เหมือนให้เราสมัครไปใหม่เลยอ่ะ ต้องกรอกทุกอย่างเลยเหรอ? สงสัยกลัวเราจะฟอกเงิน :lol:
ใครที่ยังไม่รู้ว่า KYC กับ CDD คืออะไร อ่านด้านล่างได้ครับ
MIF Lab : ร่วมด้วยช่วยกัน 'ตัดช่องทาง' ส่งเงินให้ผู้ก่อการร้าย
ผมเคยเล่าเรื่องเจมส์บอนด์ให้ฟัง พร้อมแง่คิดทางการเงิน ท่านผู้อ่านอาจเห็นว่าจินตนาการของผู้สร้างหนังที่ให้นายแบงก์เป็นผู้ร้ายนั่นเวอร์เกินจริง
ผมได้รับทราบข้อมูลอันเชื่อถือได้ว่าบรรดาผู้ก่อการร้ายนั้นต้องใช้เงินในการก่อการร้าย (หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง) และวิธีส่งเงินที่ดีที่สุดคือผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพราะถ้าหิ้วเงินสดไปมาอาจเป็นพิรุธ ลองนึกถึงภาพผู้ก่อการร้ายรับ-จ่ายเงินสดกันที ต้องมานั่งนับเงินกันหูตาแฉะ คงจะโดนตำรวจรวบได้ก่อนเป็นแน่ หรืออาจเป็นช่องทางให้ผู้ก่อการร้าย (กว่า) อีกกลุ่มหนึ่งตีหัวแย่งชิงเงินสดไปได้ ดังนั้นการใช้เครือข่ายสถาบันการเงินโดยเฉพาะ Offshore Banking อย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์เจมส์บอนด์ตอนล่าสุดจึงเป็นเรื่องจริง แม้จะอิงนิยายของเอียน เฟลมมิ่ง บ้าง
บรรดาฝ่ายต่อต้านผู้ก่อการร้ายทั่วโลกที่ยังเป็นรัฐบาลอยู่ หรืออาจเรียกว่าฝ่ายก่อการดี ซึ่งไทยก็เป็นภาคีอยู่ด้วย จึงรวมตัวกันสร้างยุทธการตัดช่องทางส่งเงินให้ผู้ก่อการร้ายผ่านสถาบันการเงิน ด้วยการให้สถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ ทั้งหลายจะต้องทำการวิเคราะห์ลูกค้าด้วยโปรแกรมที่เรียกว่า KYC (Know Your Customer) และ CDD (Customer Due Diligence)
โปรแกรม KYC ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ KFC ที่ขายไก่ทอดนั้น หมายความว่าธนาคารจะต้องรู้จักลูกค้า ต่อไปแทนที่ท่านผู้อ่านจะไปกรอกชื่อที่อยู่ในใบสมัครเพื่อเปิดบัญชีธนาคารแล้วกลับบ้านได้ ท่านอาจจะถูกถามต่อว่าได้เงินมาจากไหน คาดว่าจะมีเงินฝาก-ถอนในบัญชีเดือนละเท่าไร หากเป็นเช่นนั้นก็อย่าได้ถือสา เพราะพนักงานธนาคารเขาก็รู้สึกประดักประเดิดเหมือนกัน แต่ต้องถามเพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลขอร้อง (แต่ถ้าไม่ทำจะบังคับ) มา
ส่วน CDD นั้น ท่านผู้อ่านในแวดวงตลาดหุ้นจะรู้จักคำว่า Due Diligence ดี เพราะหมายถึงการตรวจสอบอย่างละเอียด เช่น บริษัท ก. จะไปซื้อ บริษัท ข. โดยฝ่ายหลังก็ยินดีขาย ผู้ซื้อเขาจะไม่ดูแต่งบดุลที่เปิดเผยอย่างเดียว แต่จะเข้าไปทำ Due Diligence คือส่งทีมไปนั่งฝังตัวในออฟฟิศบริษัท ข. เป็นอาทิตย์ เพื่อคุ้ยดูว่ามีหนี้ซ่อนไว้ที่ไหนอีกบ้าง ราคาที่ตกลงซื้อขายควรอยู่ที่กี่บาทต่อหุ้น เมื่อเอาศัพท์คำนี้มาผนวกกับ Customer จึงหมายความว่าต่อไปนี้ เวลาที่ลูกค้าทำธุรกรรมกับธนาคาร ธนาคารเขาจะต้องรู้ด้วยว่า เงินนี้ท่านได้แต่ใดมา มิฉะนั้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบ CDD จะทำงาน และส่งชื่อท่านไปให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบ จากเดิมที่ให้ธนาคารรายงานเพียงธุรกรรมที่มียอดเงินเกิน 2 ล้านบาทเท่านั้น
ผมนั่งฟังระบบ KYC/CDD ทั้งหลายนี่แล้ว ก็รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวอยู่ครามครันเหมือนกัน เพราะดูเหมือนว่าตัวเองก็เข้าข่ายที่จะโดนแบงก์แจ้ง เช่นบอกกับแบงก์ว่าเป็นอาจารย์เงินเดือน x บาท ตอนเขาทำ KYC แต่บางทีผมก็มี Job พิเศษ ไปเขียนหนังสือหรือรับเป็นที่ปรึกษา เขาจ่ายเงินให้ 10x บาท แม้จะไม่ถึง 2 ล้านบาท แต่มันเป็นยอดที่ผิดปกติเมื่อเทียบกับรายได้ประจำที่แจ้งไว้ อย่างนี้ CDD จะร้องเตือนธนาคาร อย่างไรก็ตามนายแบงก์ที่รู้จักกันเขาบอกผมว่าธนาคารจะใช้วิจารณญาณกลั่นกรองอีกทีหนึ่งก่อนส่งให้หน่วยงานของรัฐ ดังนั้นแผนการของผมตอนนี้คือเวลาเอาเช็คค่าจ้างที่เกินปกติไปเข้าแบงก์ ผมต้องเอาสัญญาจ้างงานไปให้ผู้จัดการสาขาดูด้วยว่าเงินนี้ผมได้แต่ใดมา พวกเอกสารเหล่านี้อย่าคิดว่างานจบรับเงินแล้วทิ้งได้ แต่ผมจะเก็บไว้เผื่อถูกตรวจสอบภายหลังด้วย เพราะเรื่องนี้ถ้าอธิบายไม่กระจ่าง ไม่ได้เสียแค่ค่าปรับแบบสรรพากร แต่อาจติดคุกได้
ท่านผู้อ่านคงคิดเหมือนผมว่าการทำเรื่องเหล่านี้เป็นภาระแก่สถาบันการเงินและลูกค้ามหาศาล โดยเฉพาะกับลูกค้าที่เป็นสุจริตชน เพราะบรรดาผู้ก่อการร้ายหรือทุจริตชนจะรู้ช่องทางดีและหนีไปใช้ช่องทางอื่น
ถูกต้องแล้วครับ แต่พอคิดไปลึกๆ แล้ว ก็จะพบว่า ฝ่ายผู้ก่อการดีเขาไม่ได้ต้องการใช้ช่องทางนี้เพื่อจับผู้ร้าย เขาเพียงแต่ต้องการทำให้ผู้ร้ายต้องทำธุรกรรมการเงินลำบากขึ้น นั่นคือต้อนให้ไปใช้เงินสด ซึ่งจะทำให้เขาตรวจสอบติดตาม จับกุมได้ง่ายกว่า
โครงการนี้ได้เริ่มนำร่องในธนาคารบางสาขาไปแล้วและคงขยายครอบคลุมไปบริษัทหลักทรัพย์และสถาบันการเงินอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้ ผมจึงอยากให้ทุกท่านถือเสียว่าเป็นการร่วมด้วยช่วยกันเพื่อตัดช่องทางส่งเงินของผู้ก่อการร้าย และได้โปรดอย่าด่าพนักงานธนาคารที่มาซอกแซกถามเรื่องเงินของท่านช่วงนี้เลยครับ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2550