นักท่องเที่ยวจาก 13 ล้านเป็น 31 ล้าน...งานง่ายๆ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
อะไรดีละ
Verified User
โพสต์: 680
ผู้ติดตาม: 0

นักท่องเที่ยวจาก 13 ล้านเป็น 31 ล้าน...งานง่ายๆ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ท่านผู้อ่านเห็นหัวเรื่องคงงงแน่นอน  มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย  แม้จะคุยกันทำงานกันแทบตายจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 13 ล้านคนเป็น 15 ล้านคนยังเป็นเรื่องที่ยากมากๆ  ททท.ทุ่มเททั้งสมองและเงินทองไปมากมายก็ยากจะทำภารกิจนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 ล้านคนนี้ให้ประสบความสำเร็จได้
แล้วเรื่องแบบนี้เป็นไปได้อย่างไร.....ง่ายๆ ครับ  ก็แค่สลับตัวเลขจาก 13 เป็น 31 วิธีง่ายๆ แบบนี้เด็กอนุบาลก็ทำได้.... ถ้าผมขืนตอบแบบนี้คงไม่ใช่ เศรษฐศาสตร์ แล้วละ  แต่เป็น กวนประสาท มากกว่า  ที่จริงแล้วมันมีวิถีทางอยู่ครับ  แต่เป็นอีกด้านหนึ่งไม่ใช่แบบตรงไปตรงมา   ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็น 1 ใน 18 กระบวนท่าของ เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก  กรอบแนวคิดใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั่นเอง
สิ่งที่ต้องคิดก็คือ มองแนวโน้มของโลก และ หาจุดแข็งของประเทศไทยให้พบ   สิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้ก็คือ สังคมของผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเพิ่มสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุขึ้นอีกมาก  โดยเฉพาะตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปที่ประชาชนยุคเบบี้บูมซึ่งเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  จะเริ่มเกษียณอายุหลังจาก 65 ปีมากขึ้นเรื่อยๆ    ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ภัยธรรมชาติน้อยมาก  มีบริการการแพทย์ที่ดี และ ค่าครองชีพที่ต่ำ  ดังนั้นการดึงดูดผู้เกษียณในประเทศพัฒนาแล้ว 200 ล้านคน  มาอยู่ที่ประเทศไทยแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์หรือราว 1 ล้านคนก็เป็นเรื่องใหญ่มากๆ   โดยเฉพาะประเทศไทยได้รับการจัดอันดับประเทศยอดนิยมในการเกษียณนอกประเทศของคนชราประเทศพัฒนาแล้ว  
ผมลองยกตัวอย่าง นายโกโบริ เป็นคนญี่ปุ่นที่กำลังจะเกษียณอายุในปีหน้านี้   อาศัยอยู่ในคอนโดชานเมืองโตเกียวขนาด 50 ตารางเมตร  ราคาประมาณ 15 ล้านบาท  หากเกษียณเขาจะได้เงินบำนาญทุกเดือนราวเดือนละ 6 หมื่นบาท  ดูเหมือนจะสบายๆ ใช่ไหม  แต่เปล่าเลย  ค่าครองชีพที่ญี่ปุ่นสูงกว่าประเทศไทยราว 4 เท่าตัว  และ เขายังต้องเสียภาษีอสังหาริมทรัพย์  ค่าดูแลส่วนกลาง รวมไปถึงภาษีสุขภาพอีกด้วย รวมๆ ถึง 1 ใน 3 ของยอดเงินนี้ ..... สรุปก็คือ โกโบริ จะเหลือเงินสุทธิราว 4 หมื่นบาทในญี่ปุ่นซึ่งเป็นกำลังซื้อเทียบเท่ากับเงินแค่ 1 หมื่นบาทเท่านั้นเองในไทย
แต่หากเขาตัดสินใจเฉียบขาดที่จะย้ายมาเกษียณในไทยแล้ว  เขาก็จะขายคอนโดที่โตเกียวทิ้งเสียได้เงินมา 15 ล้านบาท  แล้วนำมาซื้อคอนโดชานเมืองแนวรถไฟฟ้าของกรุงเทพแทน  ได้ขนาดใหญ่ขึ้น 2 เท่าเป็น 100 ตารางเมตร ราคา 5 ล้านบาท  ยังเหลือสดๆ อีก 10 ล้านบาท ซึ่งนำเงินไปลงทุนในพันธบัตร และ หุ้นกู้เอกชนชั้นดี ได้ผลตอบแทนที่ 4.8% ต่อปี  สรุปแล้วยังได้เงินดอกเบี้ยส่วนนี้เพิ่มอีกเดือนละ 4 หมื่นบาท รวมกับเงินบำนาญอีก 6 หมื่น  โกโบริ จึงมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัวเป็น 1 แสนบาทต่อเดือนไปเลย สวรรค์ของคนเกษียณจริงๆ เลย และเมื่อเสียชีวิตก็ยังมีมรดกให้ลูกหลานโดยไม่ต้องเสียภาษีมรดกอีกด้วย
ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแล้ว  จึงเหตุผลอย่างยิ่งที่ประชากรกลุ่มนี้จะย้ายถิ่นเพื่อกำลังซื้อที่สูงขึ้นถึง 10 เท่าตัว  จากส่วนต่างของค่าครองชีพ และส่วนต่างของราคาที่อยู่อาศัย  ใน 2 ภูมิภาค   โดยสังคมคนญี่ปุ่นก็มีอยู่เมืองไทยอยู่แล้ว  คนกลุ่มนี้มีความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรมสูงกว่ารุ่นก่อน เพราะเคยอยู่หรือไปเที่ยวต่างประเทศมาไม่น้อย  น่าจะปรับตัวได้ไม่ยากนัก  ปัญหาที่เหลืออยู่ก็คือเรื่องของ ประกันสุขภาพ
การอยู่ในประเทศญี่ปุ่นสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพได้  แต่ยังคงต้องจ่ายเงิน 10 เปอร์เซ็นต์เป็นภาระส่วนตัว  รัฐบาลญี่ปุ่นต้องสนับสนุนเงินเพื่อสุขภาพคนชราถึงหัวละ 4 แสนบาทต่อปี   ขณะที่ไทยเรามีต้นทุนในการดูแลสุขภาพคนชราที่ 7 พันบาทต่อปี (งบบัตรทองเฉลี่ยที่ 2.4 พันบาท แต่คนทำงานต้นทุนอยู่เพียง 700 บาทต่อหัว)   ไทยสามารถนำประโยชนส่วนต่างตรงนี้มาใช้ได้
หากคนญี่ปุ่นมาเกษียณเมืองไทย  เขาก็จะมีกำลังซื้อสูงขึ้น 10 เท่าตัวอันนี้เข้าใจดี   รัฐบาลไทยขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเงินสนับสนุนได้หรือไม่หัวละ 1 แสนบาท  (รัฐบาลญี่ปุ่นประหยัดไปแล้วคนละ 3 แสนบาท)  แล้วไทยเรานำเงิน 7 หมื่นบาท (10 เท่าของต้นทุนปกติ) ไปให้กับรพ.เอกชนชั้นนำดูแลสุขภาพพวกเขาอย่างดีที่สุด  อีก 3 หมื่นบาทนำเข้าคลังเป็นรายได้เพิ่มของรัฐบาลไป   ทำได้ก็จะเป็น win-win ของทุกฝ่ายทั้งคนญี่ปุ่นที่กำลังซื้อสูงขึ้นและไม่ต้องรับภาระต้นทุนสุขภาพอีก  รัฐบาลญี่ปุ่นประหยัดต้นทุนสนับสนุนไปมาก  โรงพยาบาลเอกชนไทยได้รายได้เพิ่มมากมาย   ประชาชนคนไทยขายสินค้าและบริการให้พวกเขาได้มากขึ้น  และ รัฐบาลไทยอาจได้เงินเข้าคลังเพิ่มถึง 3 หมื่นล้าน  ดังนั้นจึงได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า
สิ่งที่รัฐบาลไทยควรจะทำก็คือ  1. ลดเงื่อนไขการทำวีซ่าระยะยาวลงมา เช่น จากกำหนดให้ต้องมีเงินบำนาญ 2 พันเหรียญ สรอ. ต่อหัว  ก็อาจลงเหลือ 1 พันเหรียญ สรอ. และ ผู้ติดตาม 500 เหรียญ สรอ. ก็พอ  เป็นต้น  เพราะ ปัจจุบันหากคนชราต้องนำผู้ติดตามมาด้วย  ต้องมีรายได้เงินบำนาญถึง 4 พันเหรียญ สรอ. ซึ่งยอดเงินนี้จะสูงเกินไปสำหรับคนชราชั้นกลางในประเทศพัฒนาแล้ว
2. ตั้งศูนย์แบบ one stop service เพื่อให้บริการครบวงจร  ตั้งแต่การทำวีซ่า  การให้ข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยและเมืองที่จะเกษียณ  การให้ข้อมูลทางการแพทย์ต่างๆ   รวมไปถึงรับฟังปัญหาด้านต่างๆด้วย  
3. ติดต่อกับรัฐบาลประเทศเหล่านั้น  เพื่อพูดคุยและต่อรองเรื่องของการ ประกันสุขภาพ คนชรา โดยไทยจะช่วยลดต้นทุนภาระการคลังให้พวกเขา   อย่าลืมส่งเงินอุดหนุนสุขภาพบางส่วนมาให้เราด้วย
ผู้ที่เกษียณในไทย 1 คนจะเทียบเท่ากำลังซื้อของนักท่องเที่ยว 18 คน  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  เพราะ เขาจะอยู่ในเมืองไทยถึง 360 วัน (5 วันไปเที่ยวเมืองนอก)  ขณะที่นักท่องเที่ยวจะอยู่ในไทยราว 5 วันเท่านั้น แตกต่างกันถึง 72 เท่าตัว  แต่การใช้เงินต่อวันจะน้อยกว่ากัน 4 เท่าตัว  แทนที่จะใช้เงินถึง 6 พันบาทต่อวันก็อาจเหลือแค่ 1.5 พันบาท  อย่างไรก็ดี เนื่องจากอยู่นานกว่ามาก  เงินใช้จ่ายของคนเกษียณ 1 ล้านคน จึงเทียบเท่ากับ 18 ล้านคนของนักท่องเที่ยว  เมื่อรวมกับ 13 ล้านคนซึ่งมีอยู่เดิม  ก็เลยกลายเป็น 31 ล้านคนได้ไงครับ....ที่จริงยังมีของแถมด้วยการทัวร์เมืองไทยเยี่ยมญาติ ของญาติมิตรผู้เกษียณซึ่งคาดว่าน่าจะเพิ่มมาได้อีกหลายล้านคนอยู่เหมือนกัน  รายได้การท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายใน 2 ปีได้ไม่ยาก  
เรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งยวดเพราะเป็นแนวโน้มในอนาคตสำหรับการเติบโตของไทย  อาจสร้างจีดีพีเพิ่มให้ไทยได้ถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์อย่างสบายๆ (หากมีผู้เกษียณ 2 ล้าน) โดยแทบไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมาก  แถมรัฐบาลยังได้เงินกินเปล่าเข้าคลังอีกหลายหมื่นล้านบาท  นำไปเพื่อช่วยเหลือสวัสดิการสังคมในประเทศไทยได้อีกด้วย     เร่งรีบนำแนวคิดนี้ไปเพื่อปรับปรุงและพัฒนาต่อให้ไทยเป็น สวรรค์บนดิน ถิ่นคนเกษียณ  ด้วยเถอะครับ
เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก... กรอบแนวคิดใหม่ใช้หลักยืมพลัง และ รักษาสมดุลเพื่อช่วยฟื้น ศก.ไทย และ ศก.โลก

หุ้นเงา... หุ้นอยู่ในเงาทำให้คนมองเห็นไม่ชัด ราคาหุ้นพร้อมจะปรับขึ้น 2 เด้งจาก EPS ที่สูงขึ้น และ การปรับค่า P/E ให้สูงขึ้นในอนาคต
crt2000th
Verified User
โพสต์: 278
ผู้ติดตาม: 0

นักท่องเที่ยวจาก 13 ล้านเป็น 31 ล้าน...งานง่ายๆ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ตอนนี้ที่เชียงราย มีคนญี่ปุ่นมาอยู่ หลายร้อยคนครับ เเต่ก็พบปัญหาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เพราะที่เชียงรายคนพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ คนญี่ปุ่นเลยต้องมารักษากันที่เชียงใหม่เเทน

เเละจะทำอย่างไรที่ผู้ที่่มีหน้าที่รับผิดชอบของรัฐ เริ่มทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีขึ้นครับ
โพสต์โพสต์