สัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวพาดหัวเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆไหนที่ดังกว่าพาดหัวข่าวเรื่องราคาคริปโตเคอร์เรนซีที่ดิ่งลงอย่างหนัก โดยเฉพาะบิทคอยน์ที่ดิ่งลงจากจุดสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนประมาณ 50% ส่งผลให้นักลงทุนที่ลงคริปโตบางกลุ่ม ขายสินทรัพย์อื่นเพื่อชดเชยการขาดทุนในคริปโตด้วย จึงทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลง
ท่านที่เป็นแฟนคอลัมน์ Money Pro คงทราบอยู่แล้วว่า ดิฉันไม่สนับสนุนให้ผู้ลงทุนทั่วๆไปลงทุนในเงินดิจิทัลประเภทที่ไม่มีธนาคารกลางดูแล หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “เงินคริปโต (Crypto Currencies)” ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา และร้อนแรงมากในช่วงปลายปี 2564 โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า Coin Gecko ประมาณว่า มูลค่าตลาดสูงสุด ของคริปโตทั้งหมดในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 98 ล้านล้านบาท
ในตอนนั้น ราคาบิทคอยน์ (BITCOIN) ขึ้นไปสูงสุดที่ 68,000 เหรียญ หรือประมาณ 2.176 ล้านบาท ราคาบิทคอยน์ได้ลดลงไปต่ำกว่า 30,000 เหรียญในวันที่ 11 พฤษภาคม และในวันที่ 12 พฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 27,212 เหรียญสหรัฐ ลดลงไปจากต้นปี 2565 43.48% และลดลงไปจากจุดสูงสุด 60% และมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ลดลงจาก 1,312 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 42,000 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 525 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 18,200 ล้านล้านบาท (คำนวณตามค่าเงินบาทที่อ่อนลงแล้ว)
เงินคริปโตขนาดใหญ่รองลงมาคือ อีเธอเรียม (Ethereum) ก็มีราคาลดลงเช่นกัน จากต้นปี 2565 ราคาตกลงมาแล้ว 51.33% เหลือ 1,847 เหรียญสหรัฐ มูลค่าตลาดตกลงมาเหลือ 228 ล้านล้านบาท หากไล่เรียงดูราคาก็จะพบว่า ตกทั้งกระดาน มีขึ้นอยู่เพียง 6-7 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่ ราคาก็ขึ้นมาจากต้นปีน้อยมาก ไม่ถึง 0.1% เราอาจจะถือว่า ตกทั้งกระดานเลยก็ได้ค่ะ
มูลค่าตลาดของเงินคริปโตทั้งหมด ณ วันที่ 12 พฤษภาคม เหลือไม่ถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่ถึง 52 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่ายังเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ แต่ก็เป็นสินทรัพย์ใหม่ที่เติบโตขึ้นมามาก โดยข้อมูลจากรอยเตอร์ส แจ้งว่า ขนาดของตลาดหุ้นสหรัฐ เท่ากับ 49 ล้านล้านเหรียญ และขนาดของตลาดตราสารหนี้สหรัฐ เท่ากับ 52.9 ล้านล้านเหรียญ
ถามว่าใครคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดลงของตลาดเงินคริปโต ข้อมูลของ Coinbase แสดงว่า ตลาดเงินคริปโตเริ่มจากผู้ลงทุนรายย่อย แต่ก็ขยายไปสู่ผู้ลงทุนสถาบันใน 1-2 ปีที่แล้ว ณ ปัจจุบัน ผู้ลงทุนในตลาดเงินคริปโต เป็นผู้ลงทุนรายย่อยกับสถาบันอย่างละประมาณครึ่งหนึ่งค่ะ เพราะฉะนั้น ก็เฉลี่ยกันเจ็บตัวไป
ท่านที่ไม่ได้ลงทุนในเงินคริปโต และเคยบ่นเสียดายมาหลายปี ตอนนี้อาจจะรู้สึกสบายใจ และตอกย้ำว่า ในการลงทุน “เสียดาย (ที่ไม่ได้ลงทุน) ดีกว่า เสียใจ (ที่ลงทุนแล้วขาดทุน)”
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนที่ไม่ได้ลงทุน เพราะไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องเงินคริปโต ก็ได้รับการพิสูจน์เรื่องกฎการลงทุนข้อที่หนึ่งคือ “ไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ”
ผู้บริหารที่นักลงทุนควรจะต่อว่า คือ อีลอน มาสก์ ซึ่งประกาศนำเงินของ บริษัทเทสล่า ไปลงทุนในบิทคอยน์ และผู้บริหารที่นักลงทุนควรให้เครดิตคือ ทิม คุก ซีอีโอของ แอปเปิล ที่ให้เหตุผลที่ไม่นำเงินของบริษัทไปลงทุนในบิทคอยน์ ว่า “ผู้ลงทุนที่ลงทุนในหุ้นแอปเปิล ไม่ได้ต้องการลงทุนในเงินคริปโต หากผู้ลงทุนต้องการลงทุนในเงินคริปโต ผู้ลงทุนสามารถลงทุนเองได้ ไม่ต้องลงทุนผ่านแอปเปิล”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทที่เข้าถึงแหล่งทุน คือบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆทั่วโลก ได้แปรสภาพเป็นบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) กันไปมากมาย เนื่องจากเห็นโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ สร้างกำไร เนื่องจากต้องการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจหลักที่อยู่ ไปยังธุรกิจอื่นๆ หรืออาจจะเพื่อความสะดวกในการจัดการธุรกิจของบริษัทลูก คือ ซื้อง่ายขายสะดวก และเป็นการใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัทแม่ รวมถึงชื่อเสียงของแม่ เพื่อการบริหารจัดการบริษัทลูก
การมีสภาพเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจต่างๆภายใต้การลงทุนของบริษัทโฮลดิ้ง ซับซ้อน และ ยากกว่าการวิเคราะห์การลงทุนทั่วๆไป ผู้ลงทุนจึงต้องทำการศึกษาวิเคราะห์บริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุน หรือสนใจลงทุน เพื่อให้เห็นถึงสภาวะที่แท้จริงของธุรกิจต่างๆ ภายใต้การจัดการของบริษัทแม่ ซึ่งดิฉันแนะนำว่าต้องพึ่งพาการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เพื่อช่วยให้ท่านเห็นภาพของธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น
ปัจจุบัน ตลาดการลงทุนมีความผันผวนเพิ่มขึ้น มีสินทรัพย์ต่างๆให้เลือกลงทุนมากขึ้น แต่ละสินทรัพย์ก็มีการเพิ่มลักษณะพิเศษไปเรื่อยๆ ผู้ลงทุนต้องพยายามทำความเข้าใจด้วยการหาคำตอบของสามคำถามดังนี้
1. การลงทุนนี้ ผู้ลงทุนเป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นเจ้าของ : แน่นอนว่าเจ้าหนี้จะได้รับเงินคืนก่อนกรณีธุรกิจล้มละลายไป แต่ก็ต้องเรียงลำดับ จากหนี้ปกติ หนี้ด้อยสิทธิ์ แล้วจึงมาถึงผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้น หากเป็นเจ้าหนี้ ก็จะคาดหวังได้ว่าผลตอบแทนจะต่ำกว่าเจ้าของ แต่ความเสี่ยงก็จะต่ำกว่า
2. กำหนดจ่ายผลตอบแทนอย่างไร : รายปี รายครึ่งปี รายไตรมาส หรือไม่จ่ายเลยจนกว่าจะครบอายุ หรือขายออกไป เพื่อให้เราสามารถจัดให้เหมาะสมกับสภาพคล่องที่เรามีอยู่ และเหมาะสมกับการใช้เงินของเรา
3. โอกาสรับผลตอบแทนสูงสุด หรือโอกาสขาดทุนมากที่สุด เป็นอย่างไร : เพื่อให้เรารับทราบผลตอบแทนที่คาดหวัง และพิจารณาว่า เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เราต้องรับหรือไม่ หากเสี่ยงมาก เราก็ลงทุนในสัดส่วนที่น้อยหน่อย หรือไม่ลงทุนเลย ก็จะเป็นวิธีการจัดการความเสี่ยงได้แบบหนึ่งค่ะ
เวลาที่พิจารณาลงทุน ท่านไม่ต้องรีบร้อน โดยเฉพาะตราสารหนี้ออกใหม่ๆ เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น หากท่านต้องลงทุนระยะยาว ท่านต้องเผื่อค่าเสียโอกาสด้วย ค่อยๆทยอยลงทุน รอดูจังหวะหาผลตอบแทนที่เหมาะสมได้ค่ะ
คริปโตดิ่ง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1
คริปโตดิ่ง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
โพสต์ที่ 1
-
- Verified User
- โพสต์: 172
- ผู้ติดตาม: 0
Re: คริปโตดิ่ง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
โพสต์ที่ 2
ขออนุญาต ช่วยแก้ให้นะครับ
ในตอนนั้น ราคาบิทคอยน์ (BITCOIN) ขึ้นไปสูงสุดที่ 68,000 เหรียญ หรือประมาณ 2.176 ล้านบาท ราคาบิทคอยน์ได้ลดลงไปต่ำกว่า 30,000 เหรียญในวันที่ 11 พฤษภาคม และในวันที่ 12 พฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 27,212 เหรียญสหรัฐ ลดลงไปจากต้นปี 2565 43.48% และลดลงไปจากจุดสูงสุด 60% และมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ลดลงจาก 1.312 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 42 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 0.525 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 18.2 ล้านล้านบาท (คำนวณตามค่าเงินบาทที่อ่อนลงแล้ว)
ในตอนนั้น ราคาบิทคอยน์ (BITCOIN) ขึ้นไปสูงสุดที่ 68,000 เหรียญ หรือประมาณ 2.176 ล้านบาท ราคาบิทคอยน์ได้ลดลงไปต่ำกว่า 30,000 เหรียญในวันที่ 11 พฤษภาคม และในวันที่ 12 พฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 27,212 เหรียญสหรัฐ ลดลงไปจากต้นปี 2565 43.48% และลดลงไปจากจุดสูงสุด 60% และมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ลดลงจาก 1.312 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 42 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 0.525 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 18.2 ล้านล้านบาท (คำนวณตามค่าเงินบาทที่อ่อนลงแล้ว)