หน้า 1 จากทั้งหมด 1

'5 ข้อผิดพลาด' นักเล่นกองทุนพึงระวัง

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ย. 03, 2004 8:43 am
โดย Joraka
อย่ากังวลถึงสิ่งที่คนอื่นกำลังทำ แต่ขอให้อดทนและใจเย็น รอจนกว่าจะถึงคราวของตัวเอง และจงเรียนรู้จากความผิดพลาด'

'นักลงทุนทุกรายย่อมทำผิดพลาด แต่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ ผู้ยอมรับความผิดพลาดและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้น' จอร์เจีย บรักเกอร์แมน นักวางแผนการเงินของเมอริเดียน ไฟแนนเชียล ในฮอลลิสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวกับแนนซี โอพีลา จากฟิเดลิตี้ แมกกาซีน วารสารน่าสนใจจากการนำเสนอของฟิเดลิตี้ กองทุนชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐ

โอพีลาได้นำเอาไอเดียของบรักเกอร์แมน รวบรวมไว้ในเรื่อง '5 ข้อผิดพลาดของนักเล่นกองทุน' (Five Mistakes of Mutual Fund Investors) ซึ่ง Fund Tips เชื่อว่าจะเป็นข้อมูลสามารถนำมาปรับใช้เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย

บทความของโอพีลาในฟิเดลิตี้ หยิบยกข้อเท็จจริงที่ฟังแล้วอยากปฏิบัติตาม ด้วยคำกล่าวเตือนอันชาญฉลาด ดั่งบุพการีมอบให้บุตรหลานว่า 'อย่ากังวลถึงสิ่งต่างๆ ที่คนอื่นกำลังทำ แต่ขอให้อดทนและใจเย็น รอจนกว่าจะถึงคราวของตัวเอง' รวมทั้งคำแนะนำที่นักลงทุนสามารถนำไปใช้ได้จริงว่า 'จงเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง' ล้วนเป็นประโยคที่น่าจดจำนำไปใช้บนเส้นทางลงทุนอันยาวไกลได้

บรักเกอร์แมน กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะจดจำบทเรียนต่างๆ ที่ได้รับจากตลาดหมี และบทเรียนที่ได้จากความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการลงทุน ไปจนถึงความโง่เขลาในความพยายามเกาะติดภาวะตลาดอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น โอพีลาซึ่งเห็นสอดคล้องกับบรักเกอร์แมน จึงรวบรวมข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญการเงิน นำข้อผิดพลาดสำคัญควรระวังและหลีกเลี่ยง เพื่อช่วยให้นักลงทุนคงไว้ซึ่งมุมมองระยะยาวที่มีเหตุมีผล และยังคงเดินไปได้ตามเส้นทางที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน จากนี้ไปจะเป็น 5 ข้อผิดพลาดที่โอพีลาเน้นย้ำว่า นักลงทุนควรรู้เพื่อระมัดระวังไม่ให้ก้าวต่อไปกับการลงทุนในกองทุนรวมผิดพลาด หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นควรมีน้อยที่สุด

'อย่าเล่นกองทุนจำนวนมากเกินไป หรือเป็นกองทุนที่มีเป้าหมายลงทุนคล้ายคลึงกัน' เป็นข้อเตือนใจข้อแรกสำหรับนักลงทุน ด้วยการตั้งข้อสังเกตของอัล รอบลูสกี นักวางแผนการเงินในเมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ว่านักลงทุนจำนวนมากมายติดอยู่กับการสะสมกองทุนไว้ให้ได้มาก แทนที่จะกระจายพอร์ตลงทุนให้หลากหลาย

'นักลงทุนอาจคิดว่าตัวเองมีการลงทุนหลากหลาย หากถือครองหน่วยลงทุนที่ออกโดยบริษัทจัดการกองทุนรวมหลายแห่งที่มีชื่อแตกต่างกันไป แต่กองทุนที่ถือหน่วยลงทุนอยู่เข้าไปลงทุนในหุ้นหลายตัวที่คล้ายคลึงกัน ทำให้มีการลงทุนทับซ้อนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหุ้นขนาดใหญ่' รอบลูสกี กล่าวเตือน

จอห์น สวีนนี่ รองประธานอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของฟิเดลิตี้ อินเวสต์เมนท์ เห็นด้วยกับรอบลูสกี ว่า ด้วยผลอันเกิดจากการลงทุนทับซ้อนที่มาจากการลงทุนไว้มากในกลุ่มธุรกิจใดเป็นพิเศษ สามารถทำให้ความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะขุดลึกลงไปในพอร์ตลงทุนของตัวเอง เพื่อเข้าไปให้ถึงหุ้นที่ยังครอบคลุมไม่ถึง และขจัดหุ้นซ้ำซ้อนที่อาจย้อนกลับมาเป็นภัยในภายหลัง

โอพีลา ระบุว่า บางทีหนทางง่ายที่สุดที่จะวิเคราะห์สินทรัพย์พื้นฐานภายในพอร์ตลงทุน คือ การใช้เครื่องมือผ่านอินเทอร์เน็ตใน Fidelity Portfolio Analysis สามารถเปรียบเทียบหน่วยลงทุนถือครองอยู่กับ Wilshire 5000? Index และจัดหารายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้กับหลักทรัพย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ

ดังนั้น นักลงทุนควรจะรู้ หากให้น้ำหนักพอร์ตลงทุนมากเกินไปในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือไม่ว่านักลงทุนต้องการจะสร้างสมดุลให้พอร์ตอีกครั้งหรือไม่ก็ตาม ให้เลือกการผสมผสานกองทุนอย่างเหมาะสม บนสมมติฐานที่ว่า นักลงทุนจัดสรรสินทรัพย์เป้าหมายได้ทั้งเงินสด ตราสารหนี้และหลักทรัพย์ หากผ่านขั้นตอนแรกที่สำคัญนี้ไปได้ นักลงทุนจำเป็นต้องตัดสินใจ กองทุนหลายกองทุนอาจมีส่วนนี้สอดคล้องกันมากที่สุดในการจัดสรรสินทรัพย์เป้าหมายที่กำหนดไว้

โดยตัวอย่างการตัดสินใจกระจายการลงทุนสินทรัพย์ให้หลากหลาย นักลงทุนจำเป็นต้องเลือกการลงทุนผสมผสานเหมาะสม กรณีในหุ้นที่นักลงทุนอาจต้องการลงทุนผสมผสาน ทั้งในหุ้นมูลค่า หุ้นเติบโตดี หุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ หรือการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนสูงและตราสารหนี้น่าลงทุน แต่สวีนนี่เตือนนักลงทุนระวังการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนใหม่ ก่อนที่จะขายหน่วยลงทุนในกองทุนที่มีการลงทุนคล้ายคลึงกัน

'การตัดสินใจว่า กองทุนใดที่จะทิ้ง ให้นักลงทุนฉุกคิดก่อนว่า กองทุนที่พิจารณาจะซื้อไม่ได้ดีไปกว่ากองทุนที่นักลงทุนถือครองหน่วยลงทุนไว้อยู่แล้ว และหากวิเคราะห์พบกองทุนใหม่ที่ดีหรือเหนือกว่า การซื้อกองทุนลักษณะนี้อาจช่วยยกระดับพอร์ตลงทุน โดยไม่ทำให้การจัดสินทรัพย์ของนักลงทุนขาดสมดุล' สวีนนี่ เปรียบเทียบเพื่อเตือนใจนักเล่นกองทุน

โอพีลา ตั้งข้อสังเกตและย้ำเตือนนักลงทุน โดยต้องหาเหตุผลตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า เหตุใดนักลงทุนจึงซื้อกองทุนนี้ในครั้งแรก และถ้ากองทุนนี้ยังลงตัวกับเป้าหมายที่วางไว้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ นักลงทุนอาจจะไม่ต้องดำเนินการอะไรเลย

พยายามตามตลาดหวังคว้าผลตอบแทนให้ทัน เป็นอีกหนึ่งข้อที่นักลงทุนพึงระวัง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่เป็นความจริง ในเมื่อไม่มีใครสามารถตามตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ในทางปฏิบัติความพยายามเอาชนะตลาดหรือไล่ล่าหาผลตอบแทน มักนำไปสู่การเทรดมากจนเกินไป เป็นการเพิ่มต้นทุนหรือทำให้ยากลำบากที่จะคงการลงทุนหลากหลายที่เหมาะสมไว้ได้ และสามารถทำให้ผลตอบแทนระยะยาวลดลงได้

'ผลตอบแทนได้แต่ละปีจากดัชนีเอส แอนด์ พี 500 ตั้งแต่เดือน ม.ค.ปี 2534 จนถึงเดือน ธ.ค.ปี 2546 เท่ากับ 11.9% แต่ถ้าเลือกเฉพาะวันที่มีการซื้อขายดีที่สุด 30 วัน ผลตอบแทนลดลงเพียง 2.1% ความเคลื่อนไหวของตลาดสั้นและขึ้นลงแรง นักลงทุนไม่รู้เมื่อใดที่ความเคลื่อนไหวนี้กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ให้พักการลงทุนไว้' บรักเกอร์แมน จากเมอริเดียน ไฟแนนเชียล อธิบายพร้อมยกสถิติเปรียบเทียบ

โอพีลา เพิ่มเติมว่า การตามตลาดได้เป็นผลสำเร็จ จำเป็นต้องมีการตัดสินใจแม่นยำ 2 เรื่อง คือ เมื่อใดออกจากตลาด และเมื่อใดกลับเข้าตลาด ต้นทุนของการตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจสูง และมีข้อเท็จจริงบ่งบอกการเกาะติดตลาดอาจนำไปสู่ภาระภาษีสูง

อีกกรณีหนึ่งพิสูจน์ถึงอันตรายจากการเกาะติดใช้จังหวะซื้อขายในตลาด ในช่วงเกือบ 50 ปี ระหว่างปี 2497 จนถึงปี 2546 นักลงทุนที่เข้าไปซื้อและถือหุ้นในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ไว้จากการลงทุนครั้งแรก 1,000 ดอลลาร์ จะพบว่าสิ้นปี 2546 มูลค่าการลงทุนเพิ่มเป็น 247,514 ดอลลาร์

ตรงข้ามกับนักลงทุนที่คอยเกาะติดตลาดใช้จังหวะซื้อขายตลอดเวลา ไม่ค่อยแม่นยำเวลาจะซื้อหรือขาย เกิดความผิดพลาดแต่ยังคงลงทุนจนถึงสิ้นปี 2546 จะทำเงินได้เพียง 77,725 ดอลลาร์ เป็นตัวเลขน้อยกว่า 1 ใน 3 ของผลจากการลงทุนที่นักลงทุนประเภทซื้อและถือไว้ อดทนใจเย็นและรอคอยแม้ในยามตลาดอยู่ในช่วงขาลง

เพื่อให้ได้กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ นักลงทุนต้องคงการลงทุนบนพื้นฐานความสม่ำเสมอ ไม่ว่าตลาดจะร้อนแรงหรือซบเซา การอดทนรับความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญที่จะคงเหนียวแน่นกับพอร์ตลงทุนของตัวเองไว้ ไม่ว่าตลาดจะผันผวนอย่างไรก็ตาม

ยิ่งนักลงทุนเลือกกองทุนภายใต้ความเสี่ยงสามารถรับได้ นักลงทุนจะไม่เกิดปัญหากับการรับมือการแกว่งตัวของตลาดที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่า นักลงทุนมีแนวโน้มน้อยลงที่จะตื่นตระหนกกับความรู้สึกอยากดึงเงินสดออกจากตลาดได้ช่วงตลาดขาลง และพลาดหวังกับผลกำไรที่จะได้จากการฟื้นตัวของตลาด

'ความล้มเหลวที่จะปรับสมดุลพอร์ตลงทุนใหม่' การจัดสรรสินทรัพย์ไม่ใช่บางสิ่งที่ทำเพียงครั้งเดียวแล้วลืม เพราะประเภทสินทรัพย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอัตราแตกต่างกันไป การจัดสรรสินทรัพย์ในพอร์ตของตัวเองตลอดเวลา จะบิดเบือนไปจากการจัดสรรสินทรัพย์เดิมที่เคยทำไว้ในครั้งแรกแน่นอน

เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแผนลงทุนยังคงสอดคล้องกับการอดทนรับความเสี่ยงได้ ให้ทบทวนพอร์ตลงทุนอย่างน้อยปีละครั้ง และให้พิจารณาการลงทุนใหม่ หากเปอร์เซ็นต์สินทรัพย์แตกต่างไปจากการจัดสรรสินทรัพย์แบบเดิมที่ทำไว้เกิน 5%

'การจัดสมดุลใหม่ด้วยการนำพอร์ตกลับมาอยู่ที่เปอร์เซ็นต์ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่แรก เป็นย่างก้าวสำคัญที่สุดก้าวหนึ่งที่นักลงทุนสามารถทำได้ แต่มีนักลงทุนไม่กี่รายที่ทำเช่นนี้ได้จริง การสร้างสมดุลใหม่เป็นเรื่องตรงข้ามกับการใช้สัญชาตญาณ เพราะเกี่ยวข้องกับการขายสัดส่วนกองทุน ที่อาจให้กำไร 30% ปีที่แล้ว และกลับมาซื้อกองทุนที่ปรับลง 10% การใช้ความรู้สึกเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่เมื่อถึงเวลาลงทุน เป็นสิ่งสำคัญที่จะแยกความรู้สึกออกจากกระบวนการอย่างมีระบบ' สวีนนี่จากฟิเดลิตี้ กล่าว

การจัดสมดุลให้พอร์ตลงทุนเสียใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนไม่มีปฏิกิริยาอย่างง่ายๆ กับเหตุการณ์ในตลาด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำไว้ว่า การเลือกเวลาสักครั้งหนึ่งที่นักลงทุนไม่มีวันลืมสักครั้งต่อปี อย่างเช่น วันเกิดหรือวันครบรอบอะไรสักอย่างเพื่อสร้างสมดุลใหม่ให้กับพอร์ต

แต่อย่าลืมว่าการสร้างสมดุลพอร์ตใหม่ควรให้อยู่ในกรอบ อาจช่วยนักลงทุนนำรายได้ไปหักภาษีได้ด้วย นักลงทุนอาจต้องการพิจารณาจัดสมดุลการลงทุนใหม่ ในแนวทางช่วยชดเชยกำไรที่สามารถหักลดภาระภาษีได้ อย่างไรก็ตาม ให้ปรึกษาที่ปรึกษาการเงินหรือภาษีเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือการบริหารบัญชีของนักลงทุน

'การเน้นดูผลประกอบการช่วงผ่านมาหรือเมื่อเร็วๆ นี้' แซม ฮัล นักวางแผนการเงินจากนอร์ธสตาร์ ไฟแนนเชียล แพลนนิ่ง ในเมืองวินด์แฮม มลรัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐ ตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นมนุษย์ทำให้นักลงทุนคอยจับตาผลกระทบที่เกิดกับตัวเองในช่วงที่ผ่านมามากเกินควร จึงเป็นเรื่องยากที่จะคงมุมมองการลงทุนระยะยาวไว้

ในเรื่องของพฤติกรรมการเงิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้นักลงทุนให้น้ำหนักกับหลักฐาน เช่น ตัวเลขผลประกอบการระยะสั้นจนมากเกินไป และนักลงทุนอยากเชื่อว่าผลตอบแทนจากการลงทุนช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวชี้วัดผลที่ตามมาในอนาคต ทั้งๆ ที่มีการย้ำเตือนให้ระวังเนื้อหาสาระทางการตลาดของกองทุน

กองทุนให้ผลตอบแทนดีที่สุดวันนี้ อาจกลายเป็นกองทุนให้ผลตอบแทนล้าหลังที่สุดก็เป็นได้ ขอให้นักลงทุนระลึกเสมอว่า ให้เลือกกองทุนที่ปัจจุบันให้ผลตอบแทนสูง และขายออกไปเมื่อรูปแบบการลงทุนไม่เป็นที่ชื่นชอบแล้ว การเลือกกองทุนพิจารณาจากผลประกอบการเมื่อเร็วๆ นี้เพียงอย่างเดียว อาจก่อเกิดอันตรายได้พอๆ กับการซื้อหุ้นเทคโนโลยีมูลค่าสูงเกินจริงไว้มากอย่างในช่วงปี 2542

'กองทุนให้ผลประกอบการแข็งแกร่งมากเมื่อเร็วๆ นี้ อาจรับความเสี่ยงไว้มากกว่าที่นักลงทุนตระหนัก สิ่งสำคัญอยู่ที่การเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนต่อเนื่อง ทั้งในยามตลาดขึ้นหรือลง' สวีนนี่ กล่าวเตือน

แจ็ค ซี.ฮาร์มอน นักวางแผนการเงินจากฮาร์มอน ไฟแนนเชียล แอดไวเซอร์ส อิงค์. ในมลรัฐแอตแลนตา แนะนำว่า การเลือกกองทุนไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างคนที่ทำเงินได้มากที่สุด และนักลงทุนที่เสียค่าธรรมเนียมต่ำสุด แต่ยิ่งนำปัจจัยหลายอย่างมากขึ้นมาพิจารณา เป็นไปได้มากขึ้นที่นักลงทุนทำได้มากขึ้นจากความสำเร็จในระยะยาว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเข้าใจความเสี่ยงที่ผู้จัดการกองทุนรับไว้ เพื่อทำผลตอบแทนให้ได้เหนือคู่แข่ง บ่อยครั้งที่กองทุนให้ผลตอบแทนสูงตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนต้องกรีดร้องจากฝันร้ายในยามค่ำคืน

มาถึงข้อพึงระวังอันดับสุดท้าย 'การรวมค่าธรรมเนียมซื้อขายหน่วยในกองทุน' ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในกองทุนรวม ต้องไม่เผชิญแรงกดดันมากมายด้วยเหตุผลที่ดี ทุกสิ่งต้องพิจารณาเท่าเทียมกัน กองทุนที่มีอัตราค่าใช้จ่ายน้อยลงจะมีผลตอบแทนสูงขึ้นกว่ากองทุนที่มีอัตราใช้จ่ายที่มากกว่า อัตราการใช้จ่ายเท่ากับเปอร์เซ็นต์สินทรัพย์สุทธิเฉลี่ยของกองทุนที่นำมาเป็นค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าธรรมเนียมการบริหาร และต้นทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนในแต่ละวัน

สวีนนี่เตือนว่า นักลงทุนควรรู้สึกตื่นตัวกับต้นทุนที่ใช้เพื่อการลงทุนในกองทุนรวม และที่สำคัญ มองหากลุ่มกองทุนที่มีอัตราค่าใช้จ่ายต่ำลง กองทุนลงทุนในหุ้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากองทุนลงทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนลงทุนในตลาดเงิน

หลักทรัพย์ในต่างประเทศเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าการค้นหาและซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศ ดังนั้น นักลงทุนมักเห็นว่าค่าใช้จ่ายของกองทุนในต่างประเทศสูงกว่ากองทุนลงทุนในประเทศ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การจดจำว่า ผลตอบแทนถูกกำหนดจากค่าใช้จ่ายสุทธิ ดังนั้น จงมองหาผู้จัดการกองทุนให้มูลค่าตอบแทนได้สม่ำเสมอ

'ในโลกแห่งการลงทุน ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถหรือเกินกว่าที่นักลงทุนจะควบคุมได้ นักลงทุนหลายคนมุ่งเน้นไปที่ค่าธรรมเนียม เพราะนักลงทุนเหล่านี้สามารถประเมินหรือวัดสิ่งเหล่านี้ได้ และในบางกรณีนักลงทุนได้รับจากสิ่งที่พวกเขาได้จ่ายไป' ฮาร์มอน กล่าวทิ้งท้ายให้นักลงทุนไทยได้ลองคิด พิจารณาข้อควรระวังที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับตัวเองนับจากนี้ไป