ครั้งที่แล้วผมตั้งประเด็นว่านโยบายเศรษฐกิจเพื่อคนไทย นั้นหมายถึงการให้ความสำคัญสูงสุดกับการสร้างงานที่มีคุณภาพ มีความคุ้มค่าและมีคุณค่าให้กับคนไทย ซึ่งจะเข้าใจได้ว่าเป็นงานที่เงินเดือนดีและสวัสดิการดีมีความก้าวหน้า
ซึ่งต้องมุ่งเน้นการสร้างศักยภาพของแรงงานให้มีผลิตภาพสูง โดยสถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และภาครัฐ จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจ
สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเป็นมนุษย์เงินเดือน คือผู้ที่ต้องการเสี่ยงทำธุรกิจของตัวเอง (เป็นนายทุนและผู้ประกอบการ) นั้น ก็จะต้องได้รับโอกาส ไม่ให้รายใหญ่ผูกขาด
แต่ภาครัฐจะช่วยในการปรับกระบวนการให้จัดตั้ง (และปิด) ธุรกิจได้โดยสะดวก ตลอดจนมีมาตรการช่วยเหลือให้สามารถว่าจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง
(เช่น ให้ภาครัฐและบริษัทขนาดใหญ่ร่วมกันผลิตแรงงานที่มีทัศนะและมีประสบการณ์ในการทำงานในขั้นต้น (apprenticeship) แล้วสามารถส่งไปทำงานกับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม
โดยในช่วง 1-2 ปีแรกของการทำงาน เงินเดือนของพนักงานดังกล่าวสามารถหักภาษีได้เป็นสองเท่า เป็นต้น
สาเหตุที่ต้องให้ความสำคัญหลักกับกลุ่มคนในวัยทำงาน ก็เพราะประชากรไทยกำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็ว
กลุ่มคนที่ปัจจุบันกำลังเริ่มแก่ตัวปลดเกษียณ (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 2506-2526) จากวันนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้า (กลุ่ม Baby boomer ของไทย) คือกลุ่มคนที่เกิดใหม่ในช่วงดังกล่าว จำนวนปีละกว่า 1 ล้านคน
แต่ปัจจุบันนี้ มีเด็กไทยเกิดใหม่ลดลงมาอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 544,570 คนในปี 2021
หมายความว่า คนรุ่นใหม่ในวัยทำงาน จะต้องผลิตสินค้าและบริการเพื่อเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงลูกและเลี้ยงผู้สูงอายุ (ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อมผ่านการถูกเก็บภาษี) นั้น
จะมีจำนวนลดลงจากปัจจุบันที่มีคนในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) 43.2 ล้านคน เหลือจำนวนเพียง 36.5 ล้านคน (ลดลง 6.7 ล้านคน) ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 12.5 ล้านคนเป็น 20.5 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 8 ล้านคน)
สำหรับผู้สูงอายุ (เช่นตัวผมเอง) นั้น ก็มีหน้าที่ที่จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง สามารถทำงานได้บ้างและไม่เจ็บป่วยเรื้อรัง ทำให้เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขให้น้อยที่สุด (ต้องพยายาม แก่ช้าแต่ตายเร็ว)
คำถามที่ตามมาคือ งานและธุรกิจที่จะสร้างขึ้นในอนาคตนั้น จะเป็นสาขาใด กล่าวคือคนไทยและประเทศไทยจะ “หากิน” ด้วยอาชีพอะไร คำตอบหนึ่งคือ ควรจะต้องหากินกับผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มนี้จะเป็นตลาดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องอย่างแน่นอน
กล่าวคือจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มเฉลี่ย 4% ต่อปี นอกจากนั้นจำนวนผู้ชรา (80 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มเฉลี่ย 7% ต่อปี (ข้อมูลจากสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2564)
ซึ่งผมหมายถึง การปรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้ขยับขึ้นไปเป็นการให้บริการแบบ medical/health tourism
หรือการสร้างศักยภาพให้กับประเทศในการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่เสริมสร้างสุขภาพและการมีอายุที่ยืนยาว (longevity and health care center)
การดูแลให้มีสุขภาพที่ดีนั้น เป็นงานบริการที่ต้องอาศัยคนที่มีอัธยาศัย มีความเป็นมิตร เป็นเจ้าภาพที่ดีซึ่งคนไทยได้เปรียบในเรื่องนี้อยู่เป็นทุนแล้ว การท่องเที่ยวของไทยจึงมีชื่อเสียงที่เลื่องลือไปทั่วโลก
ดังนั้น การมุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ในโลกที่ประเทศพัฒนาแล้ว (คนรวย) ประชากรก็กำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น จะไม่มีปัญหาด้านอุปสงค์อย่างแน่นอน
อีกภาคเศรษฐกิจที่น่าจะพัฒนาโดยอาศัยการเพิ่มเทคโนโลยีและการลงทุนคือ ภาคเกษตร ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) อยู่แล้ว
เพราะเป็นผู้ส่งออกอาหารสุทธิมายาวนาน แต่จะต้องเร่งการเพิ่มผลิตภาพโดยเพิ่มเทคโนโลยี ตลอดจนการเพิ่มคุณภาพและคุณค่า เป้าหมายคือประเทศไทยต้องเป็นที่รู้จัก-เลื่องลือ ว่ามีความโดดเด่นในการผลิตอาหารที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ (อาหารไทยทุกคนยอมรับว่าอร่อยอยู่แล้ว แต่ต้องมีคุณภาพด้วย)
หมายความว่าภาคเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคเกษตรคือ การผลิตอาหาร ภัตตาคาร ฯลฯ จะต้องสามารถสร้างงานและขยายตัวได้อย่างมาก พร้อมกับภาคเกษตรสมัยใหม่ที่เรียกว่า เกษตรแม่นยำ (precision agriculture)
ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง (ราคาสูง) ที่ใช้ปุ๋ยน้อย ดินดีและควบคุมการใช้น้ำให้ประหยัดที่สุด ฯลฯ
ประเด็นที่ตามมาคือ คุณภาพของอากาศในประเทศไทยที่ต้องแก้ไขอีกมาก กล่าวคือหากไทยจะเป็นศูนย์กลางส่งเสริมสุขภาพจะให้อากาศมีฝุ่น PM 2.5 ติด 5 อันดับแรกของโลกทุกปีไม่ได้ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการเผาอ้อย ข้าว ข้าวโพดทุกปี
ตรงนี้ก็ต้องอาศัยการลงทุนและเทคโนโลยีแก้ปัญหา เช่น การตัดอ้อยโดยเผาต้นอ้อยก่อนแล้วแรงงานจึงจะเข้าไปตัดต้นอ้อยได้นั้น ต้องยกเลิกให้หมดโดยการใช้รถตัดชนิดพิเศษ (ราคา 20 ล้านบาทต่อคัน) โดยแพร่หลาย
ตรงนี้หมายถึงการที่ประเทศไทยจะต้องใช้รถประเภทนี้ และให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน (ที่เผาอ้อย) คือ เมียนมา ลาว และเขมร พร้อมกันไปด้วย
การให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ กระทรวงการต่างประเทศไทยมีกลไกอยู่แล้ว และต้องเป็นนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศหลักของไทย
เพราะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย และในความเห็นของผมนั้นจะเป็น soft power สำหรับประเทศไทยอีกด้วย
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่ามีแต่การให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ แต่ทั้งนี้ระบอบประชาธิปไตยที่เปิดกว้างจริงจะให้โอกาสคนทุกกลุ่ม
ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่ประชากรแก่ตัวอย่างรวดเร็วไม่แพ้ประเทศไทย แต่ก็สามารถสร้างนักร้อง-นักแสดง-ภาพยนตร์ ที่โด่งดังไปทั่วโลก
กล่าวคือระบอบประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้กับทุกภาคส่วน แตกต่างจากระบบเผด็จการของเกาหลีเหนือ ที่มีแต่การส่งเสริมและสรรเสริญตัวผู้และครอบครัวของผู้นำ การพัฒนาอาวุธและมุ่งเน้นความมั่นคง (ของผู้นำ) ในขณะที่ประชาชนและประเทศมีแต่จะยากจนลงไปเรื่อยๆ
นโยบายเศรษฐกิจสำหรับคนไทย (2) /ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1