คลังชงยืดคุ้มครองเงินฝาก50ล้าน/บัญชี ออกไปไม่มีกำหนด

การลงทุนอื่นๆนอกจากหุ้น วีไอ กองทุนรวมชนิดต่างๆ RMF LTFตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ อนุพันธ์ และเกษตรล่วงหน้า

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
kongkiti
Verified User
โพสต์: 5830
ผู้ติดตาม: 0

คลังชงยืดคุ้มครองเงินฝาก50ล้าน/บัญชี ออกไปไม่มีกำหนด

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คลังชงยืดคุ้มครองเงินฝาก50ล้าน/บัญชี ออกไปไม่มีกำหนด "ปู"สั่งจับตาวิกฤตหนี้ยุโรป
(ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2555)
คลังเล็งเสนอ ครม.ออก พ.ร.ฎ.ขยายเวลาคุ้มครองเงินฝากบัญชีละ 50 ล้านบาท ออกไปโดยไม่มีกำหนด จากเดิมที่จะเหลือแค่ 1 ล้าน ในวันที่ 11 ส.ค. อ้าง ศก.โลกยังผันผวน หวั่นคนฝากไม่มั่นใจ แห่ถอนเงินหนี

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากไว้ที่บัญชีละ 50 ล้านบาท ออกไปโดยไม่มีกำหนด จากเดิมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเงินฝาก จะลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือบัญชีละไม่เกิน 1 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนจากปัญหาวิกฤตหนี้ในสหภาพยุโรป (อียู) อาจสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ฝากเงินได้ จึงเห็นว่าไม่ควรปรับลดวงเงินที่ได้รับการคุ้มครองลง

"วันนี้โลกยังยุ่งๆ กันอยู่ อะไรที่ค้ำประกันไว้แล้วไปปรับเปลี่ยน จะทำให้เกิดความไม่แน่ใจ ก็อย่าเพิ่งไปทำ ถ้าคิดว่าระบบเรามีความมั่นคงแล้ว จะค้ำประกันให้เยอะก็ไม่เห็นเป็นไร อย่าเพิ่งไปปรับอะไรให้มีความเสี่ยง มีความไม่แน่นอน ส่วนในแง่ประเด็นทางกฎหมายเชื่อว่าน่าจะเปิดทางให้มีการพิจารณาผ่อนผันเรื่องวงเงินคุ้มครองเงินฝากได้ เพราะต้องพิจารณาให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย" นายกิตติรัตน์กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แนะแนวทางการคุ้มครองเงินฝากต่อนายกิตติรัตน์ช่วงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ด้วยการขยายระยะเวลาการคุ้มครองออกไป และค่อยๆ ทยอยลดวงเงินลง โดยในเดือนสิงหาคมจะลดจาก 50 ล้านบาท เหลือ 25 ล้านบาท และลดเหลือ 10 ล้านบาท ในปีที่ 2 จากนั้นจะลดเหลือ 1 ล้านบาท ในปีที่ 3 แต่นายกิตติรัตน์ไม่เห็นด้วย

"การขยายเวลาคุ้มครองบัญชีละ 50 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะวัตถุประสงค์การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อให้ผู้ฝากเงินมีความตื่นตัวในการบริหารเงิน และให้ธนาคารพาณิชย์ป้องกันความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากขึ้น หากยังคงไว้ที่ 50 ล้านบาท ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากอีกต่อไป เพราะวัตถุประสงค์การจัดตั้งขึ้นมาก็เพื่อให้คนตระหนักว่าธนาคารสามารถล้มได้ ไม่ใช่การอุ้มเหมือนอดีตอีกต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว

นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวว่า การลดวงเงินคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาทนั้น ไม่ส่งผลกระทบกับผู้ฝากเงิน แต่อาจมีผลทางจิตวิทยากับธนาคารพาณิชย์ที่เกรงว่าลูกค้าจะย้ายเงินไปฝากธนาคารของรัฐ แต่จะเป็นระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ระยะยาวจะเป็นผลดีมากกว่า ที่ทำให้สถาบันการเงินต้องพัฒนาตัวเองให้เกิดการแข่งขันในทุกด้าน และผู้ฝากเงินจะพิจารณาเลือกฝากเงินกับสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่งเป็นหลัก ไม่ใช่เลือกตามโปรโมชั่นหรือดูแค่เรื่องดอกเบี้ยเป็นหลักเหมือนปัจจุบันนี้

นายสิงหะกล่าวว่า ปัจจุบันเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากที่เก็บมาแล้วกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น ยังไม่เพียงพอในการคุ้มครองผู้ฝากเงินบัญชีละ 1 ล้านบาท หากธนาคารพาณิชย์มีปัญหาเพียง 1 แห่ง จะต้องใช้เงินเข้าไปดูแลผู้ฝากเงิน 2 แสนล้านบาท ครอบคลุมบัญชีผู้ฝากเงิน 99% จาก 65 ล้านบัญชี คิดเป็นเงินฝากกว่า 7 ล้านล้านบาท ขณะที่ในอนาคตการส่งเงินเข้ากองทุนจะยิ่งน้อยลง เพราะต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยงวดวันที่ 31 กรกฎาคม เคยเก็บได้ 4 หมื่นล้านบาท ก็จะลดเหลือ 300 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอในการรองรับทั้งระบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก จะคุ้มครองเงินฝากบัญชีละไม่เกิน 1 ล้านบาท เพราะจากการศึกษาพบว่าครอบคลุมผู้ฝากเงินถึง 98% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่ช่วงเริ่มต้นมีบทเฉพาะกาลเพื่อให้ผู้ฝากเงินปรับตัวคือคุ้มครองเงินฝาก 100% ในปีแรกและทยอยลดเหลือ 50 ล้านบาท ในปีที่ 2 และตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2555 จะลดเหลือบัญชีละไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจ อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. นายโอฬาร ไชยประวัติ และนายพันศักดิ์ วิญญูรัตน์ ที่ปรึกษานายกฯใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ในยุโรป โดยสั่งการให้กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ธปท. รวบรวมข้อมูลและติดตามสถานการณ์ว่าหากเกิดความผันผวนจะกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม

"วันนี้เรายังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่เราเตรียมตัวเพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทุกหน่วยงานพร้อมใช้กลไกการเงินการคลังช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เราต้องอยู่ในความไม่ประมาท แต่ยังไม่อยากให้วิตก เมื่อได้ตัวเลขเราจะวิเคราะห์ได้ทั้งหมดว่าผลกระทบเป็นอย่างไร" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ปัญหาหนี้ในประเทศกรีซและสเปน คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจยุโรปติดลบถึง 0.7% จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง แต่เชื่อว่าฐานะทางการเงินและการคลังของไทยสามารถรับมือกับปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปได้

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.มองว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรปที่จะมีต่อประเทศไทยในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการส่งออกเป็นสัดส่วนสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย เมื่อความต้องการซื้อจากภายนอกลดลง ทำให้ต้องหันมาเน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น

"ส่วนผลกระทบบต่อสถาบันการเงิน พบว่าสถาบันการเงินของไทยมีธุรกรรมเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ (เทรดไฟแนนซ์) มีไม่มาก" นายประสารกล่าว
“Its like a finger pointing away to the moon. Don't concentrate on the finger
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee

FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
โพสต์โพสต์