ทำไมธนาคารกลางไม่ส่งเสริมคริปโตเคอร์เรนซี/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ทำไมธนาคารกลางไม่ส่งเสริมคริปโตเคอร์เรนซี/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ท่านที่ติดตามบทความของดิฉันมานาน คงจะทราบอยู่แล้วว่าดิฉันไม่สนับสนุนให้นำเงินเพื่อการเกษียณอายุงาน ไปลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี และเคยให้เหตุผลไปบ้างแล้วว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการออกเงินคริปโตหลายสกุล คือ บล็อกเชนนั้น เป็นเทคโนโลยีที่ดี สามารถนำมาใช้ในการทำธุรกรรมที่ป้องกันการปลอมแปลงได้ดี แต่การลงทุนในเงินคริปโตที่ไม่มีเจ้าภาพเป็นธนาคารกลาง เป็นการลงทุนที่เสี่ยง เพราะปัจจัยพื้นฐานที่รองรับเป็นปัจจัยที่เกิดจากอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ล้วนๆ หากมีความต้องการซื้อในตลาดสูง ก็จะผลักดันราคาให้ขึ้นไปสูงมากๆได้ โดยเฉพาะหาก สินค้ามีจำนวนจำกัด ซึ่ง บิทคอยน์ ใช้วิธีการลดปริมาณลงเป็นระยะๆ เพื่อช่วยพยุงราคาไว้

ในขณะเดียวกัน หากความต้องการลดลง ราคาก็สามารถลดลงไปได้ด้วย การหมุนเวียนเปลี่ยนมือของคริปโตเคอร์เรนซี จึงอยู่เฉพาะในกลุ่มคนจำกัด ที่ยอมรับความเสี่ยงทั้งจากความผันผวนของมูลค่า และจากการไม่มีเจ้าภาพดูแลได้ เปรียบเสมือน “ชิป” ในบ่อนคาสิโน ซึ่งจะมีมูลค่าเฉพาะในคาสิโนแห่งนั้น เมื่อออกจากคาสิโนนั้นไป “ชิป”นั้นก็เป็นเหรียญพลาสติกธรรมดา

อย่างไรก็ดี หากมีปัจจัยอื่นเช่น ความสามารถในการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของ “เงิน” โดยทั่วไป คริปโตเคอร์เรนซี ก็จะมีคุณค่ามากขึ้น เพราะมีปัจจัยพื้นฐานมารองรับเพิ่มเติม

นอกจากประเทศเอล ซัลวาดอร์ ซึ่งประกาศใช้บิทคอยน์ เป็นเงินที่สามารถใช้ในการจับจ่ายซื้อสินค้าและแลกเปลี่ยนได้ เพิ่มเติมจาก ดอลลาร์สหรัฐที่ใช้อยู่ นั้น ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ออกมาเหยียบเบรกการนำคริปโตเคอร์เรนซีมาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนแทน “เงิน”ของประเทศนั้นๆ

เหตุผลที่ เอล ซัลวาดอร์ ประกาศใช้ บิทคอยน์ เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เนื่องจากคนเอล ซัลวาดอร์ กว่า 70% ไม่มีบัญชีธนาคาร และคนที่ออกไปทำงานนอกประเทศ ส่งเงินกลับบ้าน คิดเป็นถึง 1 ใน 5 ของจีดีพี ที่ผ่านมาใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน และการพึ่งพาสถาบันการเงินในการโอนเงินมีค่าใช้จ่ายสูง

แต่หลายประเทศมองเห็นถึงอันตรายของการมี “เงิน” สกุลอื่นนำมาใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของและบริการ โดยเฉพาะ “เงิน” ที่ไม่มีการควบคุม และเงินที่มีค่าที่ผันผวนสูง เพราะหากปล่อยให้ใช้เป็นการแพร่หลาย คนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องก็อาจจะตกเป็นผู้เสียเปรียบ

ธนาคารกลางของหลายประเทศกำลังศึกษาเรื่องนี้ และส่วนใหญ่ ศึกษาแบบที่ธนาคารกลางจะเป็นเจ้าภาพเอง คือเงินดิจิทัลของสกุลตัวเอง ซึ่งดิฉันคิดว่าน่าสนใจในด้านการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่สะดวก ต้นทุนต่ำ แต่ในแง่การลงทุน เงินดิจิทัลจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้ จึงต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าน่าสนใจลงทุนหรือไม่

ประเทศจีนได้ออกมาเบรกความร้อนแรงของ คริปโตเคอร์เรนซี ด้วยการประกาศไม่ยอมรับให้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่ถูกกฎหมาย หลังจากนั้นก็มีอีกหลายประเทศ ออกมาประกาศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย และล่าสุดคือ ประเทศรัสเซีย

ไม่ใช่ว่าคริปโตเคอร์เรนซีไม่ดีนะคะ แต่เป็นเรื่องของการลงทุนที่ควรจะอยู่ในวงจำกัด เฉพาะผู้ลงทุนที่มีความรู้ เหมือนเป็นคลับดีล แลกกันเองภายในกลุ่ม ถ้าจะเอามาใช้เป็นการทั่วไป เช่น ซื้อคอนโด ซื้ออาหาร ของใช้ ซื้อทอง ซื้อเพชร ฯลฯ ผู้ซื้อและผู้ขาย ต้องเข้าใจธรรมชาติของตัวกลางนี้ค่ะ

หลายคนเห็นว่า การไม่ลงทุนในเงินคริปโตเป็นการเสียโอกาส ซึ่งดิฉันมองว่า ยังมีโอกาสอื่นๆให้ลงทุนมากมาย การลงทุนในคริปโตเป็นการเก็งกำไร หากผู้ลงทุนทำใจได้ว่า หากเงินที่ลงทุนไปหากไปหมดก็ยังไม่เดือดร้อน ก็สามารถลงทุนได้ค่ะ ลงเล่นๆ สนุกๆ แต่หากเงินลงทุนหายไปหมด ท่านเดือดร้อน ท่านก็ไม่ควรลงทุน

คนดังที่ลงทุน ทั้งลงทุนส่วนตัวและนำเงินของบริษัทไปลงทุน มีสองค่ายค่ะ หากถาม อีลอน มัสก์ ซึ่งนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินของเทสล่าไปลงทุนใน บิทคอยน์ เขาก็จะตอบว่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหุ้นของเทสล่า แต่หากถาม คุณทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิล เขาก็จะตอบว่า ผู้ลงทุนในบริษัทแอปเปิล ลงทุนเพื่อเติบโตไปกับธุรกิจของบริษัท ไม่ได้ลงทุนเพื่อให้บริษัทบริหารเงินสดให้โดยการนำไปลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวมีการลงทุนในบิทคอยน์ไหม คุณทิม คุก ตอบตรงๆว่า มีการลงทุน เพราะตัวเขาเองรับความเสี่ยงนี้ได้

สำหรับโทเค่น (Token) ซึ่งกำลังนิยมออกมานั้น มีความแตกต่าง โทเค่นจะเป็นเสมือนสัญลักษณ์แสดงสิทธิ์ เริ่มต้นจากอดีต ที โทเค่นรถราง โทเค่นรถไฟ โทเค่นเล่นเกม ก็เป็นการแลกเหรียญ เพื่อให้มีสิทธิ์ ขึ้นรถ หรือเล่นเกมได้

โทเค่นของโครงการอสังหาริมทรัพย์ ก็เปรียบเสมือนหน่วยลงทุน หรือแชร์ ที่ลงขันกัน เพื่อทำโครงการอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อมีผลกำไรก็มีสิทธิ์ในการรับการแบ่งปัน หรือเมื่อขาดทุนก็ขาดทุนด้วยกัน ตรงนี้ หากเรามีการกำกับดูแลที่ดี ให้มีการเปิดเผยข้อมูลกับผู้ซื้อหรือผู้ลงทุน เพื่อให้เขาสามารถพิจารณา ก็จะช่วยลดโอกาสของการลงทุนโดยไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ลดโศกนาฏกรรมได้มากค่ะ ซึ่งประเทศไทยถือว่าทันสมัย มีการกำกับดูแลตั้งแต่หลายปีก่อน

ส่วนผู้ประกอบการตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี หรือโทเค่น ก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ซึ่งจะได้ค่าธรรมเนียม และหากเป็นดีลเลอร์เอง ก็จะมีกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายได้เช่นกัน

ดิฉันนึกถึงภาพยนตร์สารคดีที่ไปดูในหอประวัติศาสตร์ของเมืองสเกกเวย์ (Skagway) ในอแลสกา เขาบรรยายถึงยุคตื่นทอง (Gold Rush) ว่ามีผู้คนแห่แหนไปขุดทองกันมากมาย แม้จะลำบาก ในคำบรรยายไม่ได้บอกว่าพบทองมากไหม แต่สรุปตอนท้ายคล้ายๆกับว่า กลุ่มที่พบโชคและมีความมั่งคั่งจริง คือกลุ่มผู้ประกอบการที่ไปให้บริการกับนักเผชิญโชคเหล่านั้น ทั้งร้านอาหาร พับ บาร์ บริการซักรีด ฯลฯ

เวลาพูดถึงเรื่องคริปโตเคอร์เรนซี และโทเค่น จึงต้องดูด้วยว่า พูดในบริบทไหน เพราะแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็มีหน้าที่ มีรายได้ มีผลตอบแทน และมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันค่ะ
โพสต์โพสต์