เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กระบวนการหรือวิธีการลงทุน (Playbooks) ที่เหมาะสมคือการยึดมั่นตามแนวทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เฝ้ามองหากิจการที่มี “ความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน” (Durable Competitive Advantage) บริษัทที่ผลิตสินค้าหรือบริการที่เรารู้จักและคุ้นเคย เรียบง่ายพอที่เราจะติดตามและทำความเข้าใจโครงสร้างทางธุรกิจได้อย่างไม่ยากเย็นมากนัก
.........................................
.........................................“ความสำเร็จในการลงทุนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้มากเท่าไหร่ หากแต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณประเมิน “ความไม่รู้” ของตนเองอย่างแท้จริงเพียงใด ลงทุนอยู่ในขอบเขตที่คุณเข้าใจ ซึ่งก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าขอบเขตความรู้นั้นกว้างแค่ไหน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้จักตัวแปรต่างๆ มากน้อยเพียงใดเสียมากกว่า : วอเร็น บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)”
.......................................... หุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเก่าประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค ของกินของใช้ โครงสร้างการดำเนินกิจการเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ซึ่งทำให้เราพอที่จะสามารถคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก หากเราขุดค้นหาให้พบเจอก่อนที่คนส่วนใหญ่จะหันมาสนใจนั้นบางครั้งราคาหุ้นจะถูกมากๆ ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ผมใช้แนวทางบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนแบบ “ปีเตอร์ ลินซ์ (Peter Lynch)” ที่อ้างอิงมาจากหนังสือ “เหนือกว่าวอลสตรีท : One Up On Wall Street” ซึ่งก็คือ การคัดเลือกหุ้นแบบมุ่งเน้น (Focus) เพียง 5 บริษัท มุ่งเน้นค้นหา เก็บข้อมูล วิเคราะห์ สรุป และคัดเลือกบริษัทซึ่งมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะพุ่งสูงขึ้นไปเป็น 10 เด้งจากราคาปัจจุบัน จากนั้นเพียงถือครองมันไว้ในระยะเวลาที่ยาวนานมากเพียงพอ“นักลงทุนจำนวนมากคิดว่าพวกเขาฉลาดพอที่จะเชี่ยวชาญไปเสียทุกด้าน หรืออย่างน้อยพวกเขาก็แสดงออกเช่นนั้น ปัญหาคือไม่มีใครสามารถที่จะรู้ไปเสียทุกสิ่ง สถานการณ์เลวร้ายก็คือ ไม่ใช่ว่าปัญหาเกิดจากการที่คุณไม่รู้อะไร แต่มันมาจากสิ่งที่คุณรู้ไม่จริงต่างหาก บัฟเฟตต์มองข้ามบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากปรัชญาของเขา และยอมรับได้หากว่าสิ่งที่เขามองข้ามนั้นจะทำเงินให้กับผู้อื่น โดยที่ตัวเขาเองได้แต่เพียงเฝ้ามองดูอยู่ห่างๆ : โฮเวิร์ด มาร์กส์ (Howard Marks)”
..............
ในพอร์ตรวมการลงทุนนั้น หากมีเพียงหนึ่งบริษัทที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเป็นระดับ 10 เด้งได้จริงในระยะยาว ก็สามารถผลักดันให้อัตราผลตอบแทนรวมทางการลงทุนชนะผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นแบบที่เรียกได้ว่า “ถล่มทลาย” หากเราสามารถทุ่มเทความพยายามเพื่อค้นหาการลงทุนดีๆ เฉกเช่นที่กล่าวมาข้างต้นได้ ถ้าเราพบเจอบริษัทเช่นนี้ก็สามารถใช้ “แนวคิดแบบดันโด” กล่าวคือหากผลลัพธ์การโยนเหรียญครั้งนี้นั้นออกด้านหัวก็เสมอตัวหรือทำกำไรได้นิดหน่อย แต่หากออกด้านก้อย เราอาจทำผลตอบแทนได้ในระดับสิบเด้ง หรือร้อยเด้ง [นักลงทุนดันโด : The Dhandho Investor “กลยุทธ์การลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูง” Mohnish Pabrai (โมห์นิช พาไบร)] เราสามารถเข้าลงทุนแบบมุ่งเน้นได้เลย เช่นในอัตราส่วนบริษัทละ 20 – 25% ของพอร์ตการลงทุนรวม
..........................................
..........................................“บัฟเฟตต์มีความเห็นที่แตกต่างเรื่องการกระจายความเสี่ยง เขาเชื่อว่าความคิดทางการลงทุนอันยอดเยี่ยมไม่ได้วนเวียนเข้ามาบ่อยๆ ดังนั้นการรักษามาตรฐานหรือเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นไว้ในระดับสูง เพื่อเข้าลงทุนเฉพาะกับเพียงความคิดที่ยอดเยี่ยม และลงทุนด้วยเงินจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพบเห็นโอกาส บัฟเฟตต์เชื่อว่าพอร์ตการลงทุนที่มีเป้าหมายชัดเจน อาจทำให้ความเสี่ยงลดลงได้ หากว่ามันทำให้ความเข้มข้นในการศึกษาหรือพิจารณาธุรกิจของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น เขาปฏิเสธที่จะกระจายความเสี่ยงหรือถือครองอะไรไว้เพียงเพราะว่าคนอื่นๆ เขาก็ทำกัน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก หากคุณอยากมีโอกาสได้สัมผัสกับผลลัพธ์ทางการลงทุนอันยอดเยี่ยม : โฮเวิร์ด มาร์กส์ (Howard Marks)”
แต่กับการลงทุนในหุ้นต่างประเทศประเภทหุ้นเทคโนโลยีนั้นแตกต่างกันออกไปอย่างสุดขั้ว จึงทำให้หลักการบริหารจัดการพอร์ตและการกระจายความเสี่ยงไม่เหมือนกัน ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ อนาคตอันคาดการณ์ได้อย่างยากเย็น ซึ่งมีโอกาสที่บริษัทจะเติบโตอย่างมโหฬาร หรือไม่ก็เจ๊ง ล้มละลาย มูลค่าหายกลายเป็นศูนย์ไปเลยก็มีให้เห็นมากมาย
แนวทางการลงทุนอาจจำเป็นต้องกระจายออกไปหลายบริษัทมากขึ้น ความจำเป็นอีกข้อหนึ่งคือการทยอยเข้าลงทุน ค่อยๆแบ่งเงินซื้อหุ้นเพิ่ม เฉลี่ยซื้อในทิศทางราคาหุ้นขาขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก ต้องคอยติดตามความเป็นไปของกิจการอย่างใกล้ชิด ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการเช่นนี้นั้นอาจทำให้อัตราผลตอบแทนลดลง และพอร์ตรวมเติบโตอย่างเชื่องช้ากว่าการลงทุนแบบมุ่งเน้นตามทฤษฎี ทั้งนี้เพื่อแลกกับความเสี่ยงและความผันผวนที่ลดลง
..............
อีกสาเหตุที่สำคัญคือในตลาดการลงทุนของประเทศขนาดใหญ่ซึ่งพัฒนาแล้ว เรามีคู่แข่งระดับผู้เชี่ยวชาญเยอะมาก โอกาสในการหาการลงทุนดีๆ เช่นแนวคิดแบบดันโดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทุกครั้งที่ผมจะเข้าลงทุนในบริษัทหรือสินทรัพย์ใดก็ตาม ผมจะตั้งคำถามกับตัวเองก่อนเสมอว่า “เรามีอะไรที่ชำนาญ หรือเชี่ยวชาญกว่าคนอื่นหรือเปล่า ?” (Edge) หากยังตอบคำถามนี้ไม่ได้อย่างชัดเจนและมั่นใจ ก็คงไม่พ้นที่การลงทุนของเราจะกลับกลายไปเป็นการเข้าตลาดหุ้นเพื่อแจกเงินให้กับคนเก่งๆ นั่นเอง
.......................................................................................
เชาว์ : เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ, 2021
...................
ขอขอบคุณบางประโยคจากหนังสือ “วิถีแห่งคุณค่า วิถีแห่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ : The Warren Buffett Way”
........................................................................
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ