หน้า 1 จากทั้งหมด 1

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 6:13 pm
โดย คลื่นกระทบฝั่ง
Customer Focus ในทางธุรกิจ กับ ประชานิยม ในทางการเมือง
อยากทราบความคิดหน่อยครับ

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 8:58 pm
โดย house
customer focus เป็น win-win situation
ประชานิยม
ระยะสั้น win - win situation
ระยะยาว win - lost situation

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 9:29 pm
โดย คลื่นกระทบฝั่ง
ประชานิยม ระยะยาว win - lost ยังไงหรือคุณhouse ช่วยอธิบายหน่อยครับ

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 10:23 pm
โดย house
ขอนิยามก่อน

เริ่มจากผลตอบแทนของชาติหรือบริษัท
ผลตอบแทนรวม = ผลตอบแทนเป็นตัวเงิน +ผลตอบแทนทางสังคม(ผู้บริโภค)

ผลประโยชน์ของผู้บริโภค = ผลประโยชน์อันเกิดจากการให้ * ผลประโยชน์อันเกิดจากการพัฒนาของผู้ให้ + ผลประโยชน์จากการพัฒนาตนเอง

เอาทีละกรณี
ในกรณีของ customer focus จะได้
ผลตอบแทนรวม = ผลตอบแทนเป็นตัวเงิน +ผลตอบแทนทางสังคม(ผู้บริโภค)
โดยตัวแปรเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ตัว เนื่องจาก กำไรมากขึ้น เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคพอใจเพิ่มขึ้น

ผลประโยชน์ของผู้บริโภค = ผลประโยชน์อันเกิดจากการให้ * ผลประโยชน์อันเกิดจากการพัฒนาของผู้ให้ + ผลประโยชน์จากการพัฒนาตนเอง

ผลประโยชน์จากการให้ เพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากหน่วยธุรกิจเอาใจคุณ และ การพัฒนาของผู้ให้ก็ย่อมมากขึ้น เนื่องจาก ธุรกิจใดๆ ที่ประสบความสำเร็จย่อยมีผู้อื่นเข้ามา ธุรกิจจึงต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
ผลประโยชน์จากการพัฒนาตัวเองไม่มี

สำหรับชาติ

ผลตอบแทนเป็นตัวเงิน ติดลบ แน่นอน
ต้องดูว่า ผลตอบแทนทางสังคมคุ้มค่าหรือไม่ ผมเชื่อว่าไม่คุ้มค่า เพราะอะไรมาว่ากันอีกที ดังนั้น ผลประโยชน์ของชาติติดลบ

ผลประโยชน์ที่เกิดจากการให้ ข้อนี้เป็น บวก
ผลประโยชน์ อันเกิดจากการพัฒนานโยบาย ผมเชื่อว่าคงที่ ตราบใดที่เขาเป็นรัฐบาลเขาไม่ต้องพัฒนานโยบายใหม่ และก็ไม่มีคู่แข่งขัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากประชานิยมให้ผลประโยชน์ของชาติติดลบ ดังนั้น หากมีการพัฒนานโยบายประชานิยมใหม่ๆ ออก มาอีก ย่อมทำให้ ผลประโยชน์ของชาติลดลงเร็วขึ้น เมื่อไหร่ที่มันถึงจุดที่สถานะของประเทศ แบกรับไม่ไหวมันก็จะล้ม
ประชาชน จะได้รับประโยชน์ ตราบเท่านโยบายประชานิยมไม่ล้มเท่านั้น
ส่วนการพัฒนาตัวเอง ผมขอเปรียบเทียบว่า ถ้าลูกคุณ อยากได้อะไร คุณให้หมด เขาไม่เคยต้องทำอะไรเลย วันที่คุณหยุดให้ เขาเลี้ยงตัวเองได้หรือครับ

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 10:34 pm
โดย คลื่นกระทบฝั่ง
คล้ายๆบทความแบบนี้ใช่ไหมครับ คุณhouse


ผมทำนายไว้ว่า อีกไม่ช้าจะมีการยกหนี้ให้คนจนในเมืองไทย นั่นไม่ใช่การทำนายครั้งแรก ผมทำนายมาแล้วหลายครั้ง ปัจจัยที่ทำให้ผมกล้าฟันธงเช่นนั้น มี 2 ประการคือ

(1) ความเชื่อที่ว่า การพักชำระหนี้ชั่วคราวให้แก่เกษตรกร จะแก้ปัญหาอย่างถาวรให้กับเกษตรกรยากจนได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะไม่สามารถฉุดตัวเองออกจากวังวนของความยากจน และภาระหนี้สินได้

(2) ประวัติศาสตร์บ่งว่า มาตรการประชานิยมเมื่อเริ่มแล้วเลิกยาก หากจะเพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้น (ประวัติศาสตร์การใช้นโยบายประชานิยมอาจหาอ่านได้ในหนังสือเรื่อง "ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย " ซึ่งพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 และซีเอ็ด ยูเคชั่น จัดจำหน่าย)

เมื่อการพักชำระหนี้ชั่วคราวแก้ปัญหาอย่างถาวรมิได้ ขั้นต่อไปคือการกดดันให้ใช้มาตรการยก ล้างหรือปลดหนี้ ซึ่งมีความหมายเดียวกัน

ในระบอบประชาธิปไตย การกดดันอาจมาจากผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจำนวนมาก และจากพรรคการเมืองคู่แข่ง หรือจากทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมๆ กัน ฉะนั้นผมจึงไม่แปลกใจที่นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์รวมมาตรการ "ล้างหนี้" และของพรรคมหาชนมีมาตรการ "ปลดหนี้" สองพรรคนี้แสดงความจำนงที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไป และชูนโยบายยกหนี้คนจนเหมือนกัน พรรคไทยรักไทยจะถูกกดดันให้ประกาศนโยบายแนวนี้ หากต้องการที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคมหาชน ชูนโยบายเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญา นโยบายนี้เปรียบเสมือนการต่อยอดนโยบายของพรรคไทยรักไทยให้เข้มข้นขึ้นอีก นโยบายด้านสวัสดิการสังคม และด้านสุขภาพ ก็เช่นกัน เป็นการต่อยอดนโยบายของพรรคไทยรักไทย เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า ( 30 บาทรักษาทุกโรค) และการหักค่าดูแลพ่อแม่ยามแก่ชราออกจากภาระภาษีที่จะต้องเสียให้รัฐ

พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคมหาชนไม่รอจนกว่าจะได้เป็นรัฐบาล ก่อนที่จะออกปฏิบัติการประชานิยม ทั้ง 2 พรรคส่งคาราวานแก้ความยากจนออกเยี่ยมเยียนประชาชนพร้อมๆ กับคาราวานของพรรคไทยรักไทย ซึ่งกำลังใช้เงินของรัฐซื้อความนิยม ก่อนการเลือกตั้งอย่างเอิกเกริก

สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงปาหี่ประชันกันมากกว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ

พรรคประชาธิปัตย์ยังประกาศนโยบายที่จะประกันให้ทุกคนมีงานทำเมื่อเรียนจบ จริงอยู่โอกาสที่นโยบายนี้จะถูกนำมาใช้ในเร็ววันมีน้อยมาก เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้รับคะแนนเสียงมากพอที่จะตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้าจากแรงผลักดันของประชานิยม หากนโยบายนั้นถูกนำมาใช้สักวันหนึ่งเมืองไทยคงจะมีภาพคล้ายที่ผมเห็นในอียิปต์

อียิปต์ ประสบวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำซาก และไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลายครั้ง ปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เกิดวิกฤติ คือ รัฐบาลใช้งบประมาณขาดดุลอย่างร้ายแรง เพราะอียิปต์ต้องจ่ายค่าแรงงานให้แก่ข้าราชการสูงมากอย่างต่อเนื่อง ผมมีโอกาสไปศึกษาปัญหาของอียิปต์ กับคณะของธนาคารโลก และเคยนำมาเล่าไว้ในจดหมายจากวอชิงตัน (ปี 2543)

การไปอียิปต์ครั้งนั้น สร้างความประทับใจหลายอย่าง วันหนึ่งคณะของผมไปเยี่ยมสำนักงานเกี่ยวกับการเกษตรในเมืองอะเล็กซานเดรีย ซึ่งรุ่งเรืองเมื่อครั้งอียิปต์ยังเป็นเมืองขึ้นของกรีกยุคอะเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อพวกเราถามเขาว่า "สำนักงานนี้มีข้าราชการกี่คน" เขาย้อนถามกลับมาว่า "คุณหมายถึงข้าราชการทั้งหมด หรือคนที่มาทำงาน "

เมื่อทำความเข้าใจกันได้แล้ว เขาตอบว่า ในสำนักงานมีข้าราชการราว 1,200 คน และมาทำเป็นประจำราว 300 คน ส่วนที่เหลือถูกขอร้องให้ไม่ต้องมาทำงาน เพราะไม่มีอะไรจะให้พวกเขาทำ หากพวกเขาพร้อมใจกันมาทำงานจะเกิดความเสียหายใหญ่หลวง เพราะสำนักงานจะไม่มีแม้กระทั่งที่ยืน

แต่นั่นไม่สร้างประทับใจให้ผมเท่ากับการไปเยี่ยมกระทรวงแรงงาน ครั้งแรกผมไปพบกับข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งดูแลนโยบายหลายอย่างของกระทรวง ผมไม่รู้สึกว่า มีอะไรในกระทรวงนั้นผิดแผกจากสำนักงานทั่วไปในอียิปต์ เนื่องจากผมไม่ได้รับข้อมูลครบตามที่ต้องการ เราจึงนัดคุยกันเป็นครั้งที่ 2

ผมไปตามนัด แต่วันนั้นมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อไปถึงผมพบว่า ทั้งตึกมีคนเต็มไปหมดจนแทบไม่มีที่จะยืน รวมทั้งบนบันไดที่จะขึ้นไปยังสำนักงานของข้าราชการผู้ใหญ่คนนั้นด้วย เมื่อผมถามว่าเกิดอะไรขึ้นก็ได้คำตอบว่า วันนั้นเป็นวันเงินเดือนออก ข้าราชการทุกคนมารอรับเงินเดือน วันนั้นทั้งวันการทำงานอื่นๆ ต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย เพราะสำนักงานไม่มีที่ให้ข้าราชการนั่ง แม้แต่ในสำนักงานของข้าราชการผู้ใหญ่ที่ผมไปพบก็มีคนเต็ม ยืนบ้าง นั่งบนเก้าอี้บ้าง บนโต๊ะทำงานบ้าง ยังผลให้เรานั่งคุยกันไม่ได้ในวันนั้น

ที่มาของปัญหาข้าราชการล้นจนไม่มีที่ยืน คือ นโยบายซึ่งเกิดในสมัยที่อียิปต์ยังมีผู้เรียนจบปริญญาไม่พอแก่ความต้องการ รัฐบาลจึงกระตุ้นให้คนเรียนมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าหางานทำไม่ได้เมื่อเรียนจบ รัฐจะรับอย่างไม่จำกัด นโยบายนั้นกลายเป็นประชานิยม ซึ่งยกเลิกไม่ได้ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน

หากคนไทยคิดว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นประตูเดินสู่โลกพระศรีอาริย์ ทำให้เมืองไทยไม่มีคนตกงานแม้แต่คนเดียว อยากให้ไปศึกษาปัญหาของประเทศอียิปต์ วันหนึ่งข้างหน้าลูกหลานจะได้ไม่ถามว่า "เราเก่งกว่าเขา หรือเราไม่อ่านประวัติศาสตร์" ซ้ำอีกครั้งทั้งที่รัฐบาลถูกถามมาแล้ว เพราะนโยบายแนวประชานิยมซึ่งกำลังดำเนินอยู่อาจเกิดจากความโอหังหรืออวิชชา โดยไม่รู้ว่าเคยทำให้อาร์เจนตินาล่มจมมาแล้ว

ในช่วงนี้คนไทยกำลังสนุกสนานกับการชมปาหี่ ซึ่งพรรคการเมืองต่างนำออกมาประชันกัน

วันนี้ผมจึงจะทำนายไว้เลยว่าหากคนไทยยังเพลิดเพลินกับการชมปาหี่ก่อนการเลือกตั้งอย่างไม่ใช้ความคิด วันหนึ่งข้างหน้าเมืองไทยจะต้องจ่ายค่าชมสูงชนิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เป็นเพียงการโหมโรง



จะโดนด่า ว่ามาด่ารัฐบาลอีกหรือเปล่านี่ตรู

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 10:35 pm
โดย house
ที่ผมว่าไปทั้งหมด อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ผลกระทบจากนโยบายอื่นไม่มีนะครับ ท่านอาจบริหารดี เอานโยบายอื่นมาชดเชย ก็ได้ แต่เฉพาะประชานิยมแล้ว มันเป็นผลเสีย

มาว่ากันว่าทำไมผมว่าผลประโยชน์ทางสังคมไม่คุ้มค่า

นโยบายที่ออกมานั้น ดี แต่ผมเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ
ดูผลกระทบแต่ละนโยบาย เรื่อง 30 บาท มีกระทู้ในนี้แหละ นานแล้ว คุณลองอ่านดู แล้วคิดว่าเป็นอย่างไร
หวยบนดิน เงินไหลเข้ารัฐ แต่สังคมล่ะ มีข่าวขายหวยในสถานศึกษา วันๆ คนคิดแต่จะเล่นหวย เงินหมุนเวียนในท้องถิ่นถูกดึงมาส่วนกลาง
เงินหวยช่วยชาติ ? พัฒนาการศึกษา? แล้วดึงกำไรเก็บไว้ทำไมครับ ทำไมไม่เอากำไรหวย ทั้งหมด หรือ 80% ขึ้นไป ไปเป็นทุนการศึกษา คุณเก็บเข้ารัฐบาลทำไม
สำหรับผมทัศนคติต่อหวย บุหรี่ หรือ อบายมุขคือ ถ้ารู้ว่า ไม่ดี ก็ปิดซะ อย่าปากว่าตาขยิบ
เงินกองทุนหมู่บ้าน สำเร็จน่ะมี แต่ผมเชื่อว่าล้มเหลวมากกว่า อัตราชำระหนี้คืนอาจจะสูง แต่สร้างผลผลิตหรือไม่ผมไม่ทราบ อาจเป็นกู้ที่อื่นมาก็ได้

สินค้า โอท็อป ? บริษัท รวมปลีกค้าเข้มแข็ง? ผมเชื่อว่าล้มเหลว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผมเป็นคนกรุงเทพ อายุยังน้อย และไม่ค่อยได้ไปต่างจังหวัด มุมมองของผมอาจจะแคบไป ต้องรอพี่ๆ ที่ใกล้ชิดสถานการณ์กว่ามาแสดงความคิดเห็น

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 10:44 pm
โดย house
ไม่ทันเห็นครับ มัวพิมพ์ อันก่อนอยู่

ใช่ครับ ผมมองในมุมมองนั้น

และไม่เห็นด้วยกันนโยบายประชานิยม ที่ใช้เกินขอบเขตของความเหมาะสม ประเภทลดแลกแจกแถม ไม่ว่า จะโดยพรรคใดก็ตาม

CEO(นักการเมือง) กำลังทำลาย DCA ของ บริษัท(ประเทศ) และ ทำให้ EPS(รายได้ต่อหัว) ของผู้ถือหุ้น(ประชาชน) ในอนาคตต่ำลง การออกวอแรนต์(ประชานิยม) จะทำให้เกิด dilute มหาศาลเป็นการทำลายคุณค่าของผู้ถือหุ้น

น่าเศร้าที่เราเปลี่ยนบริษัทไม่ได้ แถม CEO Candidate ทุกคนก็ดันมีนโยบายแจกวอร์ เหมือนกันหมด ต่างแค่ ราคาใช้สิทธิ กับวันหมด อายุ
แย่จริงๆ

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 10:50 pm
โดย คลื่นกระทบฝั่ง
เปรียบเทียบได้ชัดเจนดีครับ คุณhouse

ถ้าในภายหน้า ประชานิยม aggressive กันสุดๆแบบอาร์เจนตินา
ถ้าเป็นแบบนั้น ผมอยากให้นักการเมือง เบี้ยว สิ่งที่สัญญาไว้กับประชาชนก่อนเลือกตั้งบ้าง ก็ได้นะครับ ไม่ต้องทําจนครบ

Re: สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 11:02 pm
โดย คัดท้าย
คลื่นกระทบฝั่ง เขียน:Customer Focus ในทางธุรกิจ กับ ประชานิยม ในทางการเมือง
อยากทราบความคิดหน่อยครับ
สำหรับผม ผมว่ามันเหมือนกันครับ ...

ผมว่ามันเหมือนกัน คือ เป็นการตอบสนอง "ความต้องการ"

Customer Focus มันคือ การ Focus ที่ความต้องการของลูกค้า ผมมักได้ยินบ่อยๆที่พวกนักการตลาดบอกว่า "เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า" ... "เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค"

ประชานิยมในทางการเมือง ผมก็ว่าเป็นการที่นักการเมืองพยายามสนอง "ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่" เหมือนกัน จะเพื่ออะไรก็เหอะ

และ มันก็สนองความต้องการของผู้เสนอด้วย เช่น ทางการเมือง คนส่วนใหญ่ก็ต้องเห็นด้วยและลงคะแนนให้ ได้รับ "ความพอใจ" กันทั้งสองฝ่าย ทางธุรกิจ ลูกค้าก็ได้รับ "ความพอใจ" ผู้เสนอ ก็ได้รับ "ความพอใจ"

แต่ จะเห็นว่าผมใช้ความว่า "ความต้องการ" และ "ความพอใจ" นะครับ

"ความต้องการ" ไม่ใช่ความถูกต้อง และ ไม่ใช่ความจำเป็นนะครับ เช่น ทางผู้ผลิตกางเกงยีนเอวต่ำออกมา ซึ่งตอบสนองความต้องการของนางสาวติ๋ม นางสาวติ๋มซึ่งต้องการดึงดูดความสนใจของหนุ่มเพื่อนร่วมงานจึงได้ซื้อหามาใส่ ผลออกมาดี หนุ่มเพื่อนร่วมงานหลายคนต่างเริ่มน้ำลายหกต้องพกกะลามังมารองน้ำลายทุกวัน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า นางสาวติ๋มได้รับความพอใจ

แต่ว่าบ้านของนางสาวติ๋มอยู่ในซอยเปลี่ยว มีวัยรุ่นดมกาว หื่น อยู่กลางซอยประมาณ 8 คนได้ ในซอยค่อนข้างมืด ...

คิดว่าไงครับ นางสาวติ๋ม หลังจากใส่กางเกงเอวต่ำโชว์ซะขนาดนั้นเข้าไปแล้ว ชีวิตจะดีขึ้นหรือไม่ ? ตอบยากนะ คงแล้วแต่กรรมเวร

ซึ่งกางเกงเอวต่ำ ก็อาจถูกต่อต้านจากคนที่ไม่เห็นด้วย จากคนที่คิดว่าเรื่องการแต่งตัวดังกล่าวเป็นการไม่สมควร ซึ่งจริงๆก็คือเป้นผู้ที่มีความต้องการที่แตกต่างนั่นเอง

ประชานิยมก็เหมือนกัน รัฐบาลประชาธิปไตย ก็ต้องการคะแนนเสียง ก็ออกนโยบาย ที่ผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่ชอบ และพร้อมจะเทคะแนนให้ ...

มันเป็นเรื่องของการตอบสนองความพอใจ ไม่ใช่ตอบสนองความจำเป็นนะ

แล้วก็แน่นอน ต้องมีการต่อต้านจากผู้ไม่เห็นด้วย ก็คือ ผู้ที่มีความต้องการแตกต่างนั่นเอง

แต่จะว่าเค้า ผมว่าก็ไม่ถูก ... การตอบสนองความต้องการของประชาชน มันอยู่ที่คุณภาพของผู้ต้องการ ถ้าความต้องการเป็นความต้องการที่ถูกต้อง ผู้เสนอความต้องการ ก็ต้องเสนอในแบบที่ถูกต้อง จริงมั้ยครับ

อย่าลืมว่า 1 คน หนึ่งเสียงนะครับ เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแบบ VI ก็หนึ่งเสียง เป็น VS ก็ 1 เสียง เป็นขอทาน ก็ 1 เสียง ครูก็หนึ่งเสียง โจรงัดแงะ ก็ 1 เสียง โจรใต้ ก็ลงได้ 1 เสียง Easy Buy Lover ก็ 1 เสียง

.. จิงมะ ความต้องการ .. ของคนส่วนใหญ่ ก็คือ ชัยชนะของพรรคการเมืองที่ครองเสียงส่วนใหญ่ ..

ถ้าคนส่วนใหญ่คิดถูก มันก็ออกมาถูก ถ้าคนส่วนใหญ่ คิดผิด มันก็ออกมาผิด ประชาธิปไตย ก็เป็นเช่นนี้แล ... :lol: :lol: :lol:

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 11, 2005 11:08 pm
โดย house
เป็นข้อคิดเห็น ที่ตรงประเด็น และ ยอดเยี่ยมเช่นเคย เห็นด้วยครับ :)

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 12, 2005 7:48 am
โดย genie
จริงๆแล้วโดยส่วนตัวผมมองว่านโยบายพวกนี้จะมีประโยชน์"ถ้าสามารถดูแลและบริหารได้ดีพอ" ตรงนี้สำคัญ
1.ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีประเทศไทยของเรามีลักษณะการเจริญเติบโตแบบรวมศูนย์ว่าง่ายๆฮ้วนๆก็คือกรุงเทพฯคือประเทศไทยอะไรประมาณนั้น ดังนั้นนโยบายชะลอหนี้เกษตรกรก็ดีกองทุนหมู่บ้านก็ดีนับเป็นการกระจายทุนออกสู่ภูมิภาคโดยตรงซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพอันเป็นการลดชุมชนแออัดในเมืองเป็นทางอ้อม(การลดชุมชนแออัดก็เท่ากับลดอาชญากรรมเช่นเดียวกัน) เราต้องถือว่านโยบายเหล่านี้เริ่มต้นได้ดี แต่ประเด็นน่าจะอยู่ที่การเข้าใจให้ความรู้คำปรึกษาหรือกระบวนการใดๆก็ตามที่จะสามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน คือผมมองเหมือนตอนนี้รัฐกำลังลงทุนในบริษัทลูกปัญหาคือทำยังไงให้มันสร้างกำไรเองได้โดยไม่ต้องคอยดูดทุนจากบ.แม่
2.ในเรื่องหวยบนดิน ต้องบอกก่อนนะครับว่าส่วนตัวไม่ได้ชอบหรือสนับสนุนอบายมุขพวกนี้เลย แต่ผมสนับสนุนนโยบายหวยบนดิน จริงอยู่ว่าเราอาจจะเห็นข่าวคนเอาหวยบนดินมาขายในรร.บ้างละในวัดบ้างละ ซึ่งในความเป็นจริงก่อนที่จะมีหวยบนดินหวยใต้ดินก็มีการนำมาขายตามสถานที่เหล่านี้หรือไม่เพียงแต่ไม่มีการรับรู้เท่านั้นรึเปล่า แต่พอเห็นเป็นนโยบายรัฐจึงถูกจับตา เพราะอย่างค้าผงค้ายาในรร.ยังมีแต่ไม่เห็นมีการติดตามหรือจับตาเท่านั้นเอง ซึ่งการนำหวยขึ้นมาบนดินนั้นทำให้ตัวเลขนอกGDPเข้ามาสู่GDPอันจะสามารถสร้างเป็นเม็ดเงินสู่ระบบได้ และสิ่งหนึ่งที่ควรเข้าใจและมองตามความเป็นจริงก็คือการพนันแม้จะอยู่บนดินหรือใต้ดินก็ยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งถูกผีเข้าสิงอยู่ดีไม่มีบนดินมันก็ระเห็จไปใต้ดินแค่นั้น ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่การนำมันขึ้นมาบนดินควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนการสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการในเชิงพัฒนาจิตใจ ซึ่งผมเคยได้ฟังรายการนึงก็น่าดีใจที่ได้เห็นการสนับสนุนนโยบายในลักษณะนี้อย่างเป็นรูปธรรมแต่ไม่ค่อยเป็นข่าวคือการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนพุทธศาสตร์ โดยมีมหาวิทยาลัยจุฬาราชฯ เป็นแกนนำและพัฒนารูปแบบองค์กรคณะสงฆ์ให้มีความทันสมัย ผมว่านโยบายพวกนี้แหละที่มันจะมาคานอำนาจกับนโยบายหวยบนดิน
สรุปผมเชื่อว่านโยบายดีแต่ต้องมีองค์ประกอบครบ เพราะถ้าไม่ครบมันก็เน่าเท่านั้นเอง

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 12, 2005 10:14 am
โดย CK
ถ้าคนส่วนใหญ่คิดถูก มันก็ออกมาถูก ถ้าคนส่วนใหญ่ คิดผิด มันก็ออกมาผิด ประชาธิปไตย ก็เป็นเช่นนี้แล
ถูกต้องครับ นี่คือหัวใจของประชาธิปไตย ความต้องการของคนหมู่มาก

แต่ในความเป็นจริงคือ คนส่วนใหญ่คิดผิดครับ

ในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐฯ จึงมีระบบป้องกันความผิดพลาด
ของคนส่วนใหญ่ไว้ เรียกกันว่า Electorial Vote ครับ

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 12, 2005 11:26 am
โดย Jeng
ลองให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลาย ทำประชานิยม โดยให้มีการเลือกตั้ง CEO และ CEO ต้องทำประชานิยม ที่เอื้อให้เกิดผลดีต่อพนักงานทุกระดับชั้น อะไรจะเกิดขึ้น

เช่น

CEO ที่ลงเลือกตั้งท่านนึงอาจจะประกาศว่า ทุกคนที่สร้างบริษัทนี้ขึ้นมา จะได้รับผลตอบแทนตลอดไป จนกว่าจะตายจากกัน พนักงานทั้งหมดก็เฮ เข้าไปเลือก

CEO อีกท่านนึง บอกว่า ทุกคนทำงานกันเหนื่อยมากแล้ว ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ผมจะขึ้นเงินเดือนให้เท่าตัว ทุกคน เอ้า เฮ กันเข้าไปเลือก

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 12, 2005 11:50 am
โดย คัดท้าย
Jeng เขียน:ลองให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลาย ทำประชานิยม โดยให้มีการเลือกตั้ง CEO และ CEO ต้องทำประชานิยม ที่เอื้อให้เกิดผลดีต่อพนักงานทุกระดับชั้น อะไรจะเกิดขึ้น

เช่น

CEO ที่ลงเลือกตั้งท่านนึงอาจจะประกาศว่า ทุกคนที่สร้างบริษัทนี้ขึ้นมา จะได้รับผลตอบแทนตลอดไป จนกว่าจะตายจากกัน พนักงานทั้งหมดก็เฮ เข้าไปเลือก

CEO อีกท่านนึง บอกว่า ทุกคนทำงานกันเหนื่อยมากแล้ว ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ผมจะขึ้นเงินเดือนให้เท่าตัว ทุกคน เอ้า เฮ กันเข้าไปเลือก
มี Factors ต่างกันครับ คือ

คนส่วนใหญ่เปลี่ยนประเทศไม่ได้อยู่กันไปจนตาย แต่หุ้นในตลาดเราซื้อขายได้ พนักงานบริษัท เปลี่ยนงานได้

ถ้าลองประกาศว่า พนักงานบริษัทต้องทำงานบริษัทนี้ไปจนตาย บริษัทเจ๊งก็เปลี่ยนไม่ได้ หุ้นตัวนี้ต้องถือไปจนตาย ถ้าบริษัทเจ๊ง ไปซื้อหุ้นตัวอื่นไม่ได้ ผมว่า การตัดสินใจของคนก็เปลี่ยนไปครับ ผมเชื่อว่าพนักงานก็คงมองอีกแบบ เพราะก็ห่วงอนาคตตัวเองเหมือนกัน

ผมว่าสิ่งที่ทำให้การตัดสินใจของคนไทยส่วนใหญ่ มีคุณภาพหรือไม่นั้น มันคือ ความรู้ การรู้จักคิด ความรับผิดชอบ และวิสัยทัศน์ของคนส่วนใหญ่ครับ

คุณภาพของประชากรไทยในปัจจับัน มันก็สะท้อนให้เห็นออกมาแล้วครับ

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ที่คุณ CK บอกว่า อเมริกา เค้ามีวิธีการที่จะลดความผิดพลาดนี้ ผมเห็นด้วยครับ ถ้าจะแก้ต้องแก้ที่ระบบ ให้ระบบรัดกุม ไม่ใช่อาศัยคนเพราะถ้าอาศัย Superman จะมาแก้ไขเราจะได้ Superman ทุกยุคทุกสมัยได้ยังไง มันต้องเจอยุคแย่ๆเข้าบ้างแน่ๆหรืออาจแย่ทุกยุคก็เป็นได้

ถ้าคิดว่าระบบไม่รัดกุม ผมว่าแก้ที่ระบบด้วยก็ดีครับ รอให้พ่อพระมาเป็นผูปกครองผมว่าหมดยุคแล้ว เพราะประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญไทยทุกวันนี้มันบังคับให้คนที่เล่นการเมืองต้องใช้เงิน ใช้ทุนเป็นที่ตั้งครับ ต้องสังกัดพรรค แล้วคนที่ไม่หวังผลซักกี่คนจะเข้ามาครับ ผมว่าถ้าเป็นแบบที่เห็นทุกวันนี้มันก็ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน

ตอนร่างรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่คิดให้ดี ทำไมไม่คิดถึงความจริงความเป็นคน ไม่ใช่เอะอะอะไร ก็ใช้คำว่า มันต้องมีสามัญสำนึก ในเมื่อคนเราเกิดมาพร้อมกับความโลภ ความผิดพลาด และ ความเห็นแก่ตัว เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 12, 2005 12:05 pm
โดย Jeng

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ตอนร่างรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่คิดให้ดี ทำไมไม่คิดถึงความจริงความเป็นคน ไม่ใช่เอะอะอะไร ก็ใช้คำว่า มันต้องมีสามัญสำนึก ในเมื่อคนเราเกิดมาพร้อมกับความโลภ ความผิดพลาด และ ความเห็นแก่ตัว เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
อืม คนน่าจะมีใหญ่ๆสองแบบ คือทำเพื่อผลประโยชน์ในรูปวัตถุ กับทำเพื่อผลประโยชน์ในรูปจิตใจ
คนที่เข้าไปบริหารประเทศ นี่ทำอย่างไรที่จะได้คนที่ไม่หวังผลประโยชน์ทางวัตถุ คือต้องการเสียสละจริงๆ บริหารเพื่อให้ประเทศอยู่ได้ เจริญรุ่งเรือง
คนที่เข้ามาบริหารประเทศ ต้องใช้เงินเพื่อเข้ามา ในที่สุด ก็ต้องเอาคืน
แล้วเราจะสร้างระบบอย่างไร
ลองคิดเล่นๆ
เช่น ผู้สมัครทุกคนต้องไปล่ารายชื่อมาให้ได้อย่างน้อย 10000 รายชื่อ คืออย่างน้อยมีคนจะเลือกคุณอย่างน้อย 10000 คน ถึงจะลงสมัครสส ได้
แล้วเมื่อมาสมัคร ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐบาลจ่ายให้ เช่นให้หัวละ x ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
ทำอย่างไรให้คนที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่มีเงิน จะสามารถเข้ามาในสนามได้ ในเมื่อ ตอนนี้คนที่เข้าไปได้ ต้องเป็นคนที่มีเงินเท่านั้น

เรื่องการเมืองผมก็ไม่ค่อยถนัด หรือว่า คนที่ไม่มีเงินเลย ก็สามารถลงสมัครได้

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 12, 2005 9:53 pm
โดย คลื่นกระทบฝั่ง
ยินดีครับ ที่ทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นกันในเนื้อหาสาระ

สงสัยครับ 2อันนี้ต่างกันตรงไหน??

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ม.ค. 13, 2005 7:56 pm
โดย มือเก่าหัดขับ
1. หลักการคลาสสิก:
- ประชาธิปไตย เหมาะกับการปกครองหมู่คนที่เจริญแล้ว
- สังคมนิยม เหมาะกับการปกครองหมู่คนที่กำลังพัฒนา

2. คนในประเทศเราส่วนใหญ่ (เน้น ว่าแค่ส่วนใหญ่ นึกถึงทั้งประเทศนะครับ อย่านึกแค่คนเราๆ ท่านๆ ที่ทำงานงกๆ เหนื่อยแสนเหนื่อยเพื่อสร้างคุณค่าของตัวเอง) อยากสบายโดยไม่ต้องทำงาน หรือทำงานน้อยๆ ได้เงินเยอะๆ ไม่อย่างนั้น ลัทธิเอแวมจะเกิดขึ้นได้หรือ แต่ก็เพราะด้วยเหตุฉะนี้แล จึงเป็นที่มาของการชักจูงให้ได้คะแนนเสียงด้วยการตอบแทนให้คนได้สบายโดยไม่ต้องทำงาน ในระยะยาว มันจะเป็นไปได้อย่างไร
ถ้าไม่เชื่อ ลองไปดูต่างจังหวัดสิครับ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรจะทำ แต่ไม่ทำอะไรมากกว่า

3. อีกหน่อย (เอ๊ะ! หรือว่าเดี๋ยวนี้ก็เป็น) สำหรับประเทศเรา ภาษีก็คงเป็นบทลงโทษของคนขยัน และเป็นรางวัลสำหรับคนขี้เกียจ

4. ไม่ว่าองค์กรไหน หรือประเทศไหน โครงสร้างของการทำงานหรือการบริหารก็ต้องเป็นแบบปิรามิดทั้งนั้น:
- ฐาน ที่เป็นคนมีความรู้น้อยหน่อย ซึ่งมีจำนวนมาก ก็ต้องทำงานลักษณะหนึ่ง
- ส่วนยอด ซึ่งก็เป็นคนที่มีความรู้ความชำนาญมาก ก็ทำงานอีกแบบหนึ่ง
ไม่เช่นนั้นแล้วปิรามิดก็ล้ม
การทำให้คนได้รับการศึกษาเป็นสิ่งที่ดี, การทำให้คนได้รับการศึกษาที่ดีมากและจบออกมาอย่างมีคุณภาพมาก สมกับวุฒิการศึกษาที่ได้รับเป็นสิ่งที่ดีมาก, แต่การให้คนได้รับการศึกษาแล้วได้วุฒิการศึกษามาอย่างไม่สมกับวุฒินั้น เป็นสิ่งที่แย่มาก บ้านเรายังต้องการคนระดับช่างเทคนิคที่มีความชำนาญ (ค่าจ้างอาจจะแพงกว่าวิศกรก็ได้) อีกมาก ถ้าใครเคยลองสัมภาษณ์คนที่จบ ปวช. ปวส. เพื่อรับเข้าทำงาน แล้วสอบถามเรื่องความรู้พื้นฐานจริงๆ น่าจะเข้าใจว่าระบบการศึกษาบ้านเราสมควรต้องได้รับการปรับปรุงอย่างมาก
อย่าเอาแต่ปริมาณ

เรากำลังเดินผิดทาง โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาคนในประเทศ และระบบการศึกษา
ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็สักแต่ให้ได้ปริญญาตรี ทั้งที่ความรู้ยังไม่ไกล้เคียงเลย