ฟอร์บส์ – ผู้บริหารส่วนใหญ่มีเทคนิคแพรวพรายเมื่อต้องโกหก ดังนั้น คำพูดที่ออกมาจึงไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป
เดวิด ลาร์กเกอร์ และอนาสตาเซีย ซาโคลูกินา จากแกรดูเอต สกูล ออฟ บิสเนส มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐฯ ได้วิเคราะห์บันทึกการประชุมของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินในสหรัฐฯ กับกลุ่มนักวิเคราะห์และนักลงทุนเกือบ 3,000 ฉบับ
ลาร์กเกอร์และซาโคลูกินาสังเกตการเลือกใช้คำและวิธีในการสื่อสารคำเหล่านั้นของผู้บริหาร และจัดทำการศึกษาทางจิตวิทยาขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าวิธีพูดของคนเราจะต่างกันระหว่างการพูดเรื่องจริงกับการโกหก ตลอดจนทดสอบว่า ‘สิ่งที่พูด’ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในการประชุมเพื่อหารือเรื่องผลกำไร โดยที่ในภายหลังถูกนำมาอ้างอิงถึงในเชิงเนื้อหาในแบบที่นุ่มนวลลงหรือไม่
ทั้งคู่ตีพิมพ์ผลการค้นพบในเอกสารที่ใช้ชื่อว่า ‘ดีเท็กติง ดีเซปทีฟ ดิสคัชชัน อิน คอนเฟอเรนซ์ คอลล์’ ที่ระบุว่าผู้บริหารที่หลอกลวงมักอ้างอิงสิ่งที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว (เช่น “อย่างที่คุณรู้…”) และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงมูลค่าของผู้ถือหุ้น (อาจเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้อง) และยังมักใช้คำที่แสดงอารมณ์แง่บวกแบบฟูมฟายจนเกินไป เช่น แทนที่จะใช้คำว่า ‘ดี’ กลับใช้คำว่า ‘มหัศจรรย์’ เพื่อให้เรื่องที่ไม่ค่อยมีสาระนักกลับฟังดูน่าเชื่อถือขึ้น
เมื่อถึงตอนที่ต้องโกหก ผู้บริหารจะไม่ใช้คำว่า ‘ผม/ดิฉัน’ แต่จะใช้สรรพนามบุคคลที่ 3 แทน และหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ส่อถึงความลังเล เช่น ‘อืมมม..’ หรือ ‘เอ้อ…’ หรือกระทั่งการสบถ แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารเหล่านี้อาจได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีในการกล่าวเท็จ
ผลการค้นพบนี้มีความสำคัญและอาจน่าเชื่อถือมากขึ้นอีก หากคณะผู้จัดทำรายงานสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้บริหารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยตั้งใจ กับผู้บริหารที่กระทำแบบเดียวกันโดยไม่มีเจตนา
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในการค้นหาสัญญาณอันมีค่าจากการประชุม กระนั้น ผู้ชนะตัวจริงน่าจะเป็นบริษัทประชาสัมพันธ์ ที่ตอนนี้รู้แล้วว่าควรสอนให้ผู้บริหารแสดงท่าทีลังเลและสบถให้น้อยลง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการแสดงอารมณ์แง่บวกมากเกินไป เช่น การพูดถึงผลประกอบการว่า ‘วิเศษสุด’ เป็นต้น