ผ่าปม 'BGH' ฮุบหุ้น 'รพ.รามคำแหง'
ซ่อนเงื่อน 'Hostile Takeover' เส้นทางลัด..ขยายอาณาจักร 'รพ.กรุงเทพ'
ภายใต้ชุด "เสื้อกาวน์" และความเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพ แต่ "ผองมิตร" ในก๊วนกอล์ฟ ก็อาจไม่ใช่บทสรุปของมิตรภาพในเส้นทางธุรกิจ เฉกเช่น "ปมร้าว" ของ "หมอ 2 ค่าย" ระหว่าง "กรุงเทพดุสิตเวชการ" (BGH) ที่กว่า 3 ปีมาแล้ว "อาคันตุกะ" รายนี้ วางแผนอยากเข้าไปครอบครองหุ้นใหญ่ "โรงพยาบาลรามคำแหง" (RAM) แม้ข้างนอก..ท้องทะเลจะดูนิ่งสงบ แต่มีใครรู้บ้างว่า "คลื่นสึนามิ" ลูกเบ้อเริ่ม!!ใต้ท้องทะเล ได้ก่อตัวขึ้นแล้ว
-------------------------
ลึกแต่ไม่ลับ คนในวงการธุรกิจโรงพยาบาลคอนเฟิร์มว่า ดีล BGH ฮุบหุ้น RAM ครั้งนี้ เบื้องลึกเบื้องหลัง ซ่อน "ปมร้อน" การเข้ามาเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) อย่างชัดเจน
------------------------
ย้อนรอย Big Goal ของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ที่ต้องการก้าวกระโดดด้วย เครือข่าย" โรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย นำมาสู่ Big Game การตะลุยขยายอาณาจักรธุรกิจ โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่รุกเร็วและรุกอย่างไม่ยั้ง ในมาดของ "จอมเทคโอเวอร์" ต่อเนื่องตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา
ถึงขนาดเคย "ลูบคม" ยอดทนายนักเทคโอเวอร์ วิชัย ทองแตง มาแล้ว กับปฏิบัติการเข้าไปถือหุ้น 15.76% ในโรงพยาบาลพญาไท จนกลายเป็นข่าวลือลั่นสะท้านวงการ
ล่าสุด เครือโรงพยาบาลกรุงเทพออกปฏิบัติการอีกครั้ง รุกคืบซื้อหุ้นเพิ่มใน บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) จากพันธมิตร "พวกเดียวกัน" จนมีสัดส่วนการถือหุ้นใน RAM สัดส่วนแตะ 26.18% และตั้งโต๊ะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (เทนเดอร์-ออฟเฟอร์) จากผู้ถือหุ้นเดิม ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551
ถือเป็นประกาศเจตจำนงกันอย่างไม่อ้อมค้อม ว่า BGH ต้องการ "รุกฆาต" เดินหมากชิงพื้นที่ "ผู้ถือหุ้นใหญ่" และอำนาจในการควบคุมในโรงพยาบาลรามคำแหง อย่างเป็นทางการ
หลังจากก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ถูกใจโรงพยาบาลรามคำแหง มานานแล้ว และต้องการ "เป็นทองแผ่นเดียว" มานาน...แต่ "สู่ขอ" ไม่สำเร็จ
ปัจจุบัน ฐานที่มั่นของ BGH เป็นลูกค้าตลาดบน ขณะที่ RAM ครองตำแหน่งผู้นำลูกค้าระดับกลาง การควบรวมกิจการกับรามคำแหง นอกจากจะเป็นโอกาสขยายฐานลูกค้าของ BGH ที่กว้างขึ้นแล้ว ยังได้เครือข่ายโรงพยาบาลในภาคเหนือและอีสาน มาต่อยอดธุรกิจ
ลึกแต่ไม่ลับ คนในวงการธุรกิจโรงพยาบาลคอนเฟิร์มว่า ดีล BGH ฮุบหุ้น RAM ครั้งนี้ เบื้องลึกเบื้องหลัง ซ่อน "ปมร้อน" การเข้ามาเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) อย่างชัดเจน
หลังจากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เริ่มรุกเข้ามารวบหุ้นใน RAM ครั้งแรก 19% ในปี 2547 และส่ง "ตัวแทน" (นอมินี) แทรกซึมเข้ามาเก็บสะสมหุ้นใน RAM ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนสบจังหวะ ประกาศซื้อหุ้นจนแตะเพดานเกินกว่า 25% จนถึงขั้นทำเทนเดอร์-ออฟเฟอร์ในที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวของ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ คือ ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ซึ่งถือหุ้นเป็นอันดับ 4 ใน RAM จำนวน 401,101 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.34%
มนทิพย์ วิทยากร ลูกสะใภ้ น.พ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ผู้ถือหุ้นและกรรมการ BGH เข้ามาถือหุ้นรามคำแหง จำนวน 300,000 หุ้น หรือ 2.5% รวมถึง วัลลภ อธิคมประภา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BGH ที่ถือหุ้นรามคำแหง 120,000 หุ้น หรือ 1% ที่ต่างพร้อมใจยอมขายหุ้น RAM ที่ตัวเองถือไว้ให้กับ BGH ในราคาต่ำกว่ากระดาน
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบของกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ยังพบรายชื่อ "คนกันเอง" ที่มีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่เข้ามาถือในหุ้น RAM อีกหลายคน เช่น เกษรา วงศ์เกตุ กรรมการ โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 2.24% ดำรงค์วุฒิ วิริยะ ผู้อำนวยการอาวุโสสนามบินสุโขทัย ในเครือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ของน.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่อยู่ในข่ายผู้ถือหุ้น "หน้าใหม่" ที่เข้ามาถือหุ้น RAM 2.08% เป็นต้น
ประเมินยุทธศาสตร์เดินเกมประกาศตั้งโต๊ะเทนเดอร์-ออฟเฟอร์ ซื้อหุ้น RAM ในราคาเพียง 480 บาท ต่ำกว่าบนกระดาน "หลายสิบบาท" ทั้งๆ ที่ราคาหุ้น RAM ตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2550 ที่ผ่านมา พุ่งทะยานเกินเพดาน 500 บาทมาโดยตลอด และวิ่งอยู่ระหว่างแถวๆ 540-560 บาท
ตัวเลขในใจคร่าวๆ ที่ วัลลภ อธิคมประภา กรรมการผู้อำนวยใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ เคยแย้มพรายก่อนหน้านี้ ว่า หลังเทนเดอร์-ออฟเฟอร์ BGH น่าจะรวบหุ้นใหญ่ในรามคำแหง ไม่น้อยกว่า 30% น่าจะพอบ่งบอกได้ถึงเครือข่ายสายโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ถือหุ้นอยู่ใน RAM ว่ามีขุมกำลังมากน้อยขนาดไหน
ขณะที่ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ รองประธานกรรมการ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ เปิดใจให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ หลังที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น BGH ไฟเขียวให้โรงพยาบาลกรุงเทพ ซื้อหุ้นโรงพยาบาลรามคำแหงเพิ่มอีก 2.26% รวมเป็น 26.18% และให้ทำคำเสนอซื้อหุ้น RAM (เทนเดอร์-ออฟเฟอร์) ว่า ใจจริงไม่ได้อยากเข้าไปถือหุ้นในโรงพยาบาลรามคำแหงเป็นจำนวนมาก
จากราคาเทนเดอร์-ออฟเฟอร์ที่ต่ำมาก 480 บาทต่อหุ้น ไม่คิดว่าจะมีผู้ถือหุ้นเสนอขายจำนวนมาก และหลังทำเทนเดอร์ฯ แล้ว คาดว่าสัดส่วนการถือ RAM จะเพิ่มเป็น 35% พร้อมยืนยันว่า ไม่มีความคิดที่จะเข้าไปบริหารโรงพยาบาลรามคำแหงแต่อย่างใด
ด้านแกนนำกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลรามคำแหง น.พ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง ยืนยันหนักแน่นว่า ปัจจุบัน กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมยังคงกุมเสียงหุ้นข้างมากไว้เกิน 50% อยู่แล้ว ดังนั้น แม้เครือโรงพยาบาลกรุงเทพจะเพิ่มสัดส่วนหุ้นมากขึ้น ก็คงไม่ส่งผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลง อำนาจในการบริหารยังคงเหมือนเดิม
ส่วนโรงพยาบาลกรุงเทพจะซื้อหุ้นจากใครนั้นคงไม่ทราบ หลังจากทำเทนเดอร์-ออฟเฟอร์ จะซื้อหุ้นได้หรือไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ยืนยันว่า ตนเองและคณะกรรมการคนอื่นๆ ไม่เคยขายหุ้นออกมาแน่นอน
"โธ่ ! ผมจะขายทำไม ราคาหุ้นในตลาดตอนนี้มัน 500 กว่าบาทแล้ว และผมก็คงจะยังนั่งบริหารที่นี่ต่อไป ไม่ทิ้งไปไหนแน่ เพราะอยู่มานานเกือบ 20 ปีแล้ว"
น.พ.เอื้อชาติ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลรามคำแหง เริ่มต้นจากความเป็นเพื่อน จากกลุ่มหมอด้วยกันที่มาร่วมกันทำธุรกิจโรงพยาบาล และขยายวงไปสู่เพื่อนของเพื่อน เหมือนเคยมีแชร์วงเดิม แล้วย้ายไปตั้งแชร์วงใหม่ จนวงมันใหญ่ขึ้นๆ แต่แชร์วงนี้ ก็ยังมีคนหน้าเดิมๆ แกนนำเดิมๆ เป็นหลักอยู่ และมีคนหน้าใหม่ๆ เข้ามาบ้าง
ดังนั้น ถ้าไปดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ RAM ก็จะเห็นว่า ที่ผ่านมา เราไม่มีใครที่ถือหุ้นใหญ่เยอะๆ ไว้คนเดียว แต่จะถือรวมๆ กันเป็นร้อยคน แกนนำหลักๆ อย่างมากก็ถือกันประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะความที่การถือหุ้นกระจัดกระจาย ทำให้หุ้นที่หลุดไปอยู่ในมือ "คนนอก" ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็มาจากหุ้นที่ถูกแอบขายไปโดยไม่บอก หรือรุ่นลูกที่ได้หุ้นเอาออกไปขาย เป็นต้น
"แต่ตราบใดที่เพื่อนคือเพื่อน และเพื่อนยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีปัญหา ยังไงหุ้นที่เรามีรวมกันอยู่ตอนนี้ก็เกิน 50%" น.พ.เอื้อชาติ กล่าวยืนยัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2550 ที่ผ่านมา น.พ.เอื้อชาติ ได้ทยอยเข้าไปเก็บหุ้น RAM ในกระดานจำนวนมาก รวมถึง 37 ครั้ง คิดเป็นจำนวนหุ้น 30,600 หุ้น ราคาเฉลี่ยตั้งแต่ 524-576 บาท รวมมูลค่ากว่า 16.86 ล้านบาท โดยซื้อในนาม บริษัท เอฟแอนด์เอส 79 จำกัด ซึ่งน.พ.เอื้อชาติ ร่วมถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยเจ้าตัวให้เหตุผลสั้นๆ ว่า สบจังหวะหุ้นราคาถูก ก็เข้ามาซื้อเก็บไว้
เมื่อยิงคำถามตรงๆ ถึงข่าวการเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร แกนนำกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง ตอบเป็นปริศนาให้ไปตีความกันเองว่า "ไม่รู้สิ..ผมก็เคารพทุกคน เพียงแต่ที่ผ่านมา ผมก็รู้ว่ามันมีคนที่ผมไม่รู้จักเข้ามาถือหุ้น..."
หลังปิดโต๊ะเทนเดอร์-ออฟเฟอร์หุ้น RAM บทสรุปจะลงเอยเช่นไร เกมครอบงำกิจการครั้งนี้ ต้องติดตาม !
-----------------------------------
ผ่าอาณาจักร 'โรงพยาบาลรามคำแหง'
-----------------------------------
ปัจจุบัน โรงพยาบาลรามคำแหง นับได้ว่ามีจุดแข็งของเครือข่ายโรงพยาบาล "เจ้าถิ่น" ครองตลาดในภาคเหนือและอีสาน รวมทั้งมีฐานที่มั่นของธุรกิจโรงพยาบาลระดับกลางในกรุงเทพฯ โดยมีแนวร่วมโรงพยาบาลเครือข่ายพันธมิตร รวมกันประมาณ 20 แห่ง...ทั้งที่เป็นบริษัทย่อย บริษัทร่วมทุน ถือหุ้นทั้งทางตรง ทางอ้อม สัดส่วนมากบ้าง น้อยบ้าง
โดยเฉพาะการจับขั้วเป็นพันธมิตรร่วมกับ 2 ธุรกิจโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์ คือ บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) และบมจ.เชียงใหม่ธุรกิจการแพทย์ (LNH) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง ในลักษณะ "ร่วมทุน" หรือถือหุ้นแบบ "ไขว้" กันของโรงพยาบาลในเครือ
ยกตัวอย่าง การร่วมทุนกับโรงพยาบาลวิภาวดี ในโรงพยาบาลวิภาราม โดยโรงพยาบาลรามคำแหง ถือหุ้นใหญ่ 50.56% ปัจจุบัน โรงพยาบาลรามคำแหงยังถือหุ้น (ทางตรง) ในโรงพยาบาลวิภาวดี ในสัดส่วน 8.1%
นอกจากนี้ โรงพยาบาลสินแพทย์ ในเครือโรงพยาบาลรามคำแหง ยังเข้ามาถือหุ้นอยู่ในวิภาวดี อีก 6.95% รวมทั้งโรงพยาบาลวิภาราม ยังถือหุ้นไขว้อยู่ในโรงพยาบาลวิภาวดีด้วยในสัดส่วน 7.02%
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลวิภาราม และโรงพยาบาลสินแพทย์ ในเครือโรงพยาบาลรามคำแหง ยังจับมือกับโรงพยาบาลวิภาวดี ลงทุนเปิดโรงพยาบาลเสรีรักษ์ ซึ่งจะเปิดบริการในเดือนมกราคม 2551
ล่าสุด ภายหลังดีล "สวอปหุ้น" ระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม กับโรงพยาบาลลานนา (LNH) ส่งผลให้โรงพยาบาลลานนา เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมถือหุ้นในโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม ร่วมกันกับโรงพยาบาลรามคำแหง โดยโรงพยาบาลลานนา ถือหุ้น 57.11% ขณะที่โรงพยาบาลรามคำแหง ถือหุ้น 42.89% ผนึกกำลังกลายเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ
นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายที่แตกแขนงการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครือข่ายพันธมิตร แม้บางโรงพยาบาลบางแห่ง โรงพยาบาลรามคำแหงจะเข้าไปถือหุ้นโดยตรงในสัดส่วนที่ไม่มากก็จริง แต่ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่ถืออยู่ ก็ถือได้ว่าเป็นกลุ่มพรรคพวกเดียวกัน โดย น.พ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โรงพยาบาลรามคำแหง บอกว่า โรงพยาบาลในเครือข่ายที่ไล่ชื่อมาทั้งหมดประมาณ 20 แห่ง ทั่วประเทศ ทุกเดือนๆ จะต้องมาประชุมผู้บริหารร่วมกันเดือนละครั้ง
เปรียบเหมือนแต่ละโรงพยาบาล 1 โรง จะมีกระจกอีก 19 บาน ค่อยช่วยกันสะท้อนการดำเนินงานซึ่งกันและกัน...
นอกจากนี้ นโยบายการลงทุนถือหุ้นของรามคำแหง ยังไม่มีกฎตายตัวว่าจะต้องถือหุ้นเท่าไหร่ หรือต้องเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นให้ได้มากที่สุด รวมทั้งไม่เคยเข้าไปไล่ซื้อหุ้นใคร มีแต่คนเสนอให้เราเข้าไปร่วมลงทุน และต้องเป็นดีลที่ทั้งสององค์กรต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน
"นโยบายของกลุ่มเราค่อนข้างจะแตกต่าง เราไม่ใช่ระบบกงสี แต่ให้ลูกๆ ออกไปทำมาหากิน โดยแต่ละโรงพยาบาลจะมีแนวทางเติบโตของตนเอง ตามความเหมาะสม เพราะแต่ละแห่ง มีทรัพยากรและปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกัน เราจะไม่มาเคลื่อนตัวทางเดียวกันทุกโรง แต่จะมีการร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดการลดต้นทุน โดยไม่ลดคุณภาพ"
แต่ละโรงพยาบาลจะมีตำแหน่งที่แตกต่างกันไปในการทำตลาด ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลรามคำแหง ในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ไม่มีคนไข้บัตรทอง และประกันสังคม
ขณะที่โรงพยาบาลในเครือข่าย ที่จับกลุ่มลูกค้าตลาดบนและคนไข้ต่างชาติ ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม และโรงพยาบาลขอนแก่นราม ส่วนโรงพยาบาลที่รับคนไข้เครือข่ายประกันสังคม เช่น โรงพยาบาลวิภาราม, โรงพยาบาลราชธานี, โรงพยาบาลเทพปัญญา, โรงพยาบาลเทพากร นครปฐม และโรงพยาบาลช้างเผือก (โรงพยาบาลเดียวในกลุ่มที่เริ่มรับคนไข้โครงการ 30 บาท) รวมถึงอีก 2 โรงพยาบาลใหม่ที่จะเปิดให้บริการปีนี้ คือ โรงพยาบาลเสรีรักษ์ และโรงพยาบาลวิภาราม-อมตะนคร
---------------------------------------
ผ่าปม 'BGH' ฮุบหุ้น 'รพ.รามคำแหง'
-
- Verified User
- โพสต์: 1288
- ผู้ติดตาม: 0
ผ่าปม 'BGH' ฮุบหุ้น 'รพ.รามคำแหง'
โพสต์ที่ 2
ขอบคุณครับ แอบสงสัยอยู่พอดี
^
"เมื่อคุณเริ่มทำสิ่งที่รักแล้ว วันต่อๆไปก็จะไม่ใช่การทำงาน"..Brian Tracy
state exact goal/then analyze what fail the goal/then act/if you don't start/dream still be a dream
หุ้นไม่ใช่แค่เศษกระดาษ มันมีคนทำงานจริง
"เมื่อคุณเริ่มทำสิ่งที่รักแล้ว วันต่อๆไปก็จะไม่ใช่การทำงาน"..Brian Tracy
state exact goal/then analyze what fail the goal/then act/if you don't start/dream still be a dream
หุ้นไม่ใช่แค่เศษกระดาษ มันมีคนทำงานจริง