โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อเดือนตุลาคม ดิฉันเคยนำเสนอเกี่ยวกับอภิมหาเศรษฐีในโลกนี้ ซึ่ง Welath –X ได้ทำการสำรวจ และพบว่า ในบรรดาอภิมหาเศรษฐี คือผู้ที่มีความมั่งคั่งเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปนั้น พบว่าเป็นศิษย์เก่าที่เรียนสำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียมากที่สุด คือ 25 คน
อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรู้สึกไม่สบายใจกับการสำรวจอันนี้ เพราะเชื่อว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผลิตมหาบัณฑิตที่ออกไปแล้วสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ
และฮาร์วาร์ดก็คิดถูกค่ะ หากนำข้อมูลมาแจกแจงตามมหาวิทยาลัยที่อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้เรียนจบปริญญาโทมา ก็จะพบว่าเรียนจบปริญญาโทจากโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ดมากที่สุด คือ มีจำนวนถึง 64 คน จากจำนวนอภิมหาเศรษฐี 2,325คนทั่วโลก
ห่างจากอันดับรองอยู่มาก โดยอันดับที่สองคือ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งมีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจที่เข้าทำเนียบอภิมหาเศรษฐีอยู่ 23 คน
อันดับสามคือ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย 14 คน อันดับสี่คือ มหาวิทยาลัยเพ็นซิลเวเนีย 12 คน และ มหาวิทยาลัยชิคาโกตามมาเป็นอันดับที่ 5 มีจำนวนศิษย์เก่าเป็นอภิมหาเศรษฐี 10 คน
มหาวิทยาลัยที่อยู่นอกประเทศอเมริกาที่มีจำนวนมหาบัณฑิตที่เป็นอภิมหาเศรษฐีมากที่สุดคือ INSEAD ที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศสมีศิษย์เก่าเป็นอภิมหาเศรษฐี 9 คน และวิทยาลัยบริหารธุรกิจลอนดอน (London Business School)มีศิษย์เก่าเป็นอภิมหาเศรษฐี 4 คน
ลูกศิษย์ของมหาวิทยาลัยที่โด่งดังและบริจาคเงินให้กับคณะบริหารธุรกิจจำนวนมากๆ มีสิทธิ์ขอให้โรงเรียนนำชื่อหรือนามสกุลมาเป็นชื่อของคณะได้ เช่น วิทยาลัยบริหารธุรกิจของชิคาโก ใช้ชื่อตามชื่อของผู้ที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินรายใหญ่ คือ David Gilbert Booth ซึ่งเป็นหนึ่งในอภิมหาเศรษฐี 10 คนที่เรียนจบจากที่นี่
การวัดความสำเร็จของศิษย์เก่าของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสร้างความมั่งคั่งได้เท่าไรค่ะ เพราะหลายคนก็ไม่ได้สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาเอง แต่ต่อยอดความมั่งคั่งที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย สร้างไว้ แต่สาเหตุหนึ่งที่มักจะใช้ความมั่งคั่งเป็นหนึ่งในตัววัด เพราะว่าวัดได้ง่าย
ตัวชี้วัดอื่นที่บ่งว่าศิษย์เก่าประสบความสำเร็จคือ ความรู้ และความสามารถที่จะนำความรู้ที่เล่าเรียนมา ประยุกต์ใช้ในการทำงานและให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต
ดิฉันเคยได้สนทนากับผู้ใหญ่และเห็นพ้องต้องกันว่า การเรียนบริหารธุรกิจ หรือเอ็มบีเอนั้น ความรู้ที่สอนในห้องเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่นักศึกษาได้รับ แต่ส่วนสำคัญยิ่งกว่าคือการฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น และการฝึกทำงานหนัก ให้ได้ดี ภายใต้แรงกดดันเรื่องเวลา ซึ่งหากใครได้ผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว ก็เสมือนได้ทดสอบความแข็งแกร่งของจิตใจและความมุ่งมั่น ซึ่งจะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สิ่งที่เน้นกันมาก โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินหลายๆครั้งที่ผ่านมา คือเรื่องของจรรยาบรรณ และจริยธรรม คนเก่งหาได้ไม่ยาก แต่ให้เก่งและดีด้วย หายากกว่าค่ะ
หลายๆสถาบันเน้นสอนเรื่องนี้กันมาก ที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจเคลลอกก์ มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นที่ดิฉันเคยศึกษานั้น มีกระบวนการให้นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา ลงนามในเอกสาร สัญญาว่าว่าจะดำรงตนเป็นบัณฑิตที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คัดลอกงานของใครแล้วทึกทักว่าเป็นของตัวเอง ไม่โกง ไม่คอร์รัปชั่น ฯลฯ ซึ่งดิฉันเห็นว่าเป็นกุศโลบายที่ดี ที่เตือนใจให้บัณฑิตได้รับรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ “ไม่ควรทำ” เพราะมหาวิทยาลัย ไม่สามารถทราบได้ว่า แต่ละบ้านได้อบรมมาตรฐานจริยธรรมของลูกหลานมาอย่างไร และเรื่องจริยธรรมนี้เป็นเรื่องของการเรียนรู้ล้วนๆ ต้องเรียนรู้ว่ามาตรฐานจริยธรรมในแต่ละสังคมเป็นอย่างไร
คุณสมบัติข้อสำคัญของผู้ประสบความสำเร็จคือ การรู้จักแบ่งปันช่วยเหลือผู้ที่มีน้อยกว่า ไม่ว่าจะมีความรู้น้อยกว่า มีเงินน้อยกว่า มีอำนาจน้อยกว่า และที่สำคัญที่สุดคือ มีโอกาสน้อยกว่า
ได้ข่าวว่าระยะนี้มีผู้มีความมั่งคั่งส่วนหนึ่งพยายามจัดการโอนทรัพย์สินก่อนที่กฎหมายภาษีของผู้รับมรดกจะประกาศใช้ เพื่อไม่ให้ผู้รับมรดกต้องเสียภาษี หรือพยายามวางแผนอื่นๆเพื่อให้การถ่ายโอนทรัพย์สินจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
จริงๆแล้ว ความมั่งคั่งที่เกิน 200 ล้านบาท จะถือว่าเป็นความมั่งคั่งส่วนเกินก็ย่อมได้ เพราะหากใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 5 แสนบาท ใช้ไปจนอายุ 90 ปี เงินก็ยังไม่หมดค่ะ ทั้งนี้หากตั้งสมมุติฐานว่าอัตราเงินเฟ้อกับอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนเท่ากันพอดี ก็จะใช้เงินไปเพียง 180 ล้านเท่านั้น และหากท่านลงทุนได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ท่านก็สามารถใช้เงินได้เดือนละมากกว่า 5 แสนบาทขึ้นไปอีกค่ะ
มหาวิทยาลัยของไทยที่สร้างเศรษฐีได้มากที่สุด น่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะนอกจากจะเก่าแก่ที่สุดแล้ว ยังมีศิษย์เก่าประกอบธุรกิจมากด้วย
ดิฉันอยากจะขอเชิญชวนท่านแบ่งปันความมั่งคั่งช่วยปรับปรุง หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2482 หรือ 75 ปี มาแล้ว โดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ เป็นสถาปนิกออกแบบสร้างอาคาร และ พระพรหมพิจิตร เป็นผู้ออกแบบลวดลายและองค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทย
ตอนปีที่ดิฉันรับพระราชทานปริญญาบัตรใน ปีพ.ศ. 2526 หอประชุมจุฬาฯ ยังไม่มีระบบปรับอากาศ จำได้ว่าเดินออกมาในตอนเย็น หน้ามัน เหงื่อตก หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงตกแต่งภายในพร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศ ในปี 2527 บัณฑิตรุ่นหลังๆจึงมี “หน้าตาผ่องใส” กว่ารุ่นก่อนๆ
ดิฉันเองก็เพิ่งทราบจากเอกสารเชิญชวนให้ “รินน้ำใจ” ช่วยปรับปรุงหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า อาคารนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ.2545 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะปรับปรุงอาคารหอประชุมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมฉลองครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท จึงมีโครงการเชิญชวนให้นิสิตเก่าแสดงความกตัญญูต่อสถาบันด้วยการรินน้ำใจ ช่วยกันสนับสนุนบริจาคในโครงการนี้ โดยผู้บริจาคสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าด้วยค่ะ นับเป็นการบริจาคที่สามารถช่วยวางแผนภาษีได้ดี
สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์พัฒนกิจและนิสิตเก่าสัมพันธ์ โทร. 02 218 3359-60 ค่ะ