ท่านแม่ทัพธันวา ส่งข่าวให้อยู่ในห้องหลบภัย
-------------------------------
พายุทอร์นาโดคือภัยธรรมชาติร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งในโลก แม้มีพายุทอร์นาโดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 มี ‘ทอร์นาโดมรณะ’ รัศมีกว้างที่สุดในประวัติศาสตร์ 4.2 กิโลเมตรพร้อมกระแสลมระดับรุนแรงสุด EF-5 (Enhanced Fujita Scale) 475 กม./ชม. เข้าพัดถล่มใกล้เมืองโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา คร่าชีวิตผู้คนพร้อมสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนอย่างมาก
‘พายุข่าวร้าย’ กระหน่ำตลาดหุ้นไทยตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ ข่าวการลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา QE) ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง ข่าวลือการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ข่าวตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด ข่าวดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำลง ข่าวเงินบาทอ่อนค่าและการขายหุ้นของต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงรุนแรงต่อเนื่องร่วม 10% กระทบต่อความมั่งคั่งของนักลงทุนและผู้ถือหุ้นอย่างมากเช่นกัน
ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงและควบคุมไม่ได้ฉันใด ความผันผวนของตลาดหุ้นและราคาหุ้นก็เป็นเรื่องปกติฉันนั้น เมื่อเผชิญพายุทอร์นาโดนั้น ‘หลุมหลบภัย’ หรือห้องใต้ดิน คือเครื่องมือช่วยป้องกัน รักษาชีวิตและทรัพย์สินสำคัญแม้มีบางส่วนได้รับความเสียหาย ในภาวะตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา ย่อมต้องเผชิญการปรับตัวลงอย่างรุนแรงเช่นกัน การเลือกลงทุนหุ้นที่เข้าข่ายเป็น ‘หลุมหลบภัย’ จะทำให้มีผลกระทบในวงจำกัดและไม่เกิดความเสียหายมากเกินไป มาดูกันว่า หุ้น ‘หลุมหลบภัย’ ควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
ข้อแรก เป็นกิจการที่มีสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ขาดไม่ได้ ต้องซื้อซ้ำ ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจหรือมีผลกระทบน้อยหากเศรษฐกิจถดถอย รายได้และกำไรของกิจการไม่ควรลดลงถ้ามีควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี หากราคาหุ้นที่ซื้อขายไม่อยู่ในระดับที่แพงเนื่องจากปรับตัวลงมากแล้ว ก็จะมี downside risk ต่ำ อย่างไรก็ตาม การซื้อและหวังว่าราคาหุ้นจะปรับขึ้นทันทีในภาวะตลาดเช่นนี้นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ยกเว้นแต่มีปัจจัยบวกรองรับและส่งผลให้ผลประกอบการโดดเด่นอย่างมาก
ข้อสอง นอกจากคุณสมบัติข้อแรกแล้ว หากกิจการยังเติบโตต่อเนื่องจากการขยายสาขา เพิ่มกำลังการผลิต จากความสำเร็จทางกลยุทธ์และส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายและกำไรอย่างโดดเด่นด้วยการประหยัดจากขนาด economies of scale) นี่คือกิจการที่เป็น ‘หลุมหลบภัย’ ที่ปลอดภัยเช่นกัน ราคาหุ้นที่ปรับลงนั้นน่าจะเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว
ข้อสาม กิจการที่จ่ายเงินปันผลในอัตราสูงและมีประวัติการจ่ายอย่างต่อเนื่อง มักเป็นกิจการดีและมั่นคง กระแสเงินสดและกำไรสม่ำเสมอ จึงสามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ดีและสูงขึ้นทุกปี แม้ราคาหุ้นจะผันผวนตามภาวะตลาดแต่เมื่อผลตอบแทนเงินปันผลใกล้เคียงกับผลตอบแทนพันธบัตรหรือหุ้นกู้แล้ว ราคามักจะไม่ปรับลงมากนักเพราะจะมีนักลงทุนที่ชอบความเสี่ยงต่ำและปันผลดีเลือกเข้าลงทุน ทางเลือกลงทุน ‘หลุมหลบภัย’ ที่มีลักษณะคล้ายกันได้แก่ Property Fund และ Infrastructure Fund
ข้อสุดท้าย กิจการที่มีการซื้อหุ้นคืน Treasury Stock) เนื่องจากผู้บริหารเล็งเห็นศักยภาพและแนวโน้มที่ดีของบริษัทในระยะยาว สวนทางกับราคาหุ้นที่ซื้อขายถูกเกินไป จึงนำสภาพคล่องส่วนเกินมาซื้อหุ้นคืนโดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนอื่น ปริมาณเงินพร้อมซื้อหุ้นคืนถึง 5-10% ของมูลค่ากิจการทั้งหมด คือปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยลดแรงขายและพยุงราคาไม่ให้ตกลงมากเกินไป นอกจากนี้ หากผู้บริหารใช้เงินส่วนตัวซื้อหุ้นของตน ยังเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความมั่นใจในแนวโน้มกิจการและช่วยสนับสนุนทางจิตวิทยาอีกด้วย
ท่ามกลางความผันผวนเช่นนี้ กลยุทธ์หนึ่งที่อาจพิจารณานำมาใช้คือการปรับพอร์ตลงทุน วิธีที่ผมมักใช้ก็คือการเรียงลำดับหุ้นในพอร์ตจากหุ้นที่ชอบมากไปน้อยที่สุด หุ้นที่ชอบน้อยที่สุดมักจะมีราคาเป้าหมายในการขาย นอกจากนี้ยังมีรายชื่อหุ้นยอดเยี่ยมแต่ยังไม่มีอยู่ในพอร์ตเพราะเกี่ยงเรื่องราคา ความผันผวนจึงเป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้พอร์ตลงทุนมีแต่กิจการยอดเยี่ยมและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตรงกับโปรไฟล์และเป้าหมายการลงทุนมากขึ้นนั่นเอง
ในฐานะ Value Investor ซึ่งเน้นการลงทุนระยะยาวนั้น ต้องมีเป้าหมายที่ ‘สมเหตุสมผล’ เช่นผลตอบแทนทบต้น 12-15 % ต่อปีในระยะ 10 ปีลงทุน แม้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น 63.3%, 40.5%, -0.7% และ 35.8% ในช่วงปี 2552-2555 ทำให้นักลงทุนมีผลตอบแทนที่ดี มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหนทางข้างหน้าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ดังนั้นเมื่อเลือกเส้นทางนี้ ต้องนึกถึงคำพูดที่ว่า ‘Expect The Unexpected’ ไว้เสมอ เพื่อความไม่ประมาทและความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
Posted by thanwa at 10:30 AM
http://portal.settrade.com/blog/thanwa/2013/06/13/1300