หน้า 1 จากทั้งหมด 1

DISC model กับการวิเคราะห์ผู้บริหาร / Pocket investor

โพสต์แล้ว: จันทร์ เม.ย. 24, 2023 5:56 am
โดย Pocket investor
Investor's practice: สวัสดีทุกท่านครับ วันนี้จะมาแชร์เกี่ยวกับ DISC model กับมุมมองการปรับใช้ในการวิเคราะห์ผู้บริหารเพื่อการลงทุนครับ จะเป็นอย่างไร ลองมาดูกันเลย
.
สำหรับนักลงทุนสายพื้นฐาน การวิเคราะห์ผู้บริหารเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกหุ้นลงทุน โดย นักลงทุนจะต้องวิเคราะห์ในหลากหลายแง่มุม เช่น ความสามารถเชิงกลยุทธ์และการบริหารงาน, Passion ในการทำธุรกิจ, การวางเป้าหมายและความมุ่งมั่นในการทำให้สำเร็จ, ความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา, การอยู่ฝั่งเดียวกับนักลงทุน และอื่นๆ
.
สิ่งเหล่านี้นักลงทุนสามารถสัมผัสได้จากสิ่งต่างๆที่ผู้บริหารสื่อสารออกมา ทั้งเชิงเนื้อหา น้ำเสียงและกริยาท่าทาง ที่แตกต่างกันออกไปตาม "บุคลิกภาพ" ของแต่ละบุคคล ดังนั้น การเข้าใจลักษณะบุคลิกภาพของผู้บริหาร อาจจะทำให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์กิจการได้ดีมากขึ้น
.
แนวคิดการวิเคราะห์บุคลิกภาพแบบหนึ่ง ที่ค่อนข้างเรียบง่ายและส่วนตัวผมชอบใช้เวลาได้พบเจอกับใครก็ตามในชีวิต คือ "DISC" เป็น Model ที่ถูกคิดค้น โดย คุณ William Marston นักจิตวิทยา ที่จะจำแนกบุคลิกของคนออกเป็น 4 ลักษณะหลัก ที่แทนด้วยสัตว์ 4 ชนิด ได้แก่
.
1. กระทิง (Dominance)
"เป้าหมายมีไว้พุ่งชน ดุดันไม่เกรงใจใคร"
บุคลิกภาพ >> ตรงไปตรงมา มุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย รวดเร็ว เน้น Execution ชอบการแข่งขันและเอาชนะ รักความยุติธรรม กล้าเผชิญหน้า
.
ข้อดี >> มีความเป็นผู้นำสูง เป็นคนทำงานจริงจัง มุ่งมั่นที่ผลลัพธ์ ขยัน มีพลัง ปกป้องลูกน้องได้ ปรับตัวรวดเร็ว
ข้อเสีย >> ชอบใช้อำนาจ ยึดมั่นความคิดตัวเองเป็นหลัก ตัดสินใจจากประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ค่อยฟังผู้อื่น ใจร้อน ตั้งเป้าหมายสูงหรือกล้าเสี่ยงมากเกินไป
.
2. อินทรี (Influence)
"ผมฝันจะไปดวงจันทร์...ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้"
บุคลิกภาพ >> มีวิสัยทัศน์ มองภาพระยะยาว ช่างคิดช่างฝัน ช่างพูด มีจินตนาการ คิดนอกกรอบ ชอบเข้าสังคม มองโลกในแง่บวก รักอิสระ
.
ข้อดี >> เป็นนักสร้างสรรค์ มักมีไอเดียใหม่ๆที่น่าสนใจเสมอ ชอบทำอะไรใหม่ๆ สร้างแรงบันดาลใจสามารถชักจูงทีมงานได้ดี
ข้อเสีย >> ชอบพูดอะไรมากเกินความจริง มักมองแต่ภาพใหญ่ไม่ลงรายละเอียด ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจมากเกินไป ไม่ Focus
.
3. หนู (Steadiness)
"ผมคนเดียวไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง แต่เรามีทีมงานที่ยอดเยี่ยม"
บุคลิกภาพ >> สุภาพเรียบร้อย ใจดี เข้าใจผู้อื่น รักสันติ ไม่ชอบความขัดแย้ง ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ทำงานเป็นทีม ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ
.
ข้อดี >> เป็นนักสร้างสัมพันธ์ที่ดี ผู้คนรัก อยากทำงานด้วย แก้ไขปัญหาความขัดแย้งเก่ง จึงสร้างทีมได้ดี
ข้อเสีย >> บางครั้งอาจจะขาดความมั่นใจในการตัดสินใจ ถ่อมตัวมากเกินไป มักตั้งเป้าหมายต่ำ ขี้เกรงใจ เผชิญหน้าไม่เก่ง
.
4. หมี (Compliance)
"ทุกสิ่งถูกคิดอย่างรอบคอบและวางแผนมาเป็นอย่างดีแล้ว"
บุคลิกภาพ >> มีหลักการ ชอบคิดวิเคราะห์ ช่างสังเกต เป็นนักวางแผน ละเอียดรอบคอบ มีระเบียบแบบแผน สุขุม รักความสันโดษ
.
ข้อดี >> Logic ดี มีวินัยสูง ตัดสินใจจาก Fact & Data อย่างรอบคอบ ใจเย็น ลงรายละเอียดและทำงานเป็นระบบ
ข้อเสีย >> ยึดติดกับสิ่งเดิมไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวช้า Conservative ไม่ชอบความเสี่ยง สื่อสารกับผู้อื่นไม่เก่ง
.
แม้ว่า DISC model จะถูกออกแบบมาสำหรับการทำงาน การปฎิสัมพันธ์และอยู่ร่วมกัน เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ผู้บริหารเพื่อการลงทุนได้เช่นกัน
.
โดยทั่วไปผู้บริหารที่เป็นผู้นำระดับสูงขององค์กรจะฝึกทักษะจนสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆเป็นบุคลิกทั้ง 4 ได้ แต่จะมีเพียง 1-2 บุคลิกเท่านั้นที่เป็นบุคลิกหลักที่เป็น "ตัวตนที่แท้จริง" ของเขา ซึ่งหากนักลงทุนมองออกจะช่วยในเรื่องต่างๆได้ ยกตัวอย่างเช่น
.
1. การวิเคราะห์เป้าหมายและแผนงาน
ในแง่ของการวางเป้าหมายสูงหรือต่ำ และข้อมูลรายละเอียดของแผนงานนั้น อาจจะมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพหลักทั้ง 4 ของผู้บริหาร ดังนี้
.
ผู้บริหารแบบกระทิง >> มักจะ "ตั้งเป้าสูง" เพื่อสร้างแรงกระตุ้นในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดย ผู้บริหารมักจะพูดถึงแผนว่าเขาจะทำอะไรบ้างและเมื่อไรที่จะเกิดขึ้น เน้นการ Execution เป็นหลัก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามแผนที่ตั้งเป้าหมายไว้
.
ผู้บริหารแบบอินทรี >> มักจะ "ตั้งเป้าสูง" โดยทั่วไปอินทรีมักมองโลกในแง่ดีและอยากให้ภาพบริษัทดูดี โดย แผนงานมักจะเป็นเรื่องที่ดูว้าว เช่น การเข้าไปทำ Business ใหม่ที่น่าสนใจ หรือ การออกสินค้าที่แปลกใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมักจะเป็นแผนภาพใหญ่ที่ต้องดู Execution อีกครั้งว่าทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน
.
ผู้บริหารแบบหนู >> มักจะ "ตั้งเป้าต่ำ" มีความกลัวความกังวลที่จะทำไม่สำเร็จ แคร์ความคิดของนักลงทุน โดย แผนงานส่วนมาก ค่อนข้างจะดูเรียบง่ายหรืออาจจะเน้นในด้านความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆหรือการพัฒนาทีมงาน เป็นต้น
.
ผู้บริหารแบบหมี >> มักจะ "ตั้งเป้าต่ำ" ไม่ชอบเสี่ยงและมองอย่างรัดกุม ให้ความสำคัญกับ Creditability โดย ผู้บริหารแบบหมีอาจจะหวงข้อมูลและไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลแผนงานสู่สารธารณะมากนักหากไม่ได้มั่นใจแน่นอน แต่มีการคำนวณเชิงตัวเลขในหัวชัดเจนเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย
.
หน้าที่่ของนักลงทุน คือ การมองลักษณะผู้บริหารให้ออกและปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงให้เหมาะสมกับความเป็นจริง
.
2. ความเหมาะสมกับประเภทธุรกิจที่ทำ
ขึ้นชื่อว่าเป็นนักธุรกิจหรือผู้บริหารมืออาชีพ ท่านๆเหล่านั้นน่าจะมีความสามารถในการบริหารธุรกิจอะไรก็ได้ อย่างไรก็ตามหากลักษณะบุคลิกของผู้บริหารตรงกับลักษณะธรรมชาติของธุรกิจนั้นๆ ก็มีโอกาสที่จะสามารถทำผลงานได้ดีมากกว่า
.
ผู้บริหารแบบกระทิง >> มักจะเหมาะกับ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรือสิ่งใหม่ๆที่มีการแข่งขันสูง เพราะ ธุรกิจกลุ่มนี้ยังมีแนวทางที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงต้องอาศัยผู้นำที่เก่งและมีความเผด็จการที่จะพาบริษัทไปถูกทิศทาง รวมถึงการปรับตัว Execution และแก้ไขปัญหาต่างๆที่รวดเร็ว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นได้
.
ผู้บริหารแบบอินทรี >> มักจะเหมาะกับ ธุรกิจที่ต้องใช้การนำเสนอและการตลาดนำ เช่น สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย สื่อบันเทิง เป็นต้น โดย ผู้บริหารแบบอินทรีหลายๆท่านมีความสามารถในการสร้างแบรนด์ให้โดดเด่น บางท่านอาจจะใช้ตัวเองช่วย Present แบรนด์ของบริษัทอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
.
ผู้บริหารแบบหนู >> มักจะเหมาะกับ ธุรกิจบริการและ Retail ที่ต้องอาศัยการใส่ใจรายละเอียดในการดูแลลูกค้า เช่น ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาล ร้านค้าปลีก เป็นต้น เพราะ คนกลุ่มนี้จะเข้าใจ Sense ของความเป็นมนุษย์ได้ดีมากๆ ที่จะสามารถทำให้ลูกค้าประทับใจได้
.
ผู้บริหารแบบหมี >> มักจะเหมาะกับ ธุรกิจที่ต้องการบริหารความเสี่ยงที่ดี เช่น ธนาคาร ประกันภัย ธุรกิจ Non-Bank เป็นต้น เพราะ ปัจจัยหลักของกลุ่มนี้ไม่ใช่การหาลูกค้าใหม่ให้มากที่สุด แต่คือการบริหารความเสี่ยงที่ไม่ทำให้เกิดหนี้เสียมากเกินไป เป็นหลัก
.
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงมุมมองแบบส่วนมาก แต่อาจจะไม่ใช่ทุกกรณี บางครั้งเราอาจจะเห็นผู้บริหารแบบหมี แต่ทำธุรกิจด้าน FMCG ได้ดีมากๆก็เป็นได้ ต้องดูเป็น Case by case
.
3. การวิเคราะห์ความสมดุลของทีมบริหาร
แน่นอนว่าการทำงานเป็นบริษัทนั้นไม่ได้ทำงานเพียงผู้เดียว ผู้นำเป็นคนที่สำคัญ แต่ทีมงานบริหารเองก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งการมีทีมบริหารที่มีส่วนผสมในหลากหลายบุคลิกภาพจะช่วยอุดจุดอ่อนของกันและกันได้ดีมากขึ้น เช่น
.
บริษัทหนึ่ง CEO อาจจะเป็นกระทิงที่มุ่งทะลุในการลงทุน แต่มี CFO ที่เป็นหมีช่วยเบรคและคิดวิเคราะห์ความเสี่ยง มี CMO เป็นอินทรีที่นำเสนอไอเดียใหม่ๆ โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ มี COO ที่เป็นหนูที่เก่งในด้านการสร้าง Culture และการบริหารแรงงาน ก็อาจจะเป็นทีมงานที่สมบูรณ์แบบ ในขณะที่อีกบริษัทอาจจะเป็นอินทรีกันทั้งหมดแบบนี้ Execution อาจจะไม่เกิดก็เป็นได้ ซึ่่งเป็นหน้าที่ของนักลงทุน คือ การวิเคราะห์ความสมดุลของทีมงานของบริษัทที่สนใจ
.
นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของการนำ DISC มาช่วยในการวิเคราะห์ผู้บริหาร เชื่อว่าหากมองภาพลักษณะนี้อาจจะช่วยให้เห็นมิติอื่นๆที่น่าสนใจอีกมาก อย่างไรก็ตามอย่างที่บอกว่า ผู้บริหารเป็นผู้มีความสามารถที่ปรับตัวให้เหมาะสมตามสถานการณ์ได้ ดังนั้น บุคลิกภาพเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ทางธุรกิจ ที่สำคัญ คือ DISC เป็นแค่การบอกบุคลิกภาพ ซึ่งแต่ละแบบล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งสิ้น
.
การวิเคราะห์ DISC จึงเป็นเพียงหนึ่ง Model ที่สามารถมาปรับใช้ได้ แต่ไม่ควรยึดว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ซึ่งต้องดูปัจจัยแวดล้อมและใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ผู้บริหารในปัจจัยอื่นๆที่สำคัญมากกว่า เช่น จริยธรรมและความโปร่งใส เป็นต้น
.
ทั้งหมดเป็นแค่มุมมองของผมเพียงคนเดียว อาจจะถูกบ้างผิดบ้างนะครับ ใครมีความคิดเห็นอย่างไรสามารถ comment มาคุยกันได้เลยนะครับ : )
Writer: Pocket investor