าจะมีความชอบ ความเชื่อ หรือมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบไหนก็ตาม โลกอนาคตเป็นโลกที่ท่านต้องเรียนรู้ ต้องปรับตัว และต้องอยู่อย่างมีความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ท่านต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายโลก ละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หยุดการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด มีจิตใจเอื้ออารี แบ่งปัน ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมโลก
เมื่อท่านได้ทำทุกอย่างให้ดีและรอบคอบแล้ว หากจะมีอะไรที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ท่านก็ต้องยอมรับและทำใจเป็นกลาง หรืออุเบกขา ตามหัวข้อเรื่องนี้ค่ะ ไม่ว่าอะไรที่จะเกิดก็ต้องปล่อยให้เกิด เพราะส่วนที่ควบคุมได้ ป้องกันได้ วางแผนแก้ไขได้ ท่านก็ได้ทำไปหมดแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ค่ะ
ขอให้ท่านอยู่รอดปลอดภัย ใช้ชีวิตอย่างมั่นใจ มีความสุข และมีความหมาย ตลอดไปค่ะ
อุเบกขา/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1