พื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทยมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 149.25 ล้านไร่ (จากพื้นที่ประเทศ 320.70 ไร่) กล่าวคือ ใช้พื้นที่ประมาณ 46.54% ของพื้นที่ในประเทศทั้งหมดเพื่อการเกษตร
นอกจากนั้น แรงงานของไทยประมาณ 30% ก็อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งมีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วน 8-10% ของจีดีพี จึงชัดเจนว่าเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพ (productivity) ต่ำกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ
ผลผลิตต่อไร่ของไทยต่ำกว่ามาตรฐานโลกอย่างมาก ในรูปด้านล่างผมได้นำเอาข้อมูลของธนาคารโลกมาเปรียบเทียบผลผลิตของธัญพืชต่อเฮกตาร์ของไทย มาเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามและสหรัฐมาให้ดูเป็นตัวอย่าง (ท่านผู้อ่านสามารถเปรียบเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยของโลกดูได้จากข้อมูลของธนาคารโลก แต่ผมไม่ได้นำมารวม เพื่อไม่ให้มีเส้นกราฟมากเกินไป)
เห็นได้ว่าผลผลิตต่อเฮกตาร์ของไทยต่ำกว่าของเวียดนามอย่างมากในปี 2563 (ข้อมูลล่าสุด) กล่าวคือ เมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อนหน้า ที่ผลผลิตต่อเฮกตาร์ใกล้เคียงกัน ประเทศไทยถูกเวียดนามทิ้งไปไกล เพราะในปี 2563 ผลผลิตของเวียดนามสูงกว่าผลผลิตของไทยเกือบเท่าตัว (ไทย = 3,016 กิโลกรัมต่อ 1 เฮกตาร์ เวียดนาม = 5,797 กิโลกรัมต่อ 1 เฮกตาร์)
ที่สำคัญคือ ประเทศไทยไม่มีพัฒนาการในการเพิ่มผลผลิตต่อเอเคอร์เลยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ปี 2544/2553/2558 และปี 2563 ผลผลิตต่อเฮกตาร์ 2,953/3,071/2,959 และ 3,010 กิโลกรัม
สาเหตุหลักที่ผลผลิตต่อไร่ไม่เพิ่มขึ้นนั้น น่าจะเกิดจากการมีน้ำใช้ที่จำกัดและการไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพียงพอเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่เนื่องจากผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ดังนั้นก็ต้องแปลว่าพื้นที่เพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น
ตัวเลขธนาคารโลกระบุว่า พื้นที่เพื่อการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนของพื้นที่ทั้งหมดในปี 2543/2548/2553/2558 และปี 2563 เท่ากับ 38.8%/38.4%/41.2%/44.1% และปี 2563 เท่ากับ 45.0%
การใช้พื้นที่มากขึ้นย่อมจะหมายความว่าคงจะต้องมีการรุกป่าเพิ่มขึ้น และ/หรือใช้พื้นที่ที่ไม่อุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น (เพราะพื้นที่เมืองและเพื่ออุตสาหกรรมก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน)
กล่าวคือ ความแออัด มลภาวะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาวะโลกร้อน ก็มีแต่จะรุนแรงขึ้น ไม่มีทางลดลงหากยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในลักษณะเช่นที่ได้ทำมาในอดีต
ธนาคารโลกมีข้อสรุปว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญยิ่งของภาคเกษตร โดยธนาคารโลกได้ประมวลข้อมูลของโลกพบว่า พื้นที่การเกษตรที่มีระบบชลประทาน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด แต่ให้ผลผลิตเท่ากับ 40% ของผลผลิตทั้งหมด
ผมเข้าใจว่าประเทศไทยมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 22% ของพื้นที่การเกษตร ซึ่งแปลว่าการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นได้มาก และจะเป็นการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย
น่าสนใจที่ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ญี่ปุ่นมีพื้นที่ชลประทานคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 34.8% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ในขณะที่สหรัฐนั้นมีพื้นที่ชลประทานเพียง 5.4% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด แปลว่าสหรัฐใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเป็นหลักในการเพิ่มผลผลิตต่อเอเคอร์
ดังนั้น ผมจะขอเพิ่มเติมว่า อีกปัจจัยที่สำคัญยิ่งคือ เทคโนโลยีที่เรียกว่าเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) เพื่อประหยัดการใช้ทรัพยากร ลดต้นทุนการผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในระยะยาวนั้นการ “แย่งชิงน้ำ” น่าจะรุนแรงมากขึ้น ธนาคารโลกประเมินว่าผลผลิตทางการเกษตรจะต้องเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันอีก 70% ภายในปี 2593 (อีก 27 ปีข้างหน้า) เพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้น (จากประมาณ 7,000 ล้านคนเป็น 10,000 ล้านคน)
และความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารคุณภาพดี (ที่ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นในการผลิต) จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในประเทศกำลังพัฒนา ในขณะเดียวกัน ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ (ภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือนในเมือง และภาคบริการ) ก็ต้องใช้น้ำมากขึ้นเช่นกัน แต่ภาคเศรษฐกิจดัวกล่าว มีมูลค่าการผลิตสูงกว่าภาคเกษตร
ดังนั้น จึงจะเรียกร้องและต้องการแย่งชิงน้ำจากภาคเกษตร (relocation from agriculture to higher productivity activities) ประมาณ 25-40% (กล่าวคือจากปัจจุบัน ภาคเกษตรมีน้ำใช้เท่ากับ 100 แต่ในอนาคตจะต้องลดลงเหลือ 60-75)
ดังนั้น นโยบายเร่งด่วนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการดึงให้ภาคเกษตรของไทยหลุดออกจากกับดักความยากจน คือ การพัฒนาระบบน้ำและการเร่งเพิ่มการใช้เทคโนโลยีแม่นยำ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างจำกัดที่สุด แต่สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
อย่าลืมอีกด้วยว่า ประเทศไทยนั้นกำลังจะขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง และปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็เหลืออยู่อีกไม่มาก ดังนั้น การลงทุนระยะยาวเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในภาคเกษตร จึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิดก็นึกออก (no brainer)
แล้วเงินจะเอามาจากไหน? ดังที่ผมกล่าวในบทความที่แล้ว ประเทศไทยเห็นพ้องต้องกันว่าต้องการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การให้บริการด้านสุขภาพและผลิตอาหารคุณภาพที่เป็นหนึ่งของโลก (แทนการเป็น Detroit of Asia)
ก็จะต้องมียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนว่า จะนำพาประเทศไปสู่จุดมุ่งหมายดังกล่าวอย่างไร กล่าวคือ จะต้องเป็นการหารือร่วมกันอย่างจริงจังระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคประชาชน
หากทำเช่นนี้ ก็น่าจะสามารถระดมทุนจากภาคเอกชนทั้งในไทยและจากต่างประเทศได้จำนวนไม่น้อย นอกจากนั้น รัฐบาลเองก็ต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะปฏิรูปนโยบายเกษตร ที่ปัจจุบันใช้เงินปีละกว่าแสนล้านบาทในการประกันรายได้เกษตรกรและประกันราคาสินค้าเกษตร ตลอดจนการให้เกษตรกรติดค้างหนี้ที่ ธกส.เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะนโยบายดังกล่าว
แม้จะเป็นประโยชน์ทางการเมือง และเป็นประโยชน์กับเกษตรกรในระยะสั้น แต่นโยบายดังกล่าวทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงการทำการเกษตร เป็นผลให้การเปลี่ยนแปลงและปรับโครงสร้างการผลิต ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย
เพราะผลิตแบบเดิมก็จะมีการ “ประกันราคา” และหากได้ผลผลิตน้อยก็มีการ “ประกันรายได้”
การเกษตรของไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1