เมื่อคราวก่อนดิฉันเขียนถึงการที่ผู้เกษียณอายุงานของทวีปอเมริกาเหนือออกมายอมรับว่า เงินที่มีไว้เพื่อการเกษียณอาจไม่พอ และอาจจะต้องปรับแผนการเกษียณ และแผนชีวิต หลายคนถึงกับคิดว่าตนเองคงไม่สามารถหยุดทำงานได้ คราวนี้เราจะมาหาทางออกกันค่ะ
ในโลกนี้ ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการครอบคลุมผู้เกษียณอายุได้เกือบพอเพียง มีเพียงไม่กี่ประเทศค่ะ ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีประชากรจำนวนไม่มาก ทั้งยังมีอัตราภาษีที่สูง เพราะฉะนั้น หากในช่วงวัยทำงาน ประชาชนทำงาน ก็จะสามารถเก็บออมเงินฝากรัฐให้ช่วยดูแลจัดการ พอเกษียณอายุงาน รัฐก็ดูแลต่อให้ แต่มีประชากรผู้โชคดีเหล่านี้ไม่กี่ประเทศ เช่นในสวีเดน ผู้เกษียณอายุของสวีเดน พึ่งพาเงินจากรัฐ 98% ของเงินใช้หลังเกษียณ ใน ฟินแสนด์ ที่พึ่งพาเงินจากรัฐ 79% หรือฝรั่งเศสที่พึ่งพาเงินจากรัฐ 70% (ข้อมูลจาก World Population Prospects 2019) และรัฐของประเทศเหล่านั้นก็กำลังปวดหัวกับการที่ประชากรอายุยืนกว่าที่คาด และเงินของรัฐร่อยหรอ
ดังนั้น ประชากรส่วนใหญ่ของโลก จึงต้องพึ่งตนเองหลังเกษียณค่ะ
วิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับการเกษียณอายุงานสำหรับประชาชนของประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่สวัสดิการของรัฐไม่ครอบคลุม คือ วิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการไม่มีเงินใช้ยามเกษียณ ด้วยการออมเงินและลงทุนเพื่อเอาไว้ใช้ยามเกษียณ หากเรายังอยู่ในวัยที่ยังทำงานอยู่ และมีเวลาเก็บออมและลงทุนอย่างมีหลักการมากกว่า 30 ปี มีโอกาสที่จะรอดสูง
การวางแผนเพื่อการเกษียณ เริ่มได้ตั้งแต่เริ่มทำงานเลยทีเดียวค่ะ แต่หากคิดว่าเริ่มทำงานก็เริ่มคิดถึงวันที่จะหยุดทำงานดูจะโหดร้ายไปหน่อย ท่านก็สามารถเลือกการวางแผนหลังจากที่ท่านเก็บเงินออมพอที่จะจ่ายเงินดาวน์บ้านได้ และได้ซื้อบ้าน ได้กู้เงินธนาคารแล้วได้ค่ะ เพราะการซื้อบ้านเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของชีวิต จึงอาจต้องจัดการให้เรียบร้อย เพื่อมิให้เกิดความรู้สึกว่าข้ามขั้นตอน ก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด
แต่สำหรับผู้ที่สามารถแยกกระปุกได้ จะเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านควบคู่ไปกับการเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุงานไปพร้อมๆกันเลยก็ได้ค่ะ ดิฉันเองก็ทำแบบนี้ เงินออมที่เหลือจากการผ่อนบ้าน ก็นำไปลงทุนเพื่อหวังให้เงินเติบโตระยะยาวทั้งหมดค่ะ
เงินที่เก็บออมนั้น ออมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องนำไปลงทุนให้งอกเงยด้วยค่ะ และเป็นเงินที่ต้องตั้งเป้าหมายในการออมและลงทุนระยะยาว 10 ถึง 20 ปีขึ้นไป
จำได้ไหมคะ ปัจจัยที่จะทำให้เงินออมเติบโตได้เร็วมี 3 ปัจจัยคือ จำนวนเงินที่ออม ระยะเวลา และอัตราผลตอบแทน
ปัจจัยแรกคือ ออมอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มเงินออมและลงทุนเมื่อมีรายได้เพิ่ม อย่ามัวแต่เพลิดเพลินกับการใช้จ่ายเพื่อปัจจุบัน จนละเลยอนาคตนะคะ ออมเดือนละ 1,000 บาท 20 ปี ได้ผลตอบแทน 3%ต่อปี สิ้นปีที่ 20 ก็มีเงินออม 328,302 บาทแล้วค่ะ แต่ถ้าเพิ่มเป็นออมเดือนละ 2,000 บาท 20 ปี ก็จะมีเงินออม 656,604 บาท เราสามารถออมเพิ่มเมื่อมีรายได้เพิ่ม และเงินสะสมก็จะได้มากกว่านี้
หากเริ่มเร็ว เราก็ได้อีกปัจจัยหนึ่งมาเป็นพวกเราแล้ว คือ ระยะเวลา ออมและลงทุนเป็นเวลา 20 ปี ย่อมดีกว่า 10 ปี หรือ จากตัวอย่างข้างบน หากเพิ่มเวลาออมจาก 20 ปี เป็น 40 ปี เงินออมจะเติบโตขึ้นเป็น 926,060 บาท
ปัจจัยที่สามคือ เมื่อเป็นเงินออมระยะยาว เราก็สามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ซึ่งก็คาดว่าจะมีโอกาสทำให้เงินเติบโตได้มากขึ้น หากเราได้ผลตอบแทนเพิ่มเป็น 10% เงินออมจำนวนหนึ่งพันบาทต่อเดือน ก็จะเติบโตเพิ่มเป็น 759,369 บาท ในสิ้นปีที่ 20
และที่ดีที่สุดคือ เรามีทั้งสามปัจจัยค่ะ ออมให้เยอะ ออมนานๆ และได้ผลตอบแทนที่ดี หากเราออมเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 40 ปี และลงทุนได้ผลตอบแทนปีละ 10% สิ้นปีที่ 40 เราจะมีเงิน 12,648,159 บาทค่ะ!!!
จากข้อมูลของ World Population Prospects 2019 ผู้เกษียณอายุของไทยก็คล้ายๆกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คือ พึ่งพารายได้จากทรัพย์สินและรายได้จากการทำงานเป็นส่วนใหญ่ ของไทยเราพึ่งพารายได้จากทรัพย์สินถึง 92% พึ่งพารายได้จากการทำงาน 19% และได้รับจากภาครัฐ 6% (รวมแล้วเกิน 100% เพราะเรามีเงินต้องจ่ายให้คนอื่น 17% ดิฉันคาดว่าเป็นรายจ่ายที่ต้องจ่ายดูแลคนอื่น เช่น ลูกหลาน) และคนอินโดนีเซีย พึ่งพารายได้จากทรัพย์สิน 81% รายได้จากการทำงาน 44% และมีรายจ่ายให้คนอื่น 27%โดยมีเงินจากภาครัฐช่วย 1%
จากข้อมูลของ ESCAP พบว่าสัดส่วนของคนจนในคนสูงวัย ในประเทศไทย ในปี 2015 มีถึง 34.3%ของผู้สูงวัยทั้งหมด หรือพูดง่ายๆว่า พบคนสูงวัย 3 คน จะมีคนหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มยากจน ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนคนจนโดยรวมของประเทศถึงสามเท่า แปลว่าคนของเราออมไม่เพียงพอต่อการเกษียณ ทำให้เกิดคนกลุ่มที่ “แก่และจน” ถึง หนึ่งในสามของผู้สูงวัยทั้งหมด และยิ่งคนเราอายุยืนขึ้น สัดส่วนนี้จะเพิ่มมากขึ้นค่ะ
ข้อสรุปในวันนี้คือ หากยังอยู่ในวัยทำงานอยู่ ให้รีบเก็บออมและลงทุนเพื่อการเกษียณ อย่าหวังให้คนอื่นมาช่วยเลยค่ะ ช่วยตัวเองก่อน ถ้าคนอื่นจะช่วย ก็ถือว่าเป็นของแถมที่ทำให้ชีวิตเราสบายขึ้น แต่ถ้าไม่มีใครช่วย อย่างน้อยเราจะได้ไม่อยู่ในกลุ่ม “แก่แล้วจน”
จริงๆแล้วบทความของดิฉันที่เขียนมา 20 ปี ก็เพื่อเป็นวิทยาทานให้คนตระหนักในการเก็บออมและลงทุน เพื่อจะให้ “แก่แล้วไม่จน” ค่ะ
คราวหน้าเราจะมาคุยกันว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เงินที่เตรียมไว้แล้วไม่เพียงพอ หรือมีแนวโน้มที่จะไม่เพียงพอ เราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
วางแผนเกษียณ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1