วิพากษ์ 4 มาตรการ คุมเงินบาทแข็ง จับสัญญาณลดดอกเบี้ย
updated: 11 พ.ค. 2556 เวลา 10:30:09 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
จนถึงขณะนี้มุมมองต่อแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหา "บาทแข็ง" ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะกระทรวงการคลังก็ยังคงยืน
ความเห็นที่ต้องการให้มีการลดดอกเบี้ย ขณะที่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวกับการดำเนิน 4 มาตรการที่ ธปท.เสนอ โดยในวันจันทร์ที่ 13 พ.ค.นี้ รัฐบาลโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้นัดประชุมพิเศษกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธปท. รวมทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจถึงภารกิจและหน้าที่ในการดูแลค่าเงินบาทให้ตรงกัน
สำหรับ 4 มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าเพื่อแก้ไขการแข็งค่าของเงินบาท ที่ ธปท.เสนอ ได้แก่ 1.การกำหนดห้ามไม่ให้ต่างชาติซื้อพันธบัตรของ ธปท. 2.กำหนดการถือครองพันธบัตรกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจ 3-6 เดือน 3.การเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับต่างชาติที่มาลงทุนในตลาดตราสารหนี้เมื่อได้รับผลตอบแทน และ 4.นักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามาต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และต้องกันเงินจำนวนหนึ่งเพื่อตั้งสำรองไว้ที่ ธปท.
ผู้ว่าการ ธปท.ส่งซิกลดดอกเบี้ย
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ตอนนี้สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มสกุลเงินในภูมิภาค และ ธปท.ก็ยังเฝ้าตามดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่
"ถ้าจำได้ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ผมให้ความเห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้น มันเกินพื้นฐานไปนั้น ซึ่งการแทรกแซงก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ขณะนี้มีเครื่องมือต่าง ๆ ไว้หลายด้าน ก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเราก็เลือกใช้ในแต่ละสถานการณ์ อาจไม่ต้องใช้ทั้งหมด หรืออาจใช้ผสมผสานกัน" นายประสารกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 28.5 บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งแข็งค่าสุดในภูมิภาคเอเชีย และมีการปรับอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนล่าสุดอยู่ที่ 29.53 บาท/ดอลลาร์ (เช้าวันที่ 10 พ.ค.) ซึ่งเกาะกลุ่มกับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท.ยังเห็นว่ากระแสเงินทุนยังไหลเข้าต่อค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดการเงินมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวค่อนข้างเร็ว ซึ่งได้เสนอไป 4 มาตรการ พร้อมทั้งให้ข้อมูลผลกระทบของแต่ละมาตรการพร้อมกันไปด้วย แต่จะนำมาตรการใดมาใช้ ธปท.ต้องติดตามสถานการณ์และดูความเหมาะสม
"มาตรการให้ต่างชาติทำเฮดจิ้ง ถือเป็นมาตรการที่เข้มที่สุด เพราะเป็นการประกาศว่า การเข้ามาลงทุนก็อย่าหวังกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เฮดจ์คือต้องประกันตัวอัตราแลกเปลี่ยน" นายประสารกล่าว
นายประสารได้ยอมรับว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้ามาในปัจจุบัน ดอกเบี้ยอาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติดู ขณะที่การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อลงทุนจะคิดกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาได้สูง เมื่อลงแค่เดือนสองเดือน และคำนวณออกมาทั้งปี จะเป็นตัวเลขที่สูง ซึ่งต่างกับดอกเบี้ยที่มีส่วนต่าง (กำไร) 1% ต่อปี
โดยระบุว่า ดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในเครื่องมือแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้าได้ นอกเหนือจากการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่ว่าปัจจุบันดอกเบี้ยในประเทศไทย รับภาระหนักที่ต้องพยายามรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ การจะใช้ดอกเบี้ยลดหรือไม่ จึงต้องพยายามดูให้เหมาะสมว่าจะผ่อนได้ขนาดไหน ถ้าหากเศรษฐกิจในประเทศไม่ได้เติบโตสูง หรือร้อนแรงมากนัก ก็จะผ่อนภารกิจของดอกเบี้ย
ขณะที่เสียงสะท้อนของคนแวดวงการเงินหลากหลายมุมมอง โดยนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อในเรื่องระบบเศรษฐกิจตามกลไกตลาดเสรี การที่จะออกมาตรการอะไรออกมานั้นจะต้องทำอย่างระมัดระวัง ทั้งมีความชัดเจน และต้องมีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินมาตรการชัดเจนด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจปัจจุบันมีความซ้ำซ้อนมากกว่าที่คิด ดังนั้นต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบคอบ
นักวิชาการหนุนห้าม ตปท.ซื้อบอนด์ ธปท.
ด้าน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ เห็นว่ามี 2 มาตรการที่ควรทำคือ การห้ามนักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตร ธปท. เนื่องจากปัญหาที่ ธปท.ประสบอยู่ขณะนี้คือ เงินดอลลาร์ที่ล้นระบบ ทำให้ ธปท.ต้องออกพันธบัตรเพื่อมาดูดซับสภาพคล่อง ดังนั้น เพื่อลดปัญหาการทำงาน ธปท.ให้เบาลงคือ ต้องหยุดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพันธบัตร ธปท.
และอีกแนวทางคือ ห้ามนักลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจระยะสั้น 3-6 เดือน เพื่อป้องกันเงินร้อนที่เข้ามาเพื่อหวังเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และหากถือครองต่ำกว่า 6 เดือน ควรจะมีการเก็บภาษีระดับ 2% เพื่อลดความเหลี่ยมล้ำของอัตราดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศ เชื่อว่า 2 แนวทางข้างต้นเป็นวิธีที่ง่าย และสามารถทำได้เลยทันที ไม่ต้องใช้ขั้นตอนในการออกนโยบายมากนัก
ส่วนมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการลงทุนในตราสาร และมาตรการต้องตั้งสำรองและทำประกันความเสี่ยงของเม็ดเงินที่นำเข้ามาลงทุน จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน อาจทำให้การลงทุนชะงักได้ ซึ่งไม่เพียงแต่หยุดเงินทุนระยะสั้น แต่อาจกระทบไปถึงเงินทุนระยะยาว
สำหรับมาตรการด้านดอกเบี้ย เชื่อว่า ไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหา เพราะเต็มที่ ธปท.อาจลดได้เพียง 0.25% ถือว่าไม่มีผลต่อตลาดมากนัก หากจะได้ผลต้องลดมากกว่า 1% แต่ ธปท.ไม่สามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้ เนื่องจากดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดฟองสบู่ตามมาในที่สุด
SCB เชื่อลด ดบ.ไม่สามารถสกัดเงินไหลเข้า
ขณะที่นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการด้านดอกเบี้ยดูแลค่าเงินบาท เนื่องจากการลดดอกเบี้ย ไม่ใช่ทางออก และไม่ได้สกัดเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติได้ เพราะหากเทียบกับเงินที่มีในระบบจำนวนมาก ทั้งจาก QE ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐแล้ว เห็นว่าแม้จะลดดอกเบี้ยแล้ว เม็ดเงินต่างชาติก็ไหลเข้ามาอยู่ดี เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี ความเสี่ยงน้อย
หากยืนยันที่จะใช้นโยบายดังกล่าว ก็ต้องออกมาตรการคุมสินเชื่อ เพื่อกำจัดปัญหาฟองสบู่ตามมา เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องมีการออกกฎควบคุมเงินดาวน์ เหมือนสิงคโปร์ที่เพิ่มเงินดาวน์บ้านหลังที่สอง
"เชื่อว่า ทุกมาตรการทำได้หมด แต่การทำนโยบายดังกล่าวต้องไม่ให้กระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนมากนัก และอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนอดีตที่เคยให้กันสำรอง 30% อาจต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะและเข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ"
สภาตลาดทุนฯค้านมาตรการเก็บค่าฟี
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการข้อแรก เพราะจะช่วยจำกัดการเก็งกำไรในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งน่าจะเพียงพอและมีผลต่อค่าเงินบาทในขณะนี้ เพราะตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นถือเป็นช่องทางหลักที่นักลงทุนต่างชาติใช้เข้ามาเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน
แต่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่ 2 ที่กำหนดระยะเวลาการถือครองพันธบัตรในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวโดยตรง ทั้งนี้เห็นว่าควรปรับเปลี่ยนมาเป็นห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนในพันธบัตรของกระทรวงการคลัง และรัฐวิสาหกิจที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด
สำหรับมาตรการที่ 3 และ 4 นายไพบูลย์ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะการเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีจากนักลงทุนต่างประเทศที่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้นั้น เป็นการลดผลตอบแทนที่ได้รับ อีกทั้งในทางปฏิบัติทำได้ยาก ส่วนการทำประกันป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนนั้น จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เพราะนักลงทุนต่างชาติที่เข้าลงทุนส่วนใหญ่ยังต้องการมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
วิพากษ์ 4 มาตรการ คุมเงินบาทแข็ง จับสัญญาณลดดอกเบี้ย
-
- Verified User
- โพสต์: 432
- ผู้ติดตาม: 0
Re: วิพากษ์ 4 มาตรการ คุมเงินบาทแข็ง จับสัญญาณลดดอกเบี้ย
โพสต์ที่ 2
การที่ ธปท. เป็นฝ่ายถูกบีบให้ลดดอกเบี้ย โดยการอ้างถึงเหตุผลค่าเงินแข็งซึ่งเกิดจาก การไหลของเงินต่างชาติ
ถ้าดูตามหน้าที่ก็เชื่อว่า ธปท. มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย และการคงดอกเบี้ยเพื่อเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยย่อมดูเป็นหน้าที่ที่ถูกต้องและไม่ผิดอะไร
แต่การถูกบีบให้ลดดอกเบี้ย และอ้างว่าต้องลดดอกเบี้ยนั้น การกระทำนั้นเป็นไปเพื่อรองรับเงินที่ไหลมาจากทั่วโลก หน้าที่ของธปท. ต้องทำสิ่งนี้เพื่อกระแสโลก และละเลยการทำหน้าที่ต่อ เศรษฐกิจไทยงั้นรึ (ซึ่ง ธปท. ไม่ได้ถูกตั้งและทำให้มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับกระแสโลก ไปพร้อมๆกับดูแลเศรษฐกิจประเทศไทย)
และถ้าไปดูถึงตัวเลขที่ขาดทุนเพราะการช่วยพยุงค่าเงิน และบอกว่าคนที่ทำตัวเลขขาดทุนนี้ขึ้นมาเป็นฝ่ายผิด ในเมื่อเป็นหน้าที่ของเขา และได้รับคำพูดกระตุ้นหน้าที่มาตลอดให้ดูแลค่าเงิน ในเมื่อทำไปขนาดนี้ค่าเงินยังแข็งขนาดนี้ ถ้าไม่ทำค่าเงินคงแข็งมากกว่านี้ และถ้ามองเห็นก็รู้ ว่าเมื่อค่าเงินจะแข็งแต่เข้าไปพยุง ก็ไม่พ้นการขาดทุน
แต่สิ่งขาดหายไปและไม่ได้เห็นเลย คือการที่ผู้มีอำนาจมากกว่า ธปท. จะออกกฎเกณฑ์ แม้จะแบบอ่อนๆออกมาเพื่อเป็นการช่วยเหลือ ธปท. หรือบรรเทาความเสียหายอย่างรัดกุม
และถ้าเหตุการณ์กระแสโลกไม่เปลี่ยนทิศ ผู้แบกคือ ธปท. ซึ่งเป็นผู้น้อยกว่าแต่ผู้เดียว และถ้าเกิดความเสียหายขึ้น เป้าก็ถูกสร้างเสร็จแล้วว่าใครจะถูกให้เป็นผู้รับผิดชอบ
แต่เหตุการณ์จะผ่านพ้นโดยจะให้ดีที่สุดต่อประเทศไทย นั้นต้องใช้ความสามัคคี และทำในสิ่งที่ควรทำตามหน้าที่ของแต่ละฝ่ายมาประกอบกัน
ถ้าดูตามหน้าที่ก็เชื่อว่า ธปท. มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย และการคงดอกเบี้ยเพื่อเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยย่อมดูเป็นหน้าที่ที่ถูกต้องและไม่ผิดอะไร
แต่การถูกบีบให้ลดดอกเบี้ย และอ้างว่าต้องลดดอกเบี้ยนั้น การกระทำนั้นเป็นไปเพื่อรองรับเงินที่ไหลมาจากทั่วโลก หน้าที่ของธปท. ต้องทำสิ่งนี้เพื่อกระแสโลก และละเลยการทำหน้าที่ต่อ เศรษฐกิจไทยงั้นรึ (ซึ่ง ธปท. ไม่ได้ถูกตั้งและทำให้มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับกระแสโลก ไปพร้อมๆกับดูแลเศรษฐกิจประเทศไทย)
และถ้าไปดูถึงตัวเลขที่ขาดทุนเพราะการช่วยพยุงค่าเงิน และบอกว่าคนที่ทำตัวเลขขาดทุนนี้ขึ้นมาเป็นฝ่ายผิด ในเมื่อเป็นหน้าที่ของเขา และได้รับคำพูดกระตุ้นหน้าที่มาตลอดให้ดูแลค่าเงิน ในเมื่อทำไปขนาดนี้ค่าเงินยังแข็งขนาดนี้ ถ้าไม่ทำค่าเงินคงแข็งมากกว่านี้ และถ้ามองเห็นก็รู้ ว่าเมื่อค่าเงินจะแข็งแต่เข้าไปพยุง ก็ไม่พ้นการขาดทุน
แต่สิ่งขาดหายไปและไม่ได้เห็นเลย คือการที่ผู้มีอำนาจมากกว่า ธปท. จะออกกฎเกณฑ์ แม้จะแบบอ่อนๆออกมาเพื่อเป็นการช่วยเหลือ ธปท. หรือบรรเทาความเสียหายอย่างรัดกุม
และถ้าเหตุการณ์กระแสโลกไม่เปลี่ยนทิศ ผู้แบกคือ ธปท. ซึ่งเป็นผู้น้อยกว่าแต่ผู้เดียว และถ้าเกิดความเสียหายขึ้น เป้าก็ถูกสร้างเสร็จแล้วว่าใครจะถูกให้เป็นผู้รับผิดชอบ
แต่เหตุการณ์จะผ่านพ้นโดยจะให้ดีที่สุดต่อประเทศไทย นั้นต้องใช้ความสามัคคี และทำในสิ่งที่ควรทำตามหน้าที่ของแต่ละฝ่ายมาประกอบกัน