วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11204 มติชนรายวัน
การเงินการคลังใหม่เพื่อการพัฒนา
คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจในยุคโลกไร้พรมแดนและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีส่วนสนับสนุนภาคการผลิต ภาคธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยีการสื่อสารให้เติบโตอย่างรวดเร็ว พื้นที่ "ตลาด" ขยายปริมณฑลออกไปหลายเท่าตัว
ในสมัยก่อนผู้ผลิตสินค้าชั้นนำ -- ถ้าหากสามารถครองใจของผู้บริโภคภายในประเทศก็นับว่าเก่งแล้ว
ในปัจจุบันบริษัทชั้นนำของโลกมีลูกค้าและแฟนคลับกระจายอยู่ทั่วโลก
ตัวอย่างเช่นแฟนคลับของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและลิเวอร์พูล ไม่จำกัดเฉพาะในอังกฤษเท่านั้น
ในมิติหนึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี แต่เรามักจะลืมนึกถึงภาคส่วนที่ด้อยกว่า ล้าหลัง หรือเติบโตไม่ทัน ซึ่งกลายเป็นความไม่สมดุลของสังคมสมัยใหม่ และกลายส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งในสังคม
บทบาทของภาครัฐในการกำกับดูแลธุรกิจ กำหนดกติกาการค้า-การเงิน-และการลงทุนใหม่ถูกมองว่าล้าสมัย ตามไม่ทันระบบเศรษฐกิจไร้พรมแดน
นักคิดกลุ่มหนึ่งภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติจึงได้มาประชุมร่วมกัน สร้างจินตนาการใหม่ พร้อมกับเผยแพร่ความคิดในหนังสือชื่อว่า "แหล่งเงินเพื่อการพัฒนาใหม่" (New Sources of Development Finance)
ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ควรจะเล่าสู่กันฟังหรือนำมาครุ่นคิดพินิจนึกกันต่อ
โจทย์ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดพร้อมกับชวนให้นักคิดนักวิชาการชั้นนำมาร่วมกันสร้างจินตนาการใหม่ คือคำถามว่าควรจะมีแหล่งการเงินการคลังใหม่เพื่อการพัฒนาอย่างไร?
ในยุคโลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจไร้พรมแดน สรุปในหนังสือชื่อว่า New Sources of Development Finance ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ออกซ์ฟอร์ด ปี ค.ศ.2005 โดยได้เรียนเชิญท่านเซอร์แอนโธนี แอตคินสัน ทำหน้าที่บรรณาธิกร
ศาสตราจารย์แอตคินสัน เป็นนักเศรษฐศาสตร์การคลังชั้นนำของโลกที่มีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวข้อเกี่ยวกับการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง
คณะนักคิดกลุ่มนี้เสนอว่า ควรจะมีเครื่องมือทางการเงินและการคลังใหม่สำหรับโลกสมัยใหม่ 7 หัวเรื่องด้วยกัน พร้อมกับแสดงเหตุผลและการคำนวณเป็นตัวเลข เช่น ประมาณการว่าถ้าเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (หรือเรียกว่า ภาษีคาร์บอน เก็บจากการใช้พลังงาน) หรือภาษีการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามประเทศ (ภาษีโทบิน) แล้วจะมีรายได้เพื่อการพัฒนาเท่าใด?
ตัวอย่างเช่น ภาษีคาร์บอนจะได้เงินเข้ากองทุนโลกเพื่อการพัฒนาจำนวนมากกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการลด "ปัญหาโลกร้อน" หรือนำเงินมาช่วยเหลือประชากรของโลกที่ยากจน ถ้าหากว่าเก็บภาษีการเคลื่อนย้ายเงินทุนซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Currency Transaction Tax (CCT, แต่นิยมเรียกย่อๆ ว่า ภาษีโทบิน ตามชื่อของศาสตราจารย์ James Tobin นักเศรษฐศาสตร์มหภาคชั้นนำของโลกและได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมองการณ์ไกลว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามประเทศนั้น ทำให้เกิดผลกระทบภายนอกและความผันผวนหรือวิกฤตทางการเงิน) จะมีเงินทุนประมาณ 15,000-28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
องค์การสหประชาชาติย้ำเตือนว่า ปัญหาความด้อยพัฒนาและความยากจนทั่วโลกเป็นปัญหาร่วมกันทั่วไป และได้มีข้อตกลงที่เรียกว่า MDGs (Millenium Development Goals) ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ลงนามไปแล้ว (รวมทั้งประเทศไทยของเรา) ในข้อตกลงร่วมกันมีกำหนดเป้าหมาย 8 ประการ เริ่มด้วย เป้าหมายที่หนึ่ง--การกำจัดความหิวโหยและยากจน ไปจนเป้าหมายที่แปด--การสร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนา
ข้อเสนอการเงินการคลังใหม่เพื่อการพัฒนา ของกลุ่มนักคิดขององค์การสหประชาชาติ
นักคิดกลุ่มนี้วิเคราะห์สนับสนุนว่าควรจะมีสถาบันระดับโลกเพื่อควบคุมกลไกการพัฒนา พร้อมกับเสนอให้ตั้ง World Tax Authority และ Global Development Institution เพราะว่าการค้าการลงทุนและเคลื่อนย้ายเงิน (ถึงแม้ว่าเป็นผลดีโดยภาพรวม) แต่ก็ทำให้เกิดผลเสียหายหรือวิกฤตต่อโลกในบางมิติ--จึงสมควรที่จะสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยกรองหรือเป็นกันชน
ข้อเสนอการเก็บภาษีนั้นคำนึงถึงความเหมาะสมหรือเป็นไปได้ คือว่า อัตราภาษีไม่สูงเกินไป เช่น ภาษีโทบิน อัตรา 0.01-0.02 ของหนึ่งเปอร์เซ็นต์ คือเสียภาษี 10-20 เหรียญ จากเงินโอนหนึ่งล้านเหรียญ เป็นต้น
ศาสตราจารย์ Robin Boadway นักเศรษฐศาสตร์การคลังชาวแคนาดา (เคยมาทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) เขียนบทความในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับ ภาษีชาติ (national tax) และภาษีโลก (global tax) พร้อมกับข้อเสนอว่าควรจะมี Global equalization scheme คือการกระจายรายได้และการคลังจากประเทศรวยมาช่วยประเทศยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดความสมานฉันท์
ข้อเสนอที่ห้าที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนบริจาคหรือช่วยเหลือการพัฒนา เข้าใจว่าสอดคล้องกับหลักความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (CSR, Corporate Social Responsibility) ซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลาย ปัจจุบันหน่วยธุรกิจชั้นนำมีโปรแกรมช่วยเหลือสังคมในหลายรูปแบบ อาจจะบริจาคเป็นเงินหรือช่วยอบรมความรู้ธุรกิจร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ผลิตเก่งขึ้น-ขายได้-ขยายตลาดให้กว้างขึ้น ผู้จัดการธุรกิจชวนพนักงานออกไปช่วยปลูกป่าในวันเสาร์อาทิตย์รวมทั้งจ่ายสตางค์ซื้อกล้าไม้ให้ด้วย เป็นความร่วมมือแบบใหม่ที่น่ายกย่องและมองได้ว่ามีเป้าหมายมากกว่าการทำกำไร
ข้อเสนอที่เจ็ด สนับสนุนให้แรงงานที่ออกไปทำงานมีรายได้ดี ส่งเงินกลับประเทศ มาช่วยเหลือญาติพี่น้องหรือการพัฒนาชุมชน เป็นความคิดที่ดีเช่นเดียวกัน
ข้อเสนอที่หก เกี่ยวกับการออกลอตเตอรี่โลก (global lottery) เรื่องนี้ต้องอภิปรายกันยืดยาว และอาจจะมีคนลุกขึ้นมาคัดค้านทันทีว่าเป็นอบายมุข เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ออกสลากกินแบ่งโลก (ทับซ้อนกับสลากกินแบ่งระดับชาติ) อย่างไรก็ตาม ถ้าจะยึดคติ "ฟังหูไว้หู" ก่อนไม่เสียหายอะไร คณะนักวิชาการชุดนี้ยอมรับว่าการออกลอตเตอรี่นั้นเป็นอำนาจของรัฐบาลชาติ แต่เสนอมุมมองใหม่ว่าถ้าหากใช้หลัก "ร่วมกัน"
กล่าวคือ เสนอให้สถาบันโลกมีส่วนร่วมในการออกสลากกินแบ่งกับรัฐบาลชาติ แล้วนำรายได้มาแบ่งกัน เพื่อนำมาจุนเจือมูลนิธิเพื่อการพัฒนาหรือองค์กรมหาชนเพื่อทำงานสนับสนุนประชาชนและคนยากจน ก็มีเหตุผลน่ารับฟังได้
ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่สนใจการทำงานของภาครัฐ ข้อเสนอแนะของกลุ่มนักวิชาการที่สหประชาชาติเชิญมาสร้างจินตนาการใหม่ว่าด้วย new sources of development finance ผู้เขียนเห็นว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจ เป็นข้อคิดสำหรับ "การคลังใหม่" ในประเทศไทยได้ หรือการร่วมมือกับสถาบันโลกว่าด้วยการออกแบบระบบการเงินการคลังใหม่
เท่าที่ผู้เขียนได้ติดตามการทำงานของหน่วยงานราชการและความคิดของเพื่อนนักวิชาการด้านการคลัง-ในสี่ห้าปีที่ผ่านมามีแนวคิดว่าด้วย "การคลังใหม่" และข้อเสนอรายได้รูปแบบใหม่เพื่อเป้าหมายการพัฒนาหรือเพิ่มพลังประชาชน-คนจน-และด้อยโอกาส ความคิดและจินตนาการนั้นมีหลากหลาย--แต่ในส่วนที่ดูเหมือนว่าเป็นรูปธรรมหรือมียกร่างเป็นกฎหมายมีอยู่ 3-4 เรื่อง กล่าวคือ
หนึ่ง ภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะจัดเก็บจากผลิตภัณฑ์บางประเภทที่มีผลเสียหายต่อสภาพสิ่งแวดล้อม (เกิดขยะหรือขยะอันตราย) ดังนั้น เสนอให้เก็บเงินมาใส่ไว้ใน "กองทุนสิ่งแวดล้อม" หรืออาจจะเก็บจากของเสีย (ขยะ น้ำเสีย อากาศเสียหรือภาษีคาร์บอน - เก็บจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง)
สอง ภาษีทรัพย์สิน เก็บจากมูลค่าบ้านและที่ดิน ซึ่งสอดคล้องกับหลักผลประโยชน์ (benefit principle) และหลักความสามารถการเสียภาษี (ability to pay principle)
สาม ควบคู่กับด้านรายได้คือการจัดสรรงบประมาณรายได้ของภาครัฐที่มีเป้าหมายช่วยคนจน สอดคล้องกับแนวคิด pro-poor growth
สี่ การขยายระบบคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้แรงงานนอกระบบ โดยภาครัฐอาจจะให้เงินสมทบในรูปแบบ "การออมพันธมิตร" เพื่อช่วยให้กลุ่มแรงงานนอกระบบมีหลักประกันเมื่อถึงวัยสูงอายุ
การคลังและการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์นั้นมิได้เป็นเอกเทศออกจากระบบการเมืองและสังคม เราต้องนำเงื่อนไขของสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยมาพิจารณาประกอบด้วย การเมืองประชาธิปไตยแบบไทยๆเผชิญกับปัญหาสังคมรูปแบบใหม่ และพยายามที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีหลายมิติด้วยกัน คือ มิติคนรวย/คนจน ระหว่างเมือง/ชนบท ระหว่างภูมิภาค ฯลฯ
การคลังใหม่จะตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของการเมืองและสังคมไทยอย่างไร? เป็นเรื่องที่น่าสนใจและจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง
ในเวทีการคลังใหม่ต้องเปิดรับความคิดเห็นจากทุกคน แต่ถ้าอิงหลักวิชาการและมีหลักฐานข้อมูลประกอบด้วย ก็จะยิ่งดี ชัดเจน และสร้างสรรค์
การเงินการคลังใหม่เพื่อการพัฒนา - ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
-
- Verified User
- โพสต์: 1808
- ผู้ติดตาม: 0
การเงินการคลังใหม่เพื่อการพัฒนา - ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
โพสต์ที่ 1
"Risk comes from not knowing what you're doing" - Warren Buffet
สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย
http://www.sarut-homesite.net/
สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย
http://www.sarut-homesite.net/
- kornjackrit
- Verified User
- โพสต์: 1524
- ผู้ติดตาม: 0
การเงินการคลังใหม่เพื่อการพัฒนา - ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
โพสต์ที่ 2
ขอบคุณสำหรับข่าวสารดีๆครับ
:D
:D
When you become famous, the first thing you should have to remember is not your success story but those who help you along the way.
-
- Verified User
- โพสต์: 1808
- ผู้ติดตาม: 0
การเงินการคลังใหม่เพื่อการพัฒนา - ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
โพสต์ที่ 3
คิดยังไงกับแนวคิดการออกสลากกินแบ่งโลกกันมั่งครับ
ส่วนตัวผมว่าแนวคิดเค้าดีนะครับ รายได้นำมาจุนเจือโลก
แต่ต้องโปร่งใสกัน :8)
ถ้าออกมาคงแปลกดี ลุ้นกันทีทั้งโลก :lol:
ส่วนตัวผมว่าแนวคิดเค้าดีนะครับ รายได้นำมาจุนเจือโลก
แต่ต้องโปร่งใสกัน :8)
ถ้าออกมาคงแปลกดี ลุ้นกันทีทั้งโลก :lol:
"Risk comes from not knowing what you're doing" - Warren Buffet
สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย
http://www.sarut-homesite.net/
สุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย
http://www.sarut-homesite.net/