ช้างเต้นระบำ
มีคนบอกว่าช้างเต้นระบำไม่ได้ เหตุผลก็คือช้างเป็นสัตว์ใหญ่อุ้ยอ้าย จะขยับเขยื้อนต้องไปอย่างช้า ๆ คนจึงมักจะเอาช้างไปเปรียบเทียบกับธุรกิจหรือบริษัทขนาดใหญ่มาก ๆ ว่าจะเคลื่อนไหวได้ช้า จะผลิตสินค้าใหม่ ๆ ออกมาก็ทำได้ช้าเพราะมีขั้นตอนแบบราชการ มองบริษัทโดยรวมยอดขายก็โตเร็วไม่ได้ เช่นเดียวกับกำไรที่ยากจะโตแบบก้าวกระโดด
เมื่อยอดขายและกำไรไม่สามารถโตได้อย่างรวดเร็ว โดยธรรมชาติ หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งผมเรียกว่าหุ้นช้างนั้นก็น่าจะปรับตัวได้ช้าไม่หวือหวาเหมือนหุ้นตัวเล็ก ๆ นี่เป็นความเชื่อ แต่ในบางครั้งบางช่วงเวลา
หุ้นช้างก็เต้นระบำเป็นเหมือนกัน มาดูสิครับว่าเกิดอะไรกับหุ้นช้าง 12 เชือกที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ว่าน่าจะถือเป็นหุ้น Value ได้ และถ้าใครบังเอิญซื้อไว้แล้วถือจนครบปีถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ช้างแต่ละเชือก เต้นระบำ กันดังต่อไปนี้
ช้างเชือกแรกคือหุ้นของธนาคารกรุงเทพซึ่งซื้อขายอยู่ที่ 83 บาทในวันที่ 9 ธันวาคม ปีก่อน ปีนี้ในวันเดียวกันปรับตัวขึ้นมาเป็น 103 บาท หรือทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น 24.1% เช่นเดียวกับหุ้น KBANK ซึ่งผู้บริหารเอารูปแกะสลักช้างไปตั้งอยู่หน้าสำนักงานใหญ่และเคยพูดทำนองว่าจะทำให้ธนาคารเป็น ช้างที่เต้นระบำได้ ก็ปรับตัวขึ้นจาก 42 บาท เป็น 52.5 บาท และให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ BBL ที่ 25% ช้างเชือกต่อมาคือหุ้นยอดนิยมในกลุ่มปิโตรเคมีคือหุ้นอะโรเมติคส์ หรือ ATC ที่ปรับตัวขึ้นจาก 53 บาท เป็น 64.5 บาท หรือให้ผลตอบแทน 21.7%
หุ้นตัวต่อมาคือหุ้นที่สัญญลักษณ์ของบริษัทคือช้าง นั่นคือหุ้นปูนซีเมนต์ไทยหรือ SCC ปรับตัวขึ้นจาก 210 บาทเป็น 234 บาท หรือให้ผลตอบแทน 11.4% แม้ว่าจะปรับตัวขึ้นมาแล้วอย่างมากมายก่อนหน้านั้น
หุ้นช้างที่ เต้นไม่ออก ก็คือหุ้นของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ยักษ์ใหญ่บ้านจัดสรรซึ่งต้องเผชิญกับความซบเซาของธุรกิจและการแข่งขันของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ทำให้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นตกลงมาจาก 11 บาท เหลือเพียง 9.6 บาท หรือทำให้คนถือขาดทุนไป 12.7%
ซุปเปอร์ช้างที่สร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นให้กับนักลงทุนจำนวนมาก แน่นอน ก็คือหุ้นของ ปตท. ซึ่งได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น รวมทั้งราคาปิโตรเคมีที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้กำไรของบริษัทเติบโตอย่างโดดเด่นถึงเกือบ 50% ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ และทำให้ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นถึง 46% จากราคา 113 บาท เป็น 165 บาท
เช่นเดียวกับหุ้นซุปเปอร์ช้างก็คือหุ้นของลูกซุปเปอร์ช้างซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น นั่นก็คือหุ้นของ ปตท.สผ. (PTTEP) ซึ่งปรับตัวขึ้นมาจาก 204 บาท เป็น 280 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 37.3% ในเวลาเพียง 1 ปี แม้ว่ากำไรของบริษัทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นเพียง 7% แต่นักลงทุนคงมองถึงก๊าซและนำมันที่อยู่ใต้ดินที่มีราคาเพิ่มขึ้น
ตรงกันข้าม หุ้นช้างที่เป็นผู้ใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต คือหุ้นของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) และหุ้นบริษัทผลิตไฟฟ้าหรือ EGCOMP กลับมีราคาลดลงเล็กน้อย โดยหุ้นราชบุรีตกลงมา 7.2% จาก 41.75 บาท เหลือ 38.75 บาท และหุ้น EGCOMP ลดลงใกล้เคียงกันที่ 6.6% จากราคา 76 บาท เหลือ 71 บาท แต่ถ้าคิดถึงปันผลที่ได้รับ การลงทุนในหุ้นช้าง 2 เชือกนี้ก็น่าจะถือว่าไม่เลวร้ายนัก
หุ้นช้างตัวที่ 10 ซึ่งน่าจะเป็นช้างที่เจ็บหนัก เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีราคาลดลงจาก 22.6 บาท (ปรับการแตกพาร์แล้ว) เหลือเพียง 15 บาท หรือลดลงถึง 33.6% ก็คือหุ้นของบริษัท บีอีซีเวิลด์ (BEC) เจ้าของทีวีช่อง 3 ซึ่งประสบกับการแข่งขันจากทีวีช่องอื่น ๆ ที่ปรับปรุงตนเองขึ้นมาแข่งขันอย่างรุนแรงและทำให้กำไรของ BEC ถดถอยลง และเมื่อประกอบกับค่า PE และ PB ที่ค่อนข้างสูงของหุ้นช้างตัวนี้ ทำให้ BEC เป็นหุ้นช้างที่ลำบากในช่วงปีที่ผ่านมา
หุ้นช้างที่ บินได้ แต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนก็คือหุ้นของการบินไทย (THAI) ซึ่งบริษัทน่าจะไปได้ดีถ้าไม่ถูกน้ำมันแพงเล่นงาน ทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน และทำให้หุ้นค่อนข้างนิ่งจากราคา 49 บาทต่อหุ้นเป็น 49.25 บาท หรือให้ผลตอบแทนเพียง 0.5% อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ได้ปันผลชดเชยที่ดีพอสมควร
และหุ้นช้างตัวสุดท้ายซึ่งสร้างผลงานโดดเด่นเป็นซุปเปอร์หุ้นแห่งปีอีกตัวหนึ่งก็คือหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งก่อนหน้านี้หุ้นนิ่งอยู่พักใหญ่ ได้ปรับตัวขึ้นอย่างมหาศาลจากราคา 66 บาท เป็น 98 บาทต่อหุ้น และให้ผลตอบแทนถึง 48.5% และถือเป็นแชมป์หุ้นช้างที่ เต้นระบำ ได้สุดยอดในรอบปีนี้
เฉลี่ยแล้ว ถ้าลงทุนในหุ้นช้างทั้ง 12 เชือกด้วยเม็ดเงินเท่า ๆ กัน ภายในเวลาหนึ่งปีจะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยถึง 12.86% ไม่นับปันผลซึ่งน่าจะได้ประมาณ 3% ในขณะที่ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นนั้น ดัชนีตลาดปรับตัวลดลงจาก 664.36 เป็น 648.78 หรือลดลง 2.35% ไม่นับรวมปันผลประมาณ 2-3% เช่นเดียวกัน ความแตกต่างของผลตอบแทนก็คือ 15.21% ผลตอบแทนของหุ้นช้าง 12 ตัว ซึ่งเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แต่สามารถเอาชนะตลาดได้ถึง 15.21% ในหนึ่งปีนั้น
ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจพอสมควร และผมคิดว่าไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เพราะการถือหุ้นขนาดใหญ่ 12 ตัว โดยทางทฤษฎีนั้นมักจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยกันไปและจะใกล้เคียงกับผลตอบแทนของตลาดอย่างที่เรามักเห็นจากผลตอบแทนของกองทุนรวมส่วนใหญ่