มาย้อนกลับไปรู้จัก Basel III Bond กันเถอะ / Nat Luengnaruemitchai
.
ในปี 1974 Herstatt Bank ธนาคารในประเทศเยอรมันที่เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเงินตราต่างประเทศ ได้พนันผิดข้างในเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธนาคารขาดทุนอย่างหนัก จนกระทั่งธนาคารถูกปิดโดยหน่วยงานกำกับดูแลของเยอรมัน แต่ก็ทำให้เกิดความปั่นป่วนอย่างหนักในตลาดเงิน จนกลุ่มประเทศ G-10 ในเวลานั้นได้ก่อตั้ง Basel Committee on Banking Supervision ภายใต้การควบคุมดูแลของ Bank for International Settlements โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในการชำระเงิน (settlement risk) ซึ่งหนึ่งในกลไกที่หน่วยงานนี้ได้ร่างไว้ก็คือ ข้อตกลง Basel (Basel Accord) โดยมี
.
Basel I หรือที่เคยเรียกว่า Basel Capital Accord ได้ถูกตีพิมพ์ในปี 1988 เมื่อเศรษฐกิจโลกเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีธนาคารที่ต้องทำธุรกรรมระหว่างกันมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดความกังวลว่า หากมีธนาคารหนึ่งล้มไป ก็อาจจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาในวงกว้างได้ ซึ่งในตอนแรก ก็มีเพียงกลุ่มประเทศ G-10 ที่นำมาตรฐานนี้ไปบังคับใช้ในช่วงปี 1992 แต่หลังจากนั้น ประเทศนอกกลุ่ม G-10 ก็นำมาตรฐานนี้ไปใช้โดยปรับเปลี่ยนเล็กน้อย โดยหัวใจสำคัญของ Basel I คือการกำหนดให้มีเงินสำรองขั้นต่ำสำหรับสถาบันการเงิน โดยใช้วิธีการคำนวณเป็นร้อยละของสินทรัพย์เสี่ยงแบบถ่วงน้ำหนัก (risk-weighted asset) และการถือเงินสดสำรองไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 9 ชองสินทรัพย์เสี่ยงถ่วงน้ำหนัก
.
ส่วน Basel II ได้ออกมาในปี 2004 เพื่อเป็นส่วนต่อขยายจาก Basel I โดยเพิ่มหลักสามข้อ คือ
1. การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ
2. การตรวจสอบดูแลความเพียงพอของเงินกองทุน/กระบวนการการตรวจสอบภายใน และ
3. การเปิดเผยข้อมูลข้อมูล รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีการดำเนินงานที่ดี
และได้มีการออกเพิ่มเติมเป็น Basel 2.5 ในปี 2009 หลังจากการล้มละลายของ Lehman Brothers เพื่อให้สามารถสะท้อนภาพความเสี่ยงจากตลาด (market risk) ได้ดีขึ้น โดยการทำ VaR (Value at Risk) มาใช้ในการทำ stress test เพื่อดูความเสี่ยงของสถาบันการเงินภายใต้สภาวะตลาดที่ผันผวน
.
ส่วน Basel III เป็นมาตรฐานล่าสุดในการนิยามเงินกองทุน (capital) อัตราเงินกองทุน (capital ratio) และการกำหนดอัตราทด (leverage ratio) รวมไปถึงการนำมาตรฐานใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อให้สะท้อนภาพฐานะความมั่นคงของสถาบันการเงิน โดยดูถึงความเสี่ยงในมุมต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น เรื่องของสภาพคล่อง ความเสี่ยงของคู่สัญญา เป็นต้น โดยข้อตกลงนี้ได้ถูกนำมาปรับปรุงในช่วงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปี 2008 ก่อนที่จะถูกตีพิมพ์ในปี 2010-2011
.
สิ่งหนึ่งที่ Basel III นิยามไว้ก็คือ การกำหนดความชัดเจนของประเภทของเงินกองทุน โดยมีการแบ่งประเภทของเงินกองทุนที่มีความชัดเจนดังนี้
- Core Tier 1 (CET1) ซึ่งประกอบไปด้วย Common Equity เช่น หุ้นสามัญ กำไรสะสม ส่วนของผู้ถือหุ้นอื่น
- Additional Tier 1 (AT1) เป็นตราสารทางการเงินที่มีอายุไม่กำหนด (perpetual) แต่สามารถมีเงื่อนไขในการไถ่ถอนได้หลังจาก 5 ปี และต้องมีเงี่อนไขในการแปลงเป็นทุน หรือจำหน่ายเป็นหนี้สูญเมื่อเกิดเข้าข่าย write-down event
- Supplementary Tier 2 (T2) เป็นตราสารทางการเงินแบบด้อยสิทธิ์ที่มีกำหนดอายุการชำระคืนไม่น้อยกว่า 5 ปี ในกรณ๊ที่เกิดปัญหา ตราสารดังกล่าวอาจจะถูกจำหน่ายเป็นหนี้สูญ แต่หลังจากที่ความเสียหายเกินกว่าที่ CET1 และ AT1 สามารถที่จะรองรับได้
.
และการออกมาตรฐานที่ชัดเจนนี้เองทำให้การออกหุ้นกู้เพื่อนำมานับเป็น Additional Tier 1 (AT1) และ Supplementary Tier 2 (T2) ได้รับความนิยมมาก จนบางครั้งถูกเรียกว่า Basel III Bond นั่นเอง เพราะหุ้นกู้ดังกล่าวสามารถถูกนับเป็นเงินกองทุนได้ตามที่มาตรฐานกำหนดไว้ ซึ่งในปัจจุบัน มีตราสารดังกล่าวคงค้างอยู่หลายแสนล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
.
อย่างไรก็ตามหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง จึงได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป แต่ความเสี่ยงของหุ้นกู้ดังกล่าวนั้นกลับไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเวลาที่สถาบันการเงินมีปัญหา ว่าสถาบันการเงินนั้นจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ และจะถูกแทรกแซงจากหน่วยงานกำกับมากน้อยเพียงไร เพราะการแทรกแซงนั้นอาจจะทำให้เกิด trigger event ซึ่งทำให้เกิดการ bail in โดยการ write down ตราสารเหล่านี้ เพื่อนำมาเพิ่มเป็นเงินกองทุนของสถาบันการเงินในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหานั่นเอง
.
ตัวอย่างที่ดีคงหนีไม่พ้นเคสของ Credit Suisse ที่เงินกองทุนยังดูเหมือนเพียงพอ แต่ความกังวลของนักลงทุนทำให้เกิดปัญหา Bank run จนกระทั่งธนาคารมีปัญหา และถูกแทรกแซงโดยหน่วยงานกัำกับ จนไป trigger เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหุ้นกู้ดังกล่าว และถูกบังคับให้จำหน่ายเป็นหนี้สูญ (write-down) นั่นเอง
.
อย่างในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการออก Basel III Bond เช่นกัน เช่น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกตราสารทางการเงินที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์) วงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้ Euro Medium Term Note Programme อัตราดอกเบี้ย 5.275% ต่อปี กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 5 เดือน และ Reset ดอกเบี้ยทุก 5 ปี ส่วนธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ วงเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดอกเบี้ย 5% ต่อปี
https://www.bot.or.th/.../Basel_III_Pap ... n_2011.pdf