สำหรับเพื่อนๆ ที่ไปลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เพื่อนๆ อาจจะรู้สึกว่า เราจะไปเทียบอะไรกับเค้า เราก็สู้เค้าไม่ได้สักอย่าง ภาษาเราก็ไม่ได้ องค์ความรู้เราก็ไม่ได้ ความขยันเราก็ไม่ได้ ทีมงานเราก็สู้ไม่ได้ ข้อมูลเราก็ไม่ได้ เม็ดเงินเราก็ไม่ได้ แหล่งข้อมูลหรือสังคมนักลงทุนเราก็ไม่มี อาจารย์หรือคนที่จะขอคำปรึกษาเราก็ไม่มี
"เราจะเอาอะไรไปสู้เขา" "เราคงจะไม่มี Edge (ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน) แหละ"
ผมบอกได้เลยครับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีข้อดี มีข้อเสีย คุณเป็นคนตัวเล็ก คุณก็ต้องสู้แบบคนตัวเล็ก คนเป็นคนเชื่องช้า คุณก็ต้องสู้แบบคนเชื่องช้า ทุกอย่างอยู่ที่ใจจริงๆ เลยครับ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ ถ้าใจคุณสู้ คุณบอกว่าตัวเองสู้ได้ แล้วก็พยายามศึกษาหาข้อดีของตัวเองมาพัฒนา ระมัดระวังจุดอ่อนข้อเสียของคุณ มีหลักการ และศรัทธาที่ถูกต้อง มีความขยัน หมั่นเพียร ที่จะทำไปเรื่อยๆ สุดท้ายคุณก็จะชนะตลาดได้เอง
ข้อได้เปรียบของนักลงทุนไทย ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
1. นักลงทุนของสหรัฐฯ เป็นคนที่เกิดในประเทศที่มี 4 ฤดู ต้องต่อสู้กับอากาศหนาว เพื่อเอาตัวรอดในหน้าหนาว จึงต้องมีการวางแผนเตรียมเสบียง และปรับตัวตามฤดูกาล เกมการแข่งขันในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงเป็นเกมส์ที่เร็ว และใช้ข้อมูลเยอะ สภาพแวดล้อมเป็นแบบนี้ ข้อมูลเป็นแบบนี้ก็จะ Take Action แบบหนึ่ง แล้วก็จะวางแผนข้ามช๊อต ไป 2-3 ขั้น มี Playbook ละเอียด ที่จะหาทางเอาชนะคนอื่น ชอบวัดผลงานกันเป็นรายปี รายไตรมาส
Warren Buffet ถึงต้องปลีกตัวออกจาก Wall Street กลับบ้านไปอยู่ที่ Omaha เพื่อไม่ปล่อยให้กระแสของเกมส์ บีบให้เค้าเล่นเกมที่เค้าเล่นไม่ถัด การนั่งอ่านรายงานประจำปีอย่างสงบในบ้าน โดยไม่ไปเล่นเกมที่เค้าไม่ถนัด ทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ผลตอบแทนที่ทำได้เหนือกว่าตลาดอย่างยาวนาน
ดังนั้นสำหรับนักลงทุนไทย ผมคิดว่าเราอย่าไปใช้ Playbook เดียวกับคนเก่งๆ ที่ต่างประเทศ เพราะ ถ้าตลาดมีแต่คนเก่ง เราต้องใช้วิธีการที่แตกต่าง ข้อได้เปรียบของนักลงทุนไทยอย่างแรกที่ผมเห็น คือ เราอยู่ในประเทศที่มี 1 ฤดู คือ ร้อนอย่างเดียว ไม่มีเย็นเลย มันทำให้เรานิ่งเฉย อดทน ไม่ทำอะไรได้มากกว่านักลงทุนสหรัฐฯ ซึ่งเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะลงทุนในระยะยาว
ข่าวหุ้นต่างประเทศ เราก็ฟังก็อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะ ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา การที่เราหาหุ้นดีๆ ที่จะถือในระยะยาว แล้วอุดหู ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างเปล่าเปลือง เป็นขีดความสามารถขั้นเทพ ที่ฝรั่งไม่สามารถเลียนแบบเราได้แน่ๆ ถ้าเรายังทนใช้รถเมล์คันหนึ่งมาได้ 30 ปีได้ การจะลงทุนถือหุ้นสัก 10 ปี คงจะไม่ได้ยากอะไรมาก
ดังนั้นอย่ามองว่าความไม่รู้ ไม่ทันเกมคนอื่นเป็นข้อเสีย มันอาจจะเป็นข้อได้เปรียบของเราก็ได้
------------------------------------------------
2. ในการลงทุน รู้เยอะ รู้เร็ว ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ถูก ยิ่งถ้าคุณศึกษาหุ้นที่กิจการไซส์ใหญ่ๆ Product Line เยอะๆ Operate ในหลายๆ ประเทศ ข้อมูลมันเยอะแยะมาก อย่าง Amazon มีพนักงานอยู่ 1.6 ล้านคน มากพอๆ กับประเทศบาเรน
ที่อันดับที่ 152 จาก 235 ประเทศ ระดับของ Complexity ของกิจการ คือ คุณศึกษาเท่าไหร่ก็ไม่หมดหรอก
สถาบันฝรั่งใช้การ Specialize แบ่งงานทำกันเป็นทีม แล้วก็พัฒนา Process ในระดับ Decision Making แบบเทพๆ อย่างที่ Ray Dalio หรือ Micheal Mauboussin ทำ เพื่อหาทางเอาชนะตลาด
เราไม่มีอะไรพรรค์นั้น ดังนั้นมันบีบให้เราต้องมองภาพใหญ่ และสิ่งที่เป็นสาระสำคัญในระยะยาว ในพื้นที่ๆ เราคิดว่ามีข้อได้เปรียบจริงๆ
โดยส่วนตัวผมจึงไม่ลงทุนกิจการแบบ Amazon, Apple หรือ Netflix เพราะ กิจการพวกนี้ถ้าแม้ว่าจะเป็นหุ้นเทคฯ แต่มันก็เป็นธุรกิจที่เน้นการแข่งขันแบบดั้งเดิม ซึ่งในการวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะใช้โมเดลอย่าง Five Force ของ Micheal Porter โดยจะไปเน้นที่ Economies of Scale โดยใช้ข้อได้เปรียบจากการที่ Marginal Cost ของ Digital ที่ถูกกว่าธุรกิจดั้งเดิมในการ Disrupt ธุรกิจดั้งเดิม นำเสนอ User Experience ที่ดีกว่า ถูกกว่า ในการยึดครองตลาด
พวก VC ชอบพูดกันว่า Idea is cheap, Execution is everything. ผมไม่เถียงว่าบริษัทพวกนี้ Execution คือ ดีมาก เพราะ Execute ได้ดี มี Culture ที่ดี ทำให้เค้าแข่งชนะคนอื่น แต่ตราบใดที่แข่ง มันยังมีผู้แพ้และผู้ชนะ เราต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ในการแข่งขันตอนนี้ใครกำลังแพ้ ใครกำลังชนะ ปัจจัยที่กิจการพวกนี้จะชนะต่อไปยังมีไหม
ผมคิดว่าผมแพ้แน่ๆ ในเกมส์นี้ เกมส์ที่จะต้องคอยมานั่งดูว่าใครกำลังจะแพ้ กำลังจะชนะ แล้วก็หาโอกาสลงเงินแทงข้างคนที่ชนะ หรือ กำลังชนะ แล้วก็ต้องรีบเอาเงินออกก่อนที่เกมกำลังจะเปลี่ยน สถานะกำลังถดถอย โดยส่วนตัว ผมคิดว่านักลงทุนไทยไม่น่าทันฝรั่งในเกมนี้
ผมเป็นคนไม่ชอบการแข่งขันมาตั้งแต่เด็ก ผมไม่ชอบเป็นจุดเด่น คือ อยากเก่งนะ แต่ไม่อยากเด่น ถ้าเรียนก็ขอเรียนได้ดีๆ หน่อย แต่อย่าเด่นมาก ผมไม่ได้สนุกกับการที่เห็นใครสักคนนึงชนะ แล้วก็ดีใจ สะใจ ไปกับผู้ชนะด้วย เพราะ ท่ามกลางชัยชนะนั้น สายตาของผมจะจับไปที่คนแพ้ที่กำลังร้องไห้เสียมากกว่า อาจจะเป็นเพราะ ในวัยเด็กผมถูกเปรียบเทียบกับคนอื่น และรู้สึกว่าเป็นผู้แพ้อยู่ตลอดเวลา เลยทำให้ผมรู้สึกว่าแค่อยากจะมีความสุขกับชีวิตที่สงบๆ ของตัวเอง ไม่ได้อยากจะไปแข่งอะไรกับใคร จะได้ไม่ต้องแพ้
Concept เรื่อง Platform Business Model จึงเป็นอะไรที่ถูกจริต ผมสุดๆ ซึ่งเรื่อง Platform นี้ให้ อ.แดม อธิบาย คงจะอธิบายได้ดีกว่าผม เพราะ ผมก็ได้รับคำแนะนำจาก อ.แดม ให้ไปเรียนและศึกษาเรื่องนี้มาอีกที
แต่โดยสรุปจากที่ผมไปเรียนทางออนไลน์ของ Emeritus ที่ อ.แดม แนะนำมา คือ อ. Geoffrey Parker บอกว่า Platform Business Model จะก้าวข้ามผ่าน การแข่งขันแบบดั้งเดิมไป ทฤษฏี Five Force (ซึ่งผมไม่เคยชอบและไม่เคยใช้) จะใช้ไม่ได้ เพราะ หน้าที่ของ Platform เหมือนเป็นคนที่ทำงานทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้คนอื่นทำงานได้สะดวก เป็นตัวกลาง เป็นพื้นที่ที่ให้คนได้เข้ามาสร้างสรรค์ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน เป็นตลาด ฯลฯ ช่วยลดต้นทุน หรือ Friction ในการทำธุรกิจ และถ้าออกแบบ Platform ดีๆ Platform นั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่า Network Effect ซึ่งถ้า Network Effect เป็น Strong Network Effect และ Scale ไปได้ในพื้นที่ๆ เป็นประโยชน์กับคนเยอะๆ มันเป็นโอกาสสูงที่ Platform นั้น จะได้ Market Share ทั้งหมด หรือ เกือบทั้งหมดไป (Winner Take Most/All)
และในบรรดา Platform ทั้งหมด ผมชอบ Platform ที่เป็น User Generated Content (UGC) ที่สุด เพราะ ผมชอบที่จะ Empower ให้กับคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีโอกาสในชีวิต ได้มีโอกาส หรือข้อมูลที่ดีขึ้น มากกว่าลักษณะของ Platform ทางธุรกิจ นอกจากจะเป็นประเด็นในเรื่องของจริตและเจตจำนงค์ของตัวผมเองแล้ว UGC Platform มีข้อดี คือ เราสามารถติดตามกิจการได้ง่ายกว่า Business Platform เพราะ เราสามารถทดลองใช้งานเองได้จริง Network Effect ก็แข็งแรงกว่า เพราะ Node เยอะ Interaction เยอะ พวก Platform ทางธุรกิจ
อย่าง Google สิ่งที่เป็นธุรกิจ UGC Platform จริงๆ คือ YouTube และ Google Map อย่าง Facebook, Instagram อันนี้ก็คงจะรู้ๆ กันอยู่ ว่า Social Media มันมีผลขนาดไหนกับชีวิตและสังคมในยุคนี้
ปีที่ผ่านมาประชากรโลกพึ่งจะไปแตะ 8 พันล้านคน แต่คนใช้บริการ Platform ของ Alphabet และ Meta ยังอยู่แค่ 1-2 พันล้านคน ผมเชื่อว่าโลกใบนี้ดีขึ้นอยู่ทุกวัน การปฏิวัติทางพลังงานและองค์ความรู้จะทำให้
ต้นทุนพลังงานและความรู้ถูกลงเรื่อยๆ จนเข้าใกล้ศูนย์ ซึ่งผลของมันจะช่วยเปิดโอกาสให้คนจนทั่วโลกที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 2 ดอลล่าร์ ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก กิจการอย่าง Alphabet และ Meta ยังสามารถนำเสนอบริการฟรีๆ ที่ดีต่อชีวิตคนไปได้อีกมาก
หรือ อย่างแนวโน้มของเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิตและการให้บริการลงทุนที่กำลังเดินหน้าไปเรื่อยๆ จะทำให้ค่าใช้จ่ายของคนเป็นสัดส่วนของการใช้จ่ายในแง่ของ Life Style หรือ ตอบสนองต่อ Self Esteem ที่มีมากขึ้น จะทำให้สัดส่วนของ Marketing Expense ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะยังทำให้ตลาดโฆษณายังโตไปได้เรื่อยๆ
ผมคิดว่าความเชื่อของผมที่ฟูมฟักว่าโลกใบนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นข้อได้เปรียบของผม ที่ทำให้ผมสามารถลงทุนในกิจการที่ผมเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ในระยะยาว โดยที่ผมมีข้อมูลน้อย เชื่องช้า ให้สามารถถือยาวในระดับสิบปีได้อย่างปลอดภัย
-------------------------------------------------
3. ฉันทะ คือ ข้อได้เปรียบ
ฉันทะ คือ ความรักในการศึกษากิจการที่เราชอบ มันจะสร้างความสุขให้กับเราทุกครั้ง เวลาเราได้ศึกษา ได้รู้เรื่องราวอะไรใหม่ๆ ดีๆ เพิ่ม การที่เราทำมันลงไป เพราะ อยากได้เงินแต่ต้องเป็นทุกข์ในปัจจุบัน เพื่อหวังว่าถ้าได้กำไร เราจะมีความสุขในอนาคต ผมเห็นตัวอย่างมาเยอะแล้วว่า จริงอยู่ว่าเวลาได้กำไรจริงๆ มันก็มีความสุข แต่มันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นแว่บหนึ่ง จากนั้นเราก็จะไปสอดส่าย เปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วพอรู้ความจริงว่าคนอื่นได้เยอะกว่าเรา เราก็กลับมาเป็นทุกข์อีก ทุกข์ด้วยความอิจฉาริษยา หรือไม่ก็ได้กำไรมาแล้ว ก็พยายามที่จะทำให้ได้มากๆ อีกแบบเดิม เป็นวงจรที่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นความสุขจริงๆ หรือเปล่า
แต่ถ้าเราสามารถที่จะมีความสุขกับสิ่งที่เราทำจริงๆ ความสุขมันเกิดขึ้นทันทีที่เราได้ศึกษาอะไรใหม่ เรียนรู้อะไรใหม่ จากความมืดที่ดับไป ความสว่างที่เกิดขึ้น เราสามารถมีความสุขกับสิ่งๆ นี้ได้ทันที ไม่ต้องรอให้ได้เงิน ได้กำไร แถมถ้าเรามีความสุข มีฉันทะที่เกิดจากการศึกษาการลงทุนนี้ มันก็จะมีแรงที่จะทำมันต่อไปได้ในระยะยาว ทำได้บ่อยๆ จนกลายเป็น ข้อได้เปรียบ อะไรบางอย่างขึ้น จากความรักและสนใจในเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆ
มีคนบางคนบอกว่าอย่ารักหุ้น ให้รักเงินของตัวเอง ผมได้อ่าน ได้ฟังทีไร ก็รู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างแปลกๆ ที่ผมไม่เห็นด้วย เพราะ เราจะรักเงินไปทำไม ในเมื่อวันหนึ่งเราก็ต้องทิ้งมันไป เอามันไปไม่ได้สักบาทตอนเราตาย
ผมรักหุ้นครับ ถ้าผมศึกษามันดีแล้ว ว่ามันจะเป็นคู่ชีวิตของผม จะเป็นพาร์ทเนอร์ ที่จะอยู่ร่วมทางกันไปในระยะยาว ผมไม่เชื่อเรื่องการแข่งขัน แต่เชื่อในเรื่องความร่วมมือ อย่างตอนที่ผมลงทุน Google ใหม่ๆ Larry Page ผู้ก่อตั้ง Google ให้สัมภาษณ์ว่า เราจะแข่งกันไปทำไม ในเมื่อสิ่งที่เราทำมันเป็นแค่ 1% ของสิ่งที่ทำได้ ผมฟังแล้วก็ Click เลยว่า เนี่ยแหละ ทัศนคติของคนที่เราอยากจะร่วมทางกับเค้าไปในระยะยาว
ในขณะที่คำพูดอย่าง Jeff Bezos ที่บอกว่า Margin ของคุณ คือ โอกาสของผม คนที่มีทัศนคติแบบนี้ คงจะไม่สอดคล้องกับความสุขในการลงทุน เลยทำให้ผมไม่เคยเสียเวลาแม้แต่นิดเดียวที่จะศึกษากิจการอย่างนี้
อย่าง Satya Nadella ของ Microsoft ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมประทับใจและปลาบปลื้มมากๆ กับแนวความคิด ในมุมของ Empathy และ Empower แต่ทว่า ในสมัยนั้น ผมยังคงมี Question อยู่ว่า คุณงามความดีแบบนี้ จะเปลี่ยนองค์กรที่คิดแต่เรื่องการแข่งขันในสมัย Steve Balmer ได้จริงหรือ และทำให้ผมเสียดายมากๆ ที่ผมไม่ได้ลงทุนใน MSFT จากการที่ผมยังไม่เชื่อว่าคุณงามความดี สุดท้ายแล้วจะสามารถอยู่รอดและเอาชนะได้ในโลกที่โหดร้ายใบนี้
ฉันทะ ความรัก และปรารถนาดี ที่ผมเชื่อ ทำให้เวลาที่หุ้นตก ผมก้าวข้ามผ่านความขาดทุน และความสูญเสียทุกครั้งไปได้ เพราะ ถ้าผมเลือกแล้ว ผมอยากที่จะรัก อดทน กับช่วงเวลาที่เลวร้ายไปกับคนที่ผมเลือก ผมอยากที่จะรักษาศรัทธาในตัวกิจการที่ผมคิดว่าดีแล้วไปอย่างถึงที่สุด ผมถือหุ้นเป็นสิบปี หุ้นที่เรามีศรัทธาจริงๆ เราจะไม่หวั่นไหว เวลามันตก เพราะ ยังไงเราก็ถือระยะยาวอยู่แล้ว การลดลงเป็นกระบวนที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของการถือระยะยาว
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะรักแบบไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่ได้สนใจมูลค่านะครับ ผมถือยาว แต่ผมก็มีการปรับ Position Sizing ตามโอกาสและความเสี่ยง ราคาในบางช่วงที่แพงเกินไป ผมจะพยายามลดสัดส่วน Underweight ราคาในบางช่วงต่ำเกินไป ผมก็จะพยายาม Overweight