ผลพวงเศรษฐกิจเวียดนามต่อธุรกิจไทย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
i_sarut
Verified User
โพสต์: 1808
ผู้ติดตาม: 0

ผลพวงเศรษฐกิจเวียดนามต่อธุรกิจไทย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 23 กรกฎาคม 2551 08:12 น.  

      เศรษฐกิจเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เติบโตร้อยละ 6.5 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 เศรษฐกิจเวียดนามที่ชะลอลงหลังจากเติบโตในอัตราร้อยละมากกว่า 8.0 ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2548-2550
     
      สาเหตุสำคัญ ได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง โดยเวียดนามถือเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับรุนแรง โดยมีอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นตัวเลข 2 หลักติดต่อกันตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 จนแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีที่ร้อยละ 26.8 ในเดือนมิถุนายน 2551 ทำให้อัตราเงินเฟ้อครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 20.4 ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและกดดันให้ต้นทุนภาคธุรกิจในเวียดนามพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามทั้งปี 2551 จะอยู่ที่ร้อยละ 20-22 สูงขึ้นจากร้อยละ 8.3 ในปี 2550 และเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2551 จะชะลอลงเหลือร้อยละ 6.5-7.0 จากที่เติบโตร้อยละ 8.5 ในปี 2550
     
      ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการเวียดนาม คาดว่าจะช่วยจำกัดการเติบโตของสินเชื่อนำไปสู่การควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงให้ชะลอลง รวมถึงนโยบายการคลังของทางการเวียดนามที่ตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ อีกทั้งการควบคุมการใช้จ่ายและการลงทุนของวิสาหกิจขนาดใหญ่ต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อและชะลอการนำเข้าของเวียดนาม ทำให้ดุลการค้าที่ขาดดุลพุ่งสูงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นด้วย โดย อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2551 มีสัญญาณผ่อนคลายลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมก่อนหน้า ส่วนยอดขาดดุลการค้าในเดือนมิถุนายน 2551 ก็ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการนำเข้าที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2551
     
      สำหรับ นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 ส่งผลให้สัญญาณภาวะเงินเฟ้อ (CPI Headline) ในเดือนมิถุนายน 2551 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ผ่อนคลายลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.9  ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารในเดือนมิถุนายน 2551 ก็ชะลอลงเหลือร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 24.2 ในเดือนก่อนหน้า แต่หากเทียบเดือนเดียวกันของปี 2550 นับว่าเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2551 ที่อยู่ระดับร้อยละ 26.8 (yoy) สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อร้อยละ 25.2 ในเดือนพฤษภาคม 2551 (yoy) ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารในเดือนมิถุนายน 2551 เพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นร้อยละ 74 (yoy) จากร้อยละ 67.8 ในเดือนพฤษภาคม 2551 (yoy)
     
      แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามในระยะต่อไปยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาอาหารโดยเฉพาะข้าว ที่ราคายังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2550 แม้ว่าราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มชะลอลงจากที่พุ่งอยู่ในระดับสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2551 แต่คาดว่าราคาข้าวน่าจะยังคงทรงตัวในระดับสูงเนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่สูง และราคาข้าวในตลาดโลกที่ถูกกดดันจากหลายๆ
     
      ส่วนภาวะการขาดดุลการค้าของเวียดนามในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากการขยายตัวของการนำเข้ามีแนวโน้มชะลอลงจากการตัดลดการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ทำให้การนำเข้าสินค้าทุนสำหรับโครงการลงทุนต่างๆ ชะลอลงตามไปด้วย ประกอบกับการที่ทางการเวียดนามใช้นโยบายควบคุมสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นโดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นส่งผลให้การลงทุนขยายธุรกิจชะลอลง ความต้องการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อขยายธุรกิจและการลงทุนจึงน่าจะชะลอลงจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้
     
      ขณะเดียวกัน ผลของค่าเงินด่องที่อ่อนค่ามากขึ้นในปัจจุบันจะช่วยสนับสนุนให้ภาคส่งออกขยายตัวได้ดี เนื่องจากขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของเวียดนามในตลาดโลกจะสูงขึ้น คาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปีที่เติบโตร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2550 ขณะเดียวกันค่าเงินด่องอ่อนค่าก็จะส่งให้มูลค่าสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ชะลอความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย แต่หากเป็นสินค้าจำเป็นที่ต้องนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็จะส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตในเวียดนามสูงขึ้น
     
      บทสรุป & ข้อควรระวังสำหรับไทย
     
      เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากเสถียรภาพด้านราคาจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและมูลค่าขาดดุลการค้าที่พุ่งสูงที่ส่งผลต่อไปยังดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจกดดันต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจเวียดนามในที่สุด แต่การที่ทางการเวียดนามดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ได้แก่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงและการควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อไม่ให้เกินร้อยละ 30 จากปี 2550 มีอัตราขยายตัวร้อยละ 54 รวมถึงมาตรทางการคลังที่ตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐและลดโครงการลงทุนของวิสาหกิจภาครัฐ คาดว่าจะชะลอภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นถึงร้อยละ 26.8 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
       
      นอกจากนี้ ผลของนโยบายการคลังข้างต้นที่ชะลอการลงทุนคาดว่าจะช่วยให้อัตราขยายตัวการนำเข้าของเวียดนามชะลอลงโดยเฉพาะสินค้าทุน ซึ่งจะบรรเทายอดขาดดุลการค้าของเวียดนามในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากในช่วงครึ่งปีแรกที่มูลค่าขาดดุลการค้าพุ่งขึ้นเป็น 14.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
     
      ส่วนภาคส่งออกของเวียดนามคาดว่ายังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากเงินด่องที่อ่อนค่าลง ซึ่งดุลการค้าของเวียดนามที่ปรับตัวดีขึ้นจะส่งผลให้แรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มลดลงและเพิ่มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2551 คาดว่าจะชะลอลงเหลือร้อยละ 6.5-7.0 จากร้อยละ 6.5 ในช่วงครึ่งปีแรก และร้อยละ 8.5 ในปี 2550 ส่วนเงินเฟ้อของเวียดนามคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 20-22 จากร้อยละ 20.4 ในช่วงครึ่งปีแรก และร้อยละ 8.3 ในปี 2550
     
      **สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุนกับเวียดนามจะได้รับผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจเวียดนามสรุปได้ดังนี้**
     
      1.แม้นักลงทุนไทยในเวียดนามอาจได้รับผลดีจากมูลค่าเงินลงทุนในรูปเงินด่องสูงขึ้นจากการที่ค่าเงินด่องอ่อนค่า แต่ผลดีดังกล่าวอาจถูกบั่นทอนจากผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงราวร้อยละ 20 ส่งผลให้ค่าแรงงานปรับตัวสูงขึ้น ธุรกิจที่ใช้แรงงานมากจึงได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นจากต้นทุนแรงงานที่แพงขึ้น รวมถึงต้นทุนทางการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตั้งแต่ต้นปี 2551 จากร้อยละ 8.75 เป็นร้อยละ 14 ในปัจจุบันของรัฐบาลเวียดนาม
     
      2.นักธุรกิจไทยในเวียดนามที่เน้นตลาดส่งออกจะได้รับผลดีจากค่าเงินด่องอ่อนค่าทำให้สินค้าส่งออกมีราคาถูกลงในสายตาผู้บริโภคต่างประเทศ ส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาปรับตัวดีขึ้น และยังได้ผลดีจากรายได้ส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แลกเป็นเงินสกุลด่องมีมูลค่าสูงขึ้น สำหรับการผลิตที่เน้นตลาดภายในเวียดนามอาจได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อของคนเวียดนามที่ลดลงจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง
     
      3.ค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลงจะส่งผลให้มูลค่านำเข้าสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจไทยในเวียดนามที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (เช่น Trading Firm) ทำให้ ต้องประสบภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
     
      4.สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวไทยในเวียดนาม เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีกน่าจะได้ประโยชน์เงินด่องอ่อนค่าลง ทำให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเวียดนามที่เป็นเงินด่องถูกลง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเวียดนามเพิ่มขึ้น
     
      5.ผู้ส่งออกไทยที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันกับสินค้าส่งออกจากเวียดนามที่อาจมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดประเทศที่สามเนื่องจากอานิสงส์ของค่าเงินด่องที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้าส่งออกของเวียดนามถูกลงในสายตาผู้นำเข้าต่างประเทศ
     
      ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
"Risk comes from not knowing what you're doing" - Warren Buffet

สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย

http://www.sarut-homesite.net/
โพสต์โพสต์