เป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือนมาแล้วที่ผมเริ่มออกจากบ้านไปบรรยาย ทำงาน และพบปะเพื่อนฝูงและร่วมงานสังคมที่ค่อนข้างจะ “จำเป็น” หลังจากที่ต้องอยู่กับบ้านและออกนอกบ้านเฉพาะที่จำเป็นและ/หรือไปเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ที่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนอื่นมานานกว่า 2 ปี
สิ่งที่ผมรู้สึกก็คือ “ความมีชีวิตชีวา” ที่กลับคืนมาหลังจากที่หายไปกว่า 2 ปี ที่ไม่ได้สัมผัสกับตัวตนจริงของคนหรือเพื่อนฝูงที่มามีกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่เจอกันแต่ในภาพหรือไม่ได้เห็นหน้าตากันเวลาผมพูดหรือเวลาเขาพูดและคนอื่นนั่งฟัง เหตุผลที่คนอยากเจอ “ตัวเป็น ๆ” มากกว่าภาพดิจิทัลหรือเจอกันใน “เมตาเวอร์ส” นั้น คงอยู่ใน “ยีน” ของคนหรือสัตว์ทุกชนิด และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ “โลกในเมตาเวอร์ส” ที่เฟซบุคพยายามทำนั้นดูเหมือนจะล้มเหลว “ไม่เป็นท่า” และราคาหุ้นตกลงมาถึง 70% ในเวลาแค่ปีเดียว
นับจากวันนี้ไปผมคิดว่าโลกและประเทศไทยจะ “เปิด” มากขึ้นเรื่อย ๆ และคงไม่กลับไปปิด ๆ เปิด ๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงและมีคนเจ็บหนักและล้มตายกันมากอีกต่อไปแล้ว โดยเหตุผลที่สำคัญไม่ใช่เพราะการระบาดของโควิดจบลง แต่เป็นเพราะโควิดคล้าย ๆ กับจะกลายเป็นไข้หวัดธรรมดาที่ไม่ทำให้คนติดเจ็บหนักหรือตายได้ง่าย ๆ และดังนั้น คนก็จะเลิกกลัวและกลับมาใช้ชีวิตปกติที่เคยทำตลอดมานับหมื่นปีจนถึงปัจจุบัน
นั่นก็คือ การติดต่อมีความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดแบบ “ตัวเป็น ๆ” พูดง่าย ๆ ก็คือ โลกกำลังกลับมาเป็น “อย่างเดิม” หรือใกล้เคียงกับแบบเดิมมากเพียงแต่ว่ามีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น คนอาจจะสั่งสินค้าหรืออาหารทางแพล็ทฟอร์มดิจิทัลมากกว่าช่วงก่อนโควิดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ว่าคนจะเลิกไปซื้อที่ห้างและเดินช็อปปิ้งในห้างหรู เป็นต้น
ผมเองเป็นคนที่ชอบสังเกตเหตุการณ์ สถานที่และผู้คนในแทบทุกที่ที่ผมไป ผมเชื่อในเรื่องของการวิเคราะห์หุ้นจากชีวิตจริงมากกว่าดูตัวเลขในห้องแอร์ ของจริงจะบอกถึงแนวโน้มต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่เป็นข้อมูลสำคัญของการลงทุน ผมมักจะไม่ได้ตั้งใจเดินทางไปดูแต่จะดูจากการไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยวและอื่น ๆ ที่บ่อยครั้งผมก็ไม่ได้เป็นคนที่อยากจะไปแต่จะไปตามคนอื่นโดยเฉพาะในครอบครัวเป็นหลัก ส่วนใหญ่แล้วเวลาไป ผมไม่ค่อยได้ทำอะไรโดยเฉพาะการซื้อของที่ระลึกหรือของใช้ ผมมักจะเดินดูไปเรื่อย ๆ เพื่อหาข้อมูลภาพใหญ่และการลงทุนแบบที่เรียกว่า “Investments by walking around” หรือ “wandering around” มากกว่า
สถานที่ 2 แห่งที่ผมเดินผ่านมากที่สุดน่าจะเป็น ถนนรางน้ำที่ผมอยู่มาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่ยังเป็นซอยรางน้ำที่เป็น ชายขอบของกรุงเทพด้านเหนือและเป็นแหล่งชุมชนชั้นกลางที่มีโรงแรมม่านรูดหลายแห่งอยู่ในซอยเล็ก ๆ ยาวแค่ 4-500 เมตรและมีหมู่บ้านอาคารสงเคราะห์ทหารผ่านศึกที่ทรุดโทรมตั้งอยู่ ถึงทุกวันนี้ มีการพัฒนาสูงมาก
มีคอนโดหรูเกิดขึ้นหลายแห่ง ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมากจนทำให้บ้านเดี่ยวหายไปเกือบหมดกลายเป็นอพาร์ทเม้นต์ราคาปานกลาง-สูงให้เช่ากับบุคลากรระดับสูงเช่น แพทย์หรือผู้บริหารระดับกลางที่เป็นมืออาชีพในองค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่ และมีโรงแรมและธุรกิจค้าขายสินค้าปลอดภาษีขนาดใหญ่ที่เน้นนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนในเอเซียหลายแห่ง ทั้งหมดนี้ทำให้ซอยรางน้ำมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลักที่สามารถใช้วัดดัชนีการท่องเที่ยว-และเศรษฐกิจไทยได้ไม่น้อย
อีกแห่งหนึ่งที่ผมไปค่อนข้างบ่อยแทบทุกสัปดาห์ก็คือ ย่านสยามสแควร์ เหตุผลก็คือ มันห่างจากซอยรางน้ำเพียงไม่กี่กิโลเมตร และเป็นแหล่งจับจ่ายอาหารและของใช้ที่บ้านผมไปประจำ และนี่คือแหล่งของคนหนุ่มสาวที่เป็นอีลิตหรือชนชั้นนำของประเทศ เช่นเดียวกับเป็นแหล่งชอปปิ้งหรือศูนย์กลางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาเมืองไทยมักจะมาแวะ รวมไปถึงคนไทยที่อยู่ต่างจังหวัดที่ต้องมาเที่ยวชม มันกลายเป็น “แลนด์มาร์ก” ที่สำคัญยิ่งกว่าสถานที่หรือพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์
ถนนรางน้ำช่วงก่อนโควิด-19 นั้น คึกคักมาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มักจะเป็นคนจีนชั้นกลางจะอาศัยอยู่ตามโรงแรมและอพาร์ทเม้นท์ราคาไม่แพงที่มีหลายแห่ง พวกเขามักจะเดินหาซื้ออาหารกลับไปกินจากร้านสะดวกซื้อที่มีถึง 4-5 แห่งตลอดเวลาจนถึงเที่ยงคืนหรือดึกกว่านั้น
บางคนก็แวะร้านนวดที่เปิดขึ้นรับนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับร้านอาหารหรือรถเข็นที่เปิดข้างทางเท้าที่มีเรียงรายจากรถไฟฟ้าบีทีเอสไปจนถึงที่พัก นักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งที่มักจะเดินขวักไขว่ในตอนกลางวันก็รวมไปถึงคนที่มาซื้อสินค้าปลอดภาษีที่อยู่ในซอย นอกจากนั้น คอมมูนิตี้มอลที่อยู่ต้นซอยก็ค่อนข้างคึกคักไปด้วยผู้คนรวมถึงคนไทยที่อยู่แถวนั้นที่ทำงานให้บริการนักท่องเที่ยวและคนไทยที่อาศัยอยู่รวมถึงผมด้วย
ช่วงที่เกิดโควิดใหม่ ๆ และต่อเนื่องมาอีก 2 ปีจนถึงเร็ว ๆ นี้นั้น ซอยรางน้ำเงียบเหงาลงอย่างหนัก นอกจากนักท่องเที่ยวที่หายไปแล้ว คนไทยที่ให้บริการและขายอาหารให้กับนักท่องเที่ยวก็หายไปด้วย รถเข็นข้างทางเท้าลดจำนวนลงมาก ร้านค้าและร้านอาหารในคอมมูนิตี้มอลที่มีผู้เช่าเต็มทยอยปิดตัวลงไปเรื่อย ๆ ที่หนักที่สุดก็คือร้านสินค้าปลอดภาษีแทบจะร้าง ร้านนวดแทบจะไม่เหลือลูกค้า โรงแรมและโดยเฉพาะอพาร์ทเม้นท์ข้างบ้านผมที่เคยคึกคักนั้นต้องหันมารับลูกค้าคนไทยที่มาเช่าระยะยาว ตอนกลางคืนแค่ 3 ทุ่มซอยก็แทบจะร้าง ร้านสะดวกซื้อที่อยู่กลางซอยและรับชาวต่างชาติเป็นหลักต้องปิดตัวลงชั่วคราว
แต่ทุกอย่างกำลังเริ่มดีขึ้น เริ่มต้นโดยนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่เป็นฝรั่งซึ่งดูแปลกตาไปจากที่เคยเป็นชาวจีนแทบจะ 90% หาบเร่แผงลอยเริ่มคึกคักขึ้นแม้ว่าคนซื้อส่วนใหญ่ที่สุดคือคนไทย ร้านนวดเริ่มตกแต่งร้านใหม่ ร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ๆ เริ่มมาเปิดร้านในมอล ร้านสะดวกซื้อที่ปิดไปหลายเดือนกลับมาเปิดใหม่ นี่เป็นสัญญาณว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกำลังฟื้นตัวและดีขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่ายังห่างจากช่วงก่อนโควิด เราคงต้องรอจีนเปิดประเทศอย่างจริงจัง ผมเองก็ไม่รู้ว่าซอยรางน้ำจะกลับมาเหมือนเดิมไหม บางทีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะมาก
สยามสแควร์ดูเหมือนว่าจะกลับมาเหมือนเดิมก่อนโควิดและความคึกคักน่าจะแซงไปแล้ว อานิสงค์ส่วนหนึ่งก็คือมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีถนนคนเดินและการสร้างอาคารใหม่ ๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด ถึงนาทีนี้ผมคิดว่าย่านนี้จะเป็นย่านช็อปปิงหมายเลข 1 ของกรุงเทพและประเทศไทยแบบถาวรไปแล้วเพราะมันอยู่ในจุดศูนย์กลางของการเดินทางที่มีรถไฟฟ้าที่ผ่านจุดที่เจริญที่สุดของกรุงเทพ และมีร้านค้าจำนวนมากที่สุด
ในขณะที่ร้านค้าหรือมอลขนาดใหญ่ที่กำลังสร้างขึ้นใหม่ในที่อื่นคงไม่สามารถต่อสู้ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ กรุงเทพเองก็อาจจะไม่ค่อยขยายอีกต่อไปแล้วเนื่องจากการเกิดของคนไทยต่ำลงมากและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยก็ลดลงมากและอาจจะอิ่มตัวในที่สุด นี่ทำให้ผมรู้สึกว่าห้างเปิดใหม่ในกรุงเทพที่ทำหรูมากคงจะเหนื่อยหนักในขณะที่สยามสแควร์และห้างรอบ ๆ บริเวณนี้คงจะยังดีอยู่ต่อไปอีกนาน
สัญญาณจากสยามสแควร์และห้างดังที่สุดในย่านนี้คือ ในภาคเศรษฐกิจของคนมีเงินนั้น มีการฟื้นตัวไปก่อนแล้ว ที่จริงผมรู้สึกว่าห้างดังอย่างพารากอนนั้น คนเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแทบจะทุกสัปดาห์ที่ผมไปมาหลายเดือนแล้วโดยที่การท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็ยังไม่ดีนักแต่คนไทยก็เดินกันมากขึ้น พวกเขาอาจจะไม่เดือดร้อนในด้านการเงินนักและพร้อมจะเข้าคิวซื้อสินค้าซุปเปอร์แบรนด์ในไทยแทนที่จะไปต่างประเทศ
ในสยามสแควร์เองนั้น การเปิด “ถนนคนเดิน”ดึงดูดให้คนหนุ่มสาวเข้ามาเดินและแสดงดนตรี “เปิดหมวก” เต็มถนน นักร้องและนักดนตรีเป็นนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนดังและมาจากครอบครัวของอีลิตไม่น้อย ความนิยมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว วงดังอย่าง “Yes Indeed” นั้นทำให้นักร้องชื่อดังรุ่นเก่าหลายคนต้องเข้ามา “ขอแจม” ด้วย และนี่ก็คือหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิดที่นักลงทุนจะต้องติดตาม
จากรางน้ำถึงสยามสแควร์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1
จากรางน้ำถึงสยามสแควร์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 1
- IndyVI
- Verified User
- โพสต์: 14944
- ผู้ติดตาม: 2
Re: จากรางน้ำถึงสยามสแควร์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 2
FM 96.5 | รู้ใช้เข้าใจเงิน | จากรางน้ำถึงสยามสแควร์ | 21 พ.ย. 65
คุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
https://youtu.be/q7qK8LKYh60?t=1672
คุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
https://youtu.be/q7qK8LKYh60?t=1672
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
# Howard Mark #