กสิกรไทย คาดว่ามูลค่าธุรกรรม M&A ธุรกิจไทยเพิ่มไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านในปีนี้
ธุรกรรมการควบรวมและซื้อกิจการ หรือ M&A (Mergers and Acquisitions) ในประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมามักเกิดขึ้นในช่วงที่ธุรกิจเผชิญปัญหา ดังเช่นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ที่เห็นธุรกรรม M&A เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ทั้งการควบรวมกิจการในกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงิน การเข้าซื้อกิจการของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นในธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น กิจการโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับโครงสร้างกิจการที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน ธุรกิจไทยมีความเคลื่อนไหวในธุรกรรม M&A กันมากขึ้น แต่ด้วยเหตุผลที่อาจแตกต่างไปจากช่วงหลังปี 2540 กล่าวคือ เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมการแข่งขันในตลาดในอนาคต ทั้งในการรุกออกไปขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศและรับมือกับการแข่งขันที่จะเข้ามาจากต่างชาติ ท่ามกลางกระแสการเปิดเสรีภายใต้ AEC ที่จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งนโยบายจากภาครัฐที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม ก็เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้กระแสของการทำ M&A ร้อนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีธุรกิจจะประสบความสำเร็จภายหลัง M&A หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิธีเตรียมการก่อนปิดดีล และแผนกลยุทธ์ที่ธุรกิจจะใช้ปรับโครงสร้างขององค์กรหลังปิดดีลแล้ว ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ธุรกิจพึงตระหนักไว้ก่อนที่จะลงมือทำธุรกรรม M&A ในทางปฏิบัติจริง
M&A: เติบโตอย่างต่อเนื่อง
กระแสการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions) ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในช่วง 4-5ปีที่ผ่านมา โดย Thomson Reuters ระบุว่ามูลค่าดีล M&A ทั่วโลกในปี 2553 อยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเพิ่มจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 22.9 และแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยมีกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เป็นกลุ่มที่มีการควบรวมกิจการมากที่สุดถึงร้อยละ 33.0 ส่วนภาคธุรกิจที่มีการควบรวมกิจการได้แก่ กลุ่มไฟฟ้าและพลังงานซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20.6
สำหรับการทำ M&A ในประเทศไทยนั้นพบว่าในปี 2553 มีการทำคำเสนอซื้อหุ้นเพื่อครอบงำกิจการของระหว่างบริษัทไทย (Tender Offer) มีมูลค่าทั้งสิ้น 207,387.0 ล้านบาท จาก 68 บริษัทและในจำนวนนี้มีมูลค่ารายการซื้อขายที่เกิดขึ้นจริง 182,916.4 ล้านบาท (ร้อยละ 88.2) ถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2552 ซึ่งพบว่ามีการทำคำเสนอซื้อหุ้นเพื่อครอบงำกิจการ 66,898.3ล้านบาทจาก 94 บริษัท และมีการซื้อขายจริงเกิดขึ้น 65,513.0 ล้านบาท (ร้อยละ 97.9) สะท้อนถึงมูลค่า M&A ระหว่างกิจการไทยที่เติบโตกว่า 3 เท่าภายในหนึ่งปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจำนวนบริษัทที่เข้าทำธุรกรรม M&A ในปี 2553 กลับพบว่ามีจำนวนต่ำกว่า รวมทั้งสัดส่วนที่มีการยอมรับการเสนอซื้อก็ปรับตัวลดลงกว่าปี 2552 ขณะที่มูลค่าดีลมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยดีลที่มีมูลค่ามากกว่ากว่า 10,000 ล้านบาทในปี 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 6 ดีล จากธุรกิจการเงิน ธุรกิจบริการเช่น การขนส่ง และธุรกิจพลังงาน ในขณะที่ในปี 2552 มีเพียง 1 ดีลจากธุรกิจการเงินเท่านั้น นั่นหมายความว่าการเติบโตของธุรกรรม M&A ในปี 2553 เป็นผลเนื่องมาจากขนาดของดีลเป็นสำคัญ
รูปที่1: มูลค่าเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ปี 2552-2553, (ล้านบาท)
เป็นที่น่าสังเกตว่าการลงทุนทางตรงในรูปของธุรกรรม M&A ของไทยในต่างประเทศได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินมูลค่าของธุรกรรมการซื้อกิจการสุทธิของไทยในต่างประเทศในปี 2553 ไว้ที่ประมาณ 5,100 ล้านดอลลาร์ฯเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 5.8เท่า (รูปที่ 2) จากการนำของธุรกิจพลังงาน ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง ค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนสูงขึ้นมาถึงร้อยละ 61.1 ของการลงทุนทางตรงทั้งหมดในปี 2553 (มูลค่า 8,342.1 ล้านดอลลาร์ฯ) จากที่เคยมีสัดส่วนต่ำมากเข้าใกล้ร้อยละ 0 ในอดีต(ช่วงก่อนปี 2551) แสดงให้เห็นว่าธุรกิจไทยมีแนวโน้มที่จะทำธุรกรรม M&Aในรูปแบบของการเข้าซื้อธุรกิจในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่ต่างประเทศจะเข้ามาซื้อธุรกิจของไทย
รูปที่2 : การทำธุรกรรม M&Aของไทยในต่างประเทศ ปี 2543-2553 (ล้านดอลลาร์ฯ)
เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งข้อมูลในปี 2553 บ่งชี้ว่ามูลค่าที่ต่างประเทศซื้อธุรกิจไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกือบสามเท่าในขณะที่สัดส่วนการเติบโตก็ต่ำกว่าเช่นเดียวกัน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นภาพของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจไทยที่มีความเข้มแข็งขึ้นจากโมเมนตัมของการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการทำธุรกรรม M& A ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความคึกคักอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
แนวโน้มการทำ M&A ในปี 2554
สำหรับแนวโน้มการควบรวมและซื้อกิจการของไทยในปัจจุบันและในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจะยังมีแรงกระตุ้นให้เติบโตต่อไปได้อีกจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ทั้งเชิงนโยบาย เช่น มาตรการภาษีสืบเนื่องจากแผนพัฒนาตลาดทุนไทย การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และ เชิงธุรกิจ เช่น ผลประกอบการที่ดีของบริษัทสร้างแรงจูงใจในการขยายธุรกิจ การลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงวัตถุดิบจาก Supplier การขยายตลาดหรือธุรกิจใหม่ๆ และมุมมองของนักธุรกิจที่มีต่อการทำM&Aเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบของ Win-win Game (ทุกฝ่ายต่างชนะ)
กล่าวคือธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการผนึกกำลัง (Synergy) มากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นแรงส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการควบรวมและซื้อกิจการกันในอัตราเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 สะท้อนจากมูลค่าเสนอซื้อธุรกรรม M&A 5 เดือนแรกของปี 2554 ที่สามารถขึ้นไปแตะระดับ 326,892.2 ล้านบาทได้ (เมื่อเทียบกับยอดสถิติรวมทั้งปี 2553 อยู่ที่ระดับประมาณ 350,000 ล้านบาท) จากความสนใจออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทขนาดใหญ่ของไทยขณะที่นักลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาร่วมทุนหรือซื้อกิจการในประเทศนั้นน่าจะมีบ้าง โดยคาดว่าจะมาจากนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินภาพรวมของมูลค่าธุรกรรม M&A ที่เกิดขึ้นจริงของธุรกิจไทยว่าน่าจะสามารถทะยานขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตามมูลค่าประมาณกว่า 150,000 ล้านบาทมาจากการควบรวมของบริษัทในเครือเดียวกันของผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
สำหรับแนวโน้มในระยะกลางนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการขยายฐานธุรกิจผ่านช่องทาง M&A ของธุรกิจไทยน่าจะยังคงดำเนินต่อไปในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งมูลค่าของธุรกรรมดังกล่าวในแต่ละปีจะมากหรือน้อย ก็คงขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ในการปรับตัวทางธุรกิจในขณะนั้น ประกอบกับจังหวะในการหาเป้าหมายที่เหมาะสม และการปิดดีลที่ลงตัวระหว่างผู้เข้าซื้อและผู้ขาย รวมทั้งปัจจัยทางนโยบายจากภาครัฐในอนาคตว่าจะสนับสนุนการทำธุรกรรม M&A มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมองจากปัจจัยแวดล้อม ณ ปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มิติของของ AEC และ ASEAN Linkage น่าจะยังมีแรงดึงดูดให้ธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาเจรจาขอทำ M&A กับธุรกิจในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการบริการ เช่น สถาบันการเงินโลจิสติกส์ ธุรกิจท่องเที่ยวและสุขภาพ ขณะที่ธุรกิจไทยที่มีโอกาสออกไปซื้อหรือควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ ที่สำคัญน่าจะเป็นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม ท่องเที่ยว สุขภาพ บันเทิง เป็นต้นซึ่งธุรกิจที่จะไปทำธุรกรรม M&A ในต่างประเทศน่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม M&A อยู่ในระดับสูง(โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ5.4 ของมูลค่าดีล)และกระบวนการในการเจรจาซึ่งใช้เวลาพอสมควร
รูปที่ 3: ธุรกรรม M&A ของประเทศไทยในปี 2554 (ข้อมูลถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2554)
ที่มา: Bloomberg รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
***ธุรกรรมที่กิจการไทยซื้อหุ้นจากกิจการต่างชาติที่มีสาขาในไทย
****มูลค่าที่สูงในธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีมาจากการควบรวมของบริษัทในเครือเดียวกันของผู้ประกอบการรายใหญ่
กลยุทธ์ในการทำ M&A ให้ประสบความสำเร็จ
กระแส M&A ได้กลายเป็นประเด็นร้อนและได้รับความสนใจจากธุรกิจอย่างกว้างขวางและเป็นการจุดกระแสให้ผู้ประกอบการในไทยเริ่มเข้ามาทำ M&A กันมากขึ้นในอุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นที่นิยมแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปิดดีล M&A ได้ จะหมายรวมถึงการดำเนินธุรกิจจะประสบความสำเร็จหลังจากนั้นทุกรายไป เนื่องจากการทำ M&A มีประเด็นเสี่ยงพ่วงท้ายเข้ามาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของวัฒนธรรมธรรม กระแสราคาหลักทรัพย์ที่พุ่งไปก่อนการควบรวมอาจทำให้การประเมินราคากิจการที่สูงจนเกินไป ส่งผลให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือแม้กระทั่งการตั้งเป้าหมายในการควบรวมกิจการไม่มีความชัดเจนตั้งแต่ต้นก็สามารถส่งผลให้ธุรกิจล้มเหลวหลังปิดดีลได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจควรจะได้ตระหนักถึงประเด็นแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทำ M&A อย่างครอบคลุมเพื่อที่จะสามารถเตรียมรับกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมกลยุทธ์ที่นำไปสู่ความสำเร็จในการทำ M&A ไว้ดังนี้
มุ่งเน้นที่หลักการ (Strategic Focus)มากกว่าแย่งชิงเป้าหมาย(Target) ในบางกรณี การทำ M&A เกิดขึ้นเนื่องจากทำไปตามกระแสของตลาดหรือทำเพราะต้องการชิงตัดหน้าบริษัทคู่แข่ง ซึ่งเหตุจูงใจเช่นนี้อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่บริษัทได้เนื่องจากไม่มีการวางแผนที่ดี ซ้ำยังก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องได้ในภายหลัง การตัดสินใจคิดจะทำ M&A ควรจะมาจากเหตุผลทางธุรกิจที่ชัดเจนว่าจะทำ M&A ไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดการทำ M&Aให้ผลดีต่อธุรกิจและผู้ถือหุ้นอย่างไร และการตัดสินใจในการทำ M&A ต้องผ่านการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลได้จากการขยายกิจการแบบอื่นอย่างไร นอกจากนั้นต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนในการเลือกบริษัทเป้าหมาย วิธีการที่ใช้เลือกทำ M&A และขั้นตอนในการประเมินราคาที่เหมาะสม
ประเมินค่าอย่างรัดกุม (Valuation Discipline) บ่อยครั้งพบว่ากระแสข่าวส่งผลให้หุ้นของบริษัทเป้าหมายทะยานขึ้นไปรอก่อนหน้า เนื่องจากการประเมินค่าผลประโยชน์ที่เกิดจากการผนึกกำลัง (Synergy) สูงจนเกินไปจนทำให้การทำ M&A ลงท้ายด้วยการซื้อของราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นบริษัทที่สนใจจะทำ M&A กับบริษัทเป้าหมาย ควรมีการทำการวิเคราะห์ประเมินค่าของดีลอย่างละเอียดถี่ถ้วนไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์และต้นทุนทั้งภายนอกและภายใน (External and Internal Valuation) ยกตัวอย่างเช่น การประเมินศักยภาพของบริษัทเป้าหมายรวมทั้งลูกค้าและSupplierของบริษัทเป้าหมายในเชิงลึก การประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทของตนภายหลังการเข้าทำ M&A การประมาณการค่าเสียโอกาสหากไม่ได้ทำ M&A การมอบหมายให้ทุกฝ่ายในบริษัททดลองทำแผนงานที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อใช้เป็นแผนโรดแมพเบื้องต้นในการรองรับสถานการณ์ในอนาคต รวมทั้งเพื่อใช้ประเมินอุปสรรคที่แต่ละหน่วยงานอาจจะต้องประสบภายหลังปิดดีล
กำหนดแผนการดำเนินงานหลังการควบรวม (Scrutinized Post-merger Plan) มีคำกล่าวว่า “ธุรกิจหลังปิดดีลไม่แตกต่างไปจากชีวิตหลังแต่งงาน” เนื่องจากการนำสองธุรกิจมารวมกันไม่ว่าจะด้วยวิธีควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ จะต้องเผชิญกับความขัดแย้งนานัปการ ทั้งในด้านของวัฒนธรรมในการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ด้านระบบการดำเนินงาน ขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ความพร้อมทางด้านบุคลากร ฯลฯ ทำให้หลังจากการเข้าควบรวมกันแล้ว บางครั้งผลลัพธ์กลับไม่เป็นดังที่คาดหมายไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อป้องกันปัญหาความแตกต่างระหว่างกัน ธุรกิจควรมีการกำหนดแผนแม่บทเพื่อหลอมสองกิจการเป็นหนึ่งเดียวให้ทั่วถึงและในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ซึ่งแผนแม่บทที่ดีควรจะประกอบด้วยประเด็นต่อไปนี้คือ
o สร้างความเข้าใจและเห็นร่วมกันเกี่ยวกับพันธกิจ (Mission) และวิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กร รวมทั้งจัดการปัญหาละเอียดอ่อนบางประการที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การต่อต้านจากพนักงาน ความรู้สึกสับสนกับวัฒนธรรมองค์กรที่เปลี่ยนไป (Culture Shock) เป็นต้น
o แยกกระบวนการหลังการควบรวมกิจการออกจากธุรกิจหลัก เพื่อให้ธุรกิจหลักไม่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งกำหนดกลไกแจ้งภัยล่วงหน้า (Early Warning System) หากหน่วยงานได้ได้รับผลกระทบจากการควบรวมเพื่อที่จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที
o เร่งขยายยอดขายมากกว่าที่จะปรับลดต้นทุน ด้วยการดึงดูดให้ลูกค้าเดิมให้ยังอยู่กับกิจการ ใช้จ่ายกับกิจการมากขึ้นและพยายามดึงดูดลูกค้าใหม่ๆให้เข้ามาใช้บริการของกิจการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะมุ่งเน้นการลดต้นทุนเป็นหลัก เนื่องจากการลดต้นทุนจะทำให้ผลตอบแทนของธุรกิจเพิ่มขึ้นเพียงในระยะสั้น
โดยสรุป กระแสการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions) ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในช่วง 4-5ปีที่ผ่านมา โดย Thomson Reuters ระบุว่ามูลค่าดีล M&A ทั่วโลกในปี 2553 อยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเพิ่มจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 22.9 และแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยมีกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เป็นกลุ่มที่มีการควบรวมกิจการมากที่สุดถึงร้อยละ 33.0 ส่วนภาคธุรกิจที่มีการควบรวมกิจการได้แก่ กลุ่มไฟฟ้าและพลังงานซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20.6
เช่นเดียวกับการทำธุรกรรม M&A ในประเทศไทย ซึ่งปรับตัวเร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั้งในรูปแบบของการทำธุรรมกรรม M&A ในประเทศและการออกไปซื้อกิจการต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบของการถือหุ้น การเข้าซื้อกิจการ และการร่วมทุนระหว่างกันจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย สะท้อนจากมูลค่าการเสนอซื้อธุรกรรม M&A 5 เดือนแรกของปี 2554 ที่สามารถขึ้นไปแตะระดับ 326,892.2 ล้านบาทได้ (เมื่อเทียบกับยอดสถิติรวมทุกประเภททั้งปี 2553 อยู่ที่ระดับประมาณ 350,000 ล้านบาท) จากปัจจัยสนับสนุนหลายประการได้แก่ ปัจจัยด้านนโยบาย เช่น มาตรการภาษีสืบเนื่องจากแผนพัฒนาตลาดทุนไทย การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และปัจจัยด้านธุรกิจ เช่น ผลประกอบการที่ดีของบริษัทสร้างแรงจูงใจในการขยายธุรกิจ การลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงวัตถุดิบจาก Supplier การขยายตลาดหรือธุรกิจใหม่ๆ และมุมมองของนักธุรกิจที่มีต่อการทำM&Aเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบของ Win-win Game (ทุกฝ่ายต่างชนะ)
โดยปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวจะมีแรงส่งให้ภาคธุรกิจมีการควบรวมและซื้อกิจการกันในอัตราเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินภาพรวมของมูลค่าธุรกรรม M&A ที่เกิดขึ้นจริงของธุรกิจไทยว่าน่าจะสามารถทะยานขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตามมูลค่าประมาณกว่า 150,000 ล้านบาทมาจากการควบรวมของบริษัทในเครือเดียวกันของผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
สำหรับแนวโน้มในระยะกลางนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการขยายฐานธุรกิจผ่านช่องทาง M&A ของธุรกิจไทยน่าจะยังคงดำเนินต่อไปในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งมูลค่าของธุรกรรมดังกล่าวในแต่ละปีจะมากหรือน้อย ก็คงขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ในการปรับตัวทางธุรกิจในขณะนั้น ประกอบกับจังหวะในการหาเป้าหมายที่เหมาะสม และการปิดดีลที่ลงตัวระหว่างผู้เข้าซื้อและผู้ขาย รวมทั้งปัจจัยทางนโยบายจากภาครัฐในอนาคตว่าจะสนับสนุนการทำธุรกรรม M&A มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมองจากปัจจัยแวดล้อม ณ ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มิติของของ AEC และ ASEAN Linkage น่าจะยังมีแรงดึงดูดให้ธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาเจรจาขอทำ M&A กับธุรกิจในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการบริการ เช่น สถาบันการเงิน โลจิสติกส์ ธุรกิจท่องเที่ยวและสุขภาพ ขณะที่ธุรกิจไทยที่มีโอกาสออกไปซื้อหรือควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ ที่สำคัญน่าจะเป็นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม ท่องเที่ยว สุขภาพ บันเทิง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ากระแสของการทำธุรกรรม M&Aจะเป็นที่นิยมแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปิดดีล M&A ได้ จะหมายรวมถึงการดำเนินธุรกิจจะประสบความสำเร็จหลังจากนั้นทุกครั้งไป เนื่องจากการทำ M&A มีประเด็นเสี่ยงพ่วงท้ายเข้ามาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของวัฒนธรรมธรรมซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องต่อการปรับโครงสร้างองค์กรภายหลังการควบรวมกิจการ กระแสราคาหลักทรัพย์ที่พุ่งไปก่อนการควบรวมอาจทำให้การประเมินราคากิจการที่สูงจนเกินไป ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ว่าดีลที่ได้มาให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือแม้กระทั่งการตั้งเป้าหมายในการควบรวมกิจการไม่มีความชัดเจนตั้งแต่ต้นก็สามารถส่งผลให้ธุรกิจล้มเหลวหลังปิดดีลได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจควรจะได้ตระหนักถึงประเด็นแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทำ M&A อย่างครอบคลุมเพื่อที่จะสามารถเตรียมรับกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที และสามารถรับมือกับปัญหาภายหลังการปิดดีล M&A ได้อย่างราบรื่นต่อไป
http://www.thannews.th.com/index.php?op ... Itemid=524