updated: 12 ก.ค. 2555 เวลา 09:01:32 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมความร่วมมือค้าข้าว ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 9 ร่วมกับสมาคมอาหารแห่งเวียดนาม (The Vietnam Food Association) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางเวียดนามได้แจ้งผลการส่งออกเวียดนามเดือนมิถุนายนปีนี้มีปริมาณ 8 แสนตัน และคาดการณ์เดือนกรกฎาคมจะยังเท่าเดิม 8 แสนตัน ล่าสุดได้ทำสัญญาขายให้ฟิลิปปินส์อีก 1 แสนตัน ต่างจากไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาส่งออกเพียง 5.2 แสนตัน และเดือนกรกฎาคมคงไม่เกิน 5 แสนตัน ผลที่เกิดขึ้นคือเมื่อสิ้นสุดกรกฎาคมนี้เวียดนามจะกลายเป็นแชมป์ด้านปริมาณส่งออกข้าวอันดับ 1 ทันที เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การส่งออก ส่วนไทยกลายเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดีย แซงเป็นอันดับ 2 ทำได้ 7-8 แสนตัน
แม้ว่ารัฐบาลพยายามใช้โครงการรับจำนำ เพื่อผลักดันให้ยกระดับราคาส่งออกข้าวต่อหน่วยมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 20% แต่ 6 เดือนแรกลดลง 46% เมื่อคำนวณแล้วเท่ากับไทยมีรายได้ลดลง 32-33% ไม่คุ้มค่า และการทำยอดจีทูจีเป็นเรื่องเห็นผลช้า เพราะทำแค่เอ็มโอยู เช่นกรณีของโกดิวัวร์ขาย 2.4 แสนตัน ส่งมอบ 6 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 40,000 ตัน ไม่มีผลต่อการส่งออกมากนัก จึงต้องพึ่งเอกชน หากยอดส่งออก 6 เดือนหลังเฉลี่ยเดือนละ 5 แสน รวมเป็น 3 ล้านตัน มีผลต่อภาพรวม 6.5-7 ล้านตันเท่านั้น แต่หากรัฐบาลการันตีจะส่งออกผ่านระบบจีทูจีได้ 3 ล้านตัน จึงจะทำให้ยอดส่งออกภาพรวมได้ถึง 9.5 ล้านตัน ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดหวังไว้
"จีทูจีช่วยอะไรไม่ได้มาก และแนวโน้มครึ่งปีหลังสถานการณ์เศรษฐกิจโลกแย่ลงจากผลหนี้ในสหภาพยุโรป กระทบตลาดหลักของไทยในแอฟริกา ซึ่งพึ่งพาพ่อค้าคนกลางยุโรป ฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจสหภาพยุโรปไม่ดีย่อมกระทบ พฤติกรรมการบริโภคอาจต้องการลดราคาซื้อ แต่ข้าวไทยขาย 600 เหรียญสหรัฐ ให้เครดิต 5 ปีก็ยังไม่คุ้มดอกเบี้ย หรือรัฐบาลจะยอมลดทำราคามิตรภาพจีทูจี จากที่รับจำนำมาคิดเป็นราคาส่งออก 800 เหรียญสหรัฐ ยอมขาย 440 เหรียญสหรัฐ ขาดทุนมาก รับได้หรือไม่"
สาเหตุที่เวียดนามส่งออกเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เพราะปริมาณผลผลิตปีนี้คาดว่าจะได้ 44 ล้านตันข้าวเปลือก มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยผลิตข้าวนาปรังกำลังจะออกมาอีก 4 ล้านตัน และอีกส่วนรับซื้อข้าวเปลือกจากกัมพูชามาปรับปรุงและส่งออก ทำให้สต๊อกมีปริมาณมาก แต่ระบบการจัดเก็บภายในไม่ดีเท่าที่ควร จึงยอมลดราคาส่งออก 405-410 เหรียญสหรัฐต่อตัน ต่ำกว่าอินเดียซึ่งขาย 415-420 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ข้าวไทยแพงกว่า คือ ข้าวขาว 5% แพงกว่า 200 เหรียญสหรัฐต่อตัน และข้าวหอม 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน
นายชูเกียรติกล่าวอีกว่า ไทยน่าจะเสียส่วนแบ่งตลาดในเอเชียและอาเซียนให้เวียดนาม โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนก่อนเพิ่งจะซื้อข้าวขาวจากเวียดนามไป 1 แสนตัน และยังต้องเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวขาว แอฟริกาให้อินเดีย เสียส่วนแบ่งข้าวหอมมะลิในตลาดฮ่องกงและจีนให้เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งกำลังเร่งพัฒนาการผลิตและคุณภาพข้าว ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีฮุน เซนที่ชู
เรื่องข้าวเป็นวาระแห่งชาติ เร่งผลิตและส่งออกเพิ่มปี 2558 เป็น 1 ล้านตันต่อปี ขณะนี้ราคาขายข้าวหอมมะลิของกัมพูชา 770-780 เหรียญสหรัฐต่อตัน รองจากไทย 1,100-1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนาม 570 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ทั้งนี้ ยอดส่งออกข้าวไทยปีนี้ระหว่าง 1 มกราคม-4 กรกฎาคม มีปริมาณ 3,517,274 ล้านตัน ลดลง 45.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งออก 6,447,569 ล้านตัน โดยเฉพาะ 1-4 กรกฎาคมยอดเหลือ 69,485 ล้านตัน ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อนเคยทำได้ 108,361 ล้านตัน ราคาข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 612 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าเวียดนาม 410 เหรียญสหรัฐต่อตัน อินเดีย 420 เหรียญสหรัฐต่อตัน และปากีสถาน 475 เหรียญสหรัฐต่อตัน