เท8หมื่นล.ต่อยอด"อีโคคาร์" อุตฯชิ้นส่วนเฮลงทุนขยายโรงงาน
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ตีปีก นักลงทุนหอบเม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านรับอานิสงส์ตลาดโต "บีโอไอ" ผ่าน โปรเจ็กต์ด้านยานยนต์กว่าร้อยโครงการ ระบุชัดเฉพาะอีโคคาร์ลงทุนไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาท "ไทยสแตนเลย์ฯ-ซัมมิท โอโต บอดี้ฯ-ยานภัณฑ์" เสริมเขี้ยวเร่งขยายโรงงานนำเข้าเครื่องจักรใหม่รองรับ ด้านผู้ผลิตยานยนต์มั่นใจ ชี้ปี 2553 เทรนด์รถเล็กแรงทะลุ 700,000 คัน
ผลพวงจากสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการเกี่ยวกับยานยนต์จำนวน 112 โครงการ ซึ่งในจำนวนนั้นมีโครงการรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) อีก 6 โครงการ ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนจำนวนมหาศาลครั้งนี้ และปรับตัวขยายธุรกิจของตัวเองเพื่อรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผย
"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เร็วๆ นี้ประเทศไทยจะได้เห็นการลงทุนจำนวนมหาศาลของบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งประเมินว่าจะมีมูลค่าการลงทุนมากกว่าแสนล้านบาทขึ้นไป รวมถึงจะมีกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์เกิดใหม่อีกจำนวนมากอันเป็นผลสืบเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์
"คาดว่ามูลค่าการลงทุนน่าจะเป็น 2 เท่าของมูลค่าการลงทุนจากค่ายรถต่างๆ อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการลงทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วน ค่ายซูซูกิ ทาทา ที่ยังไม่มีฐานการผลิตในไทยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองหาซัพพลายเออร์คนไทยอย่างแน่นอน"
นายประสาทศิลป์ อ่อนอรรถ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวเสริมว่า ในช่วงหนึ่งปีจากนี้ไป การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนจะเด่นชัดขึ้นจริง ซึ่งเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลให้การสนับสนุน แต่การลงทุนจำนวนมากเช่นนี้จะต้องมีความชัดเจน รวมถึงรัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและคำนึงถึงการเข้ามาของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนจากต่างประเทศด้วย
ผู้ผลิตชิ้นส่วนเสริมเขี้ยวลงทุน
นายพูลศักดิ์ วุฒิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ ในเครือซัมมิท กรุ๊ป เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ว่าจะให้มีการผลิตชิ้นส่วนใดบ้าง ซึ่งบริษัทได้เตรียมงบประมาณเบื้องต้นเพื่อใช้ในการลงทุนสำหรับอีโคคาร์ถึง 1,000 ล้านบาท
นายพูลศักดิ์กล่าวว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปัจจุบันปริมาณการผลิตอยู่ปีละ 1.5 ล้านคัน และคาดว่าภายในอีก 5 ปี ปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นไปอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านคัน ผลักดันการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นแน่นอน
ขณะที่นายอภิชาติ ลี้อิสระนุกูล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย สแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมงบฯลงทุนมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อผลิตโคมไฟให้กับรถยนต์โมเดลใหม่ๆ รวมทั้งรถขนาดเล็ก หรือซับคอมแพ็กต์ของมาสด้า และฟอร์ด ที่จะเริ่มขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า
นายวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการ บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ YIP ผู้ผลิตชิ้นส่วนชุดท่อไอเสีย เบรก คลัตช์ คันเร่ง และการขึ้นรูปโลหะรถยนต์ กล่าวว่า ปีนี้เราได้ออร์เดอร์จากโตโยต้าจำนวนมาก ภายหลังจากเริ่มมีความเชื่อมั่นในภาวะของเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณดี ซึ่งเราเองก็มีแผนที่จะพัฒนาสินค้าใหม่อย่างน้อย 2-3 รุ่น โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ ส่วนปัญหาเรื่องต้นทุนโดยเฉพาะราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น อาจะทำให้เราคงจะต้องมีการปรับราคาจำหน่ายด้วย
ขณะที่นายฮิโรชิ โฮริอุจิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโก ไอดีพี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ขยายธุรกิจของไซโก โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ลงทุนเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกตกแต่งชิ้นส่วนรถยนต์รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งตั้งเป้ามียอดจำหน่ายไว้ที่ 350 ล้านบาท
ฟันธงชิ้นส่วนอีโคคาร์เฉียดแสนล้าน
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานสถานการณ์การลงทุนของอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ว่า จากสถิติตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการชิ้นส่วนยานพาหนะ (กิจการประเภทที่ 4.8) ในช่วงปี 2548-2551 คือปี 2548 มีขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการประเภทดังกล่าว 112 โครงการ มูลค่า 49,132 ล้านบาท, ปี 2549 จำนวน 92 โครงการ 26,088 ล้านบาท, ปี 2550 กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ 80 โครงการ 40,388 ล้านบาท และช่วง 3 เดือนแรกของ ปี 2551 จำนวน 20 โครงการ 3,920 ล้านบาท
ด้านนางสุดจิตร อินทรไทยวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า โครงการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์นั้น ปัจจุบันอนุมัติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 6 ราย คือ ฮอนด้า ซูซูกิ นิสสัน โตโยต้า มิตซูบิชิ และทาทา โดย 2 ใน 6 รายเป็นรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนในไทย คือ ซูซูกิ และทาทา
เชื่อว่าหลังให้การส่งเสริมอีโคคาร์อุตสาหกรรมสนับสนุนรวมทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนก็จะมีการลงทุนเพื่อรองรับการผลิตภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับการเกิดในการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถปิกอัพ โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่จะผลิต อีโคคาร์ได้ในปี พ.ศ.2553 และในปี 2555
สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุนจากโครงการอีโคคาร์นั้น คาดว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนคิดเป็นมูลค่า 80,000 ล้านบาท อีก 40,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนของชิ้นส่วนรถปิกอัพเพิ่มอีก คาดว่าปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์จะมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 120,000 ล้านบาท ปี 2552 ลงทุน 130,000 ล้านบาท และปี 2553-2554 ลงทุน 140,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์มากถึง 1.7 แสนล้าน
"เป็นเรื่องแปลกเราไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ทำให้ต้องซื้อเพื่อนำเข้ามาผลิตรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่วันนี้กลับมีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเราสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้ผลิตอันดับ 15 ของโลกได้ และในปี 2553 จะก้าวขึ้นอันดับ 9 ได้อย่างไม่ยากด้วย"
เทรนด์รถเล็กมาแรง
นายอดิศักดิ์ โรหิตศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า จากการศึกษาตลาดและความต้องการของอีโคคาร์มาก่อนหน้านี้ และพบว่าตลาดโลกยังมีความต้องการอยู่มาก ประกอบกับตลาดในไทยยังไม่มีการทำตลาดรถยนต์นี้มาก่อนทำให้บริษัทตัดสินใจลงทุน จากการลดภาษีจาก 30% เหลือเพียง 17% คาดว่าในปี 2555 กำลังการผลิตของอีโคคาร์ในไทยจะอยู่ที่ 670,000-700,000 คัน จากผู้ผลิต 6 ราย โดยปี 2553 จะเริ่มมีการผลิตออกสู่ตลาด
สำหรับฮอนด้า ไม่มีความน่ากังวลแต่อย่างใด เนื่องอยู่ในประเทศไทยมากว่า 40 ปี ทำให้มีความรู้ดีว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมีความสามารถอยู่ในระดับแข่งขันได้ เพราะไทยถือเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตันที่สำคัญ บวกกับการพัฒนาเรื่องอาร์แอนด์ดีจากค่ายรถยนต์และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน บวกกับการส่งเสริมจากภาครัฐและสถาบันยานยนต์ ทำให้เชื่อว่าอุตสาหกรรมสนับสนุนโดยเฉพาะชิ้นส่วนจะมีความพร้อมและสามารถรองรับความต้องการในอนาคต จากปัจจุบันมีผู้ผลิตชิ้นส่วนอันดับ 1 (เทียร์วัน) อยู่ 648 ราย ผู้ผลิตอันดับ 2-3 อยู่ 1,6000 กว่าราย
"วันนี้รถยนต์ขนาดเล็กได้รับความนิยม เป็นผลเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ทุกคนพยายามที่ลดซีโอทู ทำให้ความนิยมรถเล็กเพิ่มขึ้น บวกกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้โอกาสของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันน้อยได้รับความต้องการมากขึ้น"
นายสิทธิศักดิ์ เกสรวิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทซูซูกิ ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รถเล็กกำลังได้รับความนิยม อย่างในอินเดียบริษัทมียอดขายสูงถึง 50% และ 2 ใน 3 ก็มาจากรถยนต์เล็ก นอกจากนยังมีรถ 4x4 ที่ขึ้นชื่อด้วย และจากที่มีรถเล็กซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลจึงตัดสินใจเข้ามาลงทุน ปี 2553 จะเป็นปีแรกที่ผลิตที่ 1.45 หมื่นคัน
บีโอไอผ่านอีโคคาร์ 6 โครงการ
จากที่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติอนุมัติโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร 6 โครงการ แบ่งการอนุมัติเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2550 จำนวน 3 ค่าย คือ 1.บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล โดยใช้เงินลงทุนมูลค่า 7,588 ล้านบาท 2.บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ซึ่งใช้เงินลงทุนมูลค่า 5,500 ล้านบาท 3.บริษัทซูซูกิ มอเตอร์ ใช้เงินลงทุน 9,500 ล้านบาท
ล่าสุดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา อีก 3 ค่าย คือ 1.บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (eco-car) มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,711 ล้านบาท
2.บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (eco-car) มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,642 ล้านบาท
3.บริษัททาทา มอเตอร์ ประเทศไทยอินเดีย ได้รับส่งเสริมผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (eeco-car) มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,317 ล้านบาท
http://matichon.co.th/prachachat/pracha ... ionid=0201