เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ตามคาด ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเป็น 3.25% เป็นการปรับขึ้นรวมทั้งสิ้น 3% ตั้งแต่ต้นปี 2022 การปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย ไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลงไปอีกประมาณ 1.7% เพราะเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด แต่สิ่งที่ทำให้ตลาดกังวลใจน่าจะเป็นการคาดการณ์ใหม่ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ที่ผมนำมาสรุปในตาราง
การคาดการณ์ของ FOMC นั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่าต้องการปราบเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกินคาดให้จงได้ภายในปี 2024 กล่าวคือ ยอมรับว่าเงินเฟ้อที่เรียกว่า PCE inflation จะยังสูงถึง 5.4% ในปีนี้ และ 2.8% ในปีหน้า ซึ่งเกินกว่าเป้าเงินเฟ้อที่ 2.0% อย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าจะได้มีการปรับขึ้นการคาดการณ์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างมากคือในปี 2022 จะปรับดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Fund Rate) ขึ้นให้สูงถึง 4.4% (จากปัจจุบัน 3.25% แปลว่าจะต้องปรับขึ้นอีก 1.25% ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะมีการประชุม FOMC อีก 2 ครั้ง)
ที่สำคัญคือมีแนวโน้มที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีกในปีหน้า คือดอกเบี้ยนโยบายจะไปสู่จุดสูงสุดที่ 4.6% ในปี 2023 ต่างจากการคาดการณ์ของตลาดที่ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายภายในปลายปีหน้า
การปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว FOMC ประเมินว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเกือบจะไม่ขยายตัวเลยในปีนี้ (จีดีพีโตเพียง 0.2% เทียบกับเดิมที่คาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว 1.7%) และในปี 2023 จีดีพีสหรัฐก็จะขยายตัวได้เพียง 1.2% (เทียบกับคาดการณ์เดิมที่ 1.7%)
ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองของธนาคารกลางสหรัฐว่าพร้อมจะกดเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงอย่างมาก คือยอมสูญเสียการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะปราบเงินเฟ้อให้ราบคาบภายใน 2 ปีข้างหน้า
อันที่จริงแล้วนาย Jerome Powell ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐแสดงเจตนารมณ์นี้ออกมาอย่างชัดเจนแล้วเมื่อกล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ (เพียง 1,265 คำ) ที่การประชุมประจำปี Jackson Hole เมื่อวันที่ 26 ส.ค.
ซึ่งทำให้หุ้นดาวโจนส์ลดลงไปกว่า 1,000 จุดในวันเดียวกัน หลังจากนั้นมากือบ 1 เดือนถึงวันที่ 21 ก.ย.ก็เห็นผลกระทบจากเจตนารมณ์ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปราบเงินเฟ้อ คือ
1.ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ S&P 500 ลดลงไป 9.8%
2.ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี เพิ่มขึ้นจาก 3.37% เป็น 4.08% เพิ่มขึ้น 0.71%
3.ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี เพิ่มขึ้นจาก 3.02% เป็น 3.55% เพิ่มขึ้น 0.53%
4.ภาวะซึ่งดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าดอกเบี้ยระยะยาว (2 ปีเทียบกับ 10 ปี หรือ Yield Curve Inversion) เพิ่มขึ้นจาก 0.35% เป็น 0.53% แปลว่าเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างมีนัยสำคัญ
ตรงนี้เห็นได้ว่า FOMC อาจประเมินความรุนแรงของกระทบทางเศรษฐกิจแบบ “โลกสวย” เกินไป
กล่าวคือ มองว่าอัตราการว่างงานในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปัจจุบันที่ 3.7% มาเป็นเพียง 3.8% ในปีนี้และ 4.4% ในปี 2023 และ 2024 จากนั้นจึงจะค่อยๆ ทยอยลดลงกลับไปที่ 4.3% ในปี 2025 และคงจะลดลงไปที่ 4.0% ในระยะยาว
กล่าวคือการกระชากให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากเพื่อปราบเงินเฟ้อนั้น น่าจะต้องส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับตลาดแรงงาน เพราะสาเหตุหลักส่วนหนึ่งของเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงในวันนี้ คือความร้อนแรงของตลาดแรงงาน
ทำให้นายจ้างต้องยอมปรับขึ้นค่าจ้างมากถึง 5-6% ต่อปี (และค่าใช้จ่ายด้านแรงงานคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50-60% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดในสหรัฐ)
หมายความว่า ผมจะไม่แปลกใจเลยหากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจและสยบเงินเฟ้อนั้น ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐขยับสูงขึ้นไปเกินกว่า 5% หรือ 6%
ผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ นั้นย่อมจะเป็นไปทางลบ เห็นได้จากการที่ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ทยอยกันเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของตัวเอง สำหรับไทยนั้นผมเห็นว่าน่าเป็นห่วง
เพราะคณะกรรมการนโยบายการเงินของ (กนง.) ของไทยจะประชุมอีก 2 ครั้งคือวันที่ 28 ก.ย. ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือปรับขึ้น 0.25% เป็น 1.0%
ทำให้ส่วนต่างของดอกเบี้ยสูงถึง 2.25% และหลังจากนั้น FOMC จะประชุมอีก 2 ครั้ง คือวันที่ 2 พ.ย.และ 14 ธ.ค. ซึ่งหากเป็นไปตามคาด ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะปรับขึ้นไปอีกเป็น 4.5% (เพิ่มขึ้นอีก 1.25%)
ในขณะที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 20 พ.ย. ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.25% แปลว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก คือดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าดอกเบี้ยสหรัฐถึง 3.25% ในปลายปีนี้.
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐมุ่งมั่นปราบเงินเฟ้อ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1