ศก.โลก2011เผชิญความเสี่ยงสูง 'US-จีน'แบ่งขั้วแก้ปัญหาคนละทาง

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
matee
Verified User
โพสต์: 535
ผู้ติดตาม: 1

ศก.โลก2011เผชิญความเสี่ยงสูง 'US-จีน'แบ่งขั้วแก้ปัญหาคนละทาง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

บีบีซี นิวส์ - นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจากหลายสำนักมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2011 ว่ากำลังเผชิญกับภยันตรายที่สำคัญนั่นก็คือ ความไม่ลงรอยในการกำหนดทิศทางของระบบการเงินโลก ทั้งนี้สืบเนื่องจากความแตกต่างคนละขั้วของภาวะการฟื้นตัวและปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจระหว่างพวกประเทศร่ำรวยที่เกิดภาวะเงินฝืดกับกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนการเปลี่ยนถ่ายพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโลกมาสู่กลุ่มหลังที่ไม่ทันท่วงที นอกจากนี้วิกฤตในยุโรปก็ยังจะเป็นปัญหาท้าทายสำหรับปีนี้ต่อไป

รอเบิร์ต วอร์ด ผู้อำนวยการอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (EIU) ให้สัมภาษณ์บีบีซี นิวส์ ชี้ว่า แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังสวนทิศทางกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังผงาดขึ้น โดยเฉพาะจีน กับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตะวันตกที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะนำมาซึ่งการไม่อาจบรรลุฉันทามติในการกำหนดทิศทางของระบบการเงินโลกต่อจากนี้

ทั้งนี้สองมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งและสองของโลกยังมีข้อแตกต่างประการสำคัญนั่นก็คือ พญามังกรจะควบคุมระบบเศรษฐกิจอย่างเคร่งครัดโดยภาครัฐ ซึ่งตรงกันข้ามกับพญาอินทรีที่ชื่นชอบระบบตลาดแบบเสรีสุดๆ โดยปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักกลไกตลาด ด้วยเหตุนี้ความสับสนอลหม่านจึงเกิดขึ้นจากจุดนี้

วอร์ดชี้ว่า ความแตกต่างแปลกแยกข้างต้นนำมาซึ่งการก่อสงครามค่าเงินระหว่างกัน โดยที่พวกประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วพยายามหาทางลดค่าเงินของตนเพื่อจะกระตุ้นความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกและแก้วิกฤตเงินฝืด ดังจะเห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลเป็นประวัติการณ์โดยการจะรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 2 (QE2) โดยที่ประเทศเล็กๆ ก็ตอบโต้ด้วยการควบคุมค่าเงินของตนไม่ให้แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่อ่อนยวบลง

นอกจากนี้วอร์ดยังกล่าวต่อไปว่า กระบวนการเปลี่ยนถ่ายพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโลกจากมือของกลุ่มประเทศตะวันตกไปสู่ตะวันออกในจังหวะฝีก้าวที่ช้าเกินไปนั้นกำลังนำมาซึ่งอันตรายอันใหญ่หลวงสำหรับเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากภยันตรายข้างต้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงจากภาวะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในจีนและหลายประเทศในเอเชียด้วย โดยวอร์ดทำนายว่าภาวะเงินเฟ้อในจีนจะรุนแรงจนรัฐบาลคุมไม่อยู่ ขณะที่เอ็ดเวิร์ด เมียร์ นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งเอ็มเอฟ โกลบอลก็มองว่า เงินเฟ้อจะเป็นภัยคุกคามทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย พร้อมกับเตือนด้วยว่าธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย ควรเพิ่มความเข้มงวดเชิงนโยบายอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะขจัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

ส่วนแคปปิตัล อีโคโนมิกส์ ที่ปรึกษาค้นคว้าด้านเศรษฐกิจมหภาค ระบุว่า เป้าหมายสำคัญของทั้งจีนและประเทศที่เหลือในเอเชียก็คือ การควบคุมภาวะเงินเฟ้อไม่ให้รุนแรงจนเกินไป และทำให้แน่ใจว่ากระแสเงินร้อนที่ไหลทะลักเข้าอย่างรวดเร็วนั้นจะไม่ทำให้เศรษฐกิจระดับมหภาคเกิดความไร้สมดุล และ/หรือเกิดภาวะฟองสบู่ในภาคสินทรัพย์ซึ่งจะสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเงิน

วอร์ดชี้แจงว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจจำเป็นที่จะต้องคุมภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะเป็นตัวบ่อนทำลายฐานะทางการเงินของบรรดาชนชั้นกลางในแผ่นดินมังกร เขาระบุว่า หากคุมภาวะเงินเฟ้อด้วยมาตรการเพิ่มรัดกุมในด้านนโยบายการเงิน ผลที่จะได้รับก็คือการลดความร้อนแรงเกินไปของเศรษฐกิจจีนซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศอื่นๆ

สำหรับเศรษฐกิจยุโรปในปี 2011 ถูกมองว่าอาจบังเกิดเรื่องเลวร้ายต่างๆ ตามมาอีก โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลงบประมาณในสเปนที่อาจเลวร้ายลงเรื่อยๆ นอกเหนือจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการแก้วิกฤตของโปรตุเกสโดยปราศจากความช่วยเหลือของสหภาพยุโรปหรือองค์การนานาชาติ หลังจากก่อนหน้านี้กรีซและไอร์แลนด์เป็นสองประเทศแรกที่ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้เป็นมูลค่าหลายพันล้านยูโรเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ

“วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปก็เป็นอีกหนึ่งความหวาดวิตกของพวกเรา” เมียร์ กล่าว โดยที่วอร์ดเองก็เห็นด้วย

เมียร์กล่าวต่อไปว่า “สเปนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และก็กำลังล้มป่วยเช่นกัน”

“หากเศรษฐกิจสเปนซวนเซและพังพินาศลง มันจะเป็นข่าวร้ายมากสำหรับทุกๆ คน ไม่ใช่แค่เพียงของยุโรปเท่านั้น แต่เป็นของทั่วโลกเลยทีเดียว” พร้อมกับเตือนด้วยว่า มันอาจทำให้เงินสกุลยูโรถึงคราวอวสานเลยก็เป็นได้

“ถ้าหากยูโรล่มสลายแล้วล่ะก้อ มันจะทำให้การล้มละลายของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ เลห์แมน บราเธอร์สก่อนหน้านี้กลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลย” เพราะมันจะทำให้ประเทศยูโรโซนทั้งหมดเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
โพสต์โพสต์