ครึ่งปีแรกของปี 2565 ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เป็นครึ่งปีที่มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ไม่แพ้ปี 2563 ที่โควิดเริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ปีนี้มีทั้งโควิดที่ยังไม่หายไปจากโลก มีทั้งความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นสงคราม ห่วงโซ่อุปทานที่ขาดหาย ราคาโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น นำไปสู่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา และในบางประเทศ เกิดการไหลของทุน เพื่อโยกย้ายไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และย้ายไปสู่ที่ที่คิดว่าปลอดภัยกว่า ความผันผวนน้อยกว่า ใกล้ตัวมากกว่า ฯลฯ
หกเดือนแรกของปี 2565 สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนเป็นบวกมีเพียงสองกลุ่มคือ น้ำมันและโภคภัณฑ์ โดยที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดคือ น้ำมัน วัดจากดัชนีราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัส หรือ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 37.37% และตามมาด้วยดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นเป็นอันดับสอง (แน่นอนเพราะมีราคาน้ำมันเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย) โดยเพิ่มขึ้น 25.29%
ที่เหลือขาดทุนหมดค่ะ ขาดทุนมากหรือน้อยเท่านั้น โดยสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนขาดทุนน้อยที่สุดคือ ทองคำ ให้ผลตอบแทนติดลบ 1.2% ตลาดหุ้นไทยโดยดัชนี SET ให้ผลขาดทุน 5.39% น้อยกว่าดัชนีพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ให้ผลขาดทุน 8.21% ดัชนีหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่นติดลบไป 8.33% หุ้นในตลาดเกิดใหม่ วัดโดยดัชนี MSCI Emerging Market ลดลง 17.47% ดัชนีกองทุนอสังหาริมทรัพย์โลก ลดลง 20% ดัชนีหุ้นทั่วโลก วัดโดย MSCI World ลดลง 20.29% หุ้นสหรัฐอเมริกา วัดโดยดัชนี S&P 500 ลดลงไป 20.58% ตลาดหุ้นแนสแดค (NASDAQ) ลดลง 29.5% และบิทคอยน์ ลดลง 60.45%
ท่านที่เป็นแฟนคอลัมน์ Money Pro มายาวนาน คงจำได้ว่าดิฉันเคยเขียนว่า ค่าความผันผวน ซึ่งเป็นค่าที่ใช้วัดความเสี่ยงในการลงทุน (ผันผวนมากหมายถึงเสี่ยงมาก ผันผวนน้อยหมายถึงเสี่ยงน้อย) ในปี 2561-2562 และปี 2564 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาในอดีต เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้ผู้ลงทุนส่วนหนึ่ง สบายใจกับตลาดทุนมากเกินไป พอมีการปรับตัว เป็นแบบค่อยๆซึมลง ก็เลยจะคล้ายๆกบอยู่ในน้ำ แล้วเอาไปตั้งไฟ น้ำค่อยๆอุ่นขึ้น ก็ไม่ได้กระโดดออกมา จนน้ำร้อนมากก็กระโดดออกมาไม่ได้แล้ว
ค่าความผันผวนในครึ่งปีแรกนี้สูงเกือบทุกสินทรัพย์ ยกเว้นพันธบัตรรัฐบาลไทย ซึ่งยังอยู่ที่ 4.57%ต่อปี ถัดไปคือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET INDEX) ซึ่งครึ่งปีแรกมีค่าความผันผวน 11.76%ต่อปี ทองคำมีค่าความผันผวน 14.55% อสังหาริมทรัพย์โลก มีค่าความผันผวน 18.72% หุ้นทั่วโลกมีค่าความผันผวน 21.21% หุ้นญี่ปุ่นมีค่าความผันผวน 21.61% หุ้นตลาดเกิดใหม่ มีค่าความผันผวน 21.83% โภคภัณฑ์มีค่าความผันผวน 23.64% หุ้นสหรัฐมีค่าความผันผวน 24.5% น้ำมัน ถึงแม้จะให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในครึ่งแรกของปี แต่มีค่าความผันผวนถึง 50.63% และบิทคอยน์ มีค่าความผันผวน 69.47% ต่อปี
เดินหน้าต่อไปจะจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร
ตามที่ดิฉันเคยเขียนไปเมื่อเกือบสองปีก่อน โลกหลังโควิดเปลี่ยนไป นอกจากนั้น ในปีนี้ ปัจจัยเรื่องความขัดแย้งยังเพิ่มขึ้น โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราจึงต้องปรับพอร์ตการลงทุนของเราให้สอดคล้องกับสภาวะที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นด้วย
เราต้องพิจารณาพอร์ตการลงทุนอย่างละเอียด และจัดพอร์ตใหม่ โดยพิจารณาหลักทรัพย์ หรือหากลงทุนผ่านกองทุนรวม ก็พิจารณากองทุนอย่างละเอียดว่า หลักทรัพย์ หรือนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ เหมาะกับสถานการณ์นี้และเหมาะสมกับอนาคตข้างหน้าหรือไม่ หากไม่เหมาะสม ต้องตัดใจขายออกไป ลองดูจังหวะที่มีการปรับตัวเพิ่ม หรือที่นิ่งๆ ทยอยปรับออก และวางแผนสลับตัว หรือสลับกองทุน เพื่อให้พอร์ตเหมาะสมกับสถานการณ์ค่ะ
สำหรับพอร์ตลงทุนระยะยาว ครึ่งหลังของปีนี้ ควรลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยการลดสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีความผันผวนหรือความเสี่ยงสูง และเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเข้าไป และใช้โอกาสนี้ปรับพอร์ตไปเรื่อยๆ ปลายปีก็น่าจะได้พอร์ตที่เหมาะสม
ณ ปัจจุบัน และในช่วงต่อไป ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ ได้ปรับเพิ่มขึ้น จนถึงจุดที่น่าสนใจและคงจะปรับเพิ่มอีก ผู้ลงทุนควรวางแผนลงทุนและจัดสภาพคล่องให้ดีเพื่อจะได้ทยอยลงทุนเมื่อมีโอกาส ทั้งนี้ ไม่ควรดูผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว ขอให้ดูความเสี่ยงโดยดูจากอันดับความน่าเชื่อถือ และแนวโน้มธุรกิจด้วยค่ะ
เวลาที่ตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใดๆก็ตาม ผู้ลงทุนต้องอย่าคิดว่า “ราคาตกลงมาแล้ว น่าซื้อ” เพราะราคาตกเนื่องจากสะท้อนพื้นฐานที่เปลี่ยนไป หากพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปมาก ที่ตกไปแล้วอาจจะยังไม่ได้สะท้อนการตกทั้งหมด ต้องศึกษาพื้นฐานของธุรกิจ เพื่อหาราคาพื้นฐานใหม่ หาผู้ชนะในธุรกิจที่จะสอดคล้องกับอนาคตด้วยค่ะ
อย่าลืมว่า ต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ยิ่งอนาคตมีความไม่แน่นอนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องกระจายมากขึ้น อย่าทุ่มเทการลงทุนในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่ง หรือสินทรัพย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเพียงไม่กี่กลุ่ม การลงทุนไม่ใช่การพนัน หลักของการลงทุนคือต้องให้ได้ผลตอบแทนที่ดีภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม หรือเราจะกล่าวเสมอว่า Take calculated risk. หมายถึง เราจะรับความเสี่ยงที่เราคำนวณแล้วว่าคุ้มที่จะรับ และเราสามารถรับได้ เพราะฉะนั้น เราต้องแบ่งเงินลงทุนเป็นส่วนๆ และส่วนที่เป็นเงินลงทุนระยะยาวเท่านั้น จึงสามารถรับความเสี่ยงที่สูงได้ (ซึ่งตอนนี้ดิฉันแนะนำให้ลดความเสี่ยงของพอร์ตลงมาชั่วคราว) ส่วนเงินลงทุนระยะสั้น จะรับความเสี่ยงได้ต่ำ จึงควรจัดพอร์ตแบบเสี่ยงต่ำ และเงินลงทุนระยะปานกลาง 3-5 ปี ก็ควรลงทุนแบบเสี่ยงปานกลางนะคะ
สำหรับเงินคริปโท แม้ว่าขนาดของตลาดในช่วง พฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบัน จะลดลงไป หดหายไป 2 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 73 ล้านล้านบาท แล้ว ดิฉันก็ยังยืนกรานไม่แนะนำให้ลงทุนอยู่นั่นเองค่ะ
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุน ที่ขาดทุนอยู่ก็ขอให้สามารถกลับฟื้นขึ้นมาได้โดยไม่เดือดร้อนนะคะ ปลื้มใจมากที่มีแฟนคอลัมน์ เขียนมากบอกว่า “เพราะติดตามบทความการเงินการออมของพี่มาตลอด ถึงเศรษฐกิจจะเป็นขาลง แต่ก็อยู่ได้แบบไม่เดือดร้อน เพราะได้ความรู้เรื่องวางแผนการเงินจากพี่ค่ะ”
ลงทุนอย่างไรในครึ่งหลังของปี/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1