ข่าวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ Free Float
รายละเอียดจะอยู่ด้านล่างนะขอรับ โดยมีหัวข่าวโดยสรุป (เรียงลำดับตามวันเวลาของข่าว) คือ
- วันที่ 1 มี.ค. 50 เรื่อง "บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติแนวทางส่งเสริมสภาพคล่องหลักทรัพย์"
- วันที่ 18 มิ.ย. 50 เรื่อง "ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแนวทางส่งเสริมบจ.เพิ่มสภาพคล่องหุ้น"
- วันที่ 3 มิ.ย. 52 เรื่อง "ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่อนผันเกณฑ์ Free Float ชั่วคราว ลดภาระบจ."
- วันที่ 2 ก.ค. 52 เรื่อง "รายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วนตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป"
***************************************************
บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติแนวทางส่งเสริมสภาพคล่องหลักทรัพย์
[ วันที่ 1 มีนาคม 2550 16:46 น. ]
ที่มา ตลท.
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติอนุมัติแนวทางการส่งเสริมสภาพคล่องการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะทำงานร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สนับสนุนให้คำแนะนำเพิ่ม Free float แก่ บริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) ต่ำกว่าเกณฑ์ เผยแนวทางเพิ่มสภาพคล่องทำได้ทั้งการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน การแตกมูลค่าหุ้น หรือการจ่ายหุ้นปันผล ส่วนบริษัทที่มีปัญหา ให้เวลาแก้ไข 3 ปีก่อนย้ายไปอยู่ในกลุ่ม NPG หรือ Non Performing Group และขึ้นเครื่องหมาย SP ก่อนพิจารณาเพิกถอน พร้อมยกเลิก Call Market หวังกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเร่งแก้ไขปัญหา Free float
นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ได้มีมติอนุมัติแนวทางในการส่งเสริมสภาพคล่องการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเห็นชอบให้มีการทำงานร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้คำแนะนำและสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหา เพื่อเพิ่มสัดส่วน Free float ของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง เช่น การเสนอขายหุ้นต่อประชาชน การแตกมูลค่าหุ้น หรือการจ่ายหุ้นปันผล เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้บริษัทที่มี Free float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มความน่าสนใจแก่ตลาดหุ้นไทย และที่สำคัญคือไม่ส่งผลกระทบต่อ ผู้ถือหุ้นรายย่อย
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าการเพิ่มสภาพคล่องของบริษัทจดทะเบียนเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ในการเพิ่มสภาพคล่องของการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเพิ่มความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยต่อผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์กับบริษัทเอง ดังนั้น การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง การกำหนดแนวทางดูแลบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาเรื่อง Free float ของบริษัทที่ต่ำกว่าเกณฑ์ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพดี มีสภาพคล่องและเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น นายสุทธิชัยกล่าว
สำหรับแนวทางดำเนินการกับบริษัทจดทะเบียนที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ (150 รายถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ15 ของทุนชำระแล้ว) นั้นจะยกเลิกมาตรการ Call Market (การจับคู่ซื้อขายโดยอัตโนมัติในคราวเดียว ณ ราคาเดียว) และให้ซื้อขายโดยระบบจับคู่ซื้อขายอัตโนมัติตามปกติ โดยจะให้เวลาบริษัท 3 ปี แก้ไขปัญหาก่อนที่จะย้ายบริษัทจดทะเบียนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ไปอยู่ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ภายในกำหนด (NPG หรือ Non Performing Group) โดยหากยังไม่สามารถแก้ไขได้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาเพิกถอนบริษัทดังกล่าวต่อไป
สำหรับแนวทางการดำเนินการกับบริษัทที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งให้บริษัทที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเมื่อครบปีที่ 1 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศ ชื่อบริษัท และเมื่อครบปีที่ 2 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและขึ้นเครื่องหมาย NC (Non Compliance) พร้อมทั้งหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ (SP) จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวของบริษัท และหลังจากนั้น บริษัทจะมีเวลาอีก 1 ปี เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นับจากวันที่ประกาศให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน
หากบริษัทยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ได้เมื่อครบปีที่ 3 จะมีการย้ายบริษัทไป NPG และขึ้นเครื่องหมาย SP จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม หากบริษัทตั้งใจที่จะแก้ปัญหา และหลักทรัพย์ของบริษัทยังมีสภาพคล่อง เป็นที่น่าสนใจของผู้ลงทุน ก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกย้ายเข้าไปในกลุ่ม NPG ทั้งนี้ บริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศชื่อจะต้องแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะๆ ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา
สำหรับมาตรการใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศใช้นี้ จะขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อนและเมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จะมีผลบังคับใช้กับบริษัทที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมด
ทั้งนี้ บริษัทที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ 1 ปีขึ้นไปในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศชื่อบริษัทดังกล่าว และให้ซื้อขายโดยระบบจับคู่ซื้อขายอัตโนมัติตามปกติ และให้เวลาแก้ไขภายใน 1 ปี หากไม่สามารถแก้ไขได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศว่าบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ส่วนบริษัทที่มี Free Float น้อยกว่า 1 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งบริษัทและ ให้เวลาแก้ไขตามขั้นตอนข้างต้นต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน 15 บริษัท ที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์มานานกว่า 1 ปี และซื้อขายในระบบ Call Market
***************************************************
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแนวทางส่งเสริมบจ.เพิ่มสภาพคล่องหุ้น
[ วันที่ 18 มิถุนายน 2550 08:05 น. ]
ที่มา ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแนวทางส่งเสริมการสร้างสภาพคล่องให้บจ.ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) ต่ำกว่าเกณฑ์ ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว โดยจะยกเลิก Call Market ตั้งแต่ 4 ก.ค.นี้ และให้บริษัทเปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทุก 6 เดือน หากไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ตามกำหนด จะเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มตั้งแต่ปีที่ 2 จนกว่าจะแก้ไขได้ ระบุการเพิ่มสภาพคล่องของบจ.เป็นการสร้างความน่าสนใจให้บริษัท และส่งผลให้การระดมทุนเป็นไปได้สะดวกขึ้น เผยจะประกาศรายชื่อบจ.ที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์เป็นปีที่ 2 ขึ้นไป 2 ก.ค. นี้
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การปรับปรุงมาตรการสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระจายการถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วนหรือบริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) ต่ำกว่าเกณฑ์ (จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อยกว่า 150 ราย หรือถือหุ้นรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้ว) ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว โดยจะมีการยกเลิก Call Market ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2550 นี้ นอกจากนี้ จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัทจดทะเบียนเพิ่ม พร้อมทั้งให้มีการรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทุก 6 เดือน
สภาพคล่องของหลักทรัพย์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มความน่าสนใจให้แก่บริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลให้บริษัทสามารถระดมทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงพยายามส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีสภาพคล่องมากขึ้น โดยการยกเลิก Call Market และให้หลักทรัพย์ของบริษัทกลับมาซื้อขายในระบบปกติ (Automatic Order Matching : AOM) จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายและช่วยให้การกระจายหุ้นเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น และจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย
ส่วนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่ม จะเริ่มเมื่อบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นปีที่ 2 ขึ้นไปจนกว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศชื่อบริษัทดังกล่าวให้ผู้ลงทุนทราบ โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางที่จะช่วยกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาการกระจายผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เร็วขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ซึ่งในที่สุดแล้วการเพิ่มสภาพคล่องของหลักทรัพย์จะส่งผลดีต่อบริษัท ผู้ลงทุน และตลาดทุนโดยรวม นางภัทรียากล่าว
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาคุณสมบัติด้านการกระจายการถือหุ้นรายย่อยของบริษัทจดทะเบียนจากรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทและจะให้เวลาบริษัทจดทะเบียนในการแก้ไขการกระจายการถือหุ้นให้ครบถ้วน โดยในปีแรก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งให้บริษัทจดทะเบียนได้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข หากยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขการกระจายการถือหุ้นได้ในปีที่ 2 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งการขาดคุณสมบัติให้ผู้ลงทุนได้ทราบ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มจนกว่าบริษัทจะแก้ไขเหตุดังกล่าวได้ พร้อมกันนี้จะให้บริษัทจดทะเบียนรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทุก 6 เดือน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบความคืบหน้าในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศรายชื่อของบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระจายการถือหุ้นต่ำกว่าเกณฑ์เป็นปีที่ 2 ขึ้นไปในวันที่ 2 ก.ค.นี้
กรรมการและผู้จัดการกล่าวด้วยว่าการเสริมสภาพคล่องการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มความน่าสนใจแก่ตลาดหุ้นไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเร่งสนับสนุนให้มีการทำงานร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้คำแนะนำและสนับสนุนแนวทางการเพิ่มสัดส่วน Free float ของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง
Call Market เป็นวิธีการจับคู่คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์อัตโนมัติ โดยใน 1 วันทำการจะมีการจับคู่คำสั่งซื้อขาย 3 ครั้ง คือ ช่วงเปิดตลาดภาคเช้า เวลา 9.55 10.00 น. ช่วงเปิดตลาดภาคบ่าย เวลา 14.25 14.30 น. และช่วงปิดตลาดภาคบ่าย เวลา 16.3516.40 น. ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มใช้ระบบ Call Market ตั้งแต่ปี 2545
***************************************************
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่อนผันเกณฑ์ Free Float ชั่วคราว ลดภาระบจ.
วันที่ 3 มิถุนายน 2552 13:46 น.
ที่มา : ตลท.
นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่อนผันหลักเกณฑ์กรณีบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระจายการถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ไม่ครบถ้วนโดยจะยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มเป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่บริษัทจดทะเบียน และให้เวลาบริษัทจดทะเบียนในการปรับตัว
หลักเกณฑ์ชั่วคราวดังกล่าว จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มจากบริษัทจดทะเบียนที่มีเกณฑ์ Free Float ไม่ครบถ้วน โดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 ปี (2552 2553) และให้บริษัทจดทะเบียนรายงานความคืบหน้าต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ปีละ 1 ครั้ง จากเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป และบริษัทจดทะเบียนต้องรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนด 2 ปี หากบริษัทใดยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา Free Float ได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่ม โดยจะนับระยะเวลาต่อจากปี 2551 (ไม่นับปี 2552 และ 2553)
การผ่อนผันหลักเกณฑ์นี้ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว และจะเริ่มมีผลตั้งแต่การจ่ายค่าธรรมเนียมในปี 2552 ซึ่งมีกำหนดจ่ายในเดือนกรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป
***************************************************
รายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วนตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
[ 02/07/09, 17:01 น. ]
ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 21 บริษัท ที่มีคุณสมบัติด้านการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ขึ้นไป ดังนี้
1. บริษัท รองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (BATA)
2. บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) (GL)
3. บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) (GRAND)
4. บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) (IHL)
5. บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน) (MEDIAS)
6. บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) (NSI)
7. บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (OISHI)
8. บริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน) (PPC)
9. บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) (PRG)
10. บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน) (RANCH) 1/
11. บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ROH)
12. บริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (SCNYL)
13. บริษัท ซีฮอร์ส จำกัด (มหาชน) (SH)
14. บริษัท แชงกรี-ลา โฮเต็ล จำกัด (มหาชน) (SHANG)
15. บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SHIN)
16. บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) (SIM)
17. บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) (SVH)
18. บริษัท ไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน) (TCP)
19. บริษัท ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) (UFM)
20. บริษัท ยูเนี่ยนเทคโนโลยี่ (2008) จำกัด (มหาชน) (UTC) 2/
21. บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) (VNT)
ทั้งนี้ การประกาศรายชื่อดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งกำหนดว่าบริษัทจดทะเบียนต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย และผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้วของบริษัท โดยพิจารณาจากรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุมสามัญประจำปีของบริษัท
บริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมีหน้าที่รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาปีละ 1 ครั้งพร้อมกับการนำส่งรายงานการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย จนกว่าบริษัทจะมีคุณสมบัติเรื่องการกระจายรายย่อยครบถ้วน ทั้งนี้ PRG มีงวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งจะครบกำหนดนำส่งรายงานการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2552 และมีหน้าที่ต้องรายงานความคืบหน้าหากยังมีผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วน
(ศึกษารายละเอียดของข้อกำหนดฯ ได้จาก
www.set.or.th)
หมายเหตุ:
1/ RANCH อยู่ระหว่างดำเนินการเพิกถอนหลักทรัพย์โดยสมัครใจ โดย London 8 Limited บริษัท ธงชัย เอเชีย จำกัด และบริษัท มิดเดิ้ล วิลเลจ จำกัด เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในระหว่าง วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2552
2/ UTC อยู่ระหว่างดำเนินการเพิกถอนหลักทรัพย์โดยสมัครใจ โดยบริษัทสหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2552